ม็อบ"ซาเล้ง"ร้อง ผวจ.ประจวบฯ ยกเลิกมาตรการจับกุม
ผู้ขับรถพ่วงข้าง หรือรถซาเล้ง กว่า 500 คัน ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการจับกุมรถซาเล้งของสำนักงานขนส่งจังหวัด ที่นำเอาพระราชบัญญัติรถยนต์ปี 2522 มาตรา 22 และบทกำหนดโทษมาตรา 60 มาบังคับใช้กับรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง โดยห้ามใช้ และหากฝ่าฝืนจะจับกุมและเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท
ผู้ขับรถพ่วงข้าง อ้างว่าจำเป็นต้องดัดแปลงรถเพื่อประกอบอาชีพ จึงขอให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ล้าหลังถึง 33 ปี และทั้งประเทศมีรถชนิดนี้นับแสนคัน
ศาลอ่านคำวินิจฉัยศาลรธน.คดี'สมยศ' ม.112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ - 23 ม.ค.นัดพิพากษา
19 ธ.ค. 55 ที่ศาลอาญารัชดา ห้อง 701 ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยจากกรณีการยื่นคำร้องของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายเอกชัย (สงวนนามสกุล) ในฐานะจำเลยกม.อาญามาตรา 112 ยื่นคำโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าม. 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิระหว่างประเทศ สถานทูต นักวิชาการ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุธาชัย ยิ้่มประเสริฐ ปิยบุตร แสงกนกกุล เดินทางเข้าร่วมรับฟัง รวมกว่า 100 คน ทำให้ต่อมาต้องย้ายไปห้องพิจารณาคดีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
โดยศาลอ่านคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ม.112 มิได้ขัดกับหลักการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกตามมาตรา 29 และ 45 วรรคหนึ่ง และสอง ตามรัฐธรรมนูญไทย ตามที่ยื่นร้องโดยจำเลย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นศูนย์รวมจิตใจอันเป็นที่เคารพรักของประชาชน มีพระมหากรุณาธิคุณกับประชาชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ รัฐจึงต้องให้การคุ้มครองเป็นพิเศษ และชี้ว่า บทลงโทษที่มีอยู่ระหว่าง 3-15 ปี เพราะอยู่ในสถานะหลักของรัฐ และเป็นองค์ประมุขของรัฐ จึงนับว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ และระบุว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย
จากคำร้องที่จำเลยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ม.112 ขัดต่อ มาตรา 3 วรรคสองหรือไม่ ซึ่งระบุเรื่องหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยดังกล่าวระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ "ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ และด้วยพระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ และรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ" ศาลระบุว่า การกำหนดบทลงโทษ จึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ม.112 จึงสอดล้องกับหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 วรรคสอง
ผู้พิพากษา กล่าวต่อว่า ได้มีการเปลี่ยนเจ้าของสำนวนคดี เนื่องจากมีการโยกย้ายคณะผู้พิพากษาชุดเก่าไปยังต่างจังหวัด เจ้าของสำนวนคดีจึงเปลี่ยนเป็นรองอธิบดีศาลอาญา 2 คนแทน และเนื่องจากมีเอกสารที่เกี่ยวข้องมาก ต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาอีกพอสมควร จึงได้นัดวันอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 23 ม.ค. 56
สธ.หนุน ก.ม.ห้ามขายน้ำเมาบนทางสาธารณะหวังลดอุบัติเหตุ
น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเสนอร่างกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ เนื่องจากมีผลสำรวจงานวิจัยรวมทั้งข้อเสนอแนะว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนไหล่ทางและทางเท้า อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจรได้ โดยในหลักการของคำว่า ไหล่ทางและทางเท้า จะครอบคลุมพื้นที่ของการจราจรทั้งหมด แต่คงต้องพิจารณากันในคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติอีกครั้ง เนื่องจากประชาชนยังสับสน จุดประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องการลดปัญหาอุบัติเหตุการจราจรที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเห็นว่ามีการจำหน่ายบนไหล่ทาง หรือทางเท้าทำให้ผู้บริโภคมีการซื้อดื่มง่าย เช่น รถทัวร์ที่วิ่งผ่านมาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านค้า บนไหล่ทาง หรือทางเท้า แล้วขับรถและผู้โดยสารดื่มต่อในรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยของผู้โดยสารและรถร่วมทางได้
สำหรับทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปกติกรุงเทพมหานคร ห้ามขายสินค้าทุกอย่างรวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ส่วนจุดผ่อนผันที่ทางเทศกิจผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้าอื่นๆ สามารถขายได้ตามปกติ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มั่นใจร่าง พ.ร.บ.นี้ จะไม่กระทบต่อการขายสินค้าของประชาชน
เยอรมนีสั่ง 'เฟซบุ๊ก' ยกเลิกนโยบายระบุชื่อจริง
หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของประเทศเยอรมนีสั่งให้เฟซบุ๊กยกเลิกนโยบายที่ต้องให้ผู้ใช้ระบุชื่อจริง โดยให้เหตุผลว่านโยบายดังกล่าวละเมิดกฎหมายของเยอรมนีที่ให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการใช้นามแฝงในอินเทอร์เน็ต
ทางหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของเยอรมนีได้ออกคำสั่งเรียกร้องให้เฟซบุ๊กอนุญาตให้มีการใช้ชื่อปลอมโดยทันที
ธีโล ไวเชิร์ท ประธานหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลประจำรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า มันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ที่ผู้ให้บริการช่องทางข้อมูลอย่างเฟซบุ๊กละเมิดกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลของเยอรมนีอย่างไม่มีการท้วงติงใดๆ และไม่มีท่าทีว่าจะจบสิ้น
ไวเชิร์ท บอกอีกว่าการใช้นามแฝงในเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่มีเหตุผลสมควร และทำให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ เขาบอกอีกว่าเฟซบุ๊กมีนโยบายให้คนใช้ชื่อจริงมายาวนาน แต่ไม่ได้ทำอะไรซึ่งเป็นการปกป้องผู้ใช้จากการกล่าวล่วงเกินหรือช่วยยับยั้งการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวบุคคล
นักกฎหมายชี้"ละเมิดคอนเทนท์เว็บ"ผิดลิขสิทธิ์
จากกรณีปัจจุบันมีเว็บต่างๆ นำข่าว หรือบทความจากเว็บไซต์สำนักข่าว หรือเว็บไซต์เฉพาะทางไปใช้หลายรูปแบบทั้งการทำแบบฟีดข่าว (อาร์เอสเอส ฟีด) ที่ส่วนใหญ่จะโชว์เฉพาะพาดหัวและสรุปข่าวพร้อมภาพ ส่วนเนื้อหาเต็มจะเป็นลิงค์ที่ย้อนกลับไปหาเว็บของผู้เผยแพร่ข่าว
ตลอดจนเว็บที่นำเนื้อข่าวไปเผยแพร่ โดยให้เครดิตต่อท้ายหรือไม่ให้เครดิต และกรณีนำเนื้อข่าวไปรีไรต์ใหม่เพื่อหารายได้จากแบนเนอร์ หรือโฆษณาต่างๆ ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการฟ้องร้องกันระหว่าง "สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์" และเว็บไซต์ใหญ่จากรัสเซีย "yengo.com" และมีกำหนดนัดไต่สวนเดือน ธ.ค.นี้
นายปิยะ ตัณฑวิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค บริษัท ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย ผู้จัดทำสถิติข้อมูลการใช้บริการเว็บไซต์ในประเทศไทย (ทรูฮิต) กล่าวว่า ไทยอาจต้องมีเคสที่เป็นคดีตัวอย่างการฟ้องร้องเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้สังคม
อย่างไรก็ตาม นายปิยะมองว่า บางกรณีอาจต้องใช้การเจรจาระหว่างสำนักข่าวและเว็บต่างๆ เพราะบางสำนักข่าวก็มองว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข่าวส่วนการหารายได้ต่อนั้นก็อาจจะต้องมีโมเดลทางธุรกิจที่ต้องเจรจากัน
แต่การนำข่าวต่างๆ ไปใช้ต่อในทางมารยาทแล้วต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน หรือแม้แต่การนำไปเขียนใหม่ก็จะต้องระบุแหล่งอ้างอิงของข้อมูล เพราะขณะนี้ยังไม่มีบรรทัดฐานะที่ชัดเจน
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ และที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เผยว่า ศาลมีกำหนดนัดไต่สวนคดีเว็บ Yengo วันที่ 17 ธ.ค.นี้ ซึ่งศาลอาจจะให้ไกล่เกลี่ย แต่หากไม่ก็จะต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
คดีดังกล่าวจะถือเป็นการฟ้องร้องการละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
องค์กรเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง 8 จังหวัด หนุนรัฐบาลออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
นายกำชัย น้อยบรรจง เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี และผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวว่า การมารณรงค์ ของเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง ในครั้งนี้ เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทั่วประเทศ มาเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ เร่งปฏิบัติการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ เป็นกฎหมายประชาชน ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่การเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะขั้นตอนการออกกฎหมายอยู่ในมือนักการเมือง กฎหมายที่ประชาชนเสนอมาไม่เคยมีฉบับไหนผ่านออกมาเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้จริง เช่น พรบ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เรารอคอยการออกฎหมายฉบับนี้ นานมากว่า 15 ปี แล้ว นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับประชนชน พ.ศ.2540 ถึง รัฐธรรมนูญ พศ. 2550 ในปัจจุบัน และยังไม่รู้ว่าต้องรอไปอีกนานแค่ไหน
ดังนั้นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรแสดงความจริงใจต่อประชาชน ว่ารัฐบาลนี้พร้อมที่จะปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ โดย เร่งผลักดันกฎหมาย ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วภายใน สมัยประชุมหน้า และต้องควบคุมไม่ให้ฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล บิดเบือน หรือลดทอนเนื้อหากฎหมาย จนไม่สามารถเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้อย่างกลุ่มผู้เสนอกฎหมายเสนอมา