ถกวงเสวนาแนะแก้กฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งองค์กรตรวจสอบศาล
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สถาบันพระปกเกล้า จัดงานสัมมนาลำดับที่ 4 เรื่อง “สิทธิเสรีภาพ : ช่องว่างระหว่างบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญกับความเป็นจริง” ภายใต้โครงการศึกษา“ รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” โดย นายวิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพในสังคมไทยที่พึงปรารถนา” ตอนหนึ่งว่า กฎหมายที่ควรปรับปรุงเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับสิทธิสัญญา ต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีเครือข่าย เช่น การยกเลิกตรวนขา รวมทั้งกฎหมายด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการกักตัวผู้ต้องหา กฎอัยการศึก พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยยอมรับที่จะปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ แนะนำไทยในการปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน 170 ข้อ แต่ไทยยอมปรับปรุง 134 ข้อ อาทิ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และปรับปรุงการแก้กฎหมายนิยามการทรมาน เท่านั้น
จากนั้นเป็นการอภิปราย เรื่อง “สิทธิและเสรีภาพ : ช่องว่างระหว่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและความเป็นจริง” โดยนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ตรากฎหมายกระทบกับสิทธิและ เสรีภาพของประชาชน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการสันนิษฐานความผิด ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ต้องหากระทำความผิดไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ รวมทั้งการใช้อำนาจขององค์อิสระ ที่มีอำนาจวินิจฉัยคดี เช่น ป.ป.ช. ที่ทำให้มีปัญหากรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจรักษาความสงบเกินกว่าเหตุ แม้จะตั้งใจรักษาความสงบให้เกิดขึ้น แต่มีการชั่งผลประโยชน์ที่ได้รับผิดพลาดไป ถือเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เข้าข่ายเป็นความผิด ทำให้ต้องมีการถกเถียงต่อไปว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงหรือ ไม่ โดยเฉพาะการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องการชุมนุมทางการเมือง ส่วนศาลยุติธรรมและศาลปกครองนั้นจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบการใช้อำนาจ ของทั้ง 2 ศาลด้วยและควรต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ขณะที่นางศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการปฏิรูปรูปกระบวนการยุติธรรมในแง่ประชาชน รู้สึกว่าการมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจไม่ได้เป็นหลักประกันว่าประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนแท้จริง เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพรายวัน มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้นที่ผ่านมาพันธกิจของรัฐบาลดูแลประชาชนได้หรือไม่ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด รวมทั้งการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เต็มที่และจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริงนั้นภาครัฐไม่สามารถทำได้ ซึ่งตนมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นแค่ระเบียบที่ตั้งขึ้นมาเท่านั้น เพราะไม่ได้ตอบสนองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ควรมีการจัดกฎกติกาให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมามีความคลุมเครือมาก ปัญหาของรัฐธรรมนูญกับสภาพความเป็นจริง รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนยังคงมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ในเรื่องของการ ชุมนุม และยังมีคำถามอีกว่า ภาครัฐจะต้องออกมาทำการควบคุมหรือจะออกมาสนับสนุนกันแน่ ทั้งนี้ ปัญหาของรัฐธรรมนูญกับการออกกฎหมาย ยังไม่สอดคล้องกับเรื่องการชุมนุม
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
ชาวสงขลายื่นหนังสือถึงกรมเจ้าท่า-ธนารักษ์ ค้านก่อสร้าง “กระเช้าลอยฟ้า”
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.55 เครือข่ายพลเมืองสงขลา ภาคประชาสังคม และชาวบ้านในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจอนุญาตให้ก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าซึ่งถือเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยขอคัดค้านการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา และการใช้พื้นที่แหลมสนอ่อนตามโครงการ “หนึ่งใจ... สืบสานวัฒนธรรมไทย” ของมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ซึ่งจะใช้พื้นที่ป่าสนธรรมชาติบริเวณแหลมสนอ่อน ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ในการก่อสร้าง
จากนั้นเดินทางต่อไปยังสำนักงานกรมธนารักษ์ จ.สงขลา ในฐานะเจ้าของพื้นที่ราชพัสดุที่เปิดให้ทั้ง 2 โครงการเช่าพื้นที่ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านฯ และขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอดูข้อมูลเอกสารการขอใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยระบุรายละเอียดในหนังสือคัดค้านดังกล่าวว่า การก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าและการใช้พื้นที่ป่าสนธรรมชาติบริเวณแหลมสนอ่อนทั้ง 2 โครงการนั้น ใช้พื้นที่ต่อเนื่องรวม 176 ไร่ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อแหลมสนอ่อน และระบบนิเวศหาดสมิหลา โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้น กฎหมายผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวอ่อน อนุญาตให้ใช้ประโยชนืเพื่อนันทนาการ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือสาธารณประโยชน์เท่านั้น และจัดเป็นพื้นที่ถอยร่นชายฝั่งตามธรรมชาติ (Setback) เพื่อป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมและพายุด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ผู้จัดการเอเอสทีวี
เซ็งหวยตู้โดนโรคแทรกเยอะ-เกิดไม่ทันต้นปี"56 "ทนุศักดิ์"โยนกองสลากรื้อกฎหมาย
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการสลากฯ พิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 รวมถึงให้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งเรื่องการจัดสรรโควตาและการจำหน่ายสลากเกินราคา และแนวทางการจำหน่ายสลากด้วยเครื่องอัตโนมัติ (หวยออนไลน์) ให้มีความชัดเจน พร้อมทั้งประเมินผลของนโยบายโครงการหวยออนไลน์เป็นประจำทุกปี จากองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และไม่มีส่วนได้เสีย
นายทนุศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้อาจเห็นโครงการหวยออนไลน์ยังไม่คืบหน้ามากนัก ส่วนหนึ่งเพราะต้องเร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มหรือบุคคลที่ยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ของโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้พิการ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไทยควรมีโครงการหวยออนไลน์ เพราะมีประโยชน์ทั้งช่วยแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา ดึงเงินจากหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน และเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลที่จะนำไปพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย
"ยอมรับว่าหวยออนไลน์มีโรคแทรกซ้อนเข้ามาเยอะ ทำให้อาจไม่เห็นความคืบหน้า หรือไม่เห็นความชัดเจนเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2556 อย่างที่เคยคาดไว้ รวมถึงบอร์ดสลากฯ ยังกังวลกรณีคำท้วงติงของป.ป.ช.อยู่มาก ผมเองก็เลยย้ำในส่วนนี้ไปว่าต้องทำให้ถูกต้องที่สุดด้วย" นายทนุศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุว่าสำนักงานสลากฯ เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขพ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ เนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว รวมถึงมีหลายเรื่องที่ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ สัดส่วนการนำส่งรายได้ ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ว่าให้จ่ายรางวัล 60% และนำส่งรายได้เข้ารัฐอีก 28% และเป็นค่าใช้จ่ายอีก 12% ซึ่งในส่วนนี้ไม่เพียงพอที่สำนักงานสลากฯ จะนำมาใช้บริหารจัดการได้ในอนาคต ประเด็นนี้เองทำให้การดำเนินโครงการหวยออนไลน์ต้องรอการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ก่อน คาดว่าน่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 6 เดือน
ที่มา : ข่าวสด
อาจารย์มธ.ลุยช่วยชาวบ้าน เหยื่อผลกระทบสร้างเขื่อนศรีสวัสดิ์
จากกรณีที่ ชาวบ้าน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานรัฐสภา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่ดินในพื้นที่จัดสรรให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี จนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 ธ.ค. 2555 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 10 คน ได้ประสานงานมายังนายเดชา เสรีวัฒน์ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อร่วมเดินทางลงพื้นที่ ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยต้องการที่จะรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จากกรณีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ และเพื่อรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่พิพาท ระหว่างชาวบ้านกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดย ผศ.ดร.ปริญญา เปิดเผยว่า ตนนำนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 10 คน และอาจารย์อีก 3 ท่าน ลงพื้นที่ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเราได้รับทราบและได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดินเดิมที่มีอยู่ เพื่อกันเป็นเขตพื้นที่น้ำท่วมของโครงการก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ในขณะนั้น จึงได้เดินทางมาเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงจากผู้นำท้องถิ่นและประชาชนที่เดือดร้อนทั้งหมด และจะนำปัญหาดังกล่าวไปศึกษาทางด้านกฎหมาย เพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชน และต้องยอมรับว่า 38 ปีที่ผ่านมา ที่มีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ประชาชนเหล่านี้เขาเป็นผู้เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง แต่เขากลับต้องมาดิ้นรนเพื่อต่อสู้กับหน่วยงานภาครัฐเพียงลำพัง อีกทั้งต้องเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวข้องทางด้านกฎหมายต่างๆ อีกมากมาย ผมมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวอำเภอศรีสวัสดิ์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียสละให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
1 ปี กสทช. นักวิชาการรุมจวก
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานเสวนา NBTC Public Forum เรื่อง “1 ปี กับความสมหวังหรือไม่สมหวังของสังคมไทย” โดยเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากมุมมองของนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแวดวงโทรคมนาคม และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ถึงแนวทางการกำกับดูแลตลอดระยะเวลาการทำงานของ กสทช.ใน 1 ปีที่ผ่านมา
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า การกำกับดูแลของ กสทช.นับจากนี้จะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งด้านโทรคมนาคม และด้านวิทยุโทรทัศน์มากขึ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาปัจจุบันมีจำนวนมาก เนื่องจากการเกิดขึ้นของ กสทช.ล่าช้าไปกว่า 14 ปี ทำให้ปัญหาที่ต้องจัดการและควบคุมดูแลเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการกำหนดแนวทางแก้ไข ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ต้องแสดงถึงความโปร่งใสในการกำกับดูแลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ บอร์ด กสทช. และบอร์ดกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า สำหรับการประเมินผลงาน กสทช.ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ในแง่การทำงานด้าน กสท. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เรื่องการออกกลไกเพื่อกำกับดูแล และเรื่องการออกกฎหมายต่างๆ คิดเป็นความสำเร็จประมาณ 80-85% ส่วนในเรื่องการกำกับดูแลในกิจการ กสท.ยังค่อนข้างมีปัญหาอีกมาก และยังไม่สามารถกำกับดูแลได้ให้ความสำเร็จแค่ 50%
ด้าน ดร.อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การทำงานของ กสทช. 1 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวในแง่ของกฎหมาย และองค์กร โดยกฎหมายต่างๆ ที่ กสทช.ประกาศใช้ ไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขัน และไม่ได้ดูแลเรื่องของอัตราค่าบริการได้ เช่น ในต่างประเทศอัตราการเข้าถึง และค่าบริการอินเทอร์เน็ตมีอัตราที่ถูก จากการสำรวจของบริษัท แม็คแคนซี่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วรวมถึงประเทศไทย ราคาต้นทุน บวกอัตรากำไรต่อจำนวน 1 Mbps อยู่ที่ 3 สตางค์ และการให้บริการด้านเสียงต้นทุนอยู่ที่ 12 สตางค์ บริการข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) 20 สตางค์ ปัจจุบันประเทศไทยราคาทั่วไปอยู่ที่ 1 Mbps ต่อ 10 บาท แต่ถ้าเป็นแพกแกจจะอยู่ที่ 1 Mbps ต่อ 10 สตางค์ ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับผู้ด้อยโอกาส
“ภายหลังจากศาลมีคำสั่งยกคำร้องกรณีการกำหนดวันหมดอายุการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน (พรีเพด) โดย กสทช.สั่งปรับวันละ 1 แสนบาท บริษัท ทรูมูฟ จำกัด แล้ว กสทช.ก็ยังไม่สามารถทำอะไรผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรกคือ การผูกขาดของธุรกิจดาวเทียม ทั้งที่ กสทช.ก็ทราบดีแต่ก็ไม่ทำอะไรเลย และหากถ้าวงโคจรใดหลุดไปผมคงไม่พอใจอย่างมาก เพราะวงโครจรถือเป็นทรัพย์สินของประเทศชาติ”
ขณะเดียวกัน สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ก็เกิดปัญญาใหญ่มาก คือ 1. ไม่สามารถเข้าไปยุ่งกับเรื่องโครงสร้างได้ 2. เนื้อหา (คอนเทนต์) ปัจจุบันไม่มีการรู้เท่าทันสื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม โดยแนะว่าควรที่จะนำเงินกองทุนมาสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อในระดับการศึกษาต้นๆ
ส่วน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่ กสทช.ก่อตั้งขึ้นมาเป็นเหมือนมือใหม่หัดขับ ดังนั้น กสทช.ควรจะมากำกับดูแลปัญหาที่มีสะสมมากว่า 10 ปี โดยเฉพาะการทำงานด้าน กสท. เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดมากำกับดูแลก่อนหน้านี้ ซึ่งต่างจาก กทค.ที่มีการดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.มาก่อนหน้านี้
“ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ กรอบการทำงานร่วมกัน ระหว่างบอร์ดของแต่ละฝั่ง คือบอร์ด กสท. และ กทค. เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำไม่มีการทำงานวิจัยถึงผลดีและผลเสียในการแก้ปัญหามาก่อน ทั้งเรื่องโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์”
อย่างไรก็ตาม กสทช.ยังจะต้องเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้แก่ผู้บริโภค และ กสทช.จะต้องออกกฎเกณฑ์เพื่อบังคับผู้ประกอบการเอกชนทั้งฝั่งวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภคในทุกๆ เรื่องเช่นเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด
ทางด้านนายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องการออกกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม เท่าที่ผ่านมาถือว่าเป็นการออกกฎหมาย และกำหนดเกณฑ์ของ กทค.ไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย แต่เป็นเพียงการใช้กฎหมายที่ผิดเจตนารมณ์ รวมถึงแผนแม่บท กสทช.ไม่มีการระบุการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดตั้งแต่ต้น และโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเลย
“การประมูล 3G ที่ผ่านมา ผมมองว่าหากเป็นในต่างประเทศจะให้ระยะเวลาสำหรับผู้ประกอบการเตรียมตัวกันเป็นปีๆ บางประเทศก็ถึง 3 ปี แต่สำหรับประเทศไทย แค่ 3 เดือน มันเหมือนเป็นการเตรียมตัวน้อยและเป็นการล็อกให้กับผู้ประกอบการรายเก่าอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าร่วมประมูลไม่สามารถเตรียมตัวได้ทันในระยะเวลาสั้นๆ อยู่แล้ว จึงทำให้การแข่งขันในตลาดไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม”
ขณะที่การกำกับดูแลของบอร์ด กสท.ควรที่จะควบคุมมากกว่ากำกับ เนื่องจากที่ผ่านมายังกลัวๆ กล้าๆ เรื่องอำนาจและหน้าที่ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งทุกวันนี้ยังมีสื่อโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐ แม้จะมีกฎหมายของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ออกมาแล้ว 5 ปี แต่ก็เหมือนการทำหน้าที่ของ กสท. กลัวคนที่มีอำนาจมีคลื่นอยู่แล้วเสียใจ ไม่กล้าเอาคืน ก็เกิดอาการกลัวๆ กล้าๆ ไม่เปิดการแข่งขันในตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี
นอกจากนี้ ในภาคประชาชนได้กล่าวว่า ปัญหาในกิจการโทรคมนาคม เรื่องการแก้ปัญหาการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ทาบิลิตี) ปัจจุบันมีกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากซ้ำซ้อน และใช้เวลาการโอนย้ายเลขหมายไปยังอีกผู้ให้บริการทั้งขาเข้าและขาออกเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งตามกำหนดเดิมที่ กสทช.กำหนดไว้ให้ผู้ให้บริการต้องโอนย้ายให้สำเร็จภายใน 3 วัน ขณะที่ปัญหาเรื่องการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G มีปัญหาเนื่องจากไม่มีระเบียบในการติดตั้ง โดยทำให้เกิดความเสี่ยงและเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในบริเวณการตั้งเสาสัญญาณนั้นๆ
ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ
รัสเซียอนุมัติร่างกม.ห้ามมะกันรับเด็กรัสเซียเป็นลูกบุญธรรม
วุฒิสภา รัสเซียลงมติเอกฉันท์อนุมัติร่างกฎหมายที่ห้ามชาวอเมริกันรับเด็กรัสเซีย เป็นบุตรบุญธรรม ทำให้มีเสียงวิจารณ์จากทั้งสหรัฐและองค์การด้านสิทธิมนุษยชนทันที
วุฒิสมาชิก รัสเซียลงมติด้วยคะแนนเสียง 143 ต่อ 0 เสียง เห็นชอบร่างกฎหมายที่ห้ามชาวอเมริกันรับเด็กรัสเซียเป็นบุตรบุญธรรม หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และต่อจากนี้ต้องรอประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินลงนามบังคับใช้ ร่างกฎหมายนี้จะเป็นหนึ่งใน นโยบายต่อต้านสหรัฐมากที่สุดตลอดระยะเวลาที่ปูตินอยู่ในอำนาจทั้งในฐานะ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรวม 13 ปีจนถึงขณะนี้
ร่างกฎหมายนี้ตั้ง ชื่อตาม ดิมา ยาคอฟล็อฟ เด็กน้อยรัสเซียที่ชาวอเมริกันรับไปเลี้ยงและเสียชีวิต ในปี 2551 หลังบิดาบุญธรรมทิ้งเด็กไว้ในรถยนต์ท่ามกลางอากาศร้อนจัดหลายชั่วโมง และบิดาถูกตัดสินไม่มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมโดยไม่เจตนา ส.ส.รัสเซียอ้างว่าการห้ามสหรัฐฯรับเด็กรัสเซียเป็นบุตรบุญธรรม จะช่วยปกป้องเด็ก หลังมีเด็กรัสเซียตาย 19 คนขณะอยู่ในครอบครัวอเมริกัน
หาก ปูตินซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 เมื่อเดือนพ.ค. ลงนามในกฎหมายไม่กี่วันนี้ ก็จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.ปีหน้า ก็จะช่วยยับยั้งเด็กรัสเซีย 46 คนไม่ให้ต้องถูกส่งไปอยู่กับครอบครัว อเมริกันที่กำลังติดต่อขอรับเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรม
การผลักดันร่าง กฎหมายนี้ถูกมองว่าเป็นการตอบโต้ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามบังคับใช้กฎหมายที่รู้จักในชื่อ"มักนิตสกี้" เพื่อขึ้นบัญชีดำและอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯของเจ้าหน้าที่รัสเซีย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่นายเซอร์เก้ มักนิตสกี้ ทนายความต่อต้านการทุจริตชาวรัสเซียเสียชีวิต ขณะถูกควบคุมตัวไว้เมื่อปี 2552 หลังเขาเปิดโปงการยักยอกเงินสาธารณะมูลค่า 235 ล้านดอลลาร์ ในวงการตำรวจ แต่บรรดานักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ร่างกฎหมายนี้และไม่ต้องการให้เด็กตกเป็น เบี้ย ในเกมการเมืองระหว่างประเทศ และแม้แต่นายเซอร์เก้ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียก็ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย
นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แสดงความเสียใจกับการอนุมัติร่างกฎหมาย และบอกว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะนำชะตาชีวิตของเด็กไปเกี่ยวข้องกับ การเมือง และผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียให้ความสำคัญกับผล ประโยชน์ของเด็กเป็นอันดับแรก
ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น