จากกรณีช่อง 3 แบนละครเรื่อง “เหนือเมฆ2” แบบฟ้าผ่า ถอดออกจากผังรายการทั้งที่ละครยังฉายไม่จบ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกฎหมายและระบบการเซ็นเซอร์สื่อโทรทัศน์
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเนื้อหาในสื่อโทรทัศน์มีอยู่มาตราเดียวคือ มาตรา 37 ของ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเขียนไว้ว่า
“มาตรา ๓๗ ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้”
คำว่า “ผู้รับใบอนุญาต” ที่มีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาหรือสั่งแบน ก็คือ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ ในกรณีของละครเหนือเมฆ 2 ก็คือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 นั่นเอง
ส่วนคำว่า “คณะกรรมการ” ซึ่งมีอำนาจสั่งสถานีให้ระงับการออกอากาศได้ก็คือ คณะกรรมการ กสทช. หากสถานีไหนออกอากาศรายการฝ่าฝืนมาตรา 37 ก็อาจถูกกสทช.สั่งปรับหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
ในกรณีของละครเหนือเมฆนั้น สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ออกมายอมรับแล้วว่าฝ่ายรายการของช่องเป็นผู้ใช้อำนาจสั่งห้ามฉายละครเรื่องนี้เอง ไม่มีคนอื่นมาสั่ง และไม่ใช่คำสั่งของกสทช.ด้วย เพราะกลัวว่าหากฉายออกอากาศไปแล้วอาจถูกกสทช.สั่งปรับได้ (ดูรายละเอียดข่าวที่เว็บไซต์ข่าวสด)
นอกจากปัญหาที่เกิดกับผู้ชมแล้วว่ากฎหมายไม่ทำให้เข้าใจได้เลยว่า เหตุใดละครเรื่องนี้จึงถูกแบนแล้ว เนื้อหานั้นไม่เหมาะสมอย่างไร? ขัดต่อกฎหมายข้อไหน? จำเห็นได้ว่า แม้แต่เจ้าของสถานีโทรทัศน์เองก็ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่ารายการโทรทัศน์ลักษณะใดที่ออกอากาศไปแล้วจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และตนจะถูกปรับหรือไม่ ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขของรายการที่ต้องห้ามออกอากาศตามมาตรา 37 นั้นกว้างขวางเกินไปและไม่ชัดเจน
ถ้อยคำที่เป็นเงื่อนไขของการห้ามออกอากาศรายการ เช่น คำว่า “กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” “ความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ยังเป็นปัญหาในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฉบับ เพราะคนอ่านกฎหมายไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าการกระทำแบบไหนที่จะขัดต่อกฎหมายบ้าง ยิ่งหากมอบดุลพินิจในการตีความให้อยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มเดียวย่อมส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว และเกิดปรากฏการณ์ “แบนไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย” อย่างที่เห็นกันมาแล้ว
ดังนั้นเมื่อตัวบทกฎหมายหลักมีปัญหาที่ความไม่ชัดเจน จนกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องฝากความหวังไว้ที่กฎหมายลูกซึ่งจะกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยให้ชัดเจนและเข้าใจได้มากขึ้น
ตามที่ กสทช. กำลังดำเนินการร่างประกาศกสทช. เกี่ยวกับลักษณะเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศ เพื่อขยายความมาตรา 37 นั้น จึงมีข้อเสนอต่อกสทช. ดังนี้
1. ประกาศ กสทช. ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการควบคุมเนื้อหาของรายการวิทยุและโทรทัศน์นั้น จะต้องเขียนเงื่อนไขให้ละเอียดชัดเจน ไม่คลุมเครือ เจ้าของสถานีและประชาชนที่อ่านกฎหมายแล้วต้องสามารถเข้าใจได้ทันทีว่ารายการประเภทไหน สามารถออกอากาศได้หรือไม่
โดยอาจแบ่งประเภทของรายการที่ต้องห้ามออกอากาศตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 37 ก็ได้ แต่ต้องกำหนด นิยามลงในรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น อธิบายว่า “ความมั่นคงของรัฐ” หมายถึงอะไร เช่น มีการเปิดเผยความลับทางทหาร
และกำหนดคุ้มครอง โดยระบุให้ชัดในกฎหมายว่า เนื้อหาบางประเภทไม่อยู่ในความหมายของเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ตามกรอบของกฎหมาย ที่เกี่ยวกับ บุคคลสาธารณะ กิจการสาธารณะ รวมทั้งมีข้อยกเว้นในกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต
2. ประกาศ กสทช. ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการควบคุมเนื้อหาของรายการวิทยุและโทรทัศน์นั้น จะต้องกำหนดขั้นตอนการออกคำสั่งห้ามออกอากาศรายการใดไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิของผู้ผลิตรายการและผู้ชม เช่น หากเจ้าของสถานีจะสั่งห้ามออกอากาศรายการใดต้องระบุเหตุผลให้ชัดเจนว่าฉากใดหรือส่วนใดของรายการขัดต่อกฎหมายข้อใดและเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมทั้งให้สิทธิผู้ผลิตรายการในการชี้แจงแสดงเหตุผลของตน และให้สิทธิในการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่ง
Comments
ปัญหานิสัยคนไทยคือ วิจารณ์ กะ ด่าทอ ยังแยกแยะกันไม่ออก ชอบพูดเอามันส์ไว้ก่อนโดยไม่คำนึกว่าสิ่งที่พูดไปมันเรื่องจริงหรือไม่ คนที่โดนพูดจะเสียหายตามมาหรือไม่ สักแต่ว่าได้พูดเอามันส์ ชอบดราม่าซ้ำเติม
บางคนพูดไปเพราะวิจารณ์แต่คนฟังฟังแล้วให้ความรู้สึกว่าโดนด่าทอ