รอบอาทิตย์ที่สาม ม.ค.56 : หวั่นรัฐบาลไม่นำร่างเอฟทีเอไทย-อียูฟังความเห็นประชาชนก่อน

รอบอาทิตย์ที่สาม ม.ค.56 : หวั่นรัฐบาลไม่นำร่างเอฟทีเอไทย-อียูฟังความเห็นประชาชนก่อน

เมื่อ 19 ม.ค. 2556

“เฉลิม” แนะผลักดัน “โรฮิงญา” ไปประเทศที่ 3 

เมื่อวันนี้ 18 ม.ค. 55 ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมากลงเรือหนีตายจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ลักลอบเข้าไทยทางแถบจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันว่า ไทยต้องใช้หลักมนุษยธรรมประสานส่งตัวต่อไปยังประเทศที่ 3 เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าไทยมีมาตรการที่เข้มงวดจนเกิดไปนานมาอารยประเทศจะมองประเทศไทยไม่มีน้ำใจ

ส่วนข้อเสนอให้มีการเปิดศูนย์พักพิงเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องไปพิจารณาและขึ้นอยู่กับจำนวนชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าไทยเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน โดยหลักถือเป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศหากแก้ปัญหาได้ เรื่องก็ไม่ต้องถึงกระทรวงมหาดไทยในการตั้งศูนย์พักพิง แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือหาประเทศที่ 3 ให้อยู่ ผลักดันกลับประเทศพม่าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับทางการพม่าแต่อย่างใด

ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ

อภิสิทธิ์แนะ'บัวแก้ว'เปิดเวทีภูมิภาคถกปม 'โรฮิงญา'

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญา แนะ กระทรวงการต่างประเทศเปิดเวทีภูมิภาคถกแก้ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา โดยคำนึงถึงภาระหน้าที่และความรู้สึกสังคมโลก โดยไม่ให้ภาระตกอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าภาระจะตกเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ ประเทศไทยพร้อมที่จะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของประชาคมโลก เบื้องต้นไทยต้องมีแนวปฏิบัติของเราในการจัดการปัญหา โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบภาระหน้าที่ ความรู้สึกของสังคมโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกกดดันจนไม่สามารถทำอะไรได้เลยหรือไม่มีทางเลือก หรือไม่ให้คนอื่นเข้ามาร่วมรับรู้ กระทรวงการต่างประเทศน่าจะจัดหรือหาเวทีหารือเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข เมื่อถามว่า การตั้งศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยในอนาคตจะไม่กลายเป็นศูนย์ถาวรและมีผู้หลบหนีเข้าเมืองมากขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องรีบเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามารับทราบว่าจะมาคาดหวังว่าประเทศไทยจะรับภาระในทุกเรื่องไม่ได้

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

โฆษก'ขุนค้อน'สวนเสื้อแดง พรก.นิรโทษฯ ขัดหลักกฎหมาย

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 55 ที่รัฐสภา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 50-54 ว่า ส่วนตัวเห็นว่าต้องยึดหลักการกฎหมาย หากจะนิรโทษกรรมจริงควรเป็นช่วงที่ไม่มีกระบวนการยุติธรรมปกติ คือช่วงที่มีรัฐบาลจากคณะรัฐประหารที่ทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบเท่านั้น ส่วนคดีอาญาที่ยังมีอายุความและยังมีหลักฐานดำเนินการได้อยู่ ก็ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ข้อเสนอของกลุ่ม นปช. ไม่น่าจะถูกต้องและมีเหตุผล ตอบสังคมไม่ได้ จึงไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมทั้งหมดตามที่ นปช.เสนอ เพราะขัดหลักการกฎหมาย

ส่วนกรณีที่คณะนิติราษฎร์จะเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น หากมีการเปลี่ยนหลักการใหม่โดยโยงเข้ากับหมวดสิทธิเสรีภาพก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไปรวบรวมรายชื่อประชาชนใหม่ให้ได้ 10,000 ชื่อ แล้วเสนอเข้ามา เพราะร่างฯ ที่ถูกตีตกไปไม่เข้าหลักเกณฑ์การเสนอกฎหมายโดยประชาชน และเกี่ยวข้องกับหมวดพระมหากษัตริย์โดยตรงจึงถูกตีตกไป หรือจะเสนอต่อพรรคการเมืองให้ ส.ส.จำนวน 20 คน เข้าชื่อขอแก้ไขกฎหมายก็ได้

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

คปก.ส่งหนังสือด่วนถึงนายกฯ-มท.1 ชะลอร่างกฎกระทรวงฯ คุมคนไร้สัญชาติ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 56 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ทำความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. .... ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 22 มกราคม 2556 นี้

ที่มา : ประชาไท

สภาที่ปรึกษาฯ เตือนรัฐบาลเสี่ยงผิด รธน. ไม่นำร่างเอฟทีเอไทย-อียูฟังความเห็นก่อน

16 ม.ค.56 ตามที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรปให้รัฐสภาพิจารณาวันอังคารที่ 22 ม.ค.นี้ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกกังวลต่อท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่เปิดเผยร่างกรอบเจรจาฯแม้จะผ่าน ครม.ไปตั้งแต่ 4 ธ.ค.55 และยังไม่เคยนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เกรงว่า กระทรวงพาณิชย์จะสร้างปมปัญหาทางการเมืองแก่รัฐบาลในอนาคต

“ทางสภาที่ปรึกษาเข้าใจดีว่า รัฐบาลต้องการที่จะเริ่มเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอียูอย่างเร่งด่วน แต่การเจรจาเอฟทีเอเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190 ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศต่างเห็นด้วยกับสภาที่ปรึกษาฯว่า รัฐบาลต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) กรอบเจรจาฯ อย่างทั่วถึงก่อนเสนอให้รัฐสภา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาร่างกรอบฯ นี้ยังไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะหรือรับฟังความคิดเห็นเลย

การจัดรับฟังความคิดเห็นในร่างกรอบฯ เพียง 1 ครั้งในส่วนกลางไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลา แต่ถือเป็นข้อมูลที่พึงแนบให้รัฐสภาได้พิจารณา ในฐานะที่ปรึกษาของรัฐบาลตามกฎหมายค่อนข้างกังวลกับท่าทีของกระทรวงพาณิชย์มาก เมื่อวานนี้ในการประชุมพิจารณาร่างความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ กรมเจรจาฯ ยังมีท่าทีไม่เต็มใจที่จะจัดรับฟังความคิดเห็น ขณะที่ภาคเอกชน คือ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตัวแทนสภาหอการค้าไทย ยังเสนอให้เดินหน้าเข้ารัฐสภา แล้วให้คนที่กังวลก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯไม่อยากเห็นรัฐบาลตกไปอยู่ในภาวะความเสี่ยงทางการเมืองเช่นนั้นอีก”

รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาฯ เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้ (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก กฎหมายไทย หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งจะทำให้นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจริง

“การกำหนดให้การเจรจาเอฟทีเอไม่เกินไปกว่าทริปส์นั้น ไม่ได้เป็นการขวางการเจรจาดังที่ภาคเอกชนวิตกกังวล เพราะดูจากการเจรจาเอฟทีเอของอินเดียกับอียู อินเดียซึ่งมีอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญเข้มแข็งระดับโลกไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จนในที่สุดนายคาเรล เดอ กุช ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป หัวหน้าคณะเจรจา ต้องยอมรับด้วยการเขียนบทความเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระบุว่า สหภาพยุโรปจะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในด้านนี้แล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่จะเกิดต่อการเข้าถึงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสมทั้งที่อินเดียและที่อื่นๆ การเจรจาเอฟทีเอของทั้งสองประเทศก็ยังดำเนินต่อได้ไป และเท่าที่ทราบมาในร่างกรอบเจรจาฯ หลายประเด็นที่ภาคเอกชนห่วงใยก็ได้กำหนดชัดเจน เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศ ไม่ได้เป็นการกำหนดกรอบอย่างหลวมๆตามอ้าง”

อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท

'ไทยอีนิวส์' ถูกลบจาก 'บล็อกสปอต'-ยังไม่ทราบสาเหตุ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.56 นายสมศักดิ์ ภักดีเดช ผู้ดูแลเว็บบล็อก 'ไทยอีนิวส์' (http://thaienews.blogspot.com) ซึ่งเป็นเว็บเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางสังคมการเมืองในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้ เมื่อเข้าเว็บบล็อกไทยอีนิวส์ก็พบข้อความว่า "บล็อกถูกลบแล้ว" โดยที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ลบ และไม่เคยมีอีเมลแจ้งเตือนล่วงหน้าหรือแจ้งเหตุผลในการลบจากกูเกิลแต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้กดปุ่มแจ้งอุทธรณ์ไปแล้ว ซึ่งระบบให้รอ 24-48 ชั่วโมง

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่คิดว่ามีสาเหตุมาจากการเมือง เพราะบล็อกของตนถูกปิดกั้นมานานแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังปิดต่อเนื่อง แต่ผู้ที่สนใจก็ยังหาทางอ้อมเข้ามาอ่านได้ จึงคิดว่าอาจเป็นปัญหาทางเทคนิค อาจมีผู้กดรีพอร์ตไปยังกูเกิลจนถึงเกณฑ์ จึงถูกลบ อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าแปลกที่มาถูกลบในช่วงนี้ เพราะถ้าถูกรีพอร์ตน่าจะโดนมาตลอด เพราะคนไม่ชอบก็มีอยู่มาก แต่ถ้าถามว่ามีเนื้อหาขัดกับกฎหมายไหม ก็คิดว่าไม่ขัด เพราะทางทีมก็ได้คุมไม่ให้มีอะไรที่หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายอยู่แล้ว

ที่มา : ประชาไท

เสธ.อ้ายส่งทนายแจ้งเลื่อนให้ปากคำพนักงานสอบสวน

เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 18 มกราคม 2556 กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) นายเดชาวัตร บุญสนอง และน.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความส่วนตัวของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และแกนนำองค์กรพิทักษ์สยาม (อพส.) รวม 11 คน ที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความมั่นคง ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีชุมนุมทางการเมืองของ อพส. โดยแจ้งว่า เสธ.อ้าย พร้อมพวกรวม 11 คน ได้ขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากเตรียมตัวไม่ทัน เพราะเพิ่งได้รับหมายเรียกส่งถึงบ้านเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2556 ที่ผ่านมาและนัดหมายมาให้ปากคำในวันที่ 18 ม.ค. เป็นการนัดกระชั้นชิดเกินไปและพล.อ.บุญเลิศ มีภารกิจอีกจำนวนมาก จึงแจ้งขอเลื่อนกำหนดให้การออกไป

ทนายความเสธ.อ้าย กล่าวว่า พล.อ.บุญเลิศ มีความพร้อมที่จะให้ปากคำและเข้ามารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว แต่การนัดกระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถเลี่ยงภารกิจได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไป เบื้องต้นกำหนดไว้ว่าจะเข้ามาในวันที่ 22 ก.พ. แต่หลังจากหารือกับตำรวจก็เห็นควรว่าจะต้องเข้ามาก่อน

ขณะที่ น.ส.พวงทิพย์ ทนายความแกนนำอีก 10 ที่ถูกออกหมายเรียกเช่นกัน กล่าวว่า สาเหตุที่เลื่อนเข้าให้ปากคำ เพราะบางคนยังไม่ได้รับหมายเรียกจากตำรวจ ส่วนบางคนได้รับหมายแล้วแต่ก็ติดภารกิจจึงไม่สามารถมาได้

ด้าน พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวว่า จากการหารือกับทนายความของแกนนำ ทราบว่าบรรดาแกนนำยังไม่มีความพร้อมในการเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้นัดหมายใหม่เพื่อให้เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 ก.พ.2556 เวลา 10.00 น. ที่บก.น.1 เหมือนเดิม ทั้งนี้จะได้มีเวลาเตรียมตัวมาให้ปากคำ และนำหลักฐานต่างๆ มาสู้คดีและยืนยันกับตำรวจอย่างเต็มที่

ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น

ขุนค้อนปลด"โสภณ"พ้นเก้าอี้กก.ปรับปรุงกฎหมาย
นายโสภณ เพชรสว่าง คณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) กล่าวว่า หลังจากที่ออกมาเปิดเผยถึงผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตนเป็นประธานที่เสนอให้ยุบองค์การอิสระทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และลดอำนาจป.ป.ช. จนถูกฝ่ายต่างๆออกมาโจมตีอย่างหนัก ปรากฏว่า ล่าสุดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายฯ ได้มีคำสั่งเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาให้ยกเลิกคณะกรรมการชุดดังกล่าว พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแทน

"รายชื่อกรรมการชุดใหม่ส่วนใหญ่เป็นกรรมการชุดเดิมทั้งหมด ยกเว้นผม นายไสว พราหมณี พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ เพียง 3 คนที่ไม่ได้รับแต่งตั้งกลับมา โดยไม่มีการแจ้งสาเหตุให้ทราบ แต่คาดว่า น่าจะมาจากสาเหตุที่ตนนำผลสรุปของคณะอนุกรรมการฯเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญออกมาพูดก่อน เพราะนายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายฯเคยพูดในที่ประชุมว่า ผมไม่ควรนำข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯมาพูดก่อน ควรรายงานให้ประธานทราบก่อน"นายโสภณกล่าว

นายโสภณกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้นึกโกรธที่ถูกปลดออกจากคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายฯ แต่ไม่เข้าใจว่า เหตุใดต้องปลดนายไสว และพล.ต.อ.ดรุณออกด้วย ตนไม่อยากถามเหตุผลการไม่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาอีก เดี๋ยวจะมองว่า ตนอยากนั่งเป็นคณะกรรมการชุดนี้ต่อ แม้จะไม่ปลดออก ก็ตั้งใจจะลาออกจากคณะกรรมการชุดนี้อยู่แล้ว จะได้หมดเวรหมดกรรมเสียที และเห็นว่า สิ่งที่ให้สัมภาษณ์ไปไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเป็นผลสรุปของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อศึกษาเสร็จแล้ว ก็ต้องเปิดเผย พอมีสื่อมาถาม ตนก็ตอบไป ก็ขอขอบคุณนายสมศักดิ์ และนายประสพที่ทำให้ตนมีเวลาว่างไปทำงานเป็นผู้ช่วยรมว.สาธารณสุข และช่วยงานพรรคได้อย่างเต็มที่ หลังจากนี้ก็ไม่รู้ว่า ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯจะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่มา : โพสต์ทูเดย์

ปปง.โล่งสภาผ่านกม.ฟอกเงิน 2 ฉบับ

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่จะมีผลต่อการเสนอขอให้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (FATF) ถอนการขึ้นบัญชีไทยเป็นประเทศเสี่ยงการฟอกเงินก่อการร้าย ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ได้ผ่านมติจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างการนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป โดยกฎหมายจะมีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องมีการออกอนุบัญญัติตามความใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงลูกค้า วิธีแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงิน และผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง ให้แล้วเสร็จก่อนการประชุม FATF ที่กรุงปารีส ในวันที่ 18 กพ.2556 หากประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ทัน ก็มั่นใจได้ว่า ไทยจะได้รับการปลดออกจากรายชื่อกลุ่มประเทศเสี่ยงฟอกเงินหรือสนับสนุนเงินแก่การก่อการร้าย

สำหรับ ผลกระทบที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศเสี่ยงก่อการร้าย ขณะนี้มีผลให้ธนาคารในยุโรปและอเมริกาเหนือระงับการปล่อยสินเชื่อให้กับธนาคารไทย แต่หาก FATF ยกระดับไทยออกจากประเทศเสี่ยงฟอกเงิน จะส่งผลให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศคล่องตัว การทำธุรกรรมน่าเชื่อถือ โอนเงินระหว่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น

ที่มา : โพสต์ทูเดย์

ครม.ไฟเขียวผ่อนผันแรงงานต่างด้าวผิดกม.

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอในการขอผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทั้งพม่า กัมพูชาและลาวซึ่งยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 266,677 คนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายสามารถอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเป็นเวลา 120 วัน เพื่อให้เดินทางกลับประเทศต้นทางไปดำเนินการด้านเอกสารเพื่อให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายและกลับมาทำงานกับนายจ้างรายเดิมได้ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2555 จากเดิมที่กระทรวงแรงงานเสนอขอผ่อนผันจำนวน 90 วัน

หลังจากนี้กระทรวงมหาดไทย(มท.)จะต้องไปดำเนินการออกประกาศภายใน 30 วัน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ระหว่างรอดำเนินการด้านเอกสารเพื่อเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่หากครบกำหนด 120 วัน หรือภายในวันที่ 15 เมษายน 2556 นายจ้างไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดีและแรงงานต่างด้าวจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง

ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น

"องอาจ"ระบุทหารบุกเอเอสทีวีผู้จัดการ ถือเป็นการคุกคาม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีทหารกลุ่มหนึ่งเดินทางไปสำนักงานเอเอสทีวีผู้จัดการและ ผบ.ทบ.แจ้งว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายว่า ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย แต่ถามว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเป็นกลุ่มบุคคลธรรมดาทั่วไปจะแสดงออกเรื่องใดเรื่องหนึ่งพอเข้าใจได้ แต่เมื่อเป็นทหารและสวมเครื่องแบบทหารไปแสดงออกเช่นนั้นทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการข่มขู่คุกคาม ซึ่งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไม่ควรถูกข่มขู่คุกคามจากคนกลุ่มใด รธน.ปี 50 บัญญัติไว้ในส่วนที่ 7 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกความเห็นของสื่อมวลชนถึง 4 มาตราคือ มาตรา 45 - 48 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและการแสดงออกของสื่อ ที่ไม่ควรถูกข่มขุ่คุกคามหรือถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจากใครทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการแสดงความเห็นของสื่ออาจมีการล่วงละเมิด หรือหมิ่นประมาท สื่อมวลชนก็ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมายใครคิดว่าถูกละเมิดหรือถูกหมิ่นประมาทสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายและใช้กระบวนการยุติธรรมในการปกป้องรักษาสิทธิของตัวเองและกลุ่มบุคคลของท่านไม่ให้ถูกริดรอนละเมิดหรือหมิ่นประมาทได้

"ดังนั้นกรณีนี้คิดว่าเป็นการดำเนินการของทหารกลุ่มหนึ่งแต่ไม่ใช่จุดยืนของทหารทุกคน เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าทหารที่คิดว่าสื่อมวลชนทำให้เกิดความเสียหายขอให้ใช้ช่องทางทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมในการปกป้องบรรเทาความเสียหายของตัวเอง ดีกว่าการใช้วิธีการข่มขู่ คุกคามหรือวิธีการอื่น ๆ เชื่อมั่นว่าการที่โฆษกกองทัพบกได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่อยากให้มีการแสดงออกลักษณะนี้อีก น่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง และหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก"นายองอาจ กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น

สมาคมผู้สร้างหนังสหรัฐฯ บี้ “พาณิชย์” แก้กฎหมายป้องกันการแอบถ่าย ห้ามพกมือถือ กล้องเข้าโรงหนัง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (MPA) วานนี้ (17 ม.ค.) ว่า MPA ได้ขอให้มีการเพิ่มรายละเอียดในการควบคุมอุปกรณ์ที่ใช้ในการแอบถ่าย เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ เป็นต้น โดยขอให้ระบุไว้ให้ชัดเจนในการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เพิ่มการป้องกันการ แอบถ่ายในโรงภาพยนตร์เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกนำไปใช้ในการแอบถ่าย เพราะปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามาก ต้องหาทางป้องกันทุกทาง

ทั้งนี้ ได้ชี้แจงไปว่ากฎหมายแก้ไขดังกล่าวกำลังเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม ครม.สัญจรที่อุตรดิตถ์คงแก้ไขอะไรไม่ทัน แต่เมื่อกฎหมายผ่าน ครม.แล้ว และเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ จะสามารถไปเพิ่มเติมแก้ไขตรงนั้นได้

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ได้มีมติให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (ศปช.) ซึ่งจะมีการเร่งจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้จำหน่ายรายใหญ่ โดยขณะนี้กำลังเฝ้าติดตาม และเมื่อจับกุมแล้วจะดำเนินคดีตามกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่ รวมทั้งจะตรวจสอบเส้นทางเงิน การเสียภาษีด้วย

สำหรับการเตรียมแก้ ต่างกรณีที่สหรัฐฯ จัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ในบัญชี PWL นั้น จะเร่งชี้แจงการแก้ไขกฎหมาย และแนวทางการทำงานของไทยให้สหรัฐฯ ก่อนเดือน เม.ย.ที่จะมีการประกาศผลการทบทวน

ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ