นักสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เสนอรัฐบาลอย่าผลักดันกลับชาวโรฮิงญา ให้ที่พังพิงชั่วคราว คัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์ ประสานสถานทูตพม่า บังคลาเทศ และUNHCR เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
ในงานเสวนา “โรฮิงญา หนีเสือปะจระเข้: อนาคตและทางออกสำหรับประเทศไทย” ในวันที่ 23 มกราคม 2556 เวลา 9:00 – 14:00 น. ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ราชเทวี สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ แถลงข้อเสนอ 6 ข้อ ต่อสถานการณ์ผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ทยอยเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต
สุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญานั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่รัฐบาลยังไม่แก้ไข จากสถิติของการจับกุมชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้ามาในปี เมื่อปี 2551 มีทั้งหมด 4,886 คน แต่เมื่อปี 2552 มีทั้งหมด 93 คน เพราะในปี 2552 มีการจับกุมและเป็นข่าว แสดงให้เห็นว่าความคิดที่ว่าหากไปจับและไปช่วยเหลือดูแล จะทำให้มีคนอพยพเข้ามาเพิ่มนั้นไม่จริง แต่การผลักดันส่งกลับต่างหากจะทำให้พวกเขาหาทางกลับเข้ามาอีก
สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า หากจะดำเนินคดีฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายอาญามีโทษจำคุก เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาล เจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้อำนาจวินิจฉัยเองว่าใครทำผิดกฎหมายจึงจะผลักดันกลับได้ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติมีหลักเกณฑ์ ว่า ถ้าจะผลักดันกลับต้องเป็นคนสัญชาติพม่า ลาว หรือกัมพูชา ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับไทยเท่านั้น โดยเจ้าตัวต้องรับสารภาพว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจริงและยินยอมที่จะกลับประเทศต้นทาง แต่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่รับสารภาพและไม่อยากกลับ เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวกลับไม่ได้ ถ้าเห็นว่ามีความผิดก็ควรดำเนินคดีต่อศาล และต้องให้สิทธิจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมด้วย
สุรพงษ์ กองจันทึก
ต่อปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น สุรพงษ์ แถลงข้อเสนอ 6 ข้อต่อรัฐบาลไทย ดังนี้
1. รัฐบาลไทยควรประสานงานกับสถานทูตพม่า และสถานทูตบังคลาเทศ เพื่อให้รัฐบาลทั้งสองประเทศเข้ามามีบทบาทและแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งปัญหาต้นเหตุในประเทศต้นทางและปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่นยั่งยืนต่อไป
2. รัฐบาลไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรแถลงนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ทั้งมิติการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน และปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งนี้เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2555 กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติดูแลรับผิดชอบปัญหาชาวโรฮิงญา แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีแรวทางออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร
3. รัฐบาลไทยควรประสานงานให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เข้ามาดำเนินการคัดกรองขาวโรฮิงญาที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ทั้งนี้เพราะเคยมีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับ UNHCR ว่า UNHCR ไม่สามารถเข้ามามีบทบาทกรณีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา เกาหลีเหนือ และม้ง ในประเทศไทยได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย แต่หากเป็นผู้ลี้ภัยจากชาติอื่นเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ UNHCR อยู่แล้วที่ต้องเข้ามาดูแล
4. รัฐบาลไทยควรดำเนินการปราบปรามขบวนการนำพาและขบวนการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด ทั้งนางหน้าคนไทย คนพม่า คนบังคลาเทศ และเจ้าหน้าที่ไทยที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
5. รัฐบาลไทยควรคุ้มครองเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องคัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์อย่างละเอียด ไม่ใช้ล่ามที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่ผิดพลาดได้
6. รัฐบาลไทยควรอนุญาตให้กลุ่มโรฮิงญาอยู่ในประทศไทยชั่วคราว ที่ไม่ใช่ห้องกักขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือตำรวจท้องที่ เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือต่อไป