จำคุก 10 ปี ‘สมยศ’ ในฐานะบก.ผิด ม.112
23 ม.ค.56 ที่ศาลอาญา รัชดา เวลา 10.30 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยใช้เวลาในการอ่านราว 1 ชั่วโมง ท่ามกลางผู้สังเกตการณ์คดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศราว 200 คน ศาลพิพากษาให้สมยศมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานประเด็นสำคัญในคำพิพากษาว่า ศาลได้อ่านข้อความในบทความ 2 ชิ้นตามฟ้องโดยละเอียด บทความดังกล่าวปรากฏในนิตยสาร Voice of Taksin ฉบับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 ชื่อว่า ‘แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น’ และ ‘6 ตุลาแห่งพ.ศ.2553’ ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ‘จิตร พลจันทร์’
ศาลได้กล่าวถึงข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในส่วนต่างๆ ว่า ที่จำเลยต่อสู้ว่าตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียนนั้น ย่อมหมายความว่า จำเลยพ้นจากความผิดตาม พ.ร.บ.การพิมพ์เท่านั้น แต่ความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย
ข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนนั้น ศาลระบุว่าไม่รับวินิจฉัยเพราะโจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นสถาบันกษัตริย์ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสารเสียงทักษิณ ข้อต่อสู้ของจำเลยว่าไม่ได้เขียนจึงไม่ใช่การกระทำที่ถูกฟ้อง
ส่วนข้อต่อสู้ว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างของนิตยสารฉบับนี้ก็ไม่มีน้ำหนักให้วินิจฉัย โดยศาลอ้างถึงพยานโจทก์ 4 ปากซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของนิตยสารเสียงทักษิณว่า ทั้งหมดเบิกความสอดคล้องกันว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาตีพิมพ์บทความต่างๆ ในนิตยสารแต่เพียงผู้เดียว และทั้งหมดไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย
ในส่วนว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่นั้น ศาลอ้างถึงคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์หลายปาก ซึ่งล้วนตีความบทความทั้งสองชิ้นว่า สื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติที่เบิกความเกี่ยวกับพงศาวดารเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ด้วย แม้พยานจำเลยจะเบิกความทำนองเดียวกันว่าหลังจากอ่านบทความแล้วไม่สามารถระบุได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ แต่น่าจะหมายถึงอำมาตย์ โดยศาลระบุว่า เมื่อเชื่อมโยงกับพงศาวดารที่ประชาชนรู้กันทั่วไป ประกอบกับการผูกเรื่องว่าผ่านมา 200 กว่าปีนั้นประชาชนย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 1 และทำให้เมื่ออ่านบทความในส่วนอื่นๆ ก็สามารถเชื่อมโยงได้ถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งมีการกล่าวหาว่ามีส่วนในการลอบสังหารทักษิณ ชินวัตร และอยู่เบื้องหลังการสังหารประชาชน
ศาลระบุด้วยว่า เนื้อหาของบทความดังกล่าวมีความผิดตามฟ้อง จำเลยซึ่งจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรสื่อมวลชน การนำเสนอข่าวของจำเลยต้องมีการวิเคราะห์ก่อน โดยเฉพาะตำแหน่ง บก.บห. ต้องมีวิจารณญาณสูงกว่าประชาชนทั่วไป ย่อมต้องรู้ว่าบทความดังกล่าวหมิ่นประมาทกษัตริย์ และไม่มีความจริง แต่จำเลยยังคงลงพิมพ์ เผยแพร่ จึงเป็นการกระทำโดยเจตนา ส่วนที่ต่อสู้ว่ามีเวลาอ่านบทความจำกัดและเมื่ออ่านแล้วเห็นว่าสื่อถึงอำมาตย์ ไม่คิดว่าเป็นพระมหากษัตริย์นั้นก็ฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 2 กรรม ลงโทษกรรมละ 5 ปี บวกกับโทษเดิม อ.1078/52 อีก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี
ด้านนายคารม พลพรกลาง ทนายจำเลยระบุว่าจะยื่นประกันตัวสมยศอีกครั้ง และเตรียมจะอุทธรณ์คดีต่อไป
อธิบดีศาลฯมึนต่างชาติ อัดแรงตัดสิน'สมยศ'
นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่แถลงการณ์ของสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย และคณะเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เกี่ยวกับคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลย อดีต บก.นิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ คดีหมิ่นเบื้องสูงในเว็บไซต์และกลุ่มโซเชียล ว่า “ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลในการตัดสินจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันคำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ทางสหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้ทางการไทยกำหนดข้อจำกัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยมาตรการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการรักษาไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนสากล ” ว่าการพิจารณาคดีของศาลอาญา มีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่นทั่วโลก ที่พิจารณาตามบทบัญญัติกฎหมายที่มีอยู่ว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายนั้นหรือไม่ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย โดยการที่นายสมยศ จำเลยนำบทความที่มีลักษณะดูหมิ่นสถาบันที่แม้จะเป็นบทความของคนอื่นก็ตามแต่ก็ถือเป็นความผิด
นายทวี กล่าวอีกว่า ขณะที่ระหว่างการสู้คดีก็แสดงให้เห็นบทความที่นายสมยศนำมาเผยแพร่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการเหมือนอย่างกลุ่มนิติราษฎร์ แต่เนื้อหาของบทความมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามทำให้พระมหากษัตริย์ไทยได้รับความเสียหาย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินนายสมยศ ได้ร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัด ศาลอาญาจึงจะมีคำพิพากษาออกมาได้ อย่างไรก็ดีกระบวนการทางคดีของนายสมยศยังถือว่าไม่สิ้นสุด เพราะจำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์คดีโดยการพิจารณาของศาลสูง อาจมองต่างกับศาลชั้นต้นก็ได้
ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า อัตราโทษมาตรา 112 หนักเกินไปนั้น ศาลยุติธรรมไม่มีหน้าที่ไปมองว่ากฎหมายหนักหรือเบา เป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนที่ต่างชาติจะมองว่าในประเทศอื่นไม่มีกฎหมายลักษณะนี้เลย ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสภาพขนบธรรมเนียมเเต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่มองว่ากฎหมายหรือศาลไทยป่าเถื่อน เป็นองค์กรพิทักษ์กษัตริย์ จึงเป็นมุมมองเเค่ฝ่ายเดียว
"การจะวิจารณ์องค์กรตุลาการของไทยสามารถกระทำได้ เเต่ต้องเป็นไปอย่างสุจริต อย่ามีอคติ และเป็นการเเสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ เเต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็นธรรมศาลก็จะออกหมายเรียกมาไต่สวนเพราะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏทางเว็บไซด์ ซึ่งการที่ศาลตัดสินลงโทษนายสมยศ กระทงละ 5 ปี ถือว่าเหมาะสมแล้วอยู่ระหว่างอัตราโทษต่ำสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ 3 ปี และสูงสุดคือ 15 ปี" นายทวี ระบุ
ทหารชั้นผู้น้อยเฮ! สภาฯไฟเขียวปรับขึ้นเงินเดือน
23 ม.ค. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมท ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ...ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีสาระสำคัญเพื่อปรับปรุงการได้รับเงินเดือนของข้าราชการทหาร ชั้นนายทหารประทวนยศ จ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก อัตราเงินเดือนจ่าสิบเอกพิเศษ พันจ่าเอกพิเศษ พันจ่าอากาศเอกพิเศษ และนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ถึงร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งประเด็นที่มีการอภิปรายซักถามมากที่สุดคือการแก้ไขของกมธ.ในมาตรา 2 ที่ระบุให้ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 จากร่างเดิมที่ระบุให้มีผลบังคับใช้วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ได้ตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่ กมธ.แก้ไขให้มีผลย้อนหลังไปถึงปี 2553 เพื่อต้องการตอบแทนนายทหารที่ออกมาสลายการชุมนุมเมื่อช่วงปี 2553 หรือไม่ อีกทั้งการขึ้นเงินเดือนย้อนหลังดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมต่อการใช้งบประมาณแผ่นดิน
ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุน อาทิ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เงินที่ต้องให้กับนายทหารชั้นผู้น้อยที่ได้รับสิทธิตามร่างกฎหมายนี้คือ 128 ล้านบาทเท่านั้นเมื่อเทียบกับเงิน 2,000 ล้านบาทที่รัฐบาลจ่ายให้กับผู้ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองถือเป็นเงินที่น้อยกว่าทำไมถึงจะให้ไม่ได้
นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าขณะนี้เงินเดือนของทหารได้น้อยกว่าตำรวจมาก กล่าวคือ นายทหารชั้นประทวนได้รับเงินเดือนๆ ละ 6,740 บาท ขณะที่ตำรวจในชั้นยศเดียวกันได้รับเงินเดือนๆ ละ 9,470 บาท และนายทหารชั้นสัญญาบัตร ได้รับเงินเดือนๆ ละ 11,120 บาท ส่วนตำรวจชั้นยศเดียวกัน ได้รับเงินเดือนๆ ละ 14,810 บาท ดังนั้นถือเป็นความเหลื่อมล้ำทีต้องพิจารณาให้เสมอภาคกัน
จากนั้นพล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงว่าการแก้ไขให้กฎหมายมีผลย้อนหลังถือว่าได้พิจารณาด้วยความรอบคอบและเหมาะสมแล้ว อีกทั้งการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาให้พิจารณาล่าช้าในชั้นของการพิจารณา ดังนั้นการพิจารณาให้ย้อนหลังเพื่อให้เป็นไปตามช่วงที่เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา
ท้ายที่สุดที่ประชุมได้ลงมติวาระ3 ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 360 เสียงซึ่งหลังจากนี้จะได้ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป
คอ.นธ.ทำหนังสือถึงสภาฯดันพรบ.นิรโทษสร้างสมานฉันท์
24 ม.ค. นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการาส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ทำหนังสือถึง สส. และ สว. โดยทำข้อเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม : จุดเร่ิมต้นกระบวนการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ โดยเสนอให้ สส. และ สว. ตรากฎหมายนิรโทษกรรมกับประชาชนผู้กระทำผิดทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมืองและแสดงออกตามสิทธิในฐานะประชาชน พร้อมแนบตัวอย่างร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 ก.ย. 2549 - 10 พ.ค. 2554
ทั้งนี้ เพื่อจะได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ การตรากฎหมายดังกล่าว จึงสมควรที่จะทำในรูปแบบ พ.ร.บ. และ ควรริเร่ิมมาจากสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ขอบเขตการนิรโทษกรรมจะครอบคลุมการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม หรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจากคำพิพากษา หรือ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งยังไม่ถึงที่สุด หรือ ยังไม่ได้ถูกฟ้องคดีต่อศาล
อย่างไรก็ตาม ขอบเขตการนิรโทษกรรมจะต้องไม่รวมถึงบรรดา ผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือ สั่งการให้มีการเคลื่อนไหว ทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์ เพราะในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว
คาด พ.ร.บ.ป้องกันทารุณสัตว์ชงสภา ก.พ.
24 ม.ค. นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.... เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า จากการประชุม 10 ครั้งที่ผ่านมาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง โดยคาดว่าจะมีการพิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จ และเข้าสู่การพิจารณาในสภาเดือน ก.พ.นี้ พร้อมทั้งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ทันทีในเดือน ก.ย.นี้
ด้าน น.ส.ชลลดา เมฆราตรี โฆษก กมธ.กล่าวด้วยว่า กมธ.ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการการป้องกันและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ จาก 11 ตำแหน่ง เป็น 16 ตำแหน่ง โดยให้มีภาคประชาชนที่ร่วมเสนอกฎหมายร่วมด้วย 7 ตำแหน่ง รวม 23 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้ามาร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อให้มีบทลงโทษต่อผู้ทารุณกรรรมสัตว์ เพราะถือว่ามีความผิดทางอาญา พร้อมทั้งเชิญอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการประสานกับท้องถิ่น เนื่องจากเหตุส่วนใหญ่เกิดในต่างจังหวัด อย่างไรก็ดีจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับบริจาคจากประชาชนทั่วไป เพื่อไปดูแลสัตว์ต่างๆ โดยจะให้สตง.เข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเงินทุกบาทจะได้ถึงสัตว์ รวมทั้งยังต้องจัดทำรายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกปี
“เมื่อกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ การทารุณกรรมสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และสัตว์เศรษฐกิจ จะมีสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตดีขึ้น ส่วนสัตว์ที่เป็นอาหารจะได้รับการฆ่าอย่างไม่ทารุณ รวมถึงร้านอาหารที่มีเมนูพิสดารก็จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป และถือว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายแห่งความเมตตาที่ออกมาช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถพูดได้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกิดจาก ครม.และภาคประชาชนที่ต่างเห็นพ้องต้องกัน” น.ส.ชลลดากล่าว
'อนุดิษฐ์'เล็งดันพ.ร.บ.คอมพ์เข้าครม.
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครธรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายในงานสัมมนา "ก้าวสู่สังคมไร้สายอย่างปลอดภัย" จัดขึ้นโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ร่วมกับเครือ เนชั่น กรุ๊ปว่า ขณะนี้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ได้ถูกยกระดับเป็นวาระของโลกแล้ว เนื่องจากภัยคุกคามด้านต่างๆ ได้ย้ายจากโลกจริงสู่โลกเสมือน โดยไอซีทีได้มีความพยายามสร้างกรอบนโยบายป้องกันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และถือเป็นวาระแห่งชาติที่ควรได้รับการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ไอซีทีได้ตั้งคณะกรรมการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่างกรอบนโยบายกำกับดูแลที่จะครอบคลุมความมั่นคง การป้องกันภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ ที่จะสามารถควบคุมภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล และฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"ยังมีเรื่องสำคัญ คือ การเร่งดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปี 2550 ที่ขณะนี้ไอซีทีได้เร่งทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง หลังจากนั้นจะดันเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ เราได้แก้ไขส่วนของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ครอบคลุมให้ถึง หากพ.ร.บ.นี้เรียบร้อย ก็จะมีส่วนสำคัญในการป้องปรามปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้" รมว.ไอซีที กล่าว
ผู้บริโภคปัจจุบันควรรู้เท่าทันเทคโนโลยี ไม่ควรหลงเชื่อใครง่ายๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ ซึ่งขณะนี้ไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นแหล่งทำฟิชชิ่งมากที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งตั้งเป้าว่า ภายในปีนี้ ไทยจะต้องไม่ใช่แหล่งระบาดของเว็บปลอมอีกต่อไป