เอ็นจีโอจี้แก้กม.ป่าไม้-ประมง-ที่ดินล้าหลัง ป้องกันชุมชนรับอาเซียน
31 ม.ค. 56 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนา ‘ประชาคมอาเซียนกับสิทธิมนุษยชน’ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ โดยดร.เสรี นนทสูติ ที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า 1 ม.ค. 59 ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่หลายประเทศยังขาดความพร้อม โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการไต่สวนที่เป็นกลางกรณีประชาชนในประชาคมทำผิดกฎหมายเหมือนกับสหภาพยุโรปที่ตั้งศาลยุติธรรมกลางขึ้น ซึ่งนักนิติศาสตร์ต่างมีแนวคิดจัดตั้งศาลยุติธรรมเพื่อส่งเสริมคุ้มครองและเยียวยา แง่สิทธิมนุษยชนแล้ว และตนหวังว่าจะมีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคต
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันในท้องถิ่นเผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านประชาคมอาเซียนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการจัดบอร์ดนิทรรศการและติดธงประจำชาติตามสถานศึกษาหรือวัด รวมถึงความล่าช้าในการแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้อง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แสดงถึงความไม่ตื่นตัว เลยคาดเดาไม่ได้ว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้หากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วยังไม่มีการปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่ดิน, ป่าไม้, ประมง ที่ยังล้าหลังกว่า 50 ปี ให้ตอบรับกับรธน.ปี 50 ชุมชนคงได้รับผลกระทบสูง
ทีมาข่าว สำนักข่าวอิศรา
‘ยกฟ้อง’ คดีเพิกถอน ‘ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง’ ชาวบ้านเตรียมอุทธรณ์ต่อ
31 ม.ค.56 เวลา 10.00 น.ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 1454/2553 คดีมายเลขแดงที่ 126/2556 ที่เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าหนองแซง ของ บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการโรงงาน ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี
ศาลปกครองพิจารณาว่า กระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ของ กกพ.เป็นไปตามกฎหมาย โดยที่ตั้งไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2553 และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี พ.ศ. ... ยังไม่ประกาศบังคับใช้ การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวของและบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 1,600 เมกกะวัตต์ จึงไม่ใช่โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบ (EHIA) เพิ่มเติม ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น มีการระบุปัญหาไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบกิจการต้องถือปฏิบัติในการป้องกันผลกระทบ โดยชุมชนสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งทุกจุดได้ตลอดเวลา ส่วนเรื่องการเลี้ยงไก่ก็มีการระบุให้ชดเชยความเสียหายตามความเป็นจริง และเรื่องการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งก็มีการระบุให้สร้างบ่อเก็บน้ำสำรอง และถ้าน้ำไม่เพียงพอรัฐก็มีอำนาจสั่งให้บริษัทผู้ประกอบกิจการหยุดสูบน้ำได้ทันทีและชุมชนมีสิทธิตรวจสอบได้อยู่แล้ว
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมกล่าวว่า ผลคดีนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านคาดการณ์อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความหวังเพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งเหมาะสมต่อการทำการเกษตรและมีการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีแล้วว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวทแยงขาว) สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไปของชาวบ้านในเรื่องผังเมือง ที่ผ่านมาได้มีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการผังเมืองแล้ว ซึ่งก็จะมีการเดินหน้าในขั้นตอนต่อไป เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับผังเมืองรวมสระบุรีที่ได้ประกาศบังคับใช้ อีกทั้งจะต้องติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนสีผังเมืองไปเป็นสีม่วงหรือพื้นที่อุตสาหกรรมด้วย
ที่มาข่าว ประชาไท
เครือข่ายพิทักษ์สถาบันชุมนุมหน้าอียูจี้ขอโทษ - แจง ม. 112 จำเป็น
31 ม.ค.56 เวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบัน นัดหมายผ่านเฟซบุ๊กเพื่อชุมนุมสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) อาคารเคี่ยนหงวน 2 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เพื่อประท้วงอียู สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้อียูได้ออกแถลงการณ์กรณีในศาลไทยตัดสินจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ว่า คณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลดังกล่าวเนื่องจากมีผลอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ ต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันคำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย
นายธนบดี วรุณศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า การมาวันนี้ เพื่อมาเลคเชอร์ให้อียูฟัง ขณะนี้พยายามประสานงานกับผู้แทนสหภาพยุโรปเพื่อขอเข้าไปอธิบายรายละเอียด โดยมีประเด็นที่ต้องการอธิบายต่ออียูคือ 1. ต้องการให้เข้าใจสถานภาพกษัตริย์ของไทยว่าอาจไม่เหมือนกษัตริย์ประเทศอื่น บางประเทศในอียูไม่เคยมีกษัตริย์ อาจไม่เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหน 2.ต้องการอธิบายว่าทำไมต้องมีมาตรา 112 และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แม้แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีโทษจำคุก 4-5 ปี หากมีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ คุณสมยศซึ่งกระทำความผิดชัดแจ้ง โดยตีพิมพ์บทความสองบทความ มีโทษบทความละ 5 ปี ก็ถือว่าไม่ได้มากไปกว่าเนเธอร์แลนด์ หากไม่ได้มีการลบหลู่จริงใครจะมาทำอะไร รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์เป็นจอมทัพไทย ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายปกป้องประมุขของชาติ
ที่มา ประชาไท
กสทช. มอบใบอนุญาตช่องรายการเคเบิล-ดาวเทียม ครั้งแรก ทดลอง 1 ปี
30 ม.ค.56 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) หรือ บอร์ดกระจายเสียงฯ จัดพิธีมอบใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ 3 ฉบับ
ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตฯ มีจำนวน 632 ใบอนุญาต ประกอบด้วย ใบอนุญาตเพื่อให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือช่องรายการ จำนวน 301 ใบอนุญาต ซึ่งมีอายุ 1 ปี แต่ถ้าผู้ประกอบการดำเนินรายการแบบไม่มีปัญหาจะให้อีก 14 ปี รวมเป็น 15 ปี และใบอนุญาตเพื่อให้บริการโครงข่ายกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น จำนวน 331 ใบอนุญาต โดยใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
ทั้งนี้ การมอบใบอนุญาตฯ เป็นไปตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ การให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ลาคม 2555 เป็นต้นมา
ที่มา ประชาไท
พม่ายกเลิกกม.ห้ามชุมนุมที่สาธารณะ
รัฐบาลพม่า สั่งยกเลิกการห้ามชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2531 ในวันที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจหลังการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ
หนังสือพิมพ์เมียนมา อาห์ลิน ของทางการพม่า รายงานว่า สาเหตุที่ยกเลิกคำสั่งที่ 2/88 เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ควรจะสามารถใช้ได้ต่อไป หากไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ที่รับรองสิทธิขึ้นพื้นฐานของประชาชน อย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
ในช่วงที่รัฐบาลทหารเรืองอำนาจ มีการนำคำสั่งข้างต้นมาใช้เพื่อกำจัดความขัดแย้งที่มีต่อรัฐบาลทหาร แต่หลังจากรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้รับเลือกเข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2554 เขาได้ดำเนินการเปิดเสรีทางการเมือง ซึ่งรวมไปถึงการยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
เครือข่ายรณรงค์ ม.61 ร้องสภาฯ ผ่าน ก.ม.องค์การอิสระฯ
เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมทำกิจกรรมรณรงค์ ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมา ด้วยมาตรา 61 หลังจากที่ร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกลไกใหม่ที่เป็นความหวังของผู้บริโภค ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
สำหรับการทำกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ในวันนี้ เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รู้จักข้อดีของมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนหลังจากนี้ ทางเครือข่ายฯ จะร่วมกันรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ ทำสปอตวิทยุ รวมถึงการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
คมนาคมเร่งแก้ กม.เพิ่มหุ้นต่างชาติ ดันตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบิน
นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บพ.อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์ ระเบียบของ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงทุนผลิตอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน โดยยกร่าง พ.ร.บ.ยกเว้นคุณสมบัติที่กำหนดให้เป็นของบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ต่างชาติ 49% เป็นต่างชาติไม่เกิน 70% เพื่อส่งเสริมการลงทุนในการผลิตอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศ และเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศ (อาเซียน) และให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค
ทั้งนี้ สนามบินนครราชสีมา (โคราช) ซึ่งมีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมศูนย์ซ่อมอากาศยาน และมีต่างชาติหลายรายสนใจลงทุน เช่น สิงคโปร์ และสแกนดิเนเวีย แต่ถูกจำกัดเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทย ในขณะที่การลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานจะต้องมาพร้อมกับเทคโนโลยี ดังนั้น การขอยกเว้นคุณสมบัติใน 3 กรณี คือ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ, มีเหตุอันควรในการส่งเสริมการประกอบกิจการ, ต้องปฏิบัติตามความตกลงอาเซียน โดยร่าง พ.ร.บ.อยู่ระหว่างเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะเสนอกฤษฎีกาคาดว่าจะประกาศได้ในปี 2556
นายวรเดชกล่าวว่า การแก้สัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อนเพื่อให้ทันการเปิด AEC ส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 นั้น บพ.จะจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาเพื่อปรับปรุงและยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และให้ข้อกฎหมายเป็นประกาศกระทรวงหรือกฎกระทรวงเพื่อทำให้การปรับปรุงทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิมที่เป็น พ.ร.บ.ที่ต้องเสนอสภาพิจารณา
ที่มาข่าว ผู้จัดการออนไลน์