รอบอาทิตย์แรก ก.พ. 56 : สภาล่างอังกฤษเห็นชอบร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

รอบอาทิตย์แรก ก.พ. 56 : สภาล่างอังกฤษเห็นชอบร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

เมื่อ 11 ก.พ. 2556

 

‘เสถียร’ ถูกปล่อยตัว หลังจำคุกเกือบ 2 ปี มาตรา 112
 
2 ก.พ. 56 นายเสถียร หนึ่งในผู้ต้องขังคดี ม.112 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยมีญาติและคนเสื้อแดงประมาณ 20 คนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น หลายคนได้มอบเงินขวัญถุงให้กับเขาและญาติเพื่อเป็นกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไป
เสถียรกล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ โทษจำคุกของตนเองจะถึงกำหนดในต้นเดือน เม.ย. นี้ แต่เนื่องจากตนเองได้รับโทษมา 2 ใน 3 จึงได้ยื่นคำร้องขอพักโทษตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ และได้รับการลดโทษ ซึ่งตนเองยังคงต้องไปรายงานตัวกับกรมราชทัณฑ์ในอีก 3 วันข้างหน้าที่ จ.สระแก้ว บ้านของตนเอง รวมเวลาที่ถูกจำคุกเกือบ 1 ปี 11 เดือน
เสถียรถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 54 ที่หน้าศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถ.ราชดำเนิน และถูกกล่าวหาว่า จำหน่ายวีซีดีอันมีลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 20 แผ่น ต่อมา 4 ก.ค. 54 ศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี และปรับ 100,000 บาท แต่เขาให้การรับสารภาพมีเหตุให้บรรเทาโทษเหลือโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท
เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาเขาได้ดำเนินการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ฎีกาของเขาไม่ผ่าน อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังได้รับการลดโทษ 2 ครั้ง จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2554 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ 2555 จนทำให้โทษของเขาลดลงจนสามารถขอพักโทษได้และได้รับการปล่อยตัว
ที่มาข่าว ประชาไท
 
ฝรั่งเศสประท้วงกฎหมายแต่งงานชาวเกย์
 
3 ก.พ. ผู้ประท้วงนับพันรวมตัวกันที่กรุงปารีสเพื่อประท้วงกฎหมายการแต่งงานคนของเพศเดียวกันและการรับบุตรบุญธรรมของคู่แต่งงานเพศเดียวกันด้วย
สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสลงคะแนนผ่านกฎหมายมาตราที่เป็นหัวใจสำคัญของร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมกันของชาวเกย์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การแต่งงานของชาวเกย์ทั้งหลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
คะแนนโหวตที่ให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าการแต่งงานจะต้องเป็นระหว่างคน 2 คนที่ต่างเพศกันเท่านั้นมีมากถึง 249 เสียง ในขณะที่เสียงคัดค้านมาตรานี้มีเพียง 97 เสียงเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกในการทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ตามที่ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ สัญญาว่าการแต่งงานเกิดขึ้นได้สำหรับทุกคนแต่ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการรับบุตรบุญธรรมนั้น ยังไม่มีมีการลงคะแนน 
ผู้ประท้วงคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่าทุกคนสามารถเปิดรับในทุกเรื่อง แต่ต้องไม่ลืมเรื่องของเด็กๆที่ควรมีพ่อและแม่เหนือสิ่งอื่นใด
รัฐสภาฝรั่งเศสนั้นเริ่มถกเถียงเรื่องกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีทั้งผู้สนับ
สนุนและผู้คัดค้านมากมายออกมาประท้วงกันตามท้องถนนในกรุงปารีสตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมา และจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนจะส่งให้วุฒิสภาฝรั่งเศสผ่านความเห็นชอบขั้นสุดท้ายต่อไป
ที่มาข่าว กรุงเทพธุรกิจ
 
ไม่ให้ประกัน 'สมยศ' รอบ13 นักกิจกรรม 398 ชื่อส่ง จม.ถึงนายกฯ ประธานศาลฎีกา
 
4 ก.พ.56 นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศเดินทางเข้าไปยังศาลอาญาเพื่อรับคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องการขอประกันตัว หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องไปทันทีหลังคำพิพากษาเมื่อวันที่  23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.แล้ว ระบุเหตุผลว่า "พิเคราะห์ตามข้อหาและรูปการณ์แห่งคดี กับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้น ได้พิจารณามาแล้ว นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยถึงกระทงละ 5 ปี รวมสองกระทง 10 ปี หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้จำเลยและผู้ร้องขอประกันตามเป็นหนังสือโดยเร็ว" ทั้งนี้ การยื่นขอประกันตัวครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 13 แล้ว
วันเดียวกัน นักกิจกรรมทางสังคมและประชาชนทั่วไปรวม 398 คน ส่งสำเนาจดหมายเปิดผนึกถึง 1. ประธานรัฐสภา 2. นายกรัฐมนตรี 3. ประธานศาลฎีกา สำเนาถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากออก "แถลงการณ์นักกิจกรรมสังคมและประชาชนทั่วไปกรณีการตัดสินจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข" ซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊กในวันที่ 24 มกราคม จนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2556 จนมีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด 398 คน โดยจุดมุ่งหมายของการส่งจดหมายนี้คณะผู้ริเริ่มแถลงการณ์ระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานทั้งหมดจะรับฟังเสียงของประชาชนและพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มิให้มีการนำตัวบทกฎหมายมาเป็นเครื่องมือมาจัดการคุมขังผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง และร่วมผลักดันให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง
ที่มาข่าว ประชาไท 
 
สภาล่างอังกฤษเห็นชอบร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
 
5 กุมภาพันธ์2556 สมาชิกสภาล่างของอังกฤษลงมติผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันด้วย นายยกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนกล่าวถึงการลงมติครั้งประวัติศาสตร์บนทวิตเตอร์ของเขาว่าการลงมติครั้งนี้ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ดีสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมหลายคนซึ่งเป็นลูกพรรคของคาเมรอนปฎิเสธที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายนี้
การลงคะแนนครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากหลายฝ่าย รองนายกรัฐมนตรีนิค เคล็กกล่าวว่าการลงมติครั้งนี้ถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดีก็มีเสียงคัดค้านการลงมติครั้งนี้จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งได้ให้ความเห็นว่าเป็นการอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ก็มิได้มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อสาธารณะแต่อย่างใด
อนึ่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณา คณะกรรมาธิการด้านกฎหมายและสมาชิกสภาขุนนาง(สภาสูง)ต้องให้ความเห็นชอบก่อนร่างกฎหมายดังกล่าวจึงจะสามารถบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งหากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการผลักดันจนมีผลบังคับใช้ได้สำเร็จ อังกฤษจะเป็นประเทศที่10ในโลกที่รับรองการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน
ที่มาข่าว Aljazeera 
 
เครือข่ายผู้บริโภคยื่นหนังสือสภา เร่งพิจารณากฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภคตามรธน.มาตรา61
 
6 ก.พ. ตัวแทนสหพันธ์องค์การผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกว่า 100 คน นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องให้ ส.ส.-ส.ว. เร่งรัดให้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... ที่ผ่านการพิจารณาร่วมกันแล้วระหว่างคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 2 สภาฯเมื่อวันที่ 9 ม.ค. เพื่อจะได้เร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา61 ของรัฐธรรมนูญ
น.ส.สารี กล่าวว่า ได้นำรายชื่อประชาชนจำนวน 107,905 รายชื่อ พร้อมจดหมายขอให้มีการเร่งรัดพิจารณาออกกฎหมายให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากบรรดาสินค้าต่างๆ ภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้
ด้าน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวกับผู้ชุมนุมหลังจากเป็นตัวแทนประธานสภาฯรับหนังสือ ว่า จะแจ้งเรื่องให้กับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯรับทราบ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับประโยชน์ของกฎหมายดังกล่าวอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามการพิจารณาจำเป็นต้องใช้เวลา อีกทั้งความเห็นในชั้นกรรมาธิการฯก็มีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องให้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ
ที่มาข่าว Post Today 
 
แรงงานนอกระบบร้อง กก.สิทธิฯ สอบ รบ.ละเลยบังคับใช้ ก.ม.กองทุนการออมฯ
 
6 ก.พ.นางณีรมล สุทธิพรรรณพงศ์ กรรมการเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวว่า เครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบรัฐบาล กรณีละเลยการบังคับใช้กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติปี 2554 โดยกฎหมายกองทุนการออม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ยามชราให้กับประชาชน และแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน
ทั้งนี้ ต้องเปิดรับสมาชิกกองทุนอายุ 15-60 ปี ในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งทำให้ประชาชนเสียโอกาส และถูกละเมิดสิทธิในการได้รับบำนาญตลอดชีพ
ขณะที่นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อติดตามเรื่องนี้ พร้อมทำหนังสือเพื่อขอคำชี้แจง และอาจเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วน
ที่มาข่าว Manager online 
 
บี้ออกกฎหมายห้ามฉกข้อมูล
8 ก.พ. นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญผลักดันกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Law) ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ฐานข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตถูกเผยแพร่ไปยังตัวแทนขายบัตรเครดิตและประกันชีวิตให้โทรเข้ามารบกวนโดยตรงได้โดยปัจจุบันเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวการทำธุรกรรมพาณิชย์จึงถูกมองว่าไม่ปลอดภัยและทำให้ธุรกิจ อี คอมเมิร์ซในไทยไม่เติบโต
 
กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ไทยมีมาตรฐานสากลในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยระบบข้อมูล ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เนื่องจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและข้อมูลออนไลน์จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จึงต้องมีกฎหมายที่ ช่วยให้มั่นใจว่าผู้ใช้จะไม่ถูกโจรกรรมข้อมูล นอกจากนี้ยังต้องมีการคุ้มครองสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้นวัตรกรรมและซอฟต์แวร์ไทยได้รับการคุ้มครองหากหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ที่มาข่าว Post Today