รอบอาทิตย์ที่สอง ก.พ.56: คู่รักเพศเดียวกันจูงมือกันจดทะเบียนสมรสวันวาเลนไทน์

รอบอาทิตย์ที่สอง ก.พ.56: คู่รักเพศเดียวกันจูงมือกันจดทะเบียนสมรสวันวาเลนไทน์

เมื่อ 18 ก.พ. 2556

คู่รักเพศเดียวกันจูงมือกันจดทะเบียนสมรสวันวาเลนไทน์
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.56 ที่เชียงใหม่ มูลนิธิเอ็มพลัสเชียงใหม่ซึ่งทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ จัดกิจกรรมเนื่องในวันวาเลนไทน์ ด้วยการนำคู่บ่าวสาวชาย -ชาย ,หญิง-หญิง และสาวประเภทสอง-ชาย ยกขบวนขันหมากเพื่อไปจดทะเบียนยังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนความคิดเห็น หลังจากที่มีการคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษชน สภาผู้แทนราษฎร และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้มีการระดมความคิดเห็นในการดำเนินการเรื่องพระราชบัญญัติการจดทะเบียน คู่ชีวิต ที่ร่างขึ้นจากการทำงานของคณะทำงานพิจารณาของเท็จจริงและกฎหมายที่ เกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่รับรองสิทธิในฐานะคู่สมรส หรือ คู่ชีวิตของคู่ที่เป็นเพศเดียวดัน และคู่ของคนข้ามเพศ

นายโญฬนน์ เยาวนา และนายชานนท์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 คู่รัก เปิดเผยว่า คู่ของตนรักกันมานานกว่า 1 ปี และรู้สึกดีใจที่ได้เดินทางมาร่วมจดทะเบียนสมรสในวันนี้ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกฎหมายด้วย นอกจากนี้ ยังมีคู่รักอีก 2 คู่ประกอบด้วย คือคู่ของนายณัฐพล พันธุ์อุโมงค์ กับนายเจตวรุฒ บุญแปง และ คู่ของน.ส.ซาร่าห์ เบิกค์ กับ น.ส.กฤษ จาแสง

นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร ปลัดอาวุโส อำเภอเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่าการเดินทางมาจดทะเบียนของคู่รักทั้ง 3 คู่ ตามกฎหมายยังไม่สามารถรับรองการจดทะเบียนได้ กระทำได้เพียงแค่ยื่นคำร้องและรอจนกว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้ แต่ก็ยินดีกับคู่รักทั้งสามคู่ด้วย

ที่กรุงเทพฯ กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศหลายสิบคน เดินทางไปยังอาคารบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานจดทะเบียนสมรสหมู่ ภายใต้ชื่องาน “รัก ณ บางรัก เคียงคู่ สู่ฝัน ในวันใหม่" ที่สำนักงานเขตบางรัก ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดขึ้น เพื่อรณรงค์การจดทะเบียนสมรสของคนทุกเพศ และร่วมแสดงความยินดีกับคู่หญิงชายที่ได้จดทะเบียนในวันนี้
 
อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอัญจารี กล่าวว่า อยากมีส่วนในการเข้าร่วมการจดทะเบียนหมู่ของเขตบางรัก เพราะยังมีคู่อีกมากมายที่อาจจะยังไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายไทย ซึ่งกำหนดไว้แค่ว่าเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นจึงจะสมรสได้ แต่จริงๆ แล้วคู่ในประเทศไทยมีมากมายไม่ว่าจะอัตลักษณ์แบบไหน ไม่ว่าคนที่รักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คู่เหล่านี้ตอนนี้ยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ทำให้ขาดการคุ้มครองจากกฎหมายที่จะกำหนดให้ต่างมีหน้าที่ในการดูแลกันและกัน หรือในเวลามีเหตุวิกฤตในชีวิต อย่างอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยหนัก โชคร้ายกว่านั้นถึงกับมีการตาย เราไม่สามารถไปจัดการคู่ของเราในฐานะคู่สมรสได้ เราจะเป็นเพียงเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งทำให้หลายคู่ทุกข์ใจอย่างมาก สอง การได้รับสวัสดิการต่างๆ ในฐานะคู่สมรส ซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน สะดวกและมั่นคงมากขึ้น ไม่ว่าประกันสังคม การทำประกันชีวิต การขอกู้เงินร่วม
อ่านเพิ่มเติม : สำนักข่าวเนชั่น, http://prachatai.com/journal/2013/02/45294 ">ประชาไท

40 องค์กรกิจกรรม 243 รายชื่อ แถลงค้านการผ่านร่าง พรบ.ม.เกษตรฯ ออกนอกระบบ
 เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และ 40 องค์กรกิจกรรม พร้อมด้วย 243 รายชื่อ นิสิต นักศึกษาและ ประชาชน ออกแถลงการณคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัตินำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ภายใต้สโลแกน “การศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการ เด็กไทยต้องมีโอกาสได้เล่าเรียนอย่างเท่าเทียมหยุดแปรรูปการศึกษา หยุดม.นอกระบบ” เนื่องจากในวันดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการส่งร่างดังกล่าวเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเพื่อรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติในวาระแรก
 
แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้
 1. ขอให้สภาผู้แทนราษฎรเลื่อนการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... ออกไปก่อน และให้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกลับมาให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทบทวนและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
2. ขอให้รัฐบาลทำหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ให้เป็นที่รับรู้ต่อนิสิตและประชาคมเกษตรศาสตร์อย่างเต็มที่และทั่วถึง
 
3. ขอแสดงจุดยืนในการร่วมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ ร่วมกับแนวร่วมนิสิตคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบ และขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยอื่นๆ ออกนอกระบบราชการ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น ไม่ใช่คำตอบของระบบการศึกษา ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทางการศึกษาแต่อย่างใด กลับเป็นการซ้ำเติมปัญหา และสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ยิ่งห่างไกลกว่าเดิม ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คณะบุคคลบางกลุ่มเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในมหาวิทยาลัย โดยขาดระบบในการตรวจสอบถ่วงดุล
 
4. ขอเสนอให้รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสรุปบทเรียน ข้อดี-ข้อเสีย และผลกระทบต่อนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร พนักงานมหาวิทยาลัยตลอดจนพี่น้องประชาชน ภายหลังจากการที่ได้มีการนำมหาวิทยาลัยหลายแห่งออกนอกระบบ ในยุคเผด็จการคมช. เมื่อปีพ.ศ. 2551 การนำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ออกนอกระบบเมื่อ ปีพ.ศ. 2541 และการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
 
5. ขอสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีเสรีภาพทางวิชาการ ภายใต้การอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาล ขอให้มีการกำหนดว่า “การศึกษาเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเทียม ฟรีตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี รวมทั้งระบบการศึกษาทางเลือกอื่นๆ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการประกันโอกาสทางการศึกษาของประชาชน
 
ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 10.30 น. แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ และกลุ่มนักศึกษาอีกกว่า 50 คน จากหลากหลายสถาบัน รวมกลุ่มกันหน้ารัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือขอให้สภาผู้แทนราษฎรเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้มีการทบทวนเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และขอให้นิสิตนักศึกษาของแต่ละสถาบันมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยของตน โดยมีนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นผู้มารับหนังสือ ทั้งนี้ นอกจากการยื่นหนังสือแล้ว กลุ่มนักศึกษายังถอดเสื้อผ้าประท้วง โดยมีป้ายข้อความคัดค้าน ม.นอกระบบพันรอบตัวด้วย เพื่อสื่อว่า ม.นอกระบบทำให้ประชาชนหมดเนื้อหมดตัว พร้อมตะโกนว่า "ไม่มีตังค์เรียนแล้ว ค่าเทอมแพง"
 
ด้านนายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล สัญญากับผู้ยื่นหนังสือว่าจะขอให้สภาฯ เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กลุ่มนักศึกษาจึงยุติการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา
อ่านเพิ่มเติม: ประชาไท

อจ.มธ.เสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรม-ล้างมลทิน ให้ประชาชนรากหญ้า
ที่รัฐสภา นายวรพล พรหมิกบุตร นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ได้ยื่นหนังสือต่อนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม นายสุรสาล ผาสุข ส.ส.สิงห์บุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล เพื่อเสนอแนวคิดการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและล้างมลทิน ให้กับประชาชนที่ร่วมเหตุการณ์การชุมนุมในปี 2550-2553 หรืออาจเรียกว่า " .......นิรโทษกรรมและล้างมลทินผู้ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2550-2553 พ.ศ...."
 
นายวรพลกล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมระหว่างคนเสื้อเหลืองและเสิ้อแดงหลายครั้ง การชุมนุมนอกจากจะเป็นไปโดยสงบแล้ว ยังมีการชุมนุมในทางลบ เช่น มีการใช้อาวุธ และทำร้ายร่างกาย กระบวนการปรองดองควรเริ่มต้นที่ประชาชนรากหญ้าก่อน หรือประชาชนแต่ละกลุ่มการเมือง ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงก่อน โดยอาศัยกลไกทางข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ แต่ไม่ครอบคลุมถึงแกนนำและผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งรวมถึงฝ่ายบริหารและตุลาการ
 
นายวรพลกล่าวต่อว่า สาระสำคัญของการออกกฎหมายต้องจำแนกคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่ชุมนุมโดยสงบ สุจริต บริสุทธิ์ ไม่มีคดีใดๆ 2.กลุ่มคนที่ชุมนุมโดยสงบ แต่ถูกสถานการณ์พาไปทำให้เป็นผู้กระทำผิด อยู่ในเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธ เหมือนการตกกระไดพลอยโจร 3.คือกลุ่มคนที่เป็นเหยื่อของการกระทำความผิดของแกนนำและอำนาจรัฐ แม้ไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.รักษาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง
 
นายวรพลกล่าวอีกว่า กลุ่มคนในข้อ 3 เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมและล้างมลทิน โดยบุคคลที่กระทำผิด ถ้าเห็นว่าเป็นความผิดที่ยอมรับได้ ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้กระทำผิด แต่เป็นเหยื่อของผู้กระทำผิดมีมลทินติดตัว กลุ่มนี้ควรมีกฎหมายล้างมลทิน ว่า ไม่เคยถูกฟ้องร้องหรือถูกจับกุมมาก่อน เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้กระทำผิดจึงไม่ต้องนิรโทษกรรม ซึ่งออกกฎหมายสามารถออกเป็นฉบับเดียวกันได้ ส่วนแกนนำต้องใช้กระบวนการวิธีอื่น ไม่ใช่วิธีแบบนี้ ส่วนผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ก็ควรได้รับสิทธิในการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม สำหรับการจำแนกกลุ่มประชาชน ไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรพิเศษ เพราะองค์กรที่มีอยู่ เช่น ศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรเหล่านี้เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม กระบวนการเร่งด่วนต้องปล่อยตัวชั่วคราวประชาชนที่ถูกคุมขังให้ออกมาต่อสู้คดีตามวิถีรัฐธรรมนูญภายใต้สิทธิที่เท่าเทียมกัน
 
นายพีรพันธุ์กล่าวว่า เท่าที่รับฟังความเห็นทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า บ้านเมืองต้องปรองดอง ต้องช่วยเหลือประชาชน รวมถึงจากการพูดคุยส่วนตัวกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นด้วยในเบื้องต้นว่า ต้องช่วยเหลือประชาชนก่อน ซึ่งจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าหารือในการประชุมพรรคเพื่อไทย วันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ด้วย ส่วนแต่ละกลุ่มการเมืองยังมีความหวาดระแวงกันนั้น หากมีการพูดคุยกัน เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วจะเห็นตรงกันได้ สำหรับกรณีความขัดแย้งภายในกลุ่มคนเสื้อแดงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ที่มีความเห็นแตกต่างเพราะบุคคลเหล่านั้นยังไม่ได้พูดคุยกันโดยตรงมีแต่พูดผ่านสื่อ 
ที่มา : มติชน

 
ญาติวีรชนหนุนนิรโทษเว้น4ฝ่าย
 นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6 เรื่องการนิรโทษกรรมโดยใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยระบุว่า ฝ่ายผู้สูญเสียและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกของปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งญาติวีรชนพฤษภา 35 มีความเห็นว่า ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนอย่าได้รวมแกนนำผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย อันประกอบไปด้วย รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพในขณะนั้น ผู้นำเหล่าทัพและเจ้าหน้าที่รัฐ(ศอฉ.) พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มแกนนำการชุมนุมต่างๆ นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงมา 
อ่านเพิ่มเติม : โพสต์ทูเดย์

 
พณ.เชื่อสหรัฐฯ ทบทวนสถานะไทยจาก"ต้องจับตาละเมิดทรัพย์สินฯ"
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปราบปรามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในแบบต่าง ๆ ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ และมีการนำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จากการรายงานในเบื้องต้น พบว่า ทางสหรัฐฯ พอใจกับแนวทางการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และพร้อมจะทบทวนสถานะของประเทศไทยจากประเทศที่จะต้องจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (PWL) ให้เป็น WL โดยจะมีการประกาศในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับการทบทวนสถานะใหม่ จากการปราบปรามที่จริงจัง หลังจากถูกขึ้นบัญชี PWL มาแล้ว 4 - 5 ปี
ที่มา : เอเอสทีวีผู้จัดการ

 
ยูเอ็นเผยสภาพค่ายผู้อพยพ 'โรฮิงญา' ไม่ต่างจากคุก
ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ เตือนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพม่าอาจกระทบต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศ พร้อมระบุว่า ค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ มีสภาพไม่แตกต่างไปจากเรือนจำ
 
นายโทมัส โอเจีย ควินทานา ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า แถลงกับผู้สื่อข่าวที่ท่าอากาศยานในนครย่างกุ้ง ของพม่า เปิดเผยว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้พม่าจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากเผด็จการทหาร มาสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือน ตั้งแต่ปี 2554 แล้วก็ตาม
 
สำหรับปัญหาที่นายควินทานา หยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาล กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในรัฐคะฉิ่น ทางภาคเหนือของพม่า โดยนายควินทานาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยุติการใช้กับระเบิด ซึ่งยังคงคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
 
นอกจากนี้ นายควินทานายังพูดถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมเชื้อสายโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า โดยระบุว่า ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญา อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพราว 1 แสน 2 หมื่นคน ขณะที่สภาพของค่ายผู้อพยพ แม้จะมีการพัฒนาดีขึ้นจากเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งนายควินทานาเคยเดินทางไปตรวจเยี่ยม แต่เขาก็ชี้ว่า ค่ายผู้อพยพดังกล่าวยังมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขอนามัย และการจำกัดอิสรภาพในการเดินทางเคลื่อนไหวของผู้อพยพภายในค่าย ซึ่งนายควินทานาระบุว่า เข้มงวดจนเกินไป ทำให้ค่ายดังกล่าวมีสภาพไม่แตกต่างไปจากเรือนจำทั่วไป
 
แถลงการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายควินทานา เสร็จสิ้นการเดินทางสำรวจสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่างๆ ของพม่าเป็นเวลา 5 วัน โดยนายควินทานา กล่าวว่า รัฐบาลพม่าควรเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กล่าวมา เนื่องจากปัญหาดังกล่าวอาจขัดขวางการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งพลเอกเต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่าคนปัจจุบัน ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น นับตั้งแต่สิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารเมื่อ 2 ปีก่อน
ที่มา : VoiceTV

ฝรั่งเศสไฟเขียว เกย์แต่งงานถูกกฎหมายแล้ว
เมื่อ 13 ก.พ. ว่า สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส ผ่านร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ อนุญาตให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้อง และสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ หลังการลงมติรองรับจากวุฒิสมาชิก ได้ 329 ต่อ 229 เสียง
 
การคลอดกฎหมาย "สมรสสำหรับทุกคน" ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีฟรองซัวร์ ออลลองด์ แห่งพรรคสังคมนิยม และวุฒิสมาชิกฝ่ายซ้าย ท่ามกลางความเห็นขัดแย้งจากพรรคอนุรักษนิยม อูแอมเป
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์