นศ.มธ.ร้อง ขอมีส่วนร่วมในร่างพ.ร.บ.ฯออกนอกระบบ
ตัวแทนสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือผ่านนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา ไปยังประธานรัฐสภา และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยทบทวนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.... โดยหนังสือดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องจำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1. ขอให้มีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับนักศึกษาและประชาคมธรรมศาสตร์ได้รับรู้อย่างเต็มที่และทั่วถึง 2. ให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหารและประชาคมธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะนักศึกษา เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม ในการทบทวนแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้เป็นธรรม และตอบสนองความต้องการของประชาคมธรรมศาสตร์ต่อไป
การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวของนักศึกษา ไม่ได้ต้องการขัดขวางกระบวนการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย แต่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในกฎหมายที่เป็นข้อบังคับต่อนักศึกษาเท่านั้น
กอ.รมน. คาดรัฐบาลเตรียมใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเพิ่ม 19 มี.ค.นี้
พล.ท.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) กล่าวว่ารัฐบาลประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืน จ.นราธิวาส โดยกฎหมายพิเศษที่ใช้มี 3 ฉบับ เลือกใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในพื้นที่ หากสถานการณ์รุนแรงมากจนต้องมีการควบคุมระดับที่เข้มข้นที่สุดจะใช้กฎอัยการศึก รองลงมาคือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเบาที่สุดคือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยมีพื้นที่ที่มีปัญหา 37 อำเภอ ขณะนี้พื้นที่ที่ประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มี 5 อำเภอ ได้แก่ จ.สงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ จะนะ,นาทวี,สะบ้าย้อย,เทพา และ จ.ปัตตานี 1 อำเภอ ได้แก่ อ. แม่ลาน
พล.ท.ดิฏฐพร กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ถือเป็นกฎหมายที่แม้จะใช้เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ แต่ก็เป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้ที่หลงผิดหรือผู้ต้องหาคดีความมั่นคง แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงาน และสามารถกลับเข้าสู่สังคมและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามความใน ม.21 แห่ง พ.ร.บ.มั่นคงฯพ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้ การนำ ม.21 มาดำเนินการมีหน่วยงานหลัก ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ,กอ.รมน. และกระทรวงกลาโหม(กห.) โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกลับใจยอมเข้ารายงานตัว หรือสอบสวนแล้วว่า “กระทำไปเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์”เข้ารับการฝึกอบรมแทนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติเพื่อให้บุคคลผู้นั้นกลับไปใช้ชีวิตปกติ
'มัลลิกา' จี้ดีเอสไอดำเนินคดี 'จักรภพ' ในฐานะผู้เขียนบทความ คดี 'สมยศ' หมิ่นสถาบัน
20 ก.พ.56 นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และประธานชมรมนักรบไซเบอร์ (Fight Bad Web) โพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Mallika Boonmeetrakool ระบุว่า ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียกร้องให้ดำเนินการจับกุมตัวนายจักรภพ เพ็ญแข มาลงโทษตามกฎหมาย
สืบเนื่องจาก คำพิพากษาศาล คดีอาญา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกโทษจำคุก 10 ปี โดยคำพิพากษาศาลสืบเนื่องจากนายสมยศเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของ “จิตร พลจันทร์” หมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการให้การในชั้นศาลเมื่อมีการถามว่า “จิตร พลจันทร์” เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศ ตอบว่า “จักรภพ เพ็ญแข”
นางสาวมัลลิกา ระบุข้อเรียกร้องของชมรมนักรบไซเบอร์ ถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยตรงด้วยว่า เนื่องจาก ดีเอสไอ มีกำลังคนกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบกับได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อ้างอิงข้างต้นนั้นเสมอมา จึงขอให้ท่านพิจารณารับเรื่องเข้าดำเนินการพร้อมมอบหมายงานนี้โดยเป็นลายลักษณ์อักษร ลงลายมือท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นหลักฐานเพื่อตนและสมาชิกรวมทั้งประชาชนจะได้ติดตามการปฏิบัติหน้าที่หรือให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสได้อย่างทันท่วงที โดยจะทำหนังสือติดตามทวงถามท่านเป็นระยะทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการพิทักษ์รักษากฎหมาย
'เอ็นจีโออีสาน' จัดเวทียกร่าง กม.3 ฉบับ หวังกระจายที่ดินเป็นธรรม
ภาคประชาชนอีสาน จัดเวทีวิชาการระดมความคิด ยกร่างกฎหมายสามฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน และ พ.ร.บ.สิทธิการจัดการที่ดินและทรัพยากร โดยก่อนหน้านี้ในภาคเหนือได้มีการจัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ไปแล้วภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า หวังการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม
จากนั้น นายแพทย์นิรันดร์ ร่วมกับ รศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสารคาม เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศกส.) โดยการดำเนินงานของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
ด้านนายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงที่มาของการเปิดตัวศูนย์ดังกล่าวว่า มาจากสภาพปัญหาคดีความที่เกิดขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนและชุมชน ซึ่งคดีส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนจนที่ถูกข้อพิพาทในเรื่องที่ดินทำกิน และนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านคดีความที่เกิดขึ้น
“ปริญญา” เสนอแก้โทษปรับ 10 เท่าร้านเหล้าใกล้สถานศึกษา
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ปัญหาร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า จากการทำงานเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยนั้น พบว่า แม้มหาวิทยาลัยจะสามารถขอความร่วมมือจากร้านค้ารอบมหาวิทยาลัยและกรมสรรพสามิต ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้ เช่น การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กำหนด ไม่ขายให้กับผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ขายในสถานที่ห้ามขายตาม พ.ร.บ.อาทิ หอพัก เป็นต้น โดยจะมีการยึดใบอนุญาตร้านค้าที่กระทำผิดได้แล้ว แต่ร้านค้าเหล่านี้กลับยังสามารถเปิดขายได้ตามปกติและกระทำผิดในเรื่องอื่นๆ เหมือนเดิม
“ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ได้ คือ เมื่อร้านกระทำความผิดถูกยึดใบอนุญาตก็ยังเปิดจำหน่ายต่อได้ เพราะ พ.ร.บ.สุรา 2493 มาตรา 40 กำหนดโทษผู้กระทำผิดตามมาตรา 17 คือ ขายโดยไม่มีใบอนุญาตนั้นมีโทษปรับน้อยมาก คือ สุราต่างประเทศโทษปรับ 2,000 บาท และสุราไทย มีโทษปรับ 500 บาท ทำให้เมื่อถูกยึดใบอนุญาตร้านค้าก็ไม่เดือดร้อน เพราะโทษปรับน้อยเมื่อเทียบกับกำไรที่ได้รับ จึงต้องมีการแก้กฎหมายพ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 มาตรา 40 เพิ่มโทษอย่างน้อย 10 เท่า ตามอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและควรมีโทษจำคุกเพิ่มด้วย โดยเฉพาะในกรณีการกระทำผิดซ้ำซากซึ่งพบบ่อยมากในปัจจุบัน โดยคณะทำงานฯ กำลังทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อไป” นายปริญญา กล่าว
สธ.ขีดเดธไลน์ 2 เดือน ทำร่าง กม.คนไข้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ว่า การหารือในครั้งนี้ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำเนื้อหาสาระของกฎหมายดังกล่าว
“ข้อสรุปใน 9 ประเด็นเป็นภาพรวม โดยจะมีการแตกประเด็นย่อยอีก ซึ่งทั้งหมดคือเนื้อหาสาระหลักที่ต้องจัดทำเป็นสาระบัญญัติ ส่วนจะนำไปใส่ไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่หรือไม่ หรือจะเป็นร่างพ.ร.บ.เดิมแล้วนำมาปรับปรุง ยังไม่ได้หารือในรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ได้ตั้งกรอบเวลาการทำงาน โดยภายใน 2 เดือนจะมีความชัดเจนขึ้น ยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่หยุดนิ่งแน่นอน” รมช.สาธารณสุข กล่าว
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า รู้สึกมีความหวังอีกครั้ง เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยกร่างมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 6 ปี ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ถูกประกาศใช้ แม้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ถูกตีกลับให้มีการพิจารณาใหม่ ซึ่งหลังจากการประชุมครั้งนี้ นพ.ชลน่าน ระบุชัดเจนตั้งกรอบเวลา 2 เดือน ซึ่งหากทันวาระการพิจารณาของสภาฯในสมัยนี้ คือ ภายในวันที่ 18-21 เมษายนนี้ ก็จะดีมาก แต่หากไม่ทันคงต้องรอการประชุมสมัยหน้า ซึ่งประมาณปลายปีทีเดียว
เอ็นจีโอล่ารายชื่อทั่วโลก 1 ล้านห้ามค้างาช้าง
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ทางองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)ประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรทราฟฟิค (TRAFFIC) จัดกิจกรรม "ไถ่ชีวิตช้างด้วยชื่อ ช่วยช้างแอฟริกา หยุดค้างาช้างในไทย" ทั้งนี้เพื่อแสดงพลังร่วมกันรักษาชีวิตช้าง แทน 1 เสียงในการสนับสนุนเพื่อหยุดฆ่าช้างแอฟริกา และค้างา ช้างของไทยขึ้น
น.ส.โซไรดา ซาลวาลา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่าถึงแม้ว่าทางกรมอุทยาน จะเริ่มดำเนินการในการขึ้นทะเบียนเพื่อควบคุมการค้างาช้างร่วมกับผู้ประกอบการในไทยแล้ว แต่ภาพรวมงาช้างผิดกฎหมายจากแอฟริกายังคงทะลักดข้ามาในไทยจำนวนมาก ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลประ กาศยุติการค้างาช้างของไทยไปชั่วคราวก่อน จากนั้นจึงค่อยมากำหนดหรือวางระเบียบและอุดช่องโหว่ให้ชัดเจนก่อน จึงค่อยเปิดให้ค้าขายได้
น.ส.จันทร์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า WWF กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นถูกจับตามองว่าเป็นแหล่งตลาดงาช้างที่ไม่มีการควบคุมแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าจะมีการควบคุมงาช้างแอฟริกา ก็ตามแต่ว่ากฏหมายไทยอนุญาตให้ค้างาช้างบ้านได้ จึงทำให้สวมรอยได้ง่าย ดังนั้นไทยต้องปิดช่องโหว่ตรงนี้ เพราะมีข้อมูลว่างาช้างในแอฟริกาถูกฆ่าตายปีละหลายหมื่นตัวเพื่อเอางาช้างส่งมาในเอเชีย โดยเฉพาะ 2 เดือนแรกของม.ค.55 มีช้างในอุทยานบัวบส นัดจิดา แคเมอรูน ฆ่าช้างเอางาถึง 400 ตัว
"สำหรับรายชื่อที่รวบรวมไว้นี้ ตั้งเป้ารณรงค์ให้ได้ 1 ล้านเสียงจากทั่วโลกภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งปัจจุบันได้มาแล้ว 4 แสนรายชื่อรวมทั้งของลีโอนาโด ดาราดังด้วย จากนั้นจะเสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ไทยหยุดค้าผลิตภัณฑ์จากงาช้างทั้งหมดไว้ก่อนการประชุมไซเตส โดยให้ใช้กฏหมายควบคุมหยุดค้าชั่วคราว จากนั้นจัดระเบียบกฏหมายใหม่ โดยเสนอให้ช้างบ้านและช้างป่า ที่อยู่ในพรบ. คุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนช้างบ้านซึ่งถูกแยกการคุ้มครองในพ.ร.บ.สัตว์พาหนะของกรมการปกครอง มาอยู่ในพรบ.ควบคุมชนิดเดียวกันก่อน"น.ส.จันทร์ปาย กล่าว