จับตา เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป

จับตา เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป

iLaw เมื่อ 28 ก.พ. 2556

ตามที่ประเทศไทย จะเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยขสหภาพยุโรปในรอบแรก วันที่ 6-7 มีนาคม 2556 นั้น

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ภาคประชาชน 28 เครือข่าย รวมตัวกันในนาม เครือข่ายประชาชนเฝ้าระวังการเจรจาเอฟทีเอ ได้แสดงความห่วงใยและเรียกร้องต่อรัฐบาลและคณะเจรจาในสองเรื่องหลัก คือ

หนึ่ง เรื่อง “กระบวนการเจรจา” ที่ต้องการให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกส่วน ทั้งก่อนและหลังจากเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล

สอง เรื่อง “เนื้อหา” ภาคประชาชนมีความห่วงใยในประเด็นสำคัญ คือ

  • ต้องไม่ยอมรับทริปส์พลัส คือ ไม่รับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยา และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้อยู่
  • ขอให้เจรจาเรื่องสินค้าเหล้า บุหรี่ ด้วยความระมัดระวัง
  • ในเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุนนั้น ต้องไม่ให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ ด้านสาธารณสุข สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ


ทั้งนี้ ตามแผนการเจรจา ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะเร่งเจรจาอย่างเร่งด่วน โดยจะมีการเจรจา 10 รอบ ใช้เวลา 1 ปี ครึ่ง จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อให้ทันต่อสิทธิพิเศษทางการค้าที่จะหมดในสิ้นปี 2557

เครือข่ายประชาชนเห็นว่า การเจรจานี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในส่วนที่เป็นธุรกิจส่งออกเนื้อไก่และกุ้ง แต่อาจต้องแลกกับความเสี่ยงในเรื่องสิทธิบัตร ซึ่งมีประเด็นที่กระทบต่อความเป็นความตายของมนุษย์

อุบล อยู่หว้า หนึ่งในตัวแทนประชาชนกล่าวว่า เข้าใจว่าการเจรจาอาจจะไม่สามารถ win-win ในทุกเรื่องได้ แต่ต้องไม่ใช่ว่า คนส่วนใหญ่ต้องถูกเลือกให้เป็นผู้เสียสละ
 

ร่วมแสดงความคิดเห็น
Vote
Get Adobe Flash player