ศาลพิจารณาลับ คดีหนุ่มปัตตานีถูกกล่าวหาหมิ่นพระราชินี
26 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลจังหวัดปัตตานี นัดสืบพยานโจทก์ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หมายเลขคดีดำ อ.2853/2554 จำเลยเป็นชายชาวจังหวัดปัตตานีนับถือศาสนาอิสลาม โดยพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ซึ่งจำเลยและทนายจำเลยมาศาล ส่วนพยานไม่มาศาล
ศาลได้เลื่อนพิจารณาคดีนี้ไปในวันที่ 28 ก.พ. และ 1 มี.ค.56 คดีนี้เป็นคดีแรกของศาลจังหวัดปัตตานี และศาลได้สั่งพิจารณาคดีลับ ทำให้ญาติของจำเลยและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่สามารถร่วมฟังการพิจารณาคดีได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการนัดสืบพยานโจทก์ไปแล้วหลายปาก และจะมีการสืบจำเลยในวันที่ 6 มี.ค.นี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ ระบุภูมิหลังของคดีนี้ ว่า จำเลยถูกกล่าวหาว่า ในวันที่ 12 ส.ค.52 ร่วมกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ตัว นำแผ่นป้ายผ้า 2 ผืน ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเหตุการณ์ความขัดแย้งอื่นๆ ในประเทศไปปิดไว้บนสะพานลอยคนข้ามถนน พร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นการใส่ความพระราชินีต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่ทำให้พระราชินีเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อย่างไรก็ตาม จำเลยได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 300,000 บาท โดย
เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลฯ ยังอ้างถึงคำบอกเล่าของแหล่งข่าวว่า ในวันที่ 12 ส.ค.52 นั้น มีแผ่นป้ายผ้าในลักษณะเดียวกันติดอยู่ตามที่สาธารณะและสะพานลอยในจังหวัดปัตตานีเป็นจำนวนมาก ซึ่งติดอยู่ไม่นานก็ถูกเจ้าหน้าที่เก็บออก แต่จำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องว่าเกี่ยวข้องกับป้ายผ้าจำนวนสองผืนเท่านั้น
จำเลยในคดีนี้เคยถูกผู้ใหญ่บ้านมาเรียกตัวให้ไปพบทหารในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงหนึ่งครั้ง ก่อนการจับกุมในครั้งนี้ ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้เก็บดีเอ็นเอที่กระพุ้งแก้มไปเป็นฐานข้อมูล และได้รับการปล่อยตัว
ปลายเดือนสิงหาคม 2552 ผู้ใหญ่บ้านเรียกตัวให้ไปพบทหารอีกครั้ง ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่ไม่ได้แจ้งว่าในเรื่องอะไร และไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการควบคุมตัวและสอบสวนโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จำเลยในคดีนี้ยังระบุว่าถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพโดยการเตะ ต่อย เอาถุงน้ำแข็งฟาดจนกว่าจะรับสารภาพ แต่ไม่บอกว่าให้รับสารภาพในข้อหาอะไร และมีการข่มขู่ว่าหากไม่รับสารภาพจะโดนหนักขึ้น จึงตัดสินใจรับสารภาพในชั้นสอบสวน หลังจากรับสารภาพแล้วเจ้าหน้าที่ทหารจึงแจ้งให้ทราบว่ากำลังถูกสอบสวนว่ากระทำความผิดในเรื่องใด หลังจากรับสารภาพแล้วจำเลยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน
ทั้งนี้ คดีนี้ศาลจังหวัดปัตตานี ได้นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 21 มี.ค.55 แต่ทนายความจำเลยจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแถลงขอเลื่อนนัดพร้อม เนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในคดี ยังไม่มีเวลาเตรียมตัว ศาลอนุญาตให้เลื่อนวันนัดพร้อมเป็นวันที่ 25 เม.ย.55
ต่อมาในวันที่ 25 เม.ย.55 โจทก์แถลงขอเลื่อนคดีเพราะมีพยานถึง 114 ลำดับ เป็นพยานบุคคล 109 ปาก ไม่สามารถเตรียมให้พร้อมได้ทัน ศาลจึงสั่งให้เลื่อนวันนัดออกไปก่อน โดยนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 พ.ค.55 และจะกำหนดวันนัดสืบพยานในวันดังกล่าว
วันที่ 28 พ.ค.55 จำเลยแถลงศาลขอถอนทนายความชุดเดิม ซึ่งเป็นทนายความช่วยเหลือจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดตามคดีความในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง และแต่งตั้งทนายความเอกชนในพื้นที่ให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีแทน ทนายความใหม่จึงแถลงต่อศาลขอเลื่อนวันนัด เนื่องจากเพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นทนายความในคดี ยังไม่มีเวลาเตรียมตัว ศาลอนุญาตให้เลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปอีกครั้ง
จำเลยในคดีนี้นอกจากจะอยู่ภายใต้ความกดดันเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ยังอยู่ภายใต้ความกดดันจากเหตุการณ์ความไม่สงบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเต็มจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 สามารถจับกุมตัวบุคคลใดๆ ได้และควบคุมตัวได้นานต่อเนื่องหลายสิบวัน ทำให้จำเลยมีความหวาดกลัว ไม่ต้องการเปิดเผยตัว
ยื่นแสนชื่อออกกม.แก้วิกฤตระบบสธ.
27 กุมภาพันธ์ 2556 เครือข่ายสาธารณสุข ยื่นแสนชื่อเสนอกฎหมายแก้วิกฤตระบบสาธารณสุข หลังกฎหมายปัจจุบันรุงรังไม่เอื้อทำงานเพื่อประชาชน
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล หัวหน้าคณะกรรมการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย (ก.สธ.) ได้นำเครือข่ายสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อพัฒนาระบบการสาธารณสุขจำนวน 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพ.ร.บ.การจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข พ.ศ... จำนวน 110,211 รายชื่อ และ 2.ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายอันเกี่ยวกับการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข และที่เกี่ยวข้องบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.... จำนวน 111,419 รายชื่อ โดยให้รัฐสภาพิจารณาโดยเร็วที่สุด
พญ.อรพรรณ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องเสนอกฎหมายดังกล่าวเพราะขณะนี้เกิดวิกฤติการแพทย์และสาธารณสุขต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเสนอกฎหมายและตรากฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขเฉพาะในประเด็นย่อยประมาณ 10 ฉบับที่กระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และบุคคลสาธารณสุขจึงรวมกันเป็นก.สธ.เพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจทำการแก้ไขพัฒนาระบบการสาธารณสุขมาต่อเนื่อง
ครม. เห็นชอบกฤษฎีกา แก้กฎหมายท้องถิ่น คงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ให้ยุบ
27 กุมภาพันธ์ 2556 นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. ว่า ครม.ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอให้รับทราบผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เทศบาล และร่างพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ รวม 2 ฉบับ และมอบให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ให้เหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ตามที่เป็นข่าวออกมาก่อนหน้านี้ถึงหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนายอำเภอว่ามีหน้าที่แตกต่างกัน นายอำเภอมีภารกิจเป็นตัวแทนรัฐบาลดูและความปลอดภัยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนายอำเภอต้องมีบุคลากรที่ต้องเชื่อมโยงนำนโยบายของรัฐเชื่อมโยงสู่ประชาชน แต่การจัดให้มีข้าราชการเพื่อไปดำเนินการดังกล่าวย่อมสิ้นเปลื้องงบประมาณ และขาดความเชื่อมโยงตามธรรมชาติ
ดังนั้น กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่มีอยู่จึงจำเป็นที่สุด และเหมาะสมที่สุด ดังนั้นสรุปว่าจะต้องมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต่อไป เพียงแต่แก้ไขกฎหมายบางส่วน และกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้มีบทบาทหน้าที่ใหม่ เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ และต้องไม่ทับซ้อนสับสนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้นำความเห็นดังกล่าวไปปรับแก้อีกครั้ง
ยกฟ้อง ‘คดีเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2’ หลังรอผล 6 ปี-โรงไฟฟ้าเดินเครื่องแล้ว
27 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 9.00 น.ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ชั้น 3 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา กรณีชุมชนแก่งคอย ในนามกลุ่มอนุรักษ์แก่งคอยฟ้องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิกถอนใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และให้กรมชลประทานเพิกถอนใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากการจัดสรรน้ำให้กับโครงการพลังงาน จนทำให้ภาคการเกษตรขาดแคลนน้ำ รวมทั้งมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง
คดีนี้ชาวบ้านแก่งคอยได้มอบให้โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เป็นผู้แทนในการดำเนินคดีต่อศาลปกครอง ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2550 ในประเด็นสำคัญ คือ 1.การที่กรมชลประทานออกหนังสืออนุญาตให้โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ทำการสูบน้ำจากทางน้ำชลประทานป่าสักชลสิทธิ์ โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องความไม่เพียงพอของน้ำต้นทุนในแม่น้ำป่าสักต่อการสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอนุมัติให้ใช้น้ำของกรมชลประทาน ดังนั้น การออกคำสั่งของกรมชลประทานดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.การที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้านโครงการพลังงาน มีมติเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องความไม่เพียงพอของน้ำต้นทุนในแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สงสัยและมีข้อห่วงกังวล การออกคำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ประกอบกิจการโรงไฟฟ้า ทำให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนเกิดอันตราย เหตุรำคาญ และความเสียหายทั้งสุขภาพร่างกายและทรัพย์สิน และตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ขัดกับหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ข้อ 4 ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 การออกคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4.การอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของหน่วยงานรัฐโดยไม่จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการให้ข้อมูล คำชี้แจงหรือเหตุผลของหน่วยงานรัฐก่อนรับฟังความคิดเห็น และกระบวนการประชาพิจารณ์ อันเป็นสาระสำคัญตามหลักการในรัฐธรรมนูญและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ขาดขั้นตอนและวิธีการที่เป็นสาระสำคัญตามกฎหมาย คำสั่งอนุมัติอนุญาตโครงการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องโดยพิจารณาจากประเด็นหลักเรื่องการอนุมัติให้ใช้น้ำของกรมชลประทานไม่ถูกต้อง ซึ่งชาวบ้านต่อสู้ว่าในพื้นที่มีการขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว การอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำนั้นยิ่งทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ โดยอ้างถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา แต่ศาลมีความเห็นว่าการอนุญาตให้โรงไฟฟ้าใช้น้ำได้ ไม่ส่งผลกระทบ น่าเชื่อถือกว่า เพราะกรมชลประทานอยู่กับข้อเท็จจริงในการบริหารจัดการน้ำ
ส่วนการที่ คชก.พิจารณาเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องความไม่เพียงพอของน้ำต้นทุนในแม่น้ำป่าสัก ทำให้การออกคำสั่งอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง 2 ประเด็นนี้จึงตกไปด้วย
สงกรานต์ แสดงความเห็นต่อมาว่า คดีนี้แสดงให้เห็นข้อจำกัดของภาคประชาชน จากการที่ศาลเชื่อความเชี่ยวชาญของหน่วยงานรัฐ ขณะที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น กลายเป็นปัญหาว่าประชาชนจะเอาเงินที่ไหนมาสู้เพื่อตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานรัฐ อีกทั้งการที่นักวิชาการอิสระจะคัดค้านความเห็นของหน่วยงานรัฐได้ต้องทำให้เห็นข้อมูลอย่างชัดแจ้ง หรือการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงนั้นปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะแล้ว
“ผลการศึกษา 3 เดือน กับการศึกษา 3 ปี ของ EIA คิดแบบคนปกติทั่วไป เราจะเชื่ออะไรมากกว่ากัน” สงกรานต์ยกตัวอย่าง
สำหรับข้อเสนอ สงกรานต์กล่าวว่า ในแง่กระบวนการ 1.ศาลควรตั้งคนกลางของศาลมาช่วยในการสืบค้นข้อมูล นอกเหนือจากการพิจารณาข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่ายที่ถกเถียงกันอยู่ 2.ตั้งกองทุนเพื่อรองรับภาคประชาชนในการทำวิจัยข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น ส่วนการเดินหน้าคดีต่อไปหรือไม่ทีมทนายต้องทำการศึกษาข้อมูลร่วมกับชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของบริษัทกัลฟ์ พาวเวอร์เจเนอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป่า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1,468 เมกกะวัตต์ ซึ่งใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าบ่อนอก 2 เท่า เพื่อชดเชยค่าเสียหายจำนวน 4,000 ล้านบาทที่รัฐบาลต้องจ่ายให้บริษัทกัลฟ์ ที่ต้องย้ายโครงการโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 734 เมกะวัตต์มาจาก ต.บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีกำหนดต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2550
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 หน่วยที่ 1 กำลังผลิต 734 เมกกะวัตถ์ ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าส่งเข้าระบบของประเทศแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ส่วนหน่วยที่ 2 ได้ทดลองเดินเครื่องและพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในวันที่ 1 มีนาคม 2551
‘โอฬาร’ หัวหน้าเจรจารับปาก FTA ไทย-อียู ไม่หมกเม็ด ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
28 ก.พ. 56 เครือข่ายภาคประชาชนจาก 28 องค์กร ราว 300-400 คน นัดหมายชุมนุม และมีการเดินเท้าจากลานพระบรมรูปทรงม้ามายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางไปกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม เพื่อเริ่มต้นเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในวันที่ 6-7 มี.ค.นี้ โดยรัฐบาลกำหนดจะเร่งกระบวนการเจรจา เพียง 10 รอบ ใช้เวลา 1 ปีครึ่งเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเห็นชอบของรัฐสภาให้ทันการต่อสิทธิพิเศษทางการค้า (จีพีเอส) ระหว่างไทยกับยุโรปที่จะสิ้นสุดในปี 2557
ทางเครือข่ายได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะเจรจาฯ แสดงจุดยืนต่อข้อเรียกร้อง 5 ประการของทางเครือข่าย
1. ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (ไม่ยอมรับทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ
2.การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
3. ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
4. ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า
5. ให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล
ภายหลังการหารือระหว่างตัวแทนเครือข่ายประชาชนกับนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ทำให้ได้ข้อสรุปที่ยอมรับกันเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติได้แก่
1. หลังจากที่มีการเจรจาความตกลงดังกล่าวในแต่ละรอบ จะมีการเปิดเผยข้อมูลการเจรจาและเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในปีนี้จะมีการเจรจากัน 3 รอบ
2. จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตาม โดยจะให้มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
3. ประเด็นที่ภาคประชาชนห่วงใยเป็นพิเศษ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา หรือสิทธิบัตรในทรัพยากรชีวภาพ (เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์) เรื่องสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพแอลกอฮอล์และยาสูบ เรื่องนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ โดยจะให้มีคณะทำงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับทีมเจรจา
ภาคประชาสังคม ปักหมุดจับตาการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป
1 มีนาคม 2556 ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาสังคมได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีกำหนดที่จะเดินทางไปร่วมเปิดการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป รอบแรก ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยมีกำหนดที่จะเจรจาในวันที่ 6 มีนาคมนี้
สืบเนื่องจากรัฐสภาได้ผ่านกรอบการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-สหภาพยุโรปแล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 แต่เนื้อหาของกรอบการเจรจายังบกพร่องและไม่ชัดเจนในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้กำหนดเปิดช่องไว้อย่างกว้างขวาง และสะท้อนให้เห็นว่าท่าทีของรัฐบาลต่อเรื่องนี้หละหลวมเป็นอย่างมาก ประกอบกับการที่รัฐบาลประกาศว่าจะเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง หรือเพียง 10 รอบการเจรจาเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาคประชาสังคมเป็นอย่างยิ่ง
นายจักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) กล่าวว่า “สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการเตรียมการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปในครั้งนี้ พบว่ารัฐบาลไทยไม่ได้มีการเตรียมการที่ดีพอ จะเห็นว่าทีมเจรจาเองยังไม่สามารถตอบคำถามในรายละเอียดต่างๆ ที่ภาคประชาสังคมมีความห่วงใยได้”
“ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าห่วงใยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดให้มีการคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลก หรือในประเด็นด้านการลงทุนที่กำหนดให้มีการคุ้มครองนักลงทุนอย่างเข้มข้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อนโยบายรัฐทั้งที่มีอยู่แล้ว และที่อาจจะเกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นแนวนโยบายที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชนก็ตาม” นายจักรชัยกล่าว
นอกจากนี้ แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญไทยจะมีการกำหนดให้ก่อนการทำข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ ก็ตาม รัฐบาลจะต้องจัดให้มีการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น และจะต้องยื่นให้รัฐสภาพิจารณาและเห็นชอบเสียก่อน ตามความในมาตรา 190 แต่เนื่องจากกฎหมายลูกยังมีความไม่ชัดเจนและขาดรายละเอียดในสาระสำคัญ ขั้นตอนต่างๆ ตามที่กล่าวมาจึงไม่ได้ถูกนำมาดำเนินการอย่างครบถ้วนแต่อย่างใด
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า “รู้สึกผิดหวังอย่างมากต่อท่าทีและข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ที่เรียกร้องให้มีการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีแนวโน้มว่าจะเกินไปกว่าการตกลงในองค์การการค้าโลก ทั้งๆ ที่สหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่กลับมีท่าทีในการเจรจาเอฟทีเอกับไทยอย่างที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชนไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจาครั้งนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงยา”
“เราขอยืนยันว่าเราจะสู้แค่ตาย และจะมีการรณรงค์ต่อสังคมให้มีการคว่ำบาตรสินค้าจากยุโรป รวมทั้งจะสื่อสารไปยังประชาชนในสหภาพยุโรปให้รู้ว่า สินค้าที่คนยุโรปซื้อ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ไก่ หรือสินค้าจิวเวลรี ล้วนแลกมาด้วยชีวิตของคนไทย” นายอภิวัตน์กล่าว
ด้าน ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่า หากรัฐบาลยอมรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าที่ตกลงไว้ในองค์การการค้าโลก จะส่งผลต่อราคายาที่จะแพงขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) จะส่งผลให้ยาชื่อสามัญไม่สามารถออกตลาดแข่งขันกับยาต้นแบบได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านยากว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี
ทางด้านนายชิบ้า พูราไรพุม จากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เอเชียแปซิฟิก (APN+) ได้กล่าวว่า “ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ที่เห็นเพื่อนผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ต้องเสียชีวิตลงมากมายเนื่องจากเข้าไม่ถึงยารักษาโรค แต่ภายหลังเมื่ออินเดียสามารถผลิตยาชื่อสามัญและสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก ทำให้เพื่อนของเราเข้าถึงยาและได้รับการรักษาจนมีชีวิตอยู่ได้”
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายที่ดีมากในเรื่องการมีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนในประเทศ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่ง แต่หากไทยยอมรับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาก็จะส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพของไทยได้
ด้านนายพอล คอร์ธอร์น ผู้ประสานงานโครงการเข้าถึงยาจากองค์การหมอไร้พรมแดนกล่าวว่า องค์การหมอไร้พรมแดนมีความเป็นห่วงกังวลอย่างมาก ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการเข้าถึงยาของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยในระยะยาว การรีบเร่งเจรจาของรัฐบาลไทยในครั้งนี้น่าจะเกิดจากการถูกกดดันจากสหภาพยุโรปและสภาพเศรษฐกิจ จนทำให้ละเลยที่จะคิดถึงผลกระทบด้านการเข้าถึงยาของประชาชนไทย และได้ยกตัวอย่างการเจรจาฯ ระหว่างอินเดียและสหภาพยุโรปให้ฟังว่า รัฐบาลอินเดียมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดและปฏิเสธ ไม่ยอมเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับสหภาพยุโรป จนสหภาพยุโรปต้องยอมถอย ไม่เรียกร้องเรื่องทรัพย์ทางปัญญา นอกจากนี้ ผู้แทนองค์การหมอไร้พรมแดนยังได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่า จะไม่นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลกมาเจรจา
ด้านผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้กล่าวว่า จากเอกสารข้อแนะนำเชิงนโยบายของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ที่ชื่อ The Potential Impact of Free Trade Agreements on Public Health (ผลกระทบของข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่อการสาธารณสุข) ทั้งสององค์กรมีข้อแนะนำที่ชัดเจนต่อประเทศกำลังพัฒนาว่า ควรต้องระมัดระวังและควรหลีกเลี่ยงการทำข้อตกลงการค้าเสรี ที่มีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก และขัดต่อปฏิญญาสากลโดฮา ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมไทยกว่าหนึ่งพันคน ได้มารวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้แทนเจรจาออกมาชี้แจงจุดยืนของรัฐบาลต่อการเจรจาเอฟทีเอ แม้จะมีการรับปากที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เช่น การตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและรัฐ หรือจัดให้มีกระบวนการชี้แจงรายงานการเจรจาที่จะเกิดขึ้นทุกรอบ และแม้ว่าหัวหน้าคณะเจรจา ดร.โอฬาร ไชยประวัติ จะเป็นผู้ออกมารับจดหมายและกล่าวยืนยันต่อหน้าพี่น้องที่มาร่วมชุมนุม แต่ภาคประชาสังคมเองก็ยังมีความกังวลและไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามที่ได้รับปากไว้หรือไม่อย่างไร และจะจับตา ติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มข้น
1 มีนาคม 2556 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
คปก.เห็นด้วยที่ต้องมีการตราพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นมาเพื่อเป็นการส่งเสริมจริยธรรมต่อการพัฒนาสังคมคุณภาพชีวิตสัตว์และมนุษย์ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศที่ปรากฏต่อนานาอารยประเทศ
ทั้งนี้ คปก.มีข้อสังเกตใน 3 ประการ คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว คปก.เห็นว่า ควรลดจำนวนข้าราชการในระดับปลัด และอธิบดีจากกระทรวงที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ลง (เดิมกำหนดให้มีถึง 11 คน) และเพิ่มสัดส่วนองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ(เดิมกำหนดไม่เกิน 4 คน) โดยการกำหนดให้มีตัวแทนองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านนี้ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนที่เหมาะสมและให้กรรมการผู้คุณวุฒิมาจากกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหากรรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่ามาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี เพื่อให้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และความเหมาะสมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง
ประเด็นต่อมา คปก.เห็นว่า ร่างมาตรา 17 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอซึ่งอาจเป็นประเด็นในการตีความจึงตีความได้ว่า หากกระทำการใดเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยมีเหตุอันสมควร การกระทำนั้นย่อมไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะกำหนดได้ว่ากรณีใดเป็นการกระทำอันเป็น “การทารุณกรรมสัตว์โดยมีเหตุสมควร” ซึ่งความไม่ชัดเจนของข้อความดังกล่าวจะเป็นช่องว่างในทางกฎหมาย และอาจถูกนำมาใช้หรือตีความไปในทางที่บิดเบือนหลักการของกฎหมายได้
นอกจากนี้คปก.มีความเห็นว่า ควรเพิ่มบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาเร่งรัดในการตรากฎหมายลำดับรอง หรือหลักเกณฑ์ วิธีการต่าง ๆ ในร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความล่าช้าหรือไม่ได้มีการดำเนินการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งมักเกิดขึ้นภายหลังจากที่กฎหมายนั้น ๆ ประกาศใช้บังคับไปแล้ว