รอบอาทิตย์ที่สอง มี.ค.56

รอบอาทิตย์ที่สอง มี.ค.56

เมื่อ 15 มี.ค. 2556

 

แนวร่วมนศ.บุกสภาค้านร่าง พ.ร.บ.นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 
13 มี.ค. ที่หน้าอาคารรัฐสภา แนวร่วมนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ประมาณ 20 คน ประกอบด้วยตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ใส่ชุดดำประท้วงคัดค้านสภาผู้แทนราษฎรที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 
แกนนำแนวร่วมนักศึกษาฯ ระบุว่า  ถ้าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทางแนวร่วมฯ จะนำรายชื่อ ส.ส.ที่ยกมือสนับสนุนไปประจานในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อให้สังคมและสาธารณชน รับรู้ว่า ส.ส.เหล่านี้คือผู้ที่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะเป็นพ.ร.บ.อัปยศ  คนได้ประโยชน์คือกลุ่มผู้บริหาร ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ  ก่อนหน้านี้เราได้เรียกร้องให้ทบทวนร่างพ.ร.บ.ต่างๆเหล่านี้ซึ่งไม่ได้ทำประชาพิจารณา อีกทั้งกลุ่มนักศึกษา  ประชาชนเจ้าของเงินภาษี ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำและก็ไม่ได้ส่งเรื่องกลับมาให้นักศึกษา ประชาชน ได้ทบทวนพิจารณาร่าง แต่กลับนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาเลย จากนั้นแนวร่วมนักศึกษาฯ ได้วางพวงหรีดและเผาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อแสดงสัญลักษณ์คัดค้านไม่เห็นด้วย
 
ที่มาข่าว เดลินิวส์
 
 
อุทธรณ์แก้ยกฟ้อง จำเลยคดีฆ่า “เจริญ วัดอักษร” ชี้หลักฐานไม่เพียงพอ
 
ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2945/2547 ที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเสน่ห์ เหล็กล้วน อายุ 41 ปี อาชีพรับจ้าง, นายประจวบ หินแก้ว อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง, นายธนู หินแก้ว อายุ 51 ปี อาชีพทนายความ, นายมาโนช หินแก้ว อายุ 47 ปี สมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ประจวบคีรีขันธ์ และนายเจือ หินแก้ว อายุ 76 ปี อดีตกำนัน ต.บ่อนอก เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ
       
โจทก์ยื่นฟ้อง ว่า เมื่อประมาณต้นปี 2547 จำเลยที่ 3, 4, 5 ร่วมกันใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 1, 2 ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. และ .38 ยิงที่ศีรษะ ใบหน้า และตามร่างกายรวม 9 นัดของนายเจริญ วัดอักษร อายุ 37 ปี ประธานกลุ่มรักษ์ถิ่นบ่อนอก ที่ต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัท กัลฟ์ อีเลคทริค จำกัด ขณะลงจากรถปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-บางสะพาน เลขข้างรถ 66-1443 หลังกลับจากการให้ปากคำกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อเรื่องการบุกรุกที่ดินในเขต อ.เมือง จ.ประจวบฯ เป็นเหตุให้นายเจริญถึงแก่ความตาย บริเวณสี่แยกบ่อนอก อ.เมือง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมจำเลยได้ พร้อมแจ้งข้อหาดำเนินคดี โดยจำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพตลอด ส่วนจำเลยที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งเป็นพ่อลูกกันให้การปฏิเสธ
       
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 และริบปืนของกลาง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยที่ 3 มีความใกล้ชิดพักอยู่ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 และ 2 ในช่วงก่อนเกิดเหตุ โดยมีเหตุจูงใจในการฆ่าผู้ตาย คือ ต้องการฆ่าผู้คัดค้านการสร้างโรงงาน แม้จำเลยที่ 1, 2 เสียชีวิตไประหว่างการพิจารณา ไม่ได้ทำให้คำให้การมีน้ำหนักลดน้อยลงไป ที่จำเลยที่ 3 อ้างถิ่นที่อยู่ เป็นเพียงการอ้างลอยๆ ปราศจากน้ำหนัก จึงรับฟังพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้จ้างวาน ตามมาตรา 84 เมื่อผู้กระทำได้ลงมือจริง จำเลยที่ 3 ต้องรับโทษในผลแห่งการกระทำเสมือนผู้ลงมือ จึงมีความผิดตามฟ้อง และให้ยกฟ้องนายมาโนช หินแก้ว จำเลยที่ 4 และนายเจือ หินแก้ว จำเลยที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 นั้น เสียชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำ
       
ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนและปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบนั้นไม่เพียงพอที่จะลงจำเลยที่ 3, 4, 5 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 3 นั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้อง จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วย
 
 
 
เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ แถลงหนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
 
13 มีนาคม 2556 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้แถลงการณ์ “สนับสนุนการการพุดคุย เพื่อสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ BRN-Coordinate ในช่วงปิดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3: “สนามสันติภาพ : เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม” Fields of Southern Peace : Communication Networks of Civil Society และงานชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 โดยนางสาวซูไบดะห์ ดอเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นผู้อ่านแถลงการณ์
 
นางสาวซูไบดะห์ แถลงว่า สนับสนุนการการพุดคุย เพื่อสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ BRN-Coordinate ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา ระหว่างตัวแทนของรัฐไทย คือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับตัวแทนขบวนการ BRN-Coordinate พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่สนับสนุนกระบวนการนี้
 
นางสาวซูไบดะห์ แถลงว่า 9 ปีกว่าของสถานการณ์ไฟใต้ ได้สร้างผลกระทบและความสูญเสียแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคู่ขัดแย้งได้กลายเป็นเหยื่อของเหตุการณ์มากกว่าร้อยละ 90 ในขณะที่คู่ขัดแย้งโดยตรง ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการต่างก็เผชิญกับความสูญเสียไม่ต่างกัน จึงเห็นได้ว่าไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้จึงขอแสดงความเห็นและเรียกร้องต่อทุกๆ ฝ่ายดังนี้
 
1. สนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเต็มที่เพราะเห็นว่าเป็นกระบวนการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธีที่คู่ขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งมีความขัดแย้งกันทั่วโลกใช้
 
2. กระบวนการพูดคุยต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่อง กว่าจะบรรลุข้อตกลงที่สองฝ่ายยอมรับกันได้และในระหว่างการพูดคุยก็ย่อมมีปัญหาอุปสรรค จึงขอเรียกร้องให้ทุกๆฝ่ายในสังคมไทยเข้าใจในกระบวนการดังกล่าว
 
3. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยมีความจริงใจต่อกันเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันทำให้พื้นที่การพูดคุย มีความปลอดภัยและไว้วางใจรวมทั้งอดทนอดกลั้นต่อปัญหาอุปสรรคต่างๆ 
 
4. ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลในการพูดคุยแต่ละครั้งเพื่อให้ประชาชนซึ่งมีส่วนได้เสียได้รับทราบ นอกจากนั้นขอเรียกร้องให้พิจารณามีตัวแทนของภาคประชาสังคมที่มีผู้หญิงอยู่ด้วยเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้
 
5. ในระหว่างนี้ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยและกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยลดการใช้ความรุนแรงจากการใช้อาวุธต่อกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่ทำให้ประชาชนที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งต้องได้รับผลกระทบ
 
ที่มาข่าว ประชาไท 
 
 
"ไพบูลย์"เล็งยื่นศาล รธน.ชี้ร่าง พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐขัดรัฐธรรมนูญ
 
11 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา หารือว่า ขอเรียกร้องไปยังประชาชนชาว กทม.ให้ร่วมกันตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งออกแบบมาเพื่อนำร่องไปสู่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ด้วยเหตุคือ เปิดช่องให้โครงการใช้เงิน ทรัพย์สินของรัฐ ร่วมธุรกิจกับเอกชนได้อย่างง่ายดาย โดยไม่เปิดประมูลโครงการรวมมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาทให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออนุมัติรองรับการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.บ.ที่จะออกตามมา โดยได้ปิดช่องการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกด้านในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งๆที่มีผลประโยชน์มหึมา เป็นการก่อภาระให้ประชาชนต้องเสี่ยงรับภาระหนี้สินมหาศาล และจากการตรวจสอบพบว่า พ.ร.บ.ใหม่นี้ได้ยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ทั้งฉบับ รวมถึงมาตรา 15 ที่บัญญัติว่า วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการจะต้องใช้วิธีการประมูลก็ถูกยกเลิกไปด้วย โดยเขียนใหม่ตามมาตรา 38 ให้อำนาจดำเนินการโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูลอย่างง่ายดาย ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการประกาศใช้ ซึ่งน่าจะขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ซึ่งตนก็จะได้หารือกับ ส.ว.เพื่อพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยต่อไป
 
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
 
 
เครือข่ายปชช.ลุ่มน้ำโขงเตรียมยื่นอุทธรณ์ค้านสร้างเขื่อนไซยะบุรี หลังศาลปค.ยกฟ้อง 
 
14 มี.ค. 56 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ออกแถลงการณ์ ‘ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงเดินหน้าอุทธรณ์คดี ฟ้องเขื่อนไซยะบุรี’ โดยระบุว่า เมื่อ 7 ส.ค. 55 เครือข่ายฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีโครงการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยศาลได้มีคำสั่งเมื่อ 15 ก.พ. 56 ไม่รับคำฟ้อง จึงจำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ เพื่อโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว และอธิบายให้ศาลปกครองได้เข้าใจข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนลุ่มน้ำโขง โดยต้องบรรจุเป็นคดีสิ่งแวดล้อม
 
“การซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ระหว่างกฟผ.กับบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด นำมาซึ่งการก่อสร้างเขื่อนที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงตอนล่าง ทำลายความมั่นคงทางอาหาร แหล่งรายได้ต่าง ๆ  รวมถึงรากฐานทางวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แถลงการณ์ระบุ
 
นอกจากนี้วันที่ 15 มี.ค. 56 จะยื่นคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ด้วย เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องของโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีมายังสถานีไฟฟ้าแรงสูงเลย 2 เนื่องจากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสาร และไม่แน่ใจว่าได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือไม่
 
ที่มาข่าว สำนักข่าวอิศรา
 
 
เยาวชนไทยร้องรบ.ลาวตามหานักพัฒนา ‘แมกไซไซ’ หายตัวลึกลับ
 
15 มี.ค. 56 ที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย เครือข่ายเยาวชนไทยและแม่น้ำโขง ประมาณ 30 คนเข้ายื่นหนังสือถึง ฯพณฯ ทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีประเทศลาว พร้อมสำเนาถึงประธานสภาแห่งชาติ ประเทศลาว กรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ ประเทศลาว เลขาธิการอาเซียน และสมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ให้มีการสืบค้นหาตัว นายสมบัด สมพอน ผู้ได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ปี  48 ภายหลังถูกกลุ่มบุคคลนิรนามลักพาตัวหายไปด้วยรถกระบะ หลังจากถูกตำรวจเรียกให้หยุดที่ด่านตรวจบนถนนท่าเดื่อ อ.ศรีสัดตะนาก  กรุงเวียงจันทร์
 
โดยหนังสือมีใจความว่า ประเทศลาวเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยในม. 9 ได้กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล และยังลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย นอกจากนี้ประเทศลาวและประเทศสมาชิกของอาเซียนได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ดังนั้น ลาวจึงต้องสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
 
ทั้งนี้ เรียกร้องให้หน่วยงานข้างต้น ตระหนักว่า การลักพาตัวสมบัด สมพอน คืออาชญกรรมต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคแม่น้ำโขงของอาเซียน เป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนาของภูมิภาคนี้ อีกทั้งละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ควรได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยความสมานฉันท์
 
นอกจากนี้ต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนการถูกลักพาตัวไปอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พร้อมเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าในการสืบสวนอย่างครบถ้วนแก่ครอบครัวของสมบัด และบุคคลอื่นที่ควรได้รับ ที่สำคัญจะต้องรับรองว่าจะตามหาสมบัดอย่างถึงที่สุดด้วยมาตรการทั้งหมดที่มี เพื่อช่วยเหลือให้กลับสู่ครอบคัวโดยเร็วที่สุด
 
 
 
นศ.อุเทนถวายชุมนุมทวงคืนพื้นที่สถาบัน ขณะที่จุฬาฯ เปิดตามปกติ
          
15 มี.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายพร้อมทั้งศิษย์เก่าทยอยมาชุมนุมภายในสถาบันตั้งแต่เช้า เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินที่ตั้งสถาบันและช่วงบ่าย เตรียมเคลื่อนขบวนไปตามเส้นทางถนนพญาไท มุ่งหน้าแยกสามย่าน ผ่านจามจุรีย์สแควร์ มาบุญครอง สยามสแควร์ และกลับมาหน้าสำนักทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ - มหาวิทยาลัย เพื่อจัดกิจกรรมหน้าสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง และข้อเสนอต่างๆ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยโดยรอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประมาณ 4 กองร้อย
 
ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยจะเปิดดำเนินกิจกรรมตามปกติ  โดยขอให้นิสิต คณาจารย์ ตลอดจนบุคลากร หลีกเลี่ยงการสัญจรบนเส้นทางถนนพญาไท ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าจะสิ้นสุดการชุมนุม และเพื่อความสะดวกหากจำเป็นต้องเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว โปรดเลี่ยงไปใช้ถนนบรรทัดทอง หรือ อังรีดูนังต์แทน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้นิสิตและคณาจารย์ ปฏิบัติงานอยู่ประจำที่สำนักงาน หรือคณะ โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของสถาบันได้ ทั้งนี้ คาดว่าไม่น่าจะมีความปั่นป่วนวุ่นวายใดๆ
 
นอกจากนี้ ยังชี้แจงกรณีการขอคืนพื้นที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายว่า ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องชัดเจนโดยมหาวิทยาลัยได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2518 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนาของมหาวิทยาลัย คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการตัดสินชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ. เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2553
 
ส่วนการยื่นถวายฎีกาของตัวแทนฝ่ายอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2552 นั้น ได้มีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการ แจ้งให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของ กยพ.
 
ที่มาข่าว คมชัดลึก
 
 
คปก.เสนอยกเลิก ม.7 ทวิ วรรค 3 คืนสิทธิเด็กไร้สัญชาติ 
 
คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ. .... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง คปก.เคยเสนอความเห็นให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปแล้วเมื่อ 18 มกราคม 2556
 
ในข้อเสนอแนะฉบับล่าสุดนี้ เห็นว่าควรให้ยกเลิกมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยเป็นผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง บทสันนิษฐานเรื่องสิทธิเข้าเมือง (Right to enter) ในมาตรานี้ เป็น บทสันนิษฐานที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการสากล เป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะถือว่าบุคคลดังกล่าวมีความผิดมาตั้งแต่เกิด และยังขัดต่อหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลไม่มีความผิดในคดีอาญา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ยังเห็นว่ามาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ไปยกเว้นการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิอาศัย (Right to reside) ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดการอยู่อาศัยของบุคคลต่างด้าวเป็นการทั่วไปเอาไว้อยู่แล้ว
 
นอกจากนี้ มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ยังกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการออกกฎกระทรวง สำหรับร่างกฎกระทรวงฯ ที่ออกมาคปก.มีความเห็นว่า ควรยกเลิกร่างกฎกระทรวงข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งกำหนดข้อสันนิษฐานที่ให้ถือว่าเข้าเมืองมาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เนื่องจากขัดต่อทฤษฎีลำดับชั้นของกฎหมาย (Hierarchy of law) ของหลักกฎหมายปกครองและขัดต่อหลักนิติธรรม กฎหมายอาญา รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ คปก.ยังเห็นควรยกเลิกข้อความที่ไม่ชัดเจนซึ่งเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดฐานะการอยู่อาศัยในราชอาณาจักรไทยตามบิดามารดาในลักษณะที่เป็นโทษต่อเด็กและเยาวชนมากกว่าเป็นคุณ ขัดต่อมาตรา 22 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและข้อ 3 ข้อย่อย 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรับรองผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก (the best interest of the child)
 
ที่มาข่าว ประชาไท