รอบอาทิตย์สุดท้าย มี.ค. 56 : จำคุกคดีนักกิจกรรมปีนสภาต้านสนช. - จำคุกขายซีดีABC-วิกิลีกส์ ผิด 112

รอบอาทิตย์สุดท้าย มี.ค. 56 : จำคุกคดีนักกิจกรรมปีนสภาต้านสนช. - จำคุกขายซีดีABC-วิกิลีกส์ ผิด 112

เมื่อ 1 เม.ย. 2556

 

“ศาลปกครองสูงสุด” ยกฟ้องชาวสระบุรี ยันออกใบอนุญาตธุรกิจฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่ผิด
 
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ยกฟ้องสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ออกใบอนุญาตธุรกิจฝังกลบกากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว ชี้ไม่อยู่ในบริเวณที่ต้องห้าม จึงไม่ใช่การใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
20 มีนาคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ยกฟ้อง คดีที่นายยงยศ หรือพศ อดิเรกสาร กับพวกรวม 126 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน จ.สระบุรี ยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแห้ง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 โดยบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายจากการถูกกล่าวหา ร่วมผู้ร้องสอดด้วย เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานทางปกครอง ออกคำสั่งโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ที่ให้ต้องปฏิบัติโดยล่าช้าเกินสมควร กรณีที่ผู้ถูกฟ้องออกใบอนุญาตให้ บจก.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ทำธุรกิจฝังกลบ กากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วไม่เป็นอันตราย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบริษัทกระทำการปลอมเอกสารเพื่อขอใบอนุญาต นอกจากนี้บริษัทยังไม่ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และกระทำการฝังกลบเกินกว่าคำขอจนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ใกล้ด้วยเนื่องจากสารพิษต่างๆ ผู้ฟ้อง จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่ผู้ถูกฟ้องคดีออกให้กับบริษัท
       
คดีนี้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 50 โดยให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ในการออกใบอนุญาตที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 ออกให้แก่ บจก.เบตเตอร์ฯ ผู้ร้องสอด ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานนั้น บริษัท ผู้ร้องสอดได้เตรียมการและประสานงานกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1- 2 ที่มีการตรวจสอบสถานที่และเตรียมเอกสารล่วงหน้าแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่มีการดำเนินการทุกอย่างในวันเดียวกันกับที่ยื่นคำขออนุญาต อีกทั้งการแก้ไขสถานที่ตั้งโรงงานเป็นแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญที่จะกระทบต่อความสมบูรณ์ของใบอนุญาต ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ จึงไม่ใช่กรณีการขออนุญาตตั้งโรงงานใหม่ ดังนั้น การออกใบอนุญาตจึงชอบตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนกระทำของผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เป็นการละเลยต่อหน้าที่หรือไม่ เห็นว่า ผลการตรวจสอบพบว่าการประกอบกิจการของ บริษัทผู้ร้องสอด มีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายที่ยังไม่ถึงขนาดเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง และผู้ร้องสอดได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามคำสั่งมาโดยตลอด อีกทั้งผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำและตะกอนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะสรุปว่ามีการแพร่กระจายของมลพิษ จึงไม่มีเหตุออกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่แต่อย่างใด
       
ต่อมาผู้ฟ้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลโดยนายพรชัย มนัสศิริเพ็ญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะ พิเคราะห์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สถานที่ตั้งโรงงานของ บจก.เบตเตอร์ฯ ผู้ร้องสอด เนื้อที่ประมาณ 252 ไร่ 37 ตารางวา อยู่บนที่ราบเชิงเขา ทิศเหนือติดต่อกับคลังเก็บวัตถุระเบิดของ บริษัท แม็คเคมซัพพลาย จำกัด พื้นที่รกร้างและป่าไม้ ถัดไปเป็นถนนลาดยาง นาข้าว สลับกับพื้นที่รกร้างและชุมนุมหนองปรือ ทิศใต้ติดต่อกับภูเขาไม้นอนและถนนลาดยางของ รพช. ถัดเป็นนาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรม สลับกับพื้นที่รกร้างสลับสวนผลไม้ ทิศตะวันออก ติดต่อกับภูเขามะเกลือและชุมชนบ้านหนองปรือสลับกับพื้นที่รกร้าง ถัดไปเป็นเส้นทารถไฟขนส่งปูนซีเมนต์ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และทิศตะวันตก ติดต่อกับภูเขาไม้โค่นและชุมชนบ้านเขาไม้โค่นสลับกับพื้นที่รกร้าง ถัดไปเป็นถนนลาดยางของ รพช. ดังนั้นโรงงานของผู้ร้องสอด จึงไม่อยู่ในบริเวณที่ต้องห้าม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการ การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวจึงไม่ใช่การใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องฟังไม่ขึ้นจึงพิพากษายืน
 
 
 
โฆษก สตช. ระบุผู้ร่วมรายการ 'ตอบโจทย์' บางคนเข้าข่ายผิดกฎหมาย
 
"เฉลิม อยู่บำรุง" สั่ง ผบ.สตช. ถอดเทปละเอียด พร้อมดำเนินคดีทั้งพิธีกรและผู้ร่วมรายการถ้ามีความผิด ด้านโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุจากการตรวจสอบเบื้องต้น บางช่วงเข้าข่ายผิด จึงตั้ง พนง.สืบสวนสอบสวนเพราะเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
 
ต่อกรณีที่มีการเผยแพร่รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ดำเนินรายการโดยนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนั้น ล่าสุด ข่าวสด รายงานคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องไม่ดี และได้สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถอดเทปอย่างละเอียด และพิมพ์มาเป็นรายงาน ตนจะอ่านเองพร้อมกับทีมกฎหมายและจะดำเนินคดีทั้งพิธีกรและผู้ร่วมดำเนินรายการ ถ้ามีความความผิด ส่วนที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์นั้น ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่ต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
 
ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เสนอรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 11 – 14 และ 18 มี.ค. 2556 จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าคำกล่าวของของผู้ร่วมรายการบางท่าน ในรายการดังกล่าวบางช่วงบางตอน เป็นการกระทำที่มีลักษณะเข้าข่ายน่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และอยู่ในความสนใจของประชาชน จึงแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนดังนี้
 
1.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา (กม 1) เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน
 
2.พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน
 
โดยมีพนักงานสืบสวนสอบสวนจากหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงานในคำสั่งดังกล่าว ได้แก่ สำนักงานกฎหมายและคดี, สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ, กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
 
ทั้งนี้ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนดังกล่าว มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ให้เสร็จสิ้นโดยด่วน และหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีการกระทำผิดฐานอื่น หรือมีผู้อื่นร่วมกระทำความผิดก็ให้มีอำนาจดำเนินการและหาตัวผู้กระทำผิด แล้วรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบทุกระยะ 30 วัน นอกจากนี้หากมีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่อื่นใด ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งนี้เป็นพนักงานผู้รับผิดชอบ
 
รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ "ไทยพีบีเอส" ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. เป็นต้นมา ได้มีการออกอากาศในหัวข้อ "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" โดยมีแผนออกอากาศ 5 วัน ได้แก่
 
ทั้งนี้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ระบุว่า "ผู้ร่วมรายการบางท่าน" ที่มีคำกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายคือใคร แต่สำหรับผู้ร่วมรายการทั้ง 5 วันดังกล่าวประกอบด้วย  1. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกอากาศวันที่ 11 มี.ค. 2.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกอากาศวันที่ 12 มี.ค. 3.พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นักเขียนและนายตำรวจราชสำนักประจำ ออกอากาศวันที่ 13 มี.ค.
 
และ 4.การอภิปรายระหว่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ออกอากาศวันที่ 14 มี.ค. และวันที่ 15 มี.ค. แต่ต่อมามีการเลื่อนการออกอากาศมาเป็น 18 มี.ค.
 
กสทช.ระบุ เริ่มสอบสวนเนื้อหา "ตอบโจทย์" แล้วหลังมีผู้วิจารณ์ว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
นอกจากนี้ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้แถลงในกรณี สถานีโทรทัศน์องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ชะลอการออกอากาศรายการ ตอบโจทย์ประเทศไทย โดยกล่าวว่า "ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการตามมติของที่ประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้สอบสวนในเรื่องดังกล่าว จึงได้เชิญผู้อำนวยการของไทยพีบีเอสมาให้ข้อมูล ในเรื่องของกระบวนการ และผลจากการรับฟังข้อมูลปรากฏว่า เป็นการตัดสินใจชะลอการออกอากาศตอนที่ 5 บนพื้นฐานของการดูแล รับผิดชอบและการรักษาความปลอดภัยของสถานีและผู้ปฏิบัติงานในสถานี เนื่องจากในวันที่ 15 มีนาคม มีประชาชนที่ไม่พอใจไปที่สถานีจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการเจรจาก็ไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่ตัดสินใจให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชนที่ไม่พอใจ เกรงว่าจะเกิดความรุนแรง ดังนั้นการตัดสินใจ จึงชอบด้วยเหตุผลในสถานการณ์ตอนนั้น ส่วนการนำกลับมาออกอากาศก็เป็นกระบวนการของทางสถานีอีกเช่นกัน ว่าเห็นชอบให้นำมาออกอากาศ เมื่อสถานการณ์ปลอดภัยแล้วในวันที่ 18 มีนาคม"
 
"ส่วนเรื่องเนื้อหา เนื่องจากยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ จึงได้เริ่มกระบวนการพิจารณาสอบสวนในด้านเนื้อหา และได้ขอเทปทุกตอนจากผู้อำนวยการสถานีมาพิจารณาแล้ว"
 
พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวด้วยว่า "หนึ่ง เสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการประกัน อย่างไรก็ตามเสรีภาพต้องมีขอบเขต เช่น การทำรายการต้องดูว่าขัดต่อกฎหมายอื่นใดหรือไม่ สอง จริยธรรมของคนทำสื่อต้องมีความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สาม สื่อต้องมีความรับผิดต่อสังคม ยกตัวอย่าง การทำรายการสักรายการหนึ่ง ต้องนึกถึงผลกระทบต่อสังคม และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ประเด็นว่าถ้าทำรายการนั้นแล้ว สังคมจะเกิดความแตกแยก อันนำไปสู่ความรุนแรง จะต้องพิจารณาว่า เส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ตรงไหน"
 
 
 
 
ร่าง พ.ร.บ.ม.เกษตรฯ ผ่านสภาฯ วาระ 1 นศ.สวนเปรียบ 'ยุคเผด็จการ คมช.'
 
สภาผู้แทนราษฎรรับร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วาระ 1 ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แปรญัตติในเวลา 7 วัน นศ.ค้าน ม.นอกระบบ ผิดหวัง สภาฯ จากการเลือกตั้ง แต่ทำเหมือนยุคเผด็จการ คมช. ไม่ฟังเสียงของนิสิตนักศึกษาที่คัดค้าน เตรียมยกระดับการเคลื่อนไหว
 
 
วันนี้(20 มี.ค.56) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... วาระที่ 1 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 386 คน ที่เห็นด้วยรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเพียง 1 คน ที่ไม่เห็นด้วย มีผู้ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน โดยมีสมาชิกฯ เข้าประชุม 388 คน หลังจากนั้นสภาได้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว 31 คน เพื่อแปรญัตติในเวลา 7 วัน โดยมีสัดส่วน ประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาล 5 คน ซึ่งมีรองอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ รวมอยู่ด้วย จากพรรคเพื่อไทย 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และพรรคชาติพัฒนาพลังชล 1 คน
 
 
นศ.ค้าน ม.นอกระบบ ผิดหวัง สภาฯ จากการเลือกตั้ง แต่ทำเหมือนยุคเผด็จการ คมช.
 
ด้านนายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ กล่าวหลังทราบมติดังกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับ ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับทำเหมือนยุคเผด็จการ คมช. ที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยไม่ฟังเสียงของนิสิตนักศึกษาที่คัดค้าน กลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เคยยื่นหนังสือหลายครั้งต่อท่านนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก่อน และให้ทบทวน เป็นคนกลางจัดเวทีระดมความคิดจากหลายๆฝ่ายหาข้อสรุปเรื่องนี้ แต่ก็กลับเพิกเฉย หรือแม้แต่ทางกลุ่มก็เคยเข้าไปพบ ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาเพื่อหารือเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีเองก็รับทราบถึงปัญหากระบวนการให้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่ไม่จริงใจและไม่เป็นธรรม
 
นายนิพิฐพนธ์ กล่าวด้วยว่า ฝ่ายค้านที่พูดอภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีปัญหา ให้อำนาจผู้บริหารมากเกินไป ควรกลับไปทบทวน สุดท้ายผลออกมา เห็นด้วยเกือบทั้งหมดทั้งสองฝ่าย แสดงให้เห็นกระบวนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแย่ทั้งกระบวนการตั้งแต่ในสภามหาวิทยาลัยจนมาถึงสภาระดับประเทศ ไม่ได้ดีไปกว่ายุคเผด็จการ คมช. เลย
 
สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไป แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 มี.ค. นี้ ทางกลุ่มจะมีเวทีสรุปถอดบทเรียนการเคลื่อนไหว เพื่อวางแผนกำหนดทิศทางที่ชัดเจนและงานเคลื่อนไหว ให้ยกระดับมากขึ้น
 
 
 
นิพิฐพนธ์ คำยศ ขณะยื่นหนังสือประท้วงสภาฯ เมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา
 
ร่างระบุสาระสำคัญ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง, อิสระคล่องตัวและความเป็นเลิศทางวิชาการ
 
สำหรับการลงมติในวันนี้ของสภาฯ นั้น เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันนั้น จากสรุปผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสุพัตรา พรหมศร สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ระบุว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดย มีสาระสำคัญในตัวร่างเพื่อปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับแนวนโยบายของรัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ จึงมีการปรับปรุงร่าง กฎหมายให้เป็นตามแนวทางนี้
 
ร่างฯนี้สมาชิกได้อภิปรายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการออกนอกระบบของครั้งนี้ของมหาวิทยาลัย โดยมีความกังวลในหลายประการอาทิ ประเด็นการกำหนดค่าหน่วยกิต การหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยในแนวทางที่เหมาะสม คุณธรรม จริยธรรมของผู้บริหารองค์กรในการดูแลบุคลากร ด้านคุณภาพทางวิชาการให้ สอดคล้องกับโลกยุคโลกาภิวัตน์กับความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย
 
หลังการอภิปรายนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ตอบต่อข้อสังเกตในการอภิปรายของสมาชิกฯว่า ตามที่สมาชิกฯได้อภิปรายในความเป็นห่วงด้านบุคลากรของมหาวิทยาลัยว่าจะถูกลดหย่อนค่าตอบแทนหรือไม่ตรงนี้ในบทเฉพาะกาลในตัวร่างนี้ได้กำหนดไว้แล้วว่า ในกรณีไม่ต้องการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือออกนอกระบบก็ให้ได้รับค่าตอบแทนเหมือนเดิมของรัฐ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานของรัฐหรือออกนอกระบบก็ให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการไม่น้อยกว่าเงินเดือนก่อนที่จะออกนอกระบบ สำหรับประเด็นการประกันคุณภาพและการประเมินนั้นทำไมไม่ดูมหาวิทยาลัยอื่นที่ออกนอกระบบแล้ว ส่วนนี้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีแบบประเมินของมหาวิทยาลัยตามร่างนี้แต่อย่างไรก็ตามก็สามารถปรับได้ในคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นภายหลังร่างฯรับหลักการในวาระที่ 1 ด้านคุณภาพการศึกษาถ้าออกนอกระบบก็จะดีขึ้น ด้านการจัดการศึกษารัฐสามารถสนับสนุนการศึกษาได้ระดับหนึ่งในระดับอุดมศึกษาโดยมีกระบวนการจัดหลักสูตรพิเศษขึ้นมากมายเช่นการจัดการศึกษาภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามค่าเล่าเรียนทั้งหมดโดยภาพรวมมหาวิทยาลัยที่ได้ออกนอกระบบไปแล้วนั้นก็มองว่าปัจจุบันยังไม่สูงมากเกินไปไม่ว่าจะเป็นในกำกับของรัฐหรือออกนอกระบบ ซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยใดจะขึ้นค่าหน่วยกิตก็ต้องขึ้นอย่างมีเหตุมีผลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ในความเหมาะสม
 
 
 
 
คลังจ่อแก้กฎหมาย กบข. ให้สิทธิประโยชน์สมาชิกไม่ด้อยกว่าระบบบำเหน็จบำนาญ
 
คลังชง ครม.แก้กฎหมาย กบข.การันตีสิทธิประโยชน์ไม่แพ้บำเหน็จบำนาญเดิม พร้อมดันกระทรวงแรงงานเพิ่มทางเลือกออมเงินให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระแทน กอช. ไปก่อน
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ คลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี แก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบข.) เพื่อแก้ไขปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ตอบโจทย์สมาชิกที่ไม่ต้องการเสียเปรียบผู้ที่ยังอยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญได้ หลังจากจะมีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบสุดท้าย ในเร็ว ๆ นี้ ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องรอให้ ครม. พิจารณาก่อน
 
 
ส่วนกรณีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ชะลอไว้ก่อน ก็เพื่อศึกษาให้รอบคอบก่อนเริ่มดำเนินการ และไม่ให้เป็นปัญหาซับซ้อนเหมือนกรณี กบข. เพราะปัจจุบันมีการดำเนินการของกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 ที่เปิดให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถจ่ายสมทบออมเงินไว้ในใช้ยามเกษียณในลักษณะเดียวกับ กอช. อยู่แล้ว แต่กลับมีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 1.7 ล้านคนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่กลุ่มเป้าหมายมีถึงเกือบ 30 ล้านคน
 
ดังนั้น ในเร็ว ๆ นี้ทางกระทรวงแรงงาน จะเสนอเพิ่มทางเลือกที่ 3 แก่สมาชิกตามมาตรา 40 ที่จะเพิ่มสัดส่วนการออมและการจ่ายสมทบมากขึ้นกว่าเดิม จากที่มีเพียง 2 แผน คือ แผนที่ 1 จ่ายสมทบ 100 บาท แบ่งเป็นให้สมาชิกจ่าย 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท แต่เกษียณแล้วจะไม่ได้รับการดูแล และแผนที่ 2 จะจ่ายสมทบ 150 บาท แบ่งเป็นสมาชิกจ่าย 100 บาท และรัฐสมทบ 50 บาท ซึ่งจะมีการจ่ายกรณีเกษียณอายุด้วย
 
 
 
 
ปชป.ประกาศขวางแก้ รธน.เต็มรูปแบบ ชี้แก้มาตรา 68 ปูทางล้มทั้งฉบับ
 
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ ส.ส.และ ส.ว. มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 68 ว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขมาตราดังกล่าว เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะลิดรอนอำนาจประชาชนและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การล้มล้างประชาธิปไตย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ขอประกาศว่า จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 68 อย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากกว่า แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่ต้องการแก้ตัว
 
ส่วนกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดคณะตุลาการ 9 คน ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายราเมศกล่าวว่า นายเรืองไกรพยายามบิดเบือนเพื่อทำลายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจากการติดตามการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพบว่า คำวินิจฉัยที่ออกมาในแต่ละคดี ล้วนยึดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น คดีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุคำวินิจฉัยคดีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เพราะคดีขาดอายุความนั้น ไม่เป็นความจริง แต่การยกคำร้องดังกล่าว เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์บริสุทธิ์ทุกข้อกล่าวหา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำเอกสารคำชี้แจงในคดีนี้ โดยใช้ชื่อว่า "เรื่องเล่า คดี (ไม่) ยุบพรรคประชาธิปัตย์" เพื่อรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดไว้แล้ว สามารถติดตามได้ในเอกสารนี้
 
 
 
 
ฝรั่งเศสสลายม็อบต้านกฎหมายแต่งงาน “เกย์-เลสเบี้ยน”
 
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ว่า ตำรวจปราบจลาจลฝรั่งเศสระดมกำลังเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมนับแสนคน ที่ออกมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นบริเวณถนนชอมป์-เซลิเซ เพื่อประท้วงการออกกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้
 
แม้กระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสจะออกประกาศห้ามการชุมนุมทุกรูปแบบบนถนนในเขต 8 ของกรุงปารีสแห่งนี้ แต่ฝูงชนกว่า 300,000 คนจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ หลั่งไหลเข้ามารวมตัวกัน พร้อมกับส่งเสียงโห่ร้องและชูแผ่นป้ายข้อความต่อต้านการออกกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาล ท่ามกลางการสกัดกั้นของตำรวจปราบจลาจลหลายพันนาย ที่ยังมีการยกกำลังเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนไม่น้อย ทำให้เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการปะทะอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ต้องระดมยิงกระสุนยางและแก๊ซน้ำตาเพื่อควบคุมสถานการณ์ พร้อมกับควบคุมตัวผู้ชุมนุมไว้ได้หลายสิบคน
 
การที่รัฐบาลปารีสภายใต้การนำของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้มีแนวคิดด้านการบริหารในแบบสังคมนิยม สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ที่ต้องการให้ภาครัฐให้ความใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานของประเทศ มากกว่าจะมาสนใจแต่กับการร่างกฎหมายเพื่อ “ความเท่าเทียม” ในการแต่งงาน ที่เป็นเรื่องของคนสองคน
 
ที่มา : เดลินิวส์
 
 
 
สารพัดม็อบบุกทำเนียบ แพทย์ชนบทไล่ “นพ.ประดิษฐ” กบข.จี้แก้ ม.63
 
มหกรรมม็อบบุกทำเนียบ กลุ่มแพทย์ชนบทชุมนุมไล่ “นพ.ประดิษฐ” พ้น รมว.สาธารณสุข เหตุบริหารงานสร้างปัญหาให้แพทย์ ส่วนกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขจี้รัฐบาลเร่งบรรจุเข้ารับราชการ ด้านสมาชิก กบข.ร้องให้แก้ไขกฎหมาย ม.63 ที่หมกเม็ดเอาเปรียบข้าราชการ
       
ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (26 มี.ค.) กลุ่มแพทย์ชนบท ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร และเครือข่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ แต่งกายชุดสีดำรวมตัวชุมนุมที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมนำพวงหรีดป้ายประท้วงและป้ายขับไล่น นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกจากตำแหน่ง รวมถึงได้มีการนำโลงศพ หุ่นฟางที่มีภาพและเขียนชื่อตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข พร้อมทั้งวางดอกไม้จันจุดธูปเทียนเพื่อเผาขับไล่ด้วย
       
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์ว่า การเคลื่อนไหวขับไล่ นพ.ประดิษฐครั้งนี้เพราะที่ผ่านมาบริหารงานมีปัญหา และมีการรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง รวมถึงพยายามผลักดันให้แพทย์ออกจากการสังกัดของรัฐโดยให้ไปอยู่กับภาคเอกชนที่ต้องการจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิคัลฮับ
       
อีกทั้งมีอีกเรื่องที่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย คือ การเปลี่ยนการจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายเบี้ยทุรกันดาร ให้จ่ายเป็นเบี้ยขยันตามภาระงาน ทำให้แพทย์ขาดขวัญและกำลังใจ ส่งผลให้แพทย์ต้องเร่งตรวจผู้ป่วยจำนวนมากๆ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบคุณภาพการรักษา
       
นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า การชุมนุมวันนี้จะไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ เพราะได้ยื่นหนังสือหลายครั้งแล้ว และจะชุมนุมจนกว่าจะปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่ง โดยจะคอยประเมินสถานการณ์เพื่อรอดูท่าทีความเคลื่อนไหวต่อไป
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากชมรมแพทย์ชนบทแล้ว ยังมีกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สถาบันนอกสมทบ) นำโดยนายยุทธนา โคตะระ ประธานเครือข่ายฯ ได้มาชุมนุมติดกับกลุ่มแพทย์ชนบท ทำให้มีผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ถนนพิษณุโลกที่อยู่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมปิดการจราจรทำให้รถไม่สามารถวิ่งผ่านไปมา
       
ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุขฯ ได้ออกแถลงการณ์ร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลชี้แจงการบรรจุข้าราชการ พร้อมกับขอให้ น.ส.ยิ่งลักษ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งให้การบรรจุนักวิชาการสาธารสุขปฏิบัติการที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวใน 21 สายงานเป็นข้าราชการ
       
ด้าน พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 ได้เจรจากับ นพ.เกรียงศักดิ์ ที่เป็นแกนนำเพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดการจราจรและส่งตัวแทนกลุ่มไปพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลในทำเนียบ แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมยังไม่ยินยอมโดยยืนยันว่าจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง
       
ขณะเดียวกันยังมีองค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย ก็มารวมตัวบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมาย กบข.มาตรา 63 ใน 4 ประเด็นหลักคือ เมื่อเกษียณอายุราชการขอให้ได้บำนาญสูงขึ้น, ให้สามารถลาออกได้, เมื่อเสียชีวิตให้ทายาทได้รับประโยชน์ที่เป็นธรรม และให้มีผลย้อนหลังไปถึงสมาชิกที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ถ้าไม่เป็นผล ให้ยกเลิก กบข.แล้วไปรับบำนาญตามสูตรเดิม ปี 2494 โดยไม่มีเงื่อนไข
       
ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกมาชี้แจงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว พร้อมเร่งรัดให้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าสู่สภา เพื่อให้มีการพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้ โดยหากไม่นำเข้าสภาจะไปชุมนุมเรียกร้องหน้ารัฐสภาต่อไป
       
นอกจากนี้ บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีสหภาพแรงงาน ขสมก.ที่ปักหลักชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งฟื้นฟูแผนฟื้นฟู ขสมก. พร้อมให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการฟื้นฟู และขอให้จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเพิ่ม เพราะเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
 
 
 
 
แจงใช้กำไลฝังชิพกับนักโทษชรา-ป่วยหนัก ไม่เกี่ยวคดีการเมือง
 
รมว.ยุติธรรม แจงข่าวใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์คุมขังนักโทษนอกคุก ระบายความแออัดในเรือนจำ เผยยังไม่พร้อมใช้งาน ย้ำเน้นนักโทษชรา-ป่วยหนัก ไม่เกี่ยวนักโทษการเมือง
 
สืบเนื่องจากกรณีที่มีการเผยแพร่กฎกระทรวงฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกแบบอื่น โดยให้นักโทษใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตัว แทนการจำคุก ในกรณีที่จำเป็น ซึ่งสามารถตรวจสอบที่อยู่ และจำกัดขอบเขตในการเดินทางได้ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าจะทำให้ประชาชนไร้ความปลอดภัย ตามที่ได้รายงานข่าวไปนั้น
 
ล่าสุด 26 มีนาคม 2556 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เปิดแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มาตรการควบคุมนักโทษแทนการคุมขังในเรือนจำ ถือเป็นวิวัฒนาการซึ่งหลายประเทศทั้งอังกฤษ แคนาดา นำมาใช้ ส่วนในเอเชียมีสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า Electronic Monitoring หรือ EM มาใช้แทนการคุมขังในเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักโทษที่ถูกจำคุกประมาณ 260,000 คน จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ขณะที่มีความสามารถในการรองรับนักโทษได้เพียง 190,000 คน จึงต้องมีแนวคิดเสริมในการระบายนักโทษออกไปคุมขังยังสถานที่ข้างนอกเพื่อลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตจะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา แต่กระทรวงฯ ก็จะต้องออกกฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติให้เร็วที่สุด ขอให้ผู้ที่จะยื่นขอใช้สิทธิ์รอไปก่อน เพราะจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีการเปิดกว้างไว้ค่อนข้างมาก
 
นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
 
1. ผู้ต้องหาชราหรือป่วยเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย หากจำคุกต่อไปต้องเสียชีวิตและต้องออกไปรับการรักษา เช่น ฟอกไต หรือฉายรังสี ทุกสัปดาห์
2. กลุ่มที่ต้องออกไปดูแลลูกและภรรยาหรือพ่อแม่ที่แก่ชราและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
3. กลุ่มผู้เจ็บป่วยเรื้อรังและต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง
4. กลุ่มนักโทษที่มีเหตุทุเลาการลงโทษ เช่น ต้องคลอดบุตร หรือวิกลจริต
 
โดยญาติจะต้องร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง ส่วนศาลจะมีดุลยพินิจอย่างไร ถือเป็นอำนาจของศาล ซึ่งการปฏิบัติจะต้องมีความชัดเจน โดยจะใช้ระบบจีเอสเอ็มในการติดตามตัว ซึ่งปัจจุบันทางกรมราชทัณฑ์มีแนวปฎิบัติให้ลดวันต้องโทษและพักการลงโทษกับนักโทษชราและนักโทษเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายอยู่แล้ว
 
ขณะที่ทางด้าน นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า เงื่อนไขสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ บังคับใช้เฉพาะกับนักโทษที่ต้องโทษจำคุกแล้วและอยู่ในการคุมขังของเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามที่ศาลมีคำสั่ง ถ้าใครไม่เข้าเงื่อนไขก็ใช้วิธีการนี้ไม่ได้
 
 
 
 
ศาลสูงสหรัฐพิจารณากฎหมายสมรสเกย์เป็นวันที่ 2
 
ศาลสูงสหรัฐฯเตรียมพิจารณา 2 คดีสำคัญในประเด็นการสมรสของเพศเดียวกันในสัปดาห์นี้
 
26 มีนาคม 2556 ตามเวลาท้องถิ่น ศาลได้ทำการพิจารณาข้อดีข้อเสียของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายตามรัฐธรรมนูญของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ห้ามการสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลสูงสุดแคลิฟอร์เนียที่ตัดสินให้มีการแต่งงานในเพศเดียวกันได้ ส่วนในวันนี้ จะมีการนำกฎหมายแห่งรัฐ ที่นิยามการสมรสว่าเกิดขึ้นระหว่างชายและหญิงเท่านั้น เพื่อจุดประสงค์ด้านภาษีและผลประโยชน์ ขึ้นมาพิจารณา คาดว่าศาลจะตัดสินชี้ขาดได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
 
ทั้งนี้ "พระราชบัญญัติคุ้มครองการแต่งงาน" (The Defense of Marriage Act หรือที่รู้จักกันในชื่อ DOMA ทำให้คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันไม่สามารถเข้าถึงผลประโยชน์ของรัฐ เนื่องจากมีการระบุชัดเจนว่า  "การแต่งงาน" หมายถึงการร่วมกันเป็น หนึ่งเดียวทางกฎหมายระหว่างผู้ชายหนึ่งคน และผู้หญิงหนึ่งคน ในฐานะของสามีและภรรยา และ "คู่สมรส" หมายถึง คนเพศ ตรงข้ามซึ่งเป็นสามีหรือภรรยาของบุคคลหนึ่งๆ
 
พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้รับการลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อปี 1996 และได้ถูกศาลรัฐบาลกลาง รวมถึงศาลอุทธรณ์พลิกคำตัดสินมาแล้ว โดยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การพิจารณาของศาลอุทธรณ์รอบ 2 ที่นครนิวยอร์กชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวละเมิดข้อกำหนดความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
 
เมื่อปี 2011 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้สั่งให้คณะบริหารมิให้ออกมาแก้ต่างกฎหมายโดมาในศาล แต่ส.ส.พรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร ให้การสนับสนุนกฎหมายโดมา และแต่งตั้งทนายเพื่อออกมาแก้ต่างแทนกระทรวงยุติธรรม
 
โดยเมื่อวานนี้ ที่บริเวณด้านนอกของอาคารศาลฏีกา ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้มีประชาชนที่สนใจเข้าฟังการพิจารณาต่อคิวกันเป็นจำนวนมาก โดยบางรายนอนค้างเป็นเวลาหลายวัน   ผู้คนที่มาชุมนุมกันต่างแต่งกายด้วยสีสันที่แสดงถึงการสนับสนุนหรือต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด  โดยผู้ที่สวมสีแดงสนับสนุนการแต่งงานของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน  ขณะที่ ผู้สวมสีฟ้าและขาวต่อต้าน 
 
คดีแรกจะเป็นการพิจารณา กรณีการกลับคำตัดสินไม่ให้สมรสในเพศเดียวกัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Proposition 8 ที่ได้รับการลงมติเห็นชอบจากการทำประชามติเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2008
 
การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในสหรัฐฯ เมื่อศาลฏีกาเริ่มการไต่สวนด้วยวาจา และทนายความของฝ่ายเสนอและฝ่ายคัดค้านการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน จะต้องเข้าให้การต่อคณะตุลาการ 9 คน  ขณะที่ กลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านทยอยเดินทางมายังกรุงวอชิงตัน  หลังจากนั้นในวันพุธ ศาลจะพิจารณากฎหมายปกป้องการแต่งงาน ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางระบุคำนิยามของการแต่งงานระหว่างหญิงกับชาย  แต่ปฏิเสธการแต่งงานระหว่างเกย์และเลสเบี้ยน รวมทั้งสิทธิต่างๆ เหมือนคู่สมรสชายกับหญิง
 
อย่างไรก็ตาม โพลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันระบุว่า  ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยอมรับหลักการการแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายใน 9 รัฐของสหรัฐแล้ว พร้อมด้วยดิสทริก ออฟ โคลัมเบีย   แต่ยังมีการห้ามหรือจำกัดสิทธิในเรื่องนี้ในอีก 41 รัฐ
 
 
 
 
คสรท.ตีตกร่างก.ม.ประกันสังคม ชุมนุม3เม.ย.
 
คสรท.ฉุน สภาตีตกร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชาชน นัดชุมนุมหน้าสภา3เม.ย. วิจารณ์เละทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ (คสรท.) ได้แถลงข่าวถึงกรณีที่ สภาผู้แทนราษฎร ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คน โดยระบุว่า คสรท. ขอประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทยที่ใช้อำนาจทางอ้อม ทำลายหลักการประชาธิปไตยทางตรง ด้วยเหตุผล 6 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอสู่รัฐสภา ภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มาตรา 17 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นรายชื่อ มีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของประชาชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ได้ระบุไว้ในมาตรา 163 ที่ลดเหลือเพียง 1 หมื่นรายชื่อ และต้องมีผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าชี้แจงหลักการร่างกฎหมายฉบับนั้นซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญในเรื่องประชาธิปไตยทางตรง แต่ ส.ส. ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม กลับใช้อำนาจของตนทำลายอำนาจของประชาชน
 
ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุวาระการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับร่างฉบับคณะรัฐมนตรี และร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ที่เพิ่งบรรจุวาระเมื่อมกราคมและมีนาคมตามลำดับ แต่พบว่านับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 คสรท. ต้องเป็นฝ่ายติดตามความก้าวหน้าทางกระบวนการนิติบัญญัติด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าโดยมีการ ถ่วงขั้นตอน ไม่เอาใจใส่ แสดงถึงการมีเจตนาแอบแฝงในการไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงาน
 
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ คือ มีความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการเลือกตัวแทนแรงงาน เข้ามาเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับนี้จึงแสดงถึงความไม่เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ประกันตนของส.ส.
 
ดังนั้นเพื่อเป็นการใช้ประชาธิปไตยทางตรง เมื่อรัฐสภาไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงขอเชิญชวนผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ เข้าร่วมชุมนุมแสดงประชามติยืนยันสนับสนุนร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่หน้ารัฐสภา ในวันพุธที่ 3 เมษายน 2556 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะมีมาตรการเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกระบวนการฉ้อฉลทางรัฐสภา ที่ไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนเช่นนี้
 
 
 
 
เปิดคำพิพากษา จำคุก 3 ปี 4 เดือน ขายซีดีสารคดีข่าว ABC-วิกิลีกส์ ผิด 112
 
28 มี.ค.56 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการพิพากษาคดีของเอกชัย (สงวนนามสกุล) จำเลยซึ่งถูกฟ้องจากกรณีขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับการเมืองไทย ซึ่งผลิดตโดยสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย และเอกสารวิกิลีกส์ 2 ฉบับ โดยศาลพิพากษาให้จำเลยมีผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 5 ปี ความผิดฐานไม่มีใบอนุญาตขายซีดี ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ลงโทษปรับ 100,000 บาท จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ปรับ 66,666.66 บาท  ทั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าฟังการพิจารณาคดีราว 20 คน โดยมีตัวแทนจากสถานทูตสวีเดน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ รวมถึงสำนักข่าวเอบีซีด้วย
 
หลังทราบคำพิพากษา เอกชัยถูกควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาลอาญาทันที ทนายความและบิดาวัย 80 กว่าปีของเขากำลังทำเรื่องประกันตัวซึ่งน่าจะทราบผลภายในเย็นนี้
 
เอกชัยกล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังที่ศาลตัดสินลงโทษเขาและไม่เข้าใจเจตนาของเขาที่ต้องการเผย แพร่ข่าวสารที่เป็นกลาง
 
เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่ามีอะไรจะฝากถึงสำนักข่าว ABC หรือไม่ เอกชัยตอบว่า ไม่มี แต่ก็ขอขอบคุณที่ผลิตสารคดีการเมืองไทยที่ดีๆ ออกมา 
 
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายเอกชัย ในวันที่ 10 มี.ค.54  บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาข้างสนามหลวง โดยทำการล่อซื้อวีซีดีที่เขาขายแผ่นละ 20 บาท แล้วแจ้งข้อหาคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112  และคดีจำหน่ายวีดิทัศน์โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน พร้อมด้วยของกลางเป็นวีซีดีกว่า 100 แผ่น เครื่องไรท์ซีดี 1 เครื่อง พร้อมด้วยเอกสารของวิกิลีกส์จำนวน 10 ฉบับ เขาถูกจำคุกอยู่ราว 9 วันก่อนที่บิดาของเขาจะนำหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาทยื่นประกันตัวต่อศาล และศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว
 
อ่านสรุปคำคำพิพากษาได้ที่นี่ 
 
 
 
 
จำคุก 2 ปี-รอลงอาญา คดีนักกิจกรรมปีนสภา ต้าน กม.สนช. ฐานชุมนุมมั่วสุม-บุกรุก-ใช้กำลังประทุษร้าย
 
สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 ซึ่งมีประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หยุดการออกกฎหมายแบบเร่งด่วน โดยมีประชาชนกว่าร้อยคนปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งหน้าห้องประชุม ต่อมา เอ็นจีโอ 10 คนถูกฟ้องฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย
 
ล่าสุดวันนี้ (28 มี.ค.56) ศาลอาญา รัชดา ตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานชุมนุมมั่วสุม บุกรุก ใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนข้อหากบฏ ล้มล้างขัดขืนไม่ให้มีการออกกฎหมายนั้นให้ยกฟ้อง ตัดสินให้ลงโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 ซึ่งถือเป็นผู้นำการชุมนุม จำคุก 2 ปี ปรับ 9,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5, 6, 9, 10 จำคุก 1 ปี ปรับ 9,000 บาท
 
แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เป็นเหตุให้ลดโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 5, 6, 9, 10 ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและการกระทำการครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ให้รอการลงโทษ 2 ปี
 
คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องว่า ผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, มาตรา 362 เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, มาตรา 364 เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก, มาตรา 365 ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364
 
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 10 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยระบุว่า ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความเห็นโดยสันติวิธี แม้ต่อมาจะมีการปีนรั้วอาคารรัฐสภาและเข้าไปชุมนุมหน้าห้องประชุมสภา สนช.โดยจำเลยที่ 1-6, 8-10 ร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวด้วย แต่ไม่ได้มีพยานระบุชัดว่าจำเลยยุยง สั่งการให้ผู้ชุมปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภา และจากหลักฐานวีซีดีไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ว่ามีการปราศรัยดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 10 เตรียมบันไดและเหล็กครอบกันเหล็กแหลมเพื่อปีนรั้วรัฐสภา แต่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า และเป็นการตัดสินใจของผู้ชุมนุม อีกทั้งมีผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ไม่ได้ปีนเข้าไปในรัฐสภา
 
ส่วนข้อกล่าวหามั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควร และใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายนั้น ศาลพิจารณาว่า แม้การชุมนุมจะเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่เปิดให้มีการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ อยู่ในกรอบของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น โดยการใช้สิทธิเสรีภาพต้องสมดุลกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย
 
การชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การที่ผู้ชุมนุมใช้โซ่ล่ามประตู มีผู้ชุมนุมกว่า 100 คน ปีนบันได้เข้ามาบริเวณอาคารรัฐสภา และมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาเพื่อเข้าไปหน้าห้องประชุม นั้นถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอยู่แล้วในตัว อีกทั้งการเข้าออกรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ราชการต้องขออนุญาต ไม่ใช่สถานที่ที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ การเข้าเป็นในรัฐสภาของผู้ชุมนุมจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองพื้นที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบอีกต่อไป เพราะเป็นการใช้สิทธิละเมิดผู้อื่นเกินสมควร
 
กรณีนี้ที่มีการเบิกความว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปเพื่อยับยั้งการออกกฎหมาย 11 ฉบับของ สนช.ซึ่งได้พยายามคัดค้านในทุกวิถีทางแล้วไม่ประสบผล ศาลเห็นว่า การพิจารณากฎหมายย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และผู้ชุมนุมมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อสาธารณะ สื่อมวลชน และ สนช.ให้รับทราบ แต่จะเห็นด้วย หรือทำตามหรือไม่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งผู้ชุมนุมได้แสดงออกแล้วไม่จำเป็นต้องปีนรั้วรัฐสภา
 
การปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อให้ สนช.ทำตามความเห็นนั้นเป็นการใช้สิทธิเกินสมควร ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การทำให้รัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่ใช่ใช้กำลังโดยพลการ  
 
ส่วนประเด็นที่ว่า สนช.ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจ และมีส่วนน้อยที่มาจากภาคประชาชนจะไม่ใส่ใจในการพิจารณาออกกฎหมาย และพิจารณาผ่านกฎหมายโดยไม่ครบองค์ประชุม ศาลพิจารณาว่า รัฐธรรมนูญให้ สนช.ทำหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่และประชุมสภานัดแรก การพิจารณาว่า สนช. มีการพิจารณาผ่านกฎหมายโดยครบองค์ประชุมหรือไม่นั้นศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยที่ 1-6 และ 8-10 ต้องเข้าไปในรัฐสภา
 
ศาลตัดสินให้จำเลยทั้ง 10 มีความผิดตาม มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง จำเลยที่ 1-6 และ 8-10 มีความผิดตาม มาตรา 362 มาตรา 364 และมาตรา 365
 
 
 
คปก.ชี้สภาฯ ตีตก ร่าง กม.ประกันสังคม เสี่ยงขัด รธน.
 
29 มีนาคม 2556 นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในจดหมายเปิดผนึกคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)เรื่อง สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร
 
คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยประชาชนว่า สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ2540 ที่มีความมุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ให้ความสำคัญเช่นกัน จึงได้กำหนดให้เป็นหมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยได้กำหนดให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยและได้กำหนดเงื่อนไขเพียงว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญเท่านั้น
 
ดังนั้นสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายย่อมมีผลผูกพันการใช้อำนาจในการตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรการไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิเสธสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางการเมืองโดยตรงของประชาชนเท่านั้น ยังเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่อาจไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอีกด้วยทั้งนี้หากพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264คน พบว่า มีหลักการและสาระสำคัญเป็นการการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมแก่คนทำงานที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีความเป็นอิสระ มีความโปร่งใส  มีประสิทธิภาพ มีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง เป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ต้องการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้สมประโยชน์แก่ประชาชนผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคมซึ่งรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรให้การสนับสนุนความริเริ่มสร้างสรรค์ของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่สามารถสะท้อนความต้องการเพื่อให้สถาบันรัฐสภารับรู้และสามารถออกกฎหมายได้ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง
 
คปก.เห็นว่า แม้ว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยรัฐบาลร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ด้วยกระบวนพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่มีขั้นตอนในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถเปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างกันสามารถถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างสร้างสรรค์และโดยสันติบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประชาชน ถือเป็นวิถีประชาธิปไตยที่ยึดถือปฏิบัติกันเสมอมา  ด้วยเหตุดังกล่าวการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้ผู้แทนประชาชนได้เสนอเหตุผลเพื่อหาข้อสรุปที่ยอมรับกันได้ในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด
 
ดังนั้น คปก.จึงเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนของสภาผู้แทนราษฎรอย่างยิ่งยวด ดังนั้นการพิจารณาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อสถาบันรัฐสภาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
 
อนึ่ง การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23-24 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ )เมื่อวันที่ 20 และวันที่21 มีนาคม2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมจำนวน 4ฉบับ และลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของนางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน และนายนคร  มาฉิม กับคณะ ดังนั้นจึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติทั้ง2 ฉบับดังกล่าวเป็นอันตกไปทั้งที่แนวทางการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาจะมีมติรับหลักการร่างกฎหมายรวมกันทุกฉบับโดยให้ถือเอาร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก