ในช่วงที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ จะมีชื่อของกฎหมายสองฉบับที่ผู้ชุมนุมไม่ค่อยอยากได้ยิน คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน)และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พรบ.ความมั่นคง)
กฎหมายทั้งสามฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภัยที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การประกาศใช้กฎหมายเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายประการที่ในภาวะปกติไม่มีอำนาจกระทำได้ เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการป้องกัน ปราบปราม รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น
นอกจากกฎหมายสองฉบับดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎหมายเก่าอีกฉบับหนึ่งซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน และมีเงื่อนไขของการบังคับใช้กับที่คล้ายคลึงกันควรนำมากล่าวถึงไว้ด้วยนั่นก็คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
เป็นที่แน่นอนว่าเนื้อหาของกฎหมายบางส่วนมีลักษณะที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สวนทางกับหลักสิทธิมนุษยชนและระบบการปกครองโดยกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันในทางการปกครอง ก็จำเป็นที่รัฐจะต้องมีกฎหมายหรือมีมาตรการสำรองไว้เป็นเครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง
การศึกษาถึงประวัติการประกาศใช้กฎหมาย และเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญ น่าจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นว่า กฎหมายเหล่านี้มีเจตนารมณ์และลักษณะการใช้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรัฐ หรือเป็นปฏิปักษ์กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่ากัน
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
-
นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระยะเวลาครั้งละไม่เกินสามเดือน ในกรณีเร่งด่วนนายรัฐมนตรีคนเดียวมีอำนาจประกาศไปก่อน แล้วมาขอความเห็นชอบภายหลังได้ (มาตรา 5)
-
เมื่อประกาศแล้ว อำนาจหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ให้โอนมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี (มาตรา 7)
-
นายกรัฐมนตรี มีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อ ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือหรือสื่ออื่นใด ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความไม่สงบ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะที่กำหนด ห้ามใช้อาคารหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรืออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด (มาตรา 9)
-
ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย หรือใช้กำลังประทุษร้าย กระทบต่อความมั่นคง นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่เพิ่มเติมขึ้น สามารถจับกุมบุคคลใดที่ต้องสงสัย ออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมาให้ข้อมูล ออกคำสั่งยึดอาวุธ หรือสินค้าใดๆที่ต้องสงสัย ออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ทำลายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ตรวจสอบจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ยับยั้งการสื่อสารใดๆ ห้ามผู้ใดเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ฯลฯ (มาตรา 11)
-
สามารถควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยไว้ได้ไม่เกินเจ็ดวัน (มาตรา 12) (ในกรณีปกติกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ควบคุมตัวได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง)
-
ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง (มาตรา 16)
-
เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย หากเป็นการกระทำที่สุจริตและไม่เกินสมควรแก่เหตุ (มาตรา 17)
พระราชกำหนดฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ในยุคที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลเคยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดนี้ออกข้อกำหนดเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งหมด 5 ครั้ง ดังนี้
พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
-
พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายจัดตั้งและเป็นที่มาของอำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยให้เป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (มาตรา 5) ตามปกติแล้วมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ สถานการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง เสริมการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย (มาตรา 7)
-
ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มว่าจะอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งอยู่ในอำนาจของหน่วยงานหลายหน่วย ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจมอบหมายให้กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปรามเหตุการณ์ดังกล่าว (มาตรา 15)
-
ผู้อำนวยการ กอ.รมน. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ห้ามเข้าไปในบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด ห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิคส์ (มาตรา 18)
-
ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามกฎหมายนี้ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม (มาตรา 23)
พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ในยุคที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ประกาศใช้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศเขตพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและมอบอำนาจให้กอ.รมน. ควบคุมดูแลทั้งหมด ...ครั้ง
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
-
เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยจากภัย ให้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึก (มาตรา2) เมื่อมีสงครามหรือการจลาจลเกิดขึ้นที่ใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก ในเขตอำนาจของทหารนั้น (มาตรา4) แต่การจะยกเลิกกฎอัยการศึกต้องอาศัยพระบรมราชโองการเท่านั้น (มาตรา 5)
-
ในพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย (มาตรา 6)
-
เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และขับไล่(มาตรา 8)
กล่าวโดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจค้นตัวบุคคล ยานพาหนะ จดหมาย สิ่งพิมพ์ เคหสถาน หรือที่ใดๆ ไม่ว่าเวลาใดๆ ทั้งสิ้น (มาตรา 9) มีอำนาจที่จะเกณฑ์พลเมือง ยวดยาน เสบียงอาหาร ให้ช่วยในราชการทหาร (มาตรา 10) มีอำนาจสั่งห้ามมั่วสุมกัน ห้ามเผยแพร่สิ่งพิมพ์ วิทยุ ห้ามใช้ทางสาธารณะ (มาตรา 11) มีอำนาจเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรูได้ (มาตรา 14)
พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2457 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากนั้นเป็นต้นมา เคยมีการประกาศกฎอัยการศึกขึ้นในประเทศไทย หลายครั้ง
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนและองค์กรเครือข่าย สังเกตว่าจากประวัติการประกาศให้กฎหมายเหล่านี้มีผลบังคับใช้เป็นพิเศษ เป็นไปในทางเพื่อรักษาเสถียรภาพของผู้มีอำนาจในรัฐบาล มากกว่าเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและอธิปไตยของชาติ และกฎหมายทั้งสามฉบับก็มีลักษณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะมีเนื้อหาขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง
อีกทั้งมีความเห็นว่ากฎหมายฉบับอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันและมีลักษณะเคารพสิทธิของปัจเจกบุคคลมากกว่านั้นเพียงพออยู่แล้วสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนและองค์กรเครือข่าย จึงมีข้อเสนอให้ออกพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขกฎหมายที่มีลักษณะขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยดังกล่าว โดยยกเลิกทั้งสามฉบับ หรือยกเลิกบางฉบับ หรือยกเลิกเนื้อหาบางส่วน และต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในประเด็นดังนี้