กมธ.แก้ รธน.เห็นพ้องยกเลิก ส.ว.สรรหา
14 พ.ค. 56เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... เกี่ยวกับการแก้ไขที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธาน กมธ.เป็นประธาน ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาในมาตรา 10 ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากเห็นด้วยให้คงร่างเดิม คือ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ ทั้ง ส.ว.เลือกตั้งและสรรหา ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ แต่หากมีเหตุตำแหน่งว่างลงก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งในส่วนของการเลือกตั้งซ่อม กมธ.เสียงข้างน้อยยังมีความเห็นต่างและขอสงวนคำแปรญัตติ เพราะเมื่อตำแหน่ง ส.ว.ว่างลง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องดำเนินการตามที่กฎหมาย คือ ต้องเลือกตั้งหรือสรรหา ส.ว.แทนตำแหน่งที่ว่างในเวลาที่กำหนด โดยเกรงว่าจะเกิดปัญหาต่อผู้ปฏิบัติในวันข้างหน้า
ส่วนในมาตรา11 ให้ กกต.เสนอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่อรัฐสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้บังคับใช้ โดยให้รัฐสภาเห็นชอบภายใน 120 วัน
สำหรับมาตรา 12 และมาตรา13 ที่ประชุมเห็นชอบตามร่างเดิมที่รับมาในวาระที่ 1 โดยมีสาระสำคัญ คือ ส.ว.สรรหา ชุดปัจจุบัน ที่ยังเหลือวาระประมาณ 3 ปี ให้สิ้นสภาพทันทีที่ครบวาระ โดยไม่ต้องรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง ส.ว.ใหม่ และไม่มีการสรรหามาแทน ขณะที่ ส.ส.ในซีกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้โต้แย้งในเรื่องการยกเลิกส.ว.สายสรรหา เพราะเห็นว่าแพ้มาตั้งแต่ขั้นรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กมธ.ได้พิจารณาตามรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นจะมีการทบทวนรายละเอียดต่างๆ ที่ได้พิจารณามาทั้งหมด และจะให้ผู้ที่เสนอแปรญัตติ จำนวน 215 คน เข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.ในสัปดาห์ถัดไป
ด้านนายสมศักดิ์ สุริยะมงคล รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า กกต. ได้ยื่นข้อเสนอขอให้ กมธ.ช่วยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 118 ซึ่งปัจจุบันกำหนดว่า เมื่อวุฒิสภาครบวาระให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน30วัน โดยขอให้แก้ขยายเป็น45วัน เนื่องจากได้รับเสียงเรียกร้องจากกงสุลไทยในต่างประเทศว่าระยะเวลา 30 วันไม่เพียงพอสำหรับการจัดการให้มีการลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เนื่องจากบางประเทศมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก แต่ทาง กมธ.ก็ยังไม่มีการแก้ไขในส่วนนี้
นายกฯ เป็นประธานปลดโซ่ตรวนนักโทษเรือนจำบางขวาง
ที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 15 พ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธี “วันประกาศถอดตรวนผู้ต้องขัง” โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายชาติชาย สุทธิกลม เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.ต.อ.พงศ์พัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.และเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.ร่วมในพิธี โดยมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้การต้อนรับ พร้อมนำชมนิทรรศการประวัติการควบคุมนักโทษด้วยโซ่ตรวนตั้งแต่โบราณกาลสมัยกรุงศรีอยุธยา พร้อมสาธิตโซ่ตรวนขนาดต่างๆ ที่ถูกยกเลิกในครั้งนี้ พร้อมแสดงโซ่ตรวนใหม่ซึ่งมีขนาดเล็กน้ำหนักลดลงใส่แทนหากต้องนำนักโทษออกนอกเรือนจำ รวมทั้งแสดงอาวุธปืนสเปรย์พริกไทย ใช้ระงับเหตุนักโทษจราจล โดยนายกฯ ได้ใช้กรรไกรตัดโซ่ตรวนเป็นสัญลักษณ์การเลิกพันธนาการนักโทษในเรือนจำด้วยโซ่ตรวน ท่ามกลางบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีนักโทษประหารและนักโทษจำคุกตลอดชีวิต พร้อมครอบครัวกว่า 500 คน เข้าร่วม มีการจัดอาหารพร้อมเครื่องดื่มให้นักโทษด้วย
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายภารกิจให้นายวสันต์ สิงคเสลิต ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ดำเนินการ ซึ่งเรือนจำกลางบางขวาง เป็นเรือนจำความมั่นคงสูงรับควบคุมผู้ต้องราชทัณฑ์สูงสุดถึงโทษประหารชีวิต และเป็นเรือนจำแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีแดนประหารชีวิต เรือนจำกลางบางขวางได้เริ่มดำเนินการทดลองถอดตรวนให้กับผู้ต้องขังที่จำตรวนทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2556 โดยผู้ต้องขังที่ได้รับการถอดตรวน ได้แก่ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษต่ำกว่า 50 ปี จำนวน 16 ราย ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 34 ราย และผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษประหารชีวิต จำนวน 513 ราย รวมจำนวน ผู้ได้รับการถอดตรวนทั้งสิ้น จำนวน 563 ราย
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า การถอดตรวนในครั้งนี้ ปรากฏว่าเกิดผลดีในเชิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ต้องขังและญาติ โดยผู้ต้องขังและญาติล้วนมีทัศนคติในเชิงบวกต่อแนวนโยบายดังกล่าว ถึงแม้ว่าวันนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหลายนี้จะยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ แต่การที่ได้ถอดตรวนได้นำมาซึ่งความสุขในอิสรภาพที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ ปราศจากพันธนาการแห่งโซ่ตรวน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่มีการกระทำผิดวินัยผู้ต้องขังแต่อย่างใด ขณะนี้กรมราชทัณฑ์จะได้ขยายแนวนโยบายนี้ไปยังเรือนจำ และทัณฑสถาน ทุกแห่งทั่วประเทศต่อไป โดยการประกาศถอดตรวน เป็นการถอดตรวนให้แก่ผู้ต้องขังที่จำตรวนอยู่ในเรือนจำตลอด 24 ชั่วโมง เหตุที่เรือนจำและทัณฑสถาน ต้องใช้เครื่องพันธนาการ หรือตรวน แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ภายในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2475 เพื่อป้องกันเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นภายในเรือนจำ และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ส่วนผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ถูกควบคุมตัวไปนอกเรือนจำ ปัจจุบันยังต้องมีการจำตรวนอยู่หากในอนาคต กรมราชทัณฑ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือมาทดแทนการจำตรวนได้ จะสามารถยกเลิกการจำตรวนผู้ต้องราชทัณฑ์ในรูปแบบเดิมทุกเรือนจำต่อไป
สำหรับโซ่ตรวนข้อเท้าที่มีการยกเลิกในครั้งนี้มี 3 ขนาดประกอบด้วย ขนาด 17 มม.หนัก 5 กิโลกรัม ขนาด 12 มม.หนัก 2.6 กิโลกรัม และขาด 10 มม.หนัก 1.7 กิโลกรัม ส่วนโซ่ตรวนใหม่ที่จะมีการนำมาใช้จะมีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักเพียง 0.6 กิโลกรัม เป็นทั้งแบบใส่ข้อเท่า และแบบโซ่ตรวนรัดเอวพร้อมมีกุญแจมือ โดยทั้งหมดถูกสั่งซื้อมาจากอเมริกา เพราะโซ่ตรวนมีความแข็งแรงยากแก่การทำลาย โดยจะใช้ใส่นักโทษเฉพาะออกนอกเรือนจำขณะออกไปศาลหรือย้ายเรือนจำ
เวียดนามส่งสัญญาณสานต่อโทษประหารชีวิต
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ว่า ทางการเวียดนามส่งสัญญาณเตรียมรื้อฟื้นโทษประหารชีวิต ที่หยุดชะงักนานเกือบ 2 ปี ด้วยการแก้ไขกฎหมาย ให้การประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษเข้าร่าง สามารรถใช้สารเคมีที่ผลิตในเวียดนามได้
ประเทศคอมมิวนิสต์เวียดนาม ยกเลิกการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อเดือน ก.ค. 2554 และหันมาใช้วิธีที่มี “มนุษยธรรมมากกว่า” ด้วยการฉีดสารพิษเข้าร่างนักโทษ แต่การขาดแคลนสารเคมีที่เหมาะสม ทำให้จำนวนนักโทษที่รอคิวถูกประหารเพิ่มพูนขึ้นมากกว่า 500 คน รัฐบัญญัติฉบับใหม่ของรัฐบาล ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. จะทำให้สามารถใช้สารเคมีในประเทศ สำหรับการประหารชีวิตนักโทษได้ ซึ่งก่อนหน้านี้กฎหมายเวียดนามกำหนดให้ใช้สารเคมีที่สั่งนำเข้าเท่านั้น
รายงานของหนังสือพิมพ์เจื่อย แจ ของเวียดนาม โดยอ้างแหล่งข่าวกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า บริษัทผู้ส่งออกสารเคมีในต่างแดน ปฏิเสธที่จะขายสินค้าให้ทางการเวียดนาม หลังทราบความจริงว่าสินค่าจะถูกนำไปใช้สำหรับการประหารชีวิต ทางการเวียดนามไม่เปิดเผยจำนวนครั้งของการประหารชีวิตนักโทษในแต่ละปี แต่กลุ่มองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า มี 28 ครั้งในปี 2554 ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด
อย่างไรก็ตาม หลายกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการประหารชีวิต ไม่ได้ทำให้การลงโทษแบบ “ไร้มนุษยธรรม” หมดไป พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการเวียดนาม หาแนวทางยกเลิกโทษประหารชีวิตแบบถาวร
ศาลรธน.ไม่รับตีความแก้ม.190
16 พ.ค. 56 นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ นายบวร ยสินทร และคำร้องที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา 315 คนดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เข้าข่ายเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นคนละกรณีกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงไม่มีมูลกรณีที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
แต่ทั้งนี้ในส่วนคำร้องของนายวรินทร์ ยังได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องที่ผู้ถูกร้องทั้งหมดกระทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ด้วย โดยส่วนนี้ คณะตุลาการเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 มีมติให้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับที่สมาชิกวุฒิสภา 15 คน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณาแล้ว นายพิมล กล่าวว่าคณะตุลาการได้มีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวและสั่งให้รวมไว้ในสำนวนแล้ว ซึ่งในช่วง 1 สัปดาห์นี้ คณะตุลาการจะศึกษาว่าคำร้องกรณีดังกล่าวที่มีเข้ามาทั้งหมดนั้นมีลักษณะเดียวกันสามารถนำมารวมพิจารณาได้หรือไม่ และจะมีคำสั่งออกมา
พล.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในส.ว.จำนวน 15 คน ที่ได้ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำหน้าหน้าที่ของประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คน ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ว่า เป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนในการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่ กล่าวว่า การชี้แจงดังกล่าวไม่ได้เป็นการแหกมติของ 312 ส.ส. -ส.ว. แต่วุฒิสภามีความเป็นอิสระ เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่ต้องทำตามมติใคร อีกทั้งการชี้แจงก็เพื่ออธิบายต่อศาลว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการแก้มาตรา 68 และ 237 เพราะมีความไม่ชัดเจน ต้องตีความ ซึ่งต้องเขียนให้ชัดว่า การพิทักษ์รัฐธรรมนูญต้องยื่นผ่านอัยการ หรือยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนที่เป็นมา ในฐานะที่ตนเคยเป็นผู้รักษากฎหมายมาก่อน หากมีความชัดเจนในการยื่น ก็ไม่ต้องตีความให้ยาก ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด และเท่าที่ทราบตอนนี้กรรมาธิการ(กมธ.) แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ก็พิจารณาก้าวหน้าไปมาก มีความเห็นว่าให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุด แต่หากไม่ดำเนินการใน 30 วัน ก็ให้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องดี ไม่ได้เปิดศึกกับใคร
ในวันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต่อการค้าและการลงทุนของประเทศไทย ที่มี นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ประธานคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในถ้อยคำวรรคสอง ตามร่างของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ประเด็น “หรือมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ ในการคุ้มครองหรือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงาน ที่มิใช่เรื่องความร่วมมือทางวิชาการ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรหาถ้อยคำให้กระชับ ไม่กว้างขวางจนเกินไป
นายเกียรติ สิทธีอมร กรรมาธิการ เสนอให้เติมถ้อยคำในวรรคสองว่า “ที่จะต้องออกพระราชบัญญัติหรือมีบทเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองหรือจัดการภายในประเทศ”แทนการระบุถ้อยคำสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงาน เนื่องจากมองว่าเนื้อหาจะครอบคลุมและมีความชัดเจนมากกว่า
ด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ กรรมาธิการ กล่าวว่า การจะระบุถ้อยคำเพิ่มเติมสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงานหรือไม่นั้นก็เหมือนกัน เพราะสุดท้ายก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้นหากถ้อยคำดังกล่าวไม่ฟุ่ยเฟือยจนเกินไปเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการพิจารณาตามวรรคสองยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกเป็นกฎหมายลูกอีกหรือไม่
ศธ.ย้ำทรงผมต้องเหมาะสม
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีรมว.ศึกษาธิการเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติ การแต่งกายและแบบทรงผมนักเรียน นักศึกษา โดยให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรง และให้นักเรียนหญิงเลือกไว้ทรงผมสั้นหรือยาวได้ กรณีไว้ยาวให้รวบ นอกจากนี้ยังให้นักเรียนหญิงซอยผมได้ ว่า จริงๆ แล้วกฎกติกาให้การผ่อนปรน ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ขึ้นอยู่กับค่านิยม และวัฒนธรรมของโรงเรียนด้วย สพฐ.ไม่ได้บังคับ แต่ขอให้ตกลงกันเอง ถ้ารุ่นพี่หรือประชาคมคิดว่าจะใช้ทรงผมอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนก็ขอให้ตกลงกัน ถือเป็นสิทธิของนักเรียน
นายชินภัทรกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองห่วงใยว่าการให้อิสระนักเรียนซอยผมได้ จะทำให้เด็กตามแฟชั่นมากขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมนั้น ตนเห็นด้วย ดังนั้น จึงขอให้ทุกโรงเรียนเน้นย้ำนักเรียนว่าแม้ศธ.จะผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผม แต่ขอให้นักเรียนคำนึงถึงกรอบความเหมาะสม ความพอดี เพราะทุกคนมีหน้าที่ และการเป็นนักเรียนต้องตั้งใจเรียน ถ้ามัวแต่ไปมุ่งกับเรื่องทรงผม การแต่งกาย จะทำให้จิตใจไขว้เขวไปจากการเรียนได้ และอาจทำให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อยากฝากถึงนักเรียนว่า อิสระมีได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงที่ปรับแก้ถ้อยคำ ตัดคำว่าห้ามนักเรียนซอยผมออกนั้น จะได้ตัดปัญหาการตัดผมสมัยใหม่ เพื่อทำความเข้าใจการตัดผมได้ง่ายขึ้น เรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหา หลักใหญ่อยู่ที่นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่โรงเรียนจะเป็นผู้กำหนดว่าถ้าไว้ผมยาวก็รวบให้เรียบร้อย หรือถักเปีย ทั้งนี้ กฎดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบก่อน ขณะนี้ให้ยึดถือกฎกระทรวงปี 2518 เป็นหลัก ซึ่งศธ.ทำหนังสือแจ้งไปยังสถานศึกษาทุกแห่งแล้ว