ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและความสูญเสียหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในปี 2553 และการขึ้นสู่อำนาจของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเนื่องจากการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองยังมีอยู่จำนวนมาก คดีความต่างๆ ยังเดินหน้ามุ่งลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อแสดงออกซึ่งอุดมการณ์ความเชื่อของคน
ภายใต้กระแสการสร้าง “ความปรองดอง” ที่ถูกกล่าวอ้างโดยฝ่ายการเมือง การ “นิรโทษกรรม” ให้กับนักโทษทางการเมือง เหมือนจะเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำเพื่อให้ความเจ็บปวดและความขัดแย้งลดลง แต่ข้อถกเถียงสำคัญคือ ใครบ้าง และการกระทำในช่วงเวลาไหนบ้างที่จะได้รับการยกเว้นความผิด ความหวาดกลัวว่าแกนนำของคู่ตรงข้ามทางการเมือง เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ นายอภิสิทธิ์ จะได้รับการยกเว้นความผิดไปด้วยทำให้ข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองยังไม่คืบหน้าไปไหน คนที่อยู่ในคุกแล้วก็ยังต้องอยู่ในคุกต่อไป คนที่ถูกดำเนินคดีก็ยังต้องสู้กันต่อไป
เมื่อฝ่ายการเมืองไม่ผลักดันการนิรโทษกรรมให้คืบหน้า กลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ จึงเสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง” เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคม สำหรับคนที่ต้องการเห็นนักโทษทางการเมืองพ้นผิด แต่ไม่ต้องการให้แกนนำผู้สร้างความเสียหายต้องหลุดรอดไปด้วย โดยเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
- การกระทำที่จะเข้าข่ายการนิรโทษกรรม ต้องเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 หรือนับตั้งแต่วันที่มีการทำรัฐประหารในปี 2549 จนถึงวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 และพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล
- นิรโทษกรรมให้กับ ความผิดจากการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ประกาศใช้กับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ทุกกรณี
- นิโทษกรรมให้กับ ความผิดลหุโทษ ความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ของผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง
- ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงเวลานี้ที่ไม่ได้รับนิรโทษกรรมทันทีตามข้อ 2. และข้อ 3. ให้ตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ขึ้นมาวินิจฉัยว่าผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็ให้ได้รับนิรโทษกรรม
เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การสลายการชุมนุม ทั้งผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการ ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย ไม่ได้รับนิรโทษกรรม
สาเหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้เขียนเรื่องนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เพราะการเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญนำไปตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อดึงกระบวนการให้ช้าได้ และหากจะเสนอโดยการเข้าชื่อเสนอของประชาชน ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเลย ไม่อาจถูกประธานสภาปัดตกโดยอ้างว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่เข้าหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญได้ เหมือนกับที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จากการถูกประธานสภาปัดทิ้งร่างแก้ไขมาตรา 112
นอกจากนี้ หากเขียนนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมการชุมนุม แต่ไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ไว้ในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเขียนไว้หรือหากรัฐสภาออกกฎหมายอื่นใดมานิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ
ตีความผลของร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง โดยไอลอว์
ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเสื้อแดงในเหตุการณ์การชุมนุมปี 52 ต้องโทษฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน | ได้รับนิรโทษกรรม |
ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเสื้อแดงในเหตุการณ์การชุมนุมปี 53 ต้องโทษฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน | ได้รับนิรโทษกรรม |
ผู้ถูกกล่าวหาว่าเผาห้างเซ็นทรัลเวล์ด เผาศาลากลาง หรือทำผิดกฎหมายอื่นๆ ระหว่างการชุมนุม | จะได้รับนิรโทษกรรมต่อเมื่อคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่ากระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง |
แกนนำการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงทั้งปี 52 และ 53 | ได้รับนิรโทษกรรมในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนข้อหาอื่นจะได้รับนิรโทษกรรมต่อเมื่อคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่ากระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง |
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี | ไม่ได้รับนิโทษกรรม ในความผิดที่กระทำลงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 2549 |
ผู้เข้าร่วมการชุมนุมของพันธมิตร ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน ในปี 2551 | ได้รับนิรโทษกรรมในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนข้อหาอื่นจะได้รับนิรโทษกรรมต่อเมื่อคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่ากระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง |
แกนนำพันธมิตร ในการชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน ในปี 2551 | ได้รับนิรโทษกรรมในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนข้อหาอื่นจะได้รับนิรโทษกรรมต่อเมื่อคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่ากระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง |
เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ระดับปฏิบัติการที่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุม | ไม่ได้รับนิรโทษกรรม แต่อาจได้รับการยกเว้นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ |
เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ระดับผู้บังคับบัญชาหรือผู้สั่งการให้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุม | ไม่ได้รับนิรโทษกรรม แต่อาจได้รับการยกเว้นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ |
ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา112 จากการแสดงออกทางการเมือง | จะได้รับนิรโทษกรรมต่อเมื่อ เป็นการทำความผิดระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 และคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่ากระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง |