ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข วางระบบมาตรฐานเพื่อสุขภาพประชาชน

ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข วางระบบมาตรฐานเพื่อสุขภาพประชาชน

เมื่อ 13 มิ.ย. 2556
ไฟล์แนบขนาดไฟล์
ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารสุขชุมชน ฉบับผ่านวุฒิสภา.pdf4.61 MB
ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ฉบับประชาชน.pdf4.43 MB

*หมายเหตุ* เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 รัฐสภามีมติเอกฉันท์ 382 เสียง

ผ่านร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชุน ออกใช้เป็นกฎหมายแล้ว

 

ผู้ประกอบวิชาชีพในระบบสาธารณสุข ไม่ได้มีแค่แพทย์และพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมีผู้ทำหน้าที่อื่นๆ ด้านสาธารณสุขอีกจำนวนมาก เช่น หมออนามัย สาธารณสุขชุมชน ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ประชาชน ควบคุมโรคติดต่อ ทำงานเชิงบรรเทาและป้องกันปัญหา ซึ่งการทำงานของคนกลุ่มนี้ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอันเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่ง
 
ปัจจุบันประชาชนนิยมเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขจากสถานีอนามัยหรือหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 และการปฏิบัติงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก็มีความสำคัญมากขึ้น  ในขณะที่วิชาชีพอย่างแพทย์หรือพยาบาล มีมาตรฐานจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ และมีสภาวิชาชีพเป็นองค์กรคอยควบคุมจรรยาบรรณ แต่วิชาชีพสาธารณสุขอื่นยังไม่มีกลไกเหล่านี้ เพราะขาดกฎหมายรับรองความเป็นวิชาชีพของผู้ให้บริการสาธารณสุขอื่นที่นอกเหนือไปจากแพทย์และพยาบาล
 
เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและตามกรอบจริยธรรมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เคยรวบรวมรายชื่อประชาชน 167,101 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข ให้สภาพิจารณาแล้ว แต่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ มีการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทำให้กฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาต้องตกไป
 
 
 
 
 
หลังรัฐธรรมนูญ 2550 รับรองสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วย 10,000 รายชื่อ ทางสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข นำโดย นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข กลุ่มหมออนามัย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,892 รายชื่อ ได้ร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ... ให้เป็นกฎหมายรองรับความเป็นวิชาชีพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขดังกล่าว ซึ่งยื่นเสนอต่อรัฐสภาไปตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553
 
ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุข ที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ มีหลักการที่น่าสนใจ ดังนี้
 
  • วิชาชีพการสาธารณสุข หมายความว่า วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งการเสริมสร้างสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค และการอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน และให้หมายความรวมถึงกิจกรรมต่อเนื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่มีความมุ่งหมายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ไม่หมายรวมถึงการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ (มาตรา 3)
  • ให้มีสภาวิชาชีพสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุข กำหนดมาตรฐานการให้บริการ ควบคุมดูแลความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพ ให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิชาชีพการสาธารณสุขแก่สถาบันอุดมศึกษา  และเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขของประเทศ
  • กำหนดให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องเป็นสมาชิกแห่งสภาการสาธารณสุข และต้องได้รับใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาด้านการสาธารณสุข ต้องมีคุณสมบัติและต้องผ่านการสอบความรู้ ต้องประพฤติให้เป็นไปตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
  • ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ถูกกล่าวหาได้โดยผู้เสียหาย บุคคลอื่น และกรรมการ โดยผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นต้องทำคำกล่าวหาเป็นหนังสือยื่นต่อสภาการสาธารณสุข
 
เนื่องจากมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติลักษณะดังกล่าวทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้งโดยคณะรัฐมนตรี โดย ส.ส. และโดยประชาชน ซึ่งแต่ละฉบับมีเนื้อหาต่างกันไป การพิจารณาจึงพิจารณาร่างทั้งสี่ฉบับรวมกัน และเดินทางอยู่หลายปีจนผ่านชั้นสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวุฒิสภา และเนื่องจากสองสภามีความเห็นไม่ตรงกันบางประเด็น ปัจจุบันร่างฉบับนี้จึงอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของกรรมาธิการร่วมสองสภา
 
ร่างกฎหมายฉบับที่ประชาชนเสนอ ถูกผสมรวมกับร่างอีก 3 ฉบับ และถูกปรับปรุงในขั้นตอนต่างๆ ไปมาก จนร่างฉบับล่าสุดมีชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. ... และมีรายละเอียดหลายประการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งคำนิยามของ คำว่า “วิชาชีพสาธารณสุข” ก็ถูกแก้ไขไปมาก แม้ในบางประเด็นประชาชนผู้เสนอกฎหมายจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่อย่างไรเสียจากความพยายามต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาประชาชนก็ยังเฝ้ารอให้กฎหมายที่จะรองรับความเป็นวิชาชีพของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขคลอดออกมาใช้ได้จริงเสียที
 
ติดตามความคืบหน้าการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข แบบรายงานสดวันต่อวันได้ทาง เฟซบุ๊คเพจสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข (คลิกที่นี่)