เวทีสาธารณะเรื่อง “ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมผ่านคำพิพากษา”

กำหนดการเวทีสาธารณะเรื่อง

“ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมผ่านคำพิพากษา”

 

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2556
13:00-13:30 น.                     ลงทะเบียน
13:30-13:45 น.                     กล่าวเปิดงานโดย ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ตัวแทนสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13:45-15:00 น.                     เสวนาเรื่อง “ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมมองผ่านคำพิพากษา”
                                                โดย  ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ         คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                                                       ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา    คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                                                       รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล       คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
วิเคราะห์คำพิพากษาคดีท่อก๊าชไทย-มาเลเซีย และ คดีคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)สมัยรัฐประหารปี 2549 รวมทั้งคำพิพากษาที่เกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะในประเทศไทยและกรณีในต่างประเทศ
                                                ผู้ดำเนินรายการ นางสาวพูนสุข  พูนสุขเจริญ สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
 
15:00 - 15.15 น.                   พักรับระทานอาหารว่าง
 
15.15-16:00 น.                    แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีและต่อสู้คดีเสรีภาพใน การชุมนุม
16:00-16:30 น.                     วิทยากรสรุปและวางแนวทางเกี่ยวกับ “ก้าวต่อไปเสรีภาพในการชุมนุมมองผ่านคำพิพากษา” 
 

 

หลักการและเหตุผล

                เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการรับรองไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙  นับจนถึงปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นเวลากว่า ๖๗ ปี ที่เสรีภาพดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ หรือหากนับจากรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยทั้งหมด เสรีภาพในการชุมนุมก็ได้รับการรับรองไว้ถึง ๘ ฉบับ จากทั้งหมด ๑๘ ฉบับ  อีกทั้งในระดับสากลนั้นเสรีภาพในการชุมนุมก็ได้รับการรับรองไว้ ในฐานะที่เป็นสิทธิพื้นฐานอย่างหนึ่งคือ สิทธิในการชุมนุมโดยสงบก็ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ข้อ ๒๑ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยมีใจความว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้” 

                อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมานับสิบปีนี้สถานการณ์การเมืองการปกครองในสังคมไทยได้เกิดเหตุการณ์หลายๆอย่างที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพในการทำงานของภาครัฐ เมื่อปัญหาที่มีอยู่เดิมยังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาใหม่ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผนวกกับกลไกการทำงานภาครัฐที่ไม่สามารถเดินหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ จึงทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนในภาคส่วนต่างๆที่เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองผ่านการชุมนุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปัญหาความเดือดร้อนในด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงส่งผลให้เสรีภาพในการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญถูกนำมาใช้อย่างมีนัยยะสำคัญ

                เมื่อประชาชนใช้เสรีภาพการชุมนุมมากขึ้น แต่บริบทในการการบังคับใช้กฎหมายด้านการชุมนุมในกระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ได้รับการรับรองผ่านความเห็นชอบของปวงชนชาวไทย  อีกทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมยังคงนำกฎหมายลำดับรองมาดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ชุมนุม ในทางกลับกันประชาชนก็ยังคงยืนยันเสรีภาพในการชุมนุมตามที่กฎหมายสูงสุดของประเทศได้บัญญัติรับรองไว้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี่เองจึงเป็นที่มาของคดีความที่ขึ้นสู่ศาลมากมาย

                ในอดีตถึงปัจจุบันมีกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาของตนได้ถูกฟ้องร้องเป็นคดีจำนวนมาก ดังเช่นคดีที่ถูกพูดถึงในสังคมอย่างแพร่หลาย คือ คดีที่เกี่ยวกับกรณีของกลุ่มชาวบ้านในจังหวัดสงขลาออกมาชุมนุมเพื่อคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย(คดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย) และคดีการชุมนุมของกลุ่มนักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชนคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คดี สนช.)

                ในคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซียเกิดจากกลุ่มชาวบ้าน รวมตัวกันต่อต้านการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียจนถึงพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ด้วยเหตุที่ว่าโครงการวางท่อก๊าซดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การชุมนุมดังกล่าวซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางและสลายการชุมนุม ในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อผู้ชุมนุมทำให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ และได้พิจารณาค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ชุมนุม

                ส่วนในคดี สนช. นั้นเกิดจากกลุ่มนักพัฒนารวมตัวกันบริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อยับยั้งการออกกฎหมายซึ่งขัดต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และอาจทำให้ประชาชนเสียประโยชน์เกินสมควร ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเช่นกัน และมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชุมนุมคือเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งในคดีนี้ศาลอาญาได้พิพากษาว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมือง

                “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม” (EnLAW)เป็นองค์กรด้านกฎหมายที่มีภารกิจในการทำหน้าที่สนับสนุนรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาความบกพร่องของระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการแก้ไขผลกระทบในโครงการภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนชุมชน โดยหลายโครงการดำเนินไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นการกระทบและละเมิดต่อสิทธิของประชาชนและชุมชน จึงเป็นเหตุให้ประชาชนในชุมชนต้องรวมตัวกันเพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยมุ่งประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและนโยบายด้านสิทธิชุมชน อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่แต่ละชุมชนพึ่งมีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

                “สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” (สนส.)เป็นองค์กรที่มีภารกิจเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยส่งเสริมให้มีการศึกษาและเผยแพร่สิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพของประชาชน บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านเสรีภาพในการชุมนุม ทั้งในด้านการติดตามและผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งต่อต้านและคัดค้านการกระทำใดๆ ซึ่งอาจเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ทั้งในเชิงตัวบทกฎหมาย รัฐนโยบาย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในด้านคดีความต่างๆเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ      

 

วัตถุประสงค์

1.             วิเคราะห์ วิจารณ์ รวมทั้งถอดบทเรียนจากคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมทั้งของศาลไทยและต่างประเทศ

2.             สรุปบทเรียนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีและต่อสู้คดีเสรีภาพในการชุมนุมรวมถึงแนวคำวินิจฉัยของศาล

3.             ระดมความเห็น เพื่อหาทางออกของปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีและต่อสู้คดีเสรีภาพในการชุมนุม

4.             เผยแพร่แนวคิดและแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมต่อสาธารณชน

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

1.             สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

2.             มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม