รอบอาทิตย์ที่สาม เดือนมิ.ย.56: กสทช.ผ่านร่างเยียวยา 1800 MHz

รอบอาทิตย์ที่สาม เดือนมิ.ย.56: กสทช.ผ่านร่างเยียวยา 1800 MHz

เมื่อ 24 มิ.ย. 2556
กสทช.ผ่านร่างเยียวยา 1800 MHz ไม่สนใจเสียงท้วงติง
กสทช.ผ่านร่างประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ร่างเยียวยา 1800 MHz) “นพ.ประวิทย์” ติงควรตีความด้านกฎหมายอย่างเคร่งครัดก่อนว่า กสทช.มีอำนาจขยายเวลาสัญญาสัมปทานหรือไม่ “สุภิญญา” โวยถ้ามีเหตุผลคุ้มครองผู้ใช้บริการจริง ยังไม่เห็นร่างประกาศพูดถึงเรื่องการชดเชยให้ผู้บริโภค อาทิ การลดราคาค่าบริการเลย
 
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 19 มิ.ย. มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบร่างประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... ตามที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งบริษัท กสท โทรคมนาคม ให้สัมปทานแก่บริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอล โฟน ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานลงในวันที่ 15 กันยายน 2556
       
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 เนื่องจากสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ DIGITAL PCN 1800 ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน บริษัทในเครือเอไอเอส โดยทรูมูฟมีผู้ใช้บริการอยู่ในระบบราว 17 ล้านเลขหมาย และดีพีซีราว 8 หมื่นล้านเลขหมายที่อาจได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาการให้บริการ ดังนั้น กสทช.จะต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อบังคับใช้กับผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานที่จะสิ้นสุดลง
       
โดยหลังจากนี้สำนักงาน กสทช.จะนำร่างดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ภายในสัปดาห์หน้าต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วันก่อนนำเข้าบอร์ด กทค.และบอร์ด กสทช.ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาก่อนนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.
       
ส่วนเนื้อหาสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวกำหนดให้เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงจะต้องมีผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการต่อไปเป็นการชั่วคราวเพื่อการเยียวยาลูกค้า และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งต้องไม่เกิน 1 ปีนับตั้งแต่วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
       
“ร่างประกาศดังกล่าวยังไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลลูกค้าที่อยู่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปหลังสิ้นสุดสัมปทาน เนื่องจาก กสทช.ต้องการนำร่างไปประชาพิจารณ์ก่อนเพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณาในที่ประชุมอีกรอบก่อนระบุลงในประกาศว่าใครมีสิทธิในการให้บริการต่อไป”
       
ขณะเดียวกัน ในประเด็นเรื่องของการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ภายหลังหมดสัมปทานก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในที่ประชุมเนื่องจากยังหาข้อสรุปไม่ได้ ที่สำคัญเนื้อหาดังกล่าวยังไม่มีการเขียนอยู่ในร่างประกาศแต่อย่างใดเลย เพราะบอร์ด กสทช.ต้องการให้ประชาพิจารณ์ก่อน เพื่อหาข้อสรุปนำมาเขียนในร่างประกาศดังกล่าว
       
“ประกาศนี้ไม่ใช่เป็นการต่อสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด เนื่องจาก กสท ทรู และดีพีซี จะต้องไปเจรจากันเองว่าใครจะเป็นคนดูแลลูกค้า แต่ กสทช.มีอำนาจทางกฎหมายในการดำเนินการออกร่างประกาศเยียวยาได้ เพราะหากไม่มีมาตรการเยียวยาขึ้นมา และปล่อยให้ซิมดับ สุดท้าย กสทช.เองที่จะผิดกฎหมาย”
       
ในการประชุมบอร์ด กสทช.ครั้งนี้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ติดภารกิจต่างประเทศไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้มี 7 เสียงที่สนับสนุนร่างประกาศ ส่วนอีก 2 เสียงที่ไม่เห็นด้วยคือ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดย นพ.ประวิทย์ให้ความเห็นต่อบอร์ด กสทช.ว่าควรจะนำร่างประกาศส่งไปให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายตีความก่อนว่า กสทช.มีอำนาจในการขยายเวลาสัญญาสัมปทานภายหลังสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่
       
ส่วน น.ส.สุภิญญาระบุว่ายังมีข้อสังเกตที่ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศใน 3 ประเด็น คือ 1. ประกาศฯ ดังกล่าวถือว่าเป็นการต่อสัญญาสัมปทานหรือไม่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนในมิติกฎหมาย 2. กสทช.มีเวลาถึง 2 ปีในการเตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz นับจากวันที่รับตำแหน่ง ทำไมไม่เสนอเรื่องมาก่อนหน้านี้ และ 3. ถ้ามีเหตุผลในการคุ้มครองผู้ใช้บริการจริงหลังหมดสัญญาสัมปทาน ยังไม่เห็นประกาศฯ นี้ที่พูดเรื่องการชดเชยให้ผู้บริโภค อาทิ การลดราคาค่าบริการ หรือการใช้ฟรีอื่นๆ
       
“ส่วนตัวมองว่าเหตุผลยังไม่ดีพอในการให้ยืดเวลาออกไปอีก 1 ปีเพื่อจัดการประมูลคลื่น 1800 MHz แทนที่ กสทช.จะมีการเตรียมการประมูลตั้งแต่ 1-2 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะเป็นความล่าช้าในการเตรียมการประมูลจริง ก็ควรจะมีเงื่อนไขที่หนักแน่นมากกว่านี้”
       
นายฐากรกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ยังมีมติเห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและเห็นชอบต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง กำหนดให้เครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 พ.ศ. ... โดยหลังจากนี้จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป เช่นเดียวกับเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมสื่อสารระยะสั้น (Short Range Devices) ย่านความถี่วิทยุ 57-66 GHz ในลักษณะ Wireless Local Area Network (WLAN) หรือ Wireless Personal Area Network (WPAN) พ.ศ. ... และ (ร่าง)ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมสื่อสารระยะสั้น (Short Range Devices) ย่านความถี่วิทยุ 57-66 GHz ในลักษณะ Wireless Local Area Network (WLAN) หรือ Wireless Personal Area Network (WPAN) พ.ศ. ... ก่อนนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป
       
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้การสนับสนุนงบประมาณในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU TELECOM WORLD 2013 ในวงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อเป็นการร่วมแสดงศักยภาพทางด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศไทย
 
เผยรายงานตรวจสอบองค์กรสิทธิฯ อาเซียน - ระบุบทบาทเหมือน "ตู้โชว์"
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ฟอรัม เอเชีย และมูลนิธิศักยภาพชุมชน เผยแพร่รายงานตรวจสอบผลการดำเนินงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน หรือ AICHR โดยเป็นรายงานฉบับที่สาม หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานตรวจสอบประจำปี 2 ฉบับ นำเสนอโดยองค์กรประชาสังคมอื่น
 
รายงานฉบับล่าสุดใช้ชื่อว่า "Still Window-dressing" หรือ "ยังคงเหมือนตู้โชว์" โดยเป็นการรวบรวมผลการทำงาน และวิจารณ์ผลการดำเนินงานของ AICHR ระหว่างปี 2554 - 2555 นางแอนิเก โนวา ซิกิโร (Atnike Nova Sigiro) ผู้อำนวยการด้านงานรณรงค์ประเด็นอาเซียนของฟอรัม เอเชีย กล่าวว่า งานของ AICHR ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะฉะนั้นผลกระทบของ AICHR ที่จะมีต่อชีวิตของประชาชนในอาเซียนก็มีน้อยมาก "นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมองค์กรประชาสังคมจึงพิจารณาการทำงานของ AICHR ที่มีภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียนว่า "ยังคงเหมือนตู้โชว์""
 
ชิเวย เย นักวิจัยของรายงานตรวจสอบผลการดำเนินงานของ AICHR กล่าวว่า รายงานฉบับดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งจากสมาคมอาเซียน จาก AICHR และองค์กรประชาสังคม โดยข้อเสนอของรายงานได้เรียกร้องอย่างหนักแน่นให้องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนหรือ AICHR โปร่งใสมากขึ้น ทำงานอย่างครอบคลุม รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลทุกอย่างที่มีความเกี่ยวข้องอย่างเรื่องเอกสาร และวาระของกิจกรรม ให้อยู่ในเว็บไซต์ทางการของ AICHR ด้วย
 
โดยชิเวย เย ยังกล่าวถึงกรณีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีและถูกคุกคามในรอบปีที่ผ่านมา เช่น ยอม โบปผา ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการไล่รื้อที่ดินในกัมพูชา ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาถูกรัฐบาลกัมพูชาจำคุก 3 ปี ทา ฝอง ตัน บล็อกเกอร์ชาวเวียดนามที่ถูกจำคุก 10 ปี จากการเขียนบล็อกวิจารณ์รัฐบาล โดยแม่ของเธอยังจุดไฟเผาตัวตายประท้วงคำตัดสินด้วย ทั้งนี้ทา ฟอง ตัน เป็นหนึ่งในบล็อกเกอร์ 32 รายที่ถูกรัฐบาลเวียดนามดำเนินคดี
 
ชิเวย เย ยังกล่าวถึงกรณีที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำและถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร โดยที่เขาไม่ได้เป็นผู้เขียน และล่าสุดคือกรณีของนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสของ สปป.ลาว ที่หายตัวไปในเดือนธันวาคมปี 2555 หลังถูกตำรวจควบคุมตัว และขณะนี้ยังไม่พบตัว
 
ชิเวย เย กล่าวด้วยว่านี่เป็นหนึ่งในหลายตัวอย่างของบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอาเซียน และ AICHR ได้ก่อตั้งมาแล้ว 3 ปี แต่กลับเงียบงันต่อเรื่องนี้ และไม่มีการเคลื่อนไหวรูปธรรมอะไรเวลาที่เกิดกรณีละเมิดสิทธิเช่นนี้
 
ด้านยุวาล กินบา ที่ปรึกษาทางกฎหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความเห็นต่อบทบาทของ AICHR ในช่วงที่มีการร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนว่า "จากรายงานตรวจสอบผลการดำเนินงาน AICHR ฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการร่างคำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนดังกล่าวเป็นไปอย่างลึกลับ โดยที่องค์กรประชาสังคมจะเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดผลอย่างสำคัญ ก็ได้เข้าร่วมในช่วงที่ผ่านการร่างไปหลายขั้นตอนแล้ว นอกจากนี้การตัดสินใจของ AICHR ก็อยู่บนพื้นฐานของหลักการลงฉันทะมติ ที่ให้สิทธิผู้แทน AICHR สามารถวีโต้ได้ ผลก็คือได้คำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่ล้มเหลวอย่างมาก โดยเป็นคำประกาศที่เน้นให้ความสำคัญกับอำนาจของรัฐบาลมากกว่าหลักการสิทธิมนุษยชน
อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท
 
เผย UN ลุยสอบซ้อมทรมานในไทย ต้นปีหน้า
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 56 ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์จัดการความขัดแย้งศึกษา วิทยาลัยประชาชน (People’s college) เปิดห้องเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำเปลี่ยนแปลงสู่สันติภาพ นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยมูลนิธิศักยภาพชุมชน (PEF) เปิดเผยระหว่างบรรยายเรื่องระบบองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์กรพิเศษแห่งสหประชาชาติว่า ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติประเด็นซ้อมทรมาน มีแผนจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หลังจากมีการนำประเด็นนี้ไปพิจารณาเมื่อปีที่แล้ว
 
นางชลิดา เปิดเผยต่อไปว่า ในประเด็นนี้นักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ส่งรายงานการละเมิดสิทธิผ่านกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในประเด็นต่างๆ จำนวนมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติขอเข้าตรวจสอบประเด็นนี้ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมา มีผู้ตรวจการพิเศษเข้ามาตรวจสอบตามรายงานที่ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติหลายครั้ง แต่เข้ามาตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ไม่สามารถนำเสนอรายงานต่อสหประชาชาติได้ เนื่องจากเงื่อนไขการรับรายงานจากผู้ตรวจการพิเศษนั้น ต้องเป็นการได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม : โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ผ่าน ประชาไท
 
ชุมชนนางเลิ้งปัญหา "ไร้สถานะไร้สิทธิ" เพียบ นักกม.ร้อง กทม.เร่งช่วยเหลือ
กลุ่มนักกฎหมายเข้าพบ "ผุสดี" จี้สางปัญหาสถานะบุคคล-สิทธิประชาชน หลังพบชุมชนนางเลิ้งมีปัญหาเพียบ ทั้งบุคคลไร้สัญชาติ ไร้รัฐ ขาดบัตรประชาชน ขอทุนการศึกษาไม่ได้ ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ ด้าน กทม.ปลอบทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน
       
ตัวแทนจากโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำโดย ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร พร้อมด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มธ.และตัวแทนชุมชนนางเลิ้ง เข้าพบ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อนำเสนอและปรึกษาปัญหาด้านสถานะและสิทธิของบุคคล ในชุมชนนางเลิ้ง
       
น.ส.สายชล สิมะกุลธร ตัวแทนโครงการฯ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิทธิและสถานะของบุคคลในชุมชนนางเลิ้งที่สำรวจพบขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 5 กรณี ได้แก่ 1.นางสมหวัง ด้ามทอง อาชีพรับจ้างซักรีดผ้า เป็นกรณีศึกษาที่จัดอยู่ในประเภทบุคคลไร้รัฐ และไร้สัญชาติ เนื่องจากไม่หลักฐานแสดงตัวใดๆ ไม่มีบัตรประชาชน และไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในรัฐใดๆ รวมถึงระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์จากสำนักงานเขตป้อมปราบฯ ทั้งที่เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 ใน จ.สิงห์บุรี และย้ายเข้ามาอยู่ในตลาดนางเลิ้งมากว่า 55 ปี แต่ไม่ทราบว่าได้รับการแจ้งเกิดหรือไม่ เพราะไม่ทราบชื่อบิดา ส่วนชื่อจริงตั้งโดยนายสนิทและนางประจวบ เหมาคม พ่อแม่บุญธรรม ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาสุขภาพตาพร่ามัว ไม่แน่ใจว่าเป็นต้อหรือไม่ ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลครั้งละพันกว่าบาท จึงจำเป็นต้องดำเนินการขอบันทึกชื่อในทะเบียนประวัติทร38ก และทำบัตรบุคคลไร้สถานะ ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติต่อไป เช่น สืบค้นเอกสารที่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และหาพยาน ซึ่งเบื้องต้นกรณีปัญหาขาดสิทธิบริการสุขภาพ อาจต้องขอความร่วมมือจาก กทม.เพื่อบริการสุขภาพเบื้องต้น
       
กรณีที่ 2 นายธวัช ปะพรรดิ์ศร และ น.ส.ศรีรัตน์ ปะพรรดิ์ศร กรณีศึกษาบุคคลไร้ความสามารถที่ไร้บัตรประชาชน และไม่ได้รับการรักษาพยาบาลจากรัฐ เพราะมีสุขภาพจิตไม่ดี ทั้งที่ตรวจสอบทางแล้วพบว่ามีชื่อในทะเบียนราษฎร แต่ขาดบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อพกพา จึงต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเรื่อง การตรวจและรักษา บัตรประชาชน และบัตรผู้พิการ
 
กรณีที่ 3 นางอรนาถ อ่อนนุ่ม อายุ 56 ปี ปัจจุบันไร้อาชีพใดๆเพราะถูกตัดขาข้างขวาเนื่องจากอาการของโรคเบาหวาน และไม่มีขาเทียม โดยอาศัยอยู่กับ น.ส.อ้อ สืบพงษ์ ลูกสาว กำลังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายการรักษาสายตาฝ้าฟางและยารักษาเบาหวาน ซึ่งต้องไปรักษาด้วยตัวเองตามคลินิก หรือ รพ.หัวเฉียว เพราะขาดสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้พิการตามสิทธิของคนไทย
       
กรณีที่ 4 ด.ญ.วาเรณรัตน์ สืบพงษ์ เด็กในอุปการะอีกคนของ น.ส.อ้อ ปัจจุบันเรียนในโรงเรียนวัดอินทรวิหาร แต่ขาดทุนการศึกษา เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากไร้ และยังขาดบัตรประชาชน ซึ่งเคยมีญาติของนางอรนาถเก็บไว้ แต่ขาดการติดต่อมานาน จึงทำให้ด.ญ.วาเรณรัตน์ ยังไร้บัตรประชาชนของเด็ก จึงต้องเร่งช่วยเหลือเรื่องบัตรและการขอทุนการศึกษา
 
และกรณีที่ 5 นายสุรศักดิ์ ชัยพร บุคคลไร้รัฐ และไร้สัญชาติ ทราบว่าเกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 ที่ รพ.หญิงหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท หรือ รพ.ราชวิถี ในปัจจุบัน แต่ไม่ทราบข้อมูลบิดา ต่อมาทราบจากเพื่อนบ้านว่า เป็นบุตรของ นางบุญเลี้ยง สำแดงอำนาจ หรือป้าอ้วน หญิงชราที่ไร้บัตรประชาชน และไร้สิทธิการรักษาสุขภาพ รวมทั้งไร้สิทธิในการรับเบี้ยผู้พิการ
อ่านเพิ่มเติม : ผู้จัดการออนไลน์
 
มาเลย์ส่งกลับ 35 แรงงานไทยลอบทำงานผิดกม.
มาเลเซียส่งกลับแรงงานไทยชายหญิง35คนลักลอบไปทำงานโดยผิดกฎหมายส่วนใหญ่มีลำเนาในพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้ภาคเหนือและอีสาน
 
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา  พ.ต.อ.กานต์ ธรรมเกษม ผกก.ตม.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.ท. ชุมพล บัวชุม  สว.ตม.จว.สงขลา ประจำด่านพรมแดนสะเดา  รับมอบแรงงานไทยทั้งชายและหญิงจำนวน 35คน เป็นชาย6 คนหญิง29 คน ที่ถูกทางการมาเลเซียจับกุมหลังจากลักลอบเข้าไปทำงานในรัฐเคดาห์ในประเทศมาเลเซียโดยผิดกฏหมายและถูกผลักดันกลับประเทศ
 
จากการตรวจสอบส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอีสาน เข้าไปทำงานในร้านต้มยำกุ้ง สถานบริการนวดแผนโบราณ และร้านคาราโอเกะ โดยใช้พาสปอร์ตแฝงตัวเข้าไปในลักษณะของนักท่องเที่ยว
 
โดยทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สงขลา จะทำการตรวจสอบเพื่อคัดแยกแรงงานทั้งหมดว่าสมัครใจเข้าไปทำงานหรือมีรายใดบ้างที่ถูกหลอกและเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเพื่อดำเนินการช่วยเหลือและส่งกลับภูมิลำเนาต่อไป
 
คมนาคมเข้มกฎหมายเอาผิดผู้ก่อกวนการบิน
คมนาคม เตือน 5,000 สถานีวิทยุชุมชนเถื่อน-บั้งไฟ ป่วนการบิน พร้อมใช้กฎหมายจัดการมีโทษจำคุก-สูงสุดถึงประหารชีวิต
 
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการบูรณาการด้านการขนส่งทางอากาศว่า กรมการบินพลเรือน (บพ.) เตรียมนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 มาบังคับใช้ เพื่อป้องกันปัญหาการควบคุมจราจรทางอากาศ ถูกรบกวนจากคลื่นวิทยุชุมชน การจุดบั้งไฟ และโคมลอย โดยจะนำมาตรา 6 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยานในระหว่างการให้บริการและมาตรา 8 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศมาบังคับใช้
 
สำหรับ กรณีรายการวิทยุชุมชนส่งสัญญานคลื่นรบกวน หากตรวจพบต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 8 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1–15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 30,000 บาท เชื่อว่า บทลงโทษที่รุนแรง จะช่วยลดและแก้ปัญหาดังกล่าวได้
 
ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนทั้งสิ้น 7,000 แห่ง แต่เป็นสถานีวิทยุชุมชนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเพียง 2,000 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 5,000 แห่งเป็นสถานีวิทยุเถื่อน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าคลื่นวิทยุที่ส่งสัญญาณรบกวนการบินส่วนใหญ่เป็นสถานีวิทยุเถื่อน ที่มีการส่งสัญญาณจากเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเบื้องต้นได้ประสานไปยัง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย( บวท.) เพื่อขอรายชื่อสถานีวิทยุเถื่อนที่สร้างปัญหา
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น บพ.จะส่งหนังสือเตือนไปยังสถานีต่าง ๆให้ยุติการส่งสัญญานคลื่นรวบกวน ซึ่งหากเตือนแล้วยังไม่ได้ผล บพ. จะดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด โดยจะการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย กับทุกสถานีวิทยุที่ฝ่าฝืน
 
น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า หากตรวจสอบวิทยุชุมชนที่ปล่อยคลื่นรบกวนแล้ว พบว่ามีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จะตักเตือนก่อน แต่หากเป็นวิทยุชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง จะแจ้งจับดำเนินคดีทันที
อ่านเพิ่มเติม : โพสต์ทูเดย์
 
เอกวาดอร์ พิจารณาคำขอลี้ภัยสโนว์เดน
รัฐบาลเอกวาดอร์ยืนยัน จะพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ผู้เปิดโปงโครงการลับของรัฐบาลสหรัฐฯอย่างรอบคอบ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศจะเป็นศัตรูกับชาติใดก็ตาม ที่ให้ที่ลี้ภัยกับนายสโนว์เดน ซึ่งล่าสุด ได้เดินทางออกจากฮ่องกง และกำลังมุ่งหน้าสู่ประเทศในแถบอเมริกาใต้
 
ทางการสหรัฐฯยังคงพยายามตามล่าตัว นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ผู้เปิดโปงโครงการลับเพื่อการสอดแนมข้อมูลทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลสหรัฐฯอย่างไม่ลดละ หลังจากผิดหวังที่ทางการฮ่องกงไม่ยอมจับกุมตัวนายสโนว์เดน และส่งกลับไปยังสหรัฐฯ ตามข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทั้งยังอนุญาตให้เขาเดินทางออกจากฮ่องกง มุ่งหน้าไปยังเวเนซุเอลา
อ่านเพิ่มเติม : VoiceTV
 
สิงคโปร์เตรียมนำเรื่อง “เผาป่า” เข้าที่ประชุมอาเซียนสัปดาห์นี้
ประเทศสิงคโปร์ ที่ในขณะนี้กำลังทนอยู่กับหมอกควันที่มีค่ามลพิษสูงเป็นประวัติการณ์นั้น กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเพื่อฟ้องร้องสองบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเผาป่าในอินโดนิเซีย เพราะว่าควันพิษจากการเผาป่าในอินโดนีเซียส่งผลให้เวลาเดินรถของรถโดยสารประจำทางในท้องถิ่นของสิงคโปร์ลดลง และกิจกรรมทุกอย่างของโรงเรียนในเดือนมิถุนายนต้องถูกยกเลิก เดอะ สเตรท ไทม์ รายงาน
       
กสิวิสวะนาธาน ชันมูกัม รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ เผยว่า เขามีแผนที่จะนำเรื่อง “การเผาป่า” เข้าสู่ที่ประชุมของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสัปดาห์นี้ และกำลังเร่งฟ้องร้องเจ้าของบริษัทชาวอินโดนีเซียสองราย ซึ่งสำนักงานใหญ่ของทั้งสองบริษัทตั้งอยู่ในสิงคโปร์ คือ บริษัท Asia Pacific Resources International หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อ (APRIL) และบริษัท Sinar Mas Resources International โดยทั้งสองบริษัทถูกฟ้องร้องในข้อหา “ทำการเคลียร์พื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันด้วยการเผา”
       
ขณะที่บริษัท APRIL กล่าวว่า ข้อกล่าวหาต่อชาวอินโดนีเซียที่ทางการสิงคโปร์ฟ้องร้องนั้นยังไม่ได้มีการตรวจสอบความจริงเลย และไม่ได้ตรงกับการเฝ้าสังเกตการณ์ของทางเรา (APRIL) เลยด้วย ทางบริษัทกล่าวเสริมว่า ทางการอินโดนีเซียมี “นโยบายห้ามเผา” ที่เข้มงวด และเพลิงที่ลุกไหม้ในพื้นที่เพาะปลูกของเรานั้นลามมาจากข้างนอก อีกทั้งนักดับเพลิงที่ดับไฟก็เป็นคนของบริษัทเราเองด้วย
 
 
ตำรวจเวียดนามเร่งผลิต "ปืนยิงแห" จับสิงห์นักบิดผิดกฎหมาย
   
หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ อ้างคำกล่าวของ พ.ต.อ. เล วัน เงียม ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองแถ่งห์ฮวาว่า หน่วยงานของเขาและสถาบันออกแบบอาวุธภายใต้กระทรวงกลาโหม ใช้เวลานาน 3 เดือนออกแบบและทดสอบกระบอกยิงแหตกปลา ซึ่งจะจดลิขสิทธิ์ผลงานร่วมกัน
       
กระบอกยิงแหตกปลา สามารถยิงแหที่มีน้ำหนัก 0.25-0.3 กก. และมีความยาว 1-1.2 เมตร ไปได้ไกล 15 เมตร เทียบกับการเหวี่ยงแหด้วยมือที่ไปได้ไกลเพียง 2-3 เมตร เท่านั้น และอุปกรณ์ยิงแหนี้มีน้ำหนักราว 2.8-3 กก. และมีความยาว 50-55 ซม.
 
แหตกปลาจะถูกเล็งเป้าหมายไปที่ล้อหลังของรถจักรยานยนต์ของผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร เพื่อทำให้รถจักรยานยนต์ค่อยๆ หยุด และแหที่ถูกยิงออกไปสามารถใส่กลับเข้าไปในกระบอกเพื่อยิงได้อีกครั้งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงพลาดเป้า
อ่านเพิ่มเติม: ผู้จัดการออนไลน์