ศาลสูงสุดมะกันยกเลิก “กม.ลิดรอนสิทธิ์คู่รักเกย์” เปิดทางจดทะเบียนสมรสได้ใน “แคลิฟอร์เนีย”
ศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีคำพิพากษายกเลิกกฎหมายซึ่งปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์แก่คู่สมรสเกย์ และยังเปิดโอกาสให้ชาวสีม่วงสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวานนี้(26)
ผู้สนับสนุนการแต่งงานเกย์ทั่วสหรัฐฯ ต่างส่งเสียงเฮลั่น ทันทีที่ผู้พิพากษาประกาศคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ โดยมีประชาชนราว 1,000 คนไปชุมนุมเฉลิมฉลองอย่างครึกครื้นที่หน้าศาลสูงสุด ณ กรุงวอชิงตัน ส่วนที่นครซานฟรานซิสโกบรรยากาศก็คึกคักไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ตาม คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนยังมีความเห็นไม่ลงรอยเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และยังไม่ประกาศรับรองให้กฎหมายสมรสเกย์มีผลบังคับทั่วสหรัฐฯ
ในเบื้องต้น ผู้พิพากษามีคำตัดสิน 5-4 เสียง ให้ยกเลิกกฎหมายคุ้มครองการสมรส (DOMA) ซึ่งให้คำจำกัดความการแต่งงานว่า หมายถึงการผูกพันทางกฎหมายระหว่าง “หญิง” และ “ชาย” เท่านั้น ซึ่งทำให้คู่เกย์และเลสเบี้ยนไม่มีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการตามกฎหมาย ตั้งแต่การขอลดหย่อนภาษี ไปจนถึงสิทธิในการเข้าเยี่ยมสามีหรือภรรยาที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล
“กฎหมาย DOMA มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการลิดรอนเสรีภาพที่เท่าเทียมกันของพลเมือง ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 (Fifth Amendment)”
คณะผู้พิพากษาลงความเห็นด้วยว่า กฎหมาย Proposition 8 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมาจากการทำประชามติเมื่อปี 2008 และมีเนื้อหาห้ามมิให้คู่รักเกย์จดทะเบียนสมรสนั้น ไม่ได้ถูกเสนอให้ศาลสูงสุดวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ซึ่งคำตัดสินข้อนี้เท่ากับเปิดโอกาสให้แคลิฟอร์เนียได้เป็นอีกรัฐหนึ่งที่จะอนุญาตการแต่งงานเกย์ในอีกไม่ช้า
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ออกมาชื่นชมคำตัดสินของศาลสูงสุด โดยระบุว่า “เราคือกลุ่มชนที่ประกาศว่า พวกเราถูกสร้างมาอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นความรักที่เรามีต่อกันก็ควรจะเท่าเทียมด้วย”
โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่ประกาศสนับสนุนความเท่าเทียมด้านการสมรสอย่างออกหน้าออกตา
ปัจจุบัน กฎหมายสมรสเกย์ถูกประกาศใช้แล้วใน 12 รัฐ และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (วอชิงตัน ดี.ซี.) ขณะที่อีกกว่า 30 รัฐยังยืนยันว่า การแต่งงานจะเกิดขึ้นได้ระหว่างหญิงและชายเท่านั้น
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ชัค เฮเกล ยืนยันว่า รัฐบาลจะจัดการให้คู่รักเกย์และเลสเบียนในกองทัพสหรัฐฯ ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับคู่สามีภรรยาต่างเพศ “โดยเร็วที่สุด”
ด้านสภาพระบิชอปคาทอลิกแห่งสหรัฐฯ ออกมาประณามคำตัดสินครั้งนี้ว่าเป็น “โศกนาฏกรรมของชาติ” พร้อมเรียกร้องให้ชาวอเมริกันสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ขอให้ศาลสูงสุดทบทวนคำพิพากษาที่ “ผิดพลาด”
บ็อบ กู๊ดลาเต ประธานคณะกรรมการตุลาการแห่งสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน ชี้ว่า “คำพิพากษาของศาลสูงสุดในวันนี้ เป็นการทำลายค่านิยมดั้งเดิมที่เป็นรากเหง้าของประเทศชาติ”
เครือข่ายสื่อเด็กระดมความเห็น ก่อนประมูล ‘ทีวีดิจิตอลช่องเด็ก’
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 56 สถาบัน สื่อเด็กและเยาวชน ร่วมกับเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จัดเวทีระดมความคิดเห็นข้อเสนอต่อการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ โทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทช่องเด็กเยาวชนและครอบครัว ณ ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ อาคารศิโรจน์ ผลพันธิน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยเชิญนักวิชาการ ผู้ผลิตรายการเด็กเข้าร่วมระดมความเห็น ทั้งนี้ ผลการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ทางสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนและเครือข่ายครอบครัว เฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จะนำเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2556 เวลา 13.00–16.30 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 2 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวถึงข้อสังเกตและความห่วงใยในฐานะผู้เชี่ยวชาญต่อสื่อสำหรับเด็ก เยาวชนว่า ในการประมูลช่องเด็กนั้นไม่ใช่เพียงทำให้เกิดช่องสำหรับเด็กเท่านั้น แต่คือการปฏิรูปสื่อ ซึ่งในแผนแม่บทของ กสทช.นั้นคือการปฏิรูปการเรียนรู้ของประชาชนควรมุ่งไปที่เจตนารมณ์ของ กฎหมาย
“ควร ปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัวเป็นสำคัญ ต้องหาวิธีการ เครื่องมือ ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ของเด็ก ต้องทำให้เด็กกลุ่มต่างๆ ได้เข้าถึง รวมทั้งการผลิตเนื้อหารายการเด็กนั้น ต้องเสริมการเรียนรู้ในสิ่งที่สังคมขาด ควรจะกำหนดมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่แนวทางในการจัดผังรายการ หรือส่งเสริมให้เกิดรายการที่ดีในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันสื่อเองก็ต้องปกป้องเด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน
อยากให้ กสทช.ออกแบบหลักเกณฑ์ กลไกต่างๆ ในการพัฒนาช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมถึง พัฒนาในหมวดอื่นๆด้วย และวางเป้าหมายของการมีช่องเด็ก เนื้อหา สัดส่วนรายการเด็กชัดเจน แล้ว ในขณะเดียวกัน กสทช.และเจ้าของช่องหรือผู้ผลิตรายการ ก็ต้องเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ให้ตรงกันเช่นนิยามคำว่าทีวีเพื่อเด็ก มีการนำการ์ตูนจากต่างประเทศเข้ามาฉายในช่อง ก็เป็นรายการเด็กแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปสู่การจัดผังรายการ ช่วงเวลา และสัดส่วน การนำเสนอรายการว่าจะมากน้อยแค่ไหน” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว
นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมถึงหลักเกณฑ์และกลไก ของช่องรายการเด็กด้วยว่าเจ้าของช่องเป็นใคร ควรจะเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือคนทั่วไปที่มีการรวมกลุ่มกันจะเป็นเจ้าของรายการได้หรือไม่ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการกำไร จะรับโฆษณาและโฆษณา 12 นาทีเหมือนช่องทั่วไปหรือไม่
“ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยว่าช่องจะรับโฆษณาแบบไหนได้ จะโฆษณาได้กี่นาที และนอกจากการโฆษณาแล้ว มีการให้ความรู้กับเด็กให้ประเด็นการโฆษณาให้ทันการบริโภคได้ไหม เช่นโฆษณาขนมก็ต้องให้ความรู้เรื่องขนมกับเด็กด้วยเช่นกัน” นางสาวเข็มพรกล่าว
ผศ.ดร.ธิตินันท์ บุญภาพ คอมมอน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวกถึงการประมูลช่องธุรกิจสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวนั้นก็คือ อยากให้มองคุณสมบัติทีวีดิจิตอลให้ชัดเจน
“ตอน นี้คนมองเรื่องทีวีดิจิตอลในเรื่องความคมชัด ที่จริงๆแล้วมันคือการสื่อสารโต้ตอบกันได้ สามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย ในการประมูลนั้นทั้งผู้ประมูลและ กสทช.ควรที่จะหยิบส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ เช่นการผลิตรายการสำหรับเด็กที่มีการโต้ตอบกันและใช้เป็นสื่อเรียนรู้ได้” ผศ.ดร.ธิตินันท์กล่าว
นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมการเข้าถึงเนื้อหาของกลุ่มผู้ชมที่หลายหลาย ยกตัวอย่างกลุ่มเด็ก ก็มีความหลากหลายทั้งเรื่องเพศ กลุ่ม การจัดสรรคลื่นความถี่ก็ควรคำนึงด้วย และจัดสรรให้เพียง 3 ช่องนั้นอาจจะน้อยเกินไป
นางอัญญาอร พานิชพึ่ง ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อให้ความเห็นต่อการประมูลครั้งนี้ว่า คนที่จะมาประมูลนั้น ไม่ใช่แค่มีเงินเพียงอย่างเดียว ต้องมีความรู้
“ต้อง มีทีมที่ปรึกษาที่จะมองภาพการบริหารคลื่นนี้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์และกลุ่ม เป้าหมายนั่นก็คือเด็กในแต่ล่ะวัย ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละวัยมีความสนใจ และอยากที่จะเรียนรู้อะไร ที่สำคัญคือต้องมีนักจิตวิทยาด้านพัฒนาการเด็กเป็นทีมที่ปรึกษา แต่ที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ประมูลคลื่นไปได้แล้วมีนโยบายดูแล สังคม พัฒนาเนื้อหาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือมีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต รายการเด็ก หากเป็นไปได้น่าจะให้ผู้ประมูลทำให้เห็นว่ามีความพร้อมที่จะเข้ามาเป็นผู้ บริหารสถานีได้อย่างไร ไม่ใช่มีเงินเพียงอย่างเดียว” ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าว
นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเด็กและเยาวชน ขบวนการตาสัปปะรด กล่าวถึงบทบาทของผู้ผลิตรายการเด็กในทีวีดิจิตอลว่าหลังจากนี้จะมีผู้ชมหลาก หลายมากยิ่งขึ้น ผู้ผลิตควรจะต้องยิ่งคำนึงให้มาก โดยเฉพาะช่วงอายุของผู้ชม
“ช่วงอายุผู้ชมจะหลากหลายขึ้น อาจจะต้องแบ่งออกมาเป็นช่วงวัย ผู้ผลิตต้องเข้าใจความแตกต่างนี้ด้วย ไม่ใช่แค่เพียงบอกให้เด็กได้จำ ได้คิด เพราะแต่ละวัยมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตต้องศึกษาและเข้าถึงและให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในรายการมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการผลิต การเสนอแนะและการเป็นเจ้าของ มันจะทำให้รายการสนุกและได้ประโยชน์ร่วมกัน”
เขากล่าวเสริมว่าหากเป็นไปได้ควรที่จะแบ่งช่องของเด็ก ช่องของเยาวชน ช่องของครอบครัวให้ชัดเจน เพราะบางครั้งหารายการสำหรับเด็กเล็กไม่ได้ ซึ่งถ้ามีช่องของเด็กโดยเฉพาะครอบครัวก็จะไว้วางใจว่าเด็กสามารถเรียนรู้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ หากผู้ผลิตคิดได้อย่างนี้จะดีมาก
วุฒิฯเผยผลการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้าน ขัดกม. 2 ฉบับ
วันนี้ (27 มิ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยถึงผลการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับโครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ตามการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5แสนล้านว่ากมธ. ได้ฝากประเด็นต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเกี่ยวกับการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้รัฐบาลมีการยกเลิกการทำสัญญากับบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 244(1) ประกอบมาตรา 245 (2) ให้อำนาจ เนื่องจากพบว่าไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างน้อย 2 ฉบับ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า โดยกฎหมาย 2ฉบับ ได้แก่ 1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 ในมาตรา103/7 ที่ระบุให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูล รายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ 2.พ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 มาตรา13 ที่ระบุให้กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม และรัฐวิสาหกิจเสนอ โครงการพัฒนาหรือแผนงานต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการพิจารณากำหนดงบประมาณ รายจ่ายในร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ หรือร่างพ.ร.บ.เพิ่มเติมงบประมาณประจำปีงบประมาณ
“ในประเด็นที่ศาลปกครองกลางพิจารณาให้รัฐบาลระงับการดำเนินโครงการ ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นเพียงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชนเท่านั้น แต่กรณีที่กมธ.เสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาจะเป็นการยับยั้งความไม่โปร่งใสทั้งระบบ”นายไพบูลย์ กล่าว.