ความเห็นจากผู้อ่าน
สุดสัปดาห์นี้(20-23 ก.ค.56)เป็นวันหยุดยาว วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาติดต่อกัน พุทธศาสนิกชนที่ดีคงจะเข้าวัด ทำบุญ ถือศีล5 เพื่อสร้างบุญสร้างกุศลให้ชีวิต อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันหยุดยาว เรื่องของการสังสรรค์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงมาเป็นของคู่กันเสมอๆ
การจำหน่ายสุราและของมึนเมาในวันพระใหญ่ เป็นเรื่องที่กฎหมายห้ามมาตั้งแต่ปี2552 ตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสรักษาศีล
อย่างไรก็ตาม การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ประชาชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือไม่ เพราะการปฏิบัติตามหลักศาสนาควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติเพราะมีกฎหมายบังคับ นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการรักษาศีลก็จะไม่ดื่มอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีกฎหมายมาบังคับหรือไม่ ขณะที่ผู้ต้องการ"ดื่ม"ก็สามารถหาทางออกโดยซื้อมาตุนล่วงหน้าได้
ที่สำคัญ การที่รัฐนำหลักการทางศาสนาที่แม้จะเป็นศาสนาของคนหมู่มากมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศก็ดูจะเป็นเรื่องเกินจำเป็นและไม่เหมาะสม เพราะเท่ากับรัฐบังคับให้ผู้ที่มีความเชื่อที่แตกต่างต้องปฏิบัติตามกฎของความเชื่อที่เป็น"กระแสหลัก"โดยปราศจากความสมัครใจ
แทนที่จะนำหลักของศาสนาหนึ่งมาเขียนเป็นกฎหมายบังคับกับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด รัฐควรใช้วิธีการรณรงค์ในรูปแบบอื่น โดยอาจใช้เหตุผลทางศาสนาเป็นฐานหรือ ประเด็นทางสุขภาพของประชาชนก็ได้ โดยสุดท้ายแล้วให้ประชาชนเป็นผู้เลือกปฏิบัติด้วยตนเองแทนการบังคับแบบเหมารวมเช่นนี้