รอบอาทิตย์ที่สาม ก.ค.56:ICTเตรียมดันร่างพ.ร.บ.คอมใหม่เข้าครม.

รอบอาทิตย์ที่สาม ก.ค.56:ICTเตรียมดันร่างพ.ร.บ.คอมใหม่เข้าครม.

เมื่อ 21 ก.ค. 2556

ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดี 112 “บัณฑิต อานียา” 21 ส.ค.นี้

19 ก.ค.56 จือเซ็ง แซ่โค้ว นักเขียน นักแปลเจ้าของนามปากกา สมอลล์ บัณฑิต อานียา อายุ 73 ปี กล่าวว่า ทนายความได้แจ้งวานนี้ว่าศาลฎีกานัดฟังพิพากษาคดีของเขาในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เวลา 9.00 น. หลังวันทื่ 17 ธันวาคม 2550 ศาลอุทธรณ์เคยพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ บัณฑิตถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตาม มาตรา 112 เมื่อปี 2546 จากกรณีที่ พล.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีต กกต. แจ้งความกล่าวหานายบัณฑิตว่าพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยเอกสารดังกล่าวมี 2 เรื่อง ได้แก่ 1. "สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง)" 2. "วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร"

ที่มาข่าว ประชาไท 

 

เตรียมดันร่างใหม่ พ.ร.บ.คอมฯ เข้า ครม.-เพิ่มอำนาจผู้ให้บริการ ระงับบริการเองไม่ต้องรอขั้นตอน กม.
 
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงความคืบหน้าของการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ สพธอ. เป็นผู้ร่างว่า ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคกฎหมาย ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการลงทุน และภาคประชาชน ซึ่งถือว่าครบทุกภาคส่วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างประมวลความคิดเห็นและเทียบกับข้อมูลเดิมเพื่อให้ครบถ้วนทุกความคิดเห็นและทุกภาคส่วน และคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 2 เดือนต่อจากนี้ หลังจากนั้นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมวุฒิสภา คาดว่าใช้ระยะเวลาอย่างเร็วประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปี ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
 
สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นั้น จะเน้น 2 ข้อหลักคือ 1. การปรับปรุงให้เข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบัน 2.การให้สิทธิการควบคุมกันเอง โดยเฉพาะผู้ให้บริการเช่าใช้เซิร์ฟเวอร์จะมีสิทธิสั่งปิดหรือระงับการให้บริการของผู้เช่าใช้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้โดยไม่ต้องรอถึงกระบวนการทางกฎหมาย โดยผู้เช่าใช้ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ในภายหลัง
 
ที่มาข่าว เดลินิวส์ 
 
 
4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ค้านประกาศคุมเนื้อหาทีวีวิทยุของ กสทช.-เรียกร้องยกร่างใหม่
 
18 ก.ค.56 องค์กรวิชาชีพสื่อ 4 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... ของ กสทช.  เนื่องจากมีเนื้อหาที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันจะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมเสนอให้มีการยกร่างประกาศฯ ดังกล่าวใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูล หลักการ และความคิดเห็น
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
 
"วสันต์"ยันไขก๊อก อ้างรักษาคำมั่น ทิ้งทั้งเก้าอี้ "ปธ.-ตุลาการศาล รธน." มีผล 1 ส.ค.
 
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ว่า ได้ทำหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีผลเป็นทางการในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยเหตุผลที่ลาออก เนื่องจากได้ให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการฯว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี หรือจนกว่าจะเสร็จภารกิจด้านงานคดีต่างๆ จริงๆ แล้วจะลาออก ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ ไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง จึงเลื่อนการส่งหนังสือลาออกมาเป็นวันที่ 1 สิงหาคม เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งได้เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้  การลาออกจากตำแหน่งครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่เป็นการลาออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 กรกฎาคม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงให้สาธารณชนทราบในรายละเอียดอีกครั้ง
 
ก่อนหน้านี้ รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงเป็นการภายในก่อนหน้านี้ว่าจะดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี แล้วจะมีการลาออกเพื่อเปิดทางให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นขึ้นดำรงตำแหน่งผลัดเปลี่ยนกันไป 
 
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์
 
 
ม็อบชาวบ้านชุมนุมหน้าศาลากลางเลย ต้านนายทุนระเบิดภูเขา ทำเหมืองทองคำแปลงใหม่
 
19 กรกฎาคม 2556 บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเลย กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจ.เลย (คปพ.) จำนวนกว่า 100 คน เดินทางมาชุมนุมทวงถามถึงความก้าวหน้าตามที่นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเคยรับปากเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประมาณ 3 เดือน ว่าจะแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพภาวะประชาชน และทรัพยากรธรรมชาติจ.เลย โดยเฉพาะกรณีการขยายพื้นที่เหมืองทองของบริษัททุ่งคำจำกัดที่ อ.วังสะพุง ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก จากมลพิษทางอากาศ และทางน้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ และตรวจพบสารไซยาไนด์ตลอดจนสารโลหะหนักปะปนในเลือด และแหล่งน้ำสาธารณะเกินค่ามาตราฐาน 
 
กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำเครื่องขยายเสียงมากล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของหน่วยงานราชการว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ใช้อำนาจเอื้อนายทุนตลอดมา พร้อมทั้งได้นำป้ายผ้าขาวขนาดยาว หลายผืน ที่มีข้อความถ่ายทอดถึงความเดือดร้อนมาแสดงด้วย ขณะเดียวกันยังได้แจกจ่ายแถลงการณ์แก่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เข้ามาสังเกตการณ์ด้วย
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม
 
 
รมว.สาธารณสุข ย้ำ “ห้ามขายเหล้า” เข้าพรรษา ฝ่าฝืนปรับ 1 หมื่น-จำคุกครึ่งปี
 
21 ก.ค.2556 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 22 และ 23 ก.ค.2556  ซึ่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้กำหนดห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันพระใหญ่ 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา กระทรวงสาธารณสุขจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งนอกจากจะขัดต่อหลักศีลธรรมในพุทธศาสนาแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดปัญหา เช่น อุบัติเหตุจราจรจากการเมาแล้วขับ ปัญหาอาชญากรรม
 
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้น จะมีผลตั้งแต่หลัง 24.00 น. ของวันที่ 21ก.ค.2556 ต่อเนื่องไปจนถึง 24.00 น.ของวันที่ 23 ก.ค.2556 ร้านค้าทุกแห่งต้องงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั้งหมด ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกตรวจร้านค้าในพื้นที่ หากพบผู้ฝ่าฝืนให้ลงโทษโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ที่มาข่าว สำนักข่าวอิศรา