เวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน นำเสนอโดยกลุ่มญาติวีรชน เม.ย. - พ.ค. ๒๕๕๓

วันที่ 25 ก.ค. 56 เวลาบ่ายโมง
ณ หอประชุม 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว (หลังอนุสรณ์สถาน) - กำลังประสานงาน ติดตามข้อมูลที่ 
https://www.facebook.com/events/550160458374338/?ref=14

รายชื่อวิทยากรที่ตอบรับมาวิจารณ์และเสนอแนะแล้ว
 
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกลุ่มญาติวีรชนพฤษภาทมิฬ
สมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด แกนนอนคนเสื้อแดง
 
(ยังมีวิทยากรที่รอตอบรับอยู่อีก)
 
1300 ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน รับร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน
1315 พะเยาว์ อัคฮาด กล่าวถึงเจตนารมณ์ของร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน
1325 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ชี้แจงความเป็นมาของร่างฯ และอธิบายเนื้อหารายมาตรา
1335 วิทยากรวิจารณ์และเสนอแนะ
- อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกลุ่มญาติวีรชนพฤษภาทมิฬ
- สมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด แกนนอนคนเสื้อแดง
 
1430 รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข่าร่วม
1600 จบรายการ
กลุ่มญาตินำข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับแก้ร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ก่อนนำยื่นให้ประธานรัฐสภาต่อไป
 
เนื่องจากที่ผ่านมามีการยื่นเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรมมากกว่า ๕ ฉบับ โดยทุกฉบับมักจะอ้างว่าเป็นความต้องการของกลุ่มญาติผู้สูญเสีย นักโทษการเมืองที่อยู่ในระหว่างจองจำ ฯลฯ จึงต้องมีร่างฉบับต่างๆ ดังกล่าว
 
เมื่อกลุ่มญาติฯพิจารณาร่างต่างๆโดยละเอียด พบว่าไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และบางฉบับได้มีการสอดไส้ไม่กล่าวถึงปฏิบัติการทางทหารในการสลายการชุมนุม รวมทั้งคำว่า “ญาติผู้สูญเสีย” นั้น มิได้หมายความเฉพาะประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังมีทหารและข้าราชการ สื่อมวลชนที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด มีการเผาทำลายทรัพย์สินเอกชนจำนวนมาก 
 
ทางกลุ่มญาติฯจึงได้ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายหลากหลายสำนัก นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมต้านรัฐประหาร ฯลฯ รวมถึงให้ความเห็นและรับฟังการวิเคราะห์จากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) แล้ว ทางกลุ่มญาติจึงเห็นว่าน่าที่จะได้ร่างกฎหมายฉบับประชาชนขึ้นมาเอง และใช้กลไกทางรัฐสภาผลักดันร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนนี้ผ่านรัฐสภาเพื่อบังคับใช้ตามกฎหมาย
 
เมื่อกลุ่มญาติฯได้เตรียมนำเสนอร่างฉบับประชาชน กลับมีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือว่าร่างฉบับนี้จะทำให้นักโทษการเมืองจำนวนมากไม่ได้ออกจากคุก
 
ทางกลุ่มญาติจึงขอท้าทายบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร แกนนำ แกนนอน ฯลฯ แสดงความคิดเห็นต่อร่างฉับประชาชนนี้ และศึกษาเปรียบเทียบกับร่างอื่นอื่นว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และร่างไหนกันแน่ที่จะนำพาประเทศไทยและประชาชนกลับสู่สังคมแห่งสันติภาพ
 
จึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งในแบบภาพรวม และ/หรือ รายละเอียดแบบเรียงตามรายมาตรา เพื่อสร้างสังคมแห่งการแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุและผลต่อไป
 
ด้วยความเคารพ
 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
ผู้ประสานงานกลุ่มญาติฯ
 
 
(เลื่อนลงเพื่อดูรายละเอียดทั้งหมด)
 
ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ 
 
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดต่อความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ 
 
เหตุผล
โดยที่ได้ปรากฏความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นเหตุให้มีการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนตลอดจนมีการกระทำอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก ตลอดจนมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทรัพย์สินของทางราชการ และเอกชนถูกเผาทำลาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย 
 
ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมือง จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม 
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีการกระทำรุนแรงโดยรัฐในการปราบปรามประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งข้าราชการและพลเรือน ทำให้ต้องมีการแยกแยะการกระทำใดๆที่เป็นความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพลภาพ การเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชน การกระทำเกินกว่าเหตุของผู้ปฏิบัติการ การออกคำสั่งบังคับบัญชา ฯลฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกจากการนิรโทษกรรมนี้ เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และเพื่อป้องกันไม่ให้การกระทำเหล่านี้เกิดซ้ำขึ้นในภายหลัง 
 
การทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าเพื่อพิสูจน์ทราบความจริง นิรโทษกรรมให้กับบรรดาการกระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง และการลงโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการออกคำสั่งยุยง การสั่งการบังคับบัญชาอันนำไปสู่ความรุนแรง สมควรที่จะต้องรับความผิดตามโทษานุโทษ อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
มาตรา ๑ 
พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ,พ.ศ...........”
 
มาตรา ๒
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
มาตรา ๓ 
(๑) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
(๒) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปีตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
(๓) บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตาม มาตรา ๓ (๒) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา ๓ (๑) หรือมาตรา ๓ (๒) ตลอดจนการกระทำใด ๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ 
 
(๔) การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
 
การกระทำใด ๆ ของประชาชนทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่นการวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
 
บทบัญญัติในวรรคที่หนึ่งและสอง รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นด้วย
 
มาตรา ๔ 
การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่มิได้ฝ่าฝืนคำสั่งการบังคับบัญชา และ/หรือ ไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ 
 
การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
 
บทบัญญัติในวรรคที่สองให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น
 
มาตรา ๕
เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา ๓ (๑), (๒) และ (๓) ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น
 
มาตรา ๖
ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น
 
มาตรา ๗
การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย
 
มาตรา ๘
ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 
นายกรัฐมนตรี