ร่วมเขียนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม (ฉบับญาติผู้สูญเสีย)

ร่วมเขียนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม (ฉบับญาติผู้สูญเสีย)

เมื่อ 25 ก.ค. 2556

หลักการ

 

** ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 กลุ่มญาติฯ  (ต่อมาปรับชื่อกลุ่มให้ชัดเจนขึ้นเป็น "กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เมษา – พฤษภา 53") นำความเห็นที่มีต่อการเขียนกฎหมาย ไปปรับแก้ใหม่แล้ว ติดตามผลการปรับแก้ และอ่านร่างฉบับล่าสุด ที่นี่ **

 

จากเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2556 ตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด และนายพันศักดิ์ ศรีเทพ ร่วมกันแถลงข่าวการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ทั้งนี้ แม้ข้อเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมฯ จะออกมาในหลายรูปแบบผ่านการผลักดันจากทั้งกลุ่มการเมืองและกลุ่มนักวิชาการหลายกลุ่ม แต่ก็ยังไม่มีฉบับใดที่มีเนื้อหาตรงความต้องการกับกลุ่มญาติผู้สูญเสีย เช่น บางฉบับนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐผู้สั่งการสลายการชุมนุม บางฉบับถูกเบนความสนใจไปที่การนิรโทษกรรมให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บางฉบับอ่านแล้วมีความเคลือบแคลงไม่แน่ใจในความหมายฯลฯ

ด้านของตัวแทนกลุ่มญาติ มีความต้องการหลักๆ ที่อยากเห็นกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ส่งผลให้

  • นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกอันมีเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง
  • ไม่นิรโทษกรรมให้ทหาร ผู้สั่งการ
  • ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้มุ่งประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ 

นั่นเป็นสาเหตุให้ส่วนหนึ่งของกลุ่มญาติวีรชนเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาด้วยตัวเอง หลังจากยกร่างขึ้นมารอบแรกแล้ว นอกจากจะนำข้อเสนอนี้เผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ยังมีความตั้งใจจะผลักดันร่างกฎหมายผ่านการสนับสนุนลงนามของสมาชิกสภาผู้แทนจำนวนอย่างน้อย 20 คน ให้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาควบคู่ไปกับร่างนิรโทษกรรมฯ ฉบับอื่นๆ 

อย่างไรก็ดี หลังตัวแทนกลุ่มญาติวีรชนเผยแพร่เนื้อหาในร่างดังกล่าว ก็เกิดการถกเถียงโต้แย้งอย่างมากว่า ร่างฉบับนี้เขียนไว้ไม่ชัดเจน อาจถูกตีความไปนอกวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และอาจมีผลให้ไม่สามารถนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากความขัดแย้งทางการเมืองได้

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ตัวแทนกลุ่มญาติฯ จึงเปิดเวทีเพื่อฟังความเห็นและปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับญาติผู้สูญเสีย เพื่อแก้ไขช่องโหว่ต่างๆ ให้ร่างมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รายละเอียดรายมาตรา มีดังนี้

 

**หมายเหตุ** iLaw นำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับญาติผู้สูญเสีย มาเผยแพร่รายมาตรา ในลักษณะกระทู้ย่อย และนำความเห็นที่เก็บตกจากการพูดคุยในพื้นที่โซเชียลมีเดีย มาเสริมเป็นความเห็นแนบท้ายในคอมเมนท์

ผู้อ่านสามารถร่วมปรับแก้ผ่านช่องทางการแสดงความเห็นทีละมาตรา ทั้งนี้ สามารถแสดงความเห็นหรือข้อท้วงติง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษากฎหมาย
 
ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมแก่ประชาชน
ซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ 
 
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดต่อความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ 
 
เหตุผล
โดยที่ได้ปรากฏความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นเหตุให้มีการเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนตลอดจนมีการกระทำอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ อันนำไปสู่การกล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก ตลอดจนมีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทรัพย์สินของทางราชการ และเอกชนถูกเผาทำลาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย 
 
ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมือง จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม 
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีการกระทำรุนแรงโดยรัฐในการปราบปรามประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งข้าราชการและพลเรือน ทำให้ต้องมีการแยกแยะการกระทำใดๆที่เป็นความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพลภาพ การเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชน การกระทำเกินกว่าเหตุของผู้ปฏิบัติการ การออกคำสั่งบังคับบัญชา ฯลฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกจากการนิรโทษกรรมนี้ เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และเพื่อป้องกันไม่ให้การกระทำเหล่านี้เกิดซ้ำขึ้นในภายหลัง 
 
การทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าเพื่อพิสูจน์ทราบความจริง นิรโทษกรรมให้กับบรรดาการกระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง และการลงโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการออกคำสั่งยุยง การสั่งการบังคับบัญชาอันนำไปสู่ความรุนแรง สมควรที่จะต้องรับความผิดตามโทษานุโทษ อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ความเป็นมา: 

มาตรา ๔ จำแนก "เจ้าหน้าที่รัฐ" ที่จะได้นิรโทษกรรม และไม่ได้นิรโทษกรรม

มาตรานี้แจกแจงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกลุ่มใด ที่จะได้รับนิรโทษกรรม และกลุ่มใดไม่ได้รับนิรโทษกรรม

อ่านต่อ
0