รอบอาทิตย์สุดท้าย ก.ค. 56: ครม.ไฟเขียว ใช้พรบ.มั่นคงคุมม็อบ มีผล 1-10 ส.ค.

รอบอาทิตย์สุดท้าย ก.ค. 56: ครม.ไฟเขียว ใช้พรบ.มั่นคงคุมม็อบ มีผล 1-10 ส.ค.

เมื่อ 2 ส.ค. 2556
ไฟเขียว!ใช้'พรบ.มั่นคง'คุมม็อบ1-10ส.ค.
 
31 ก.ค. 56  เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็กซึ่งใช้จำนวนครม.1 ใน 3ข องครม.ทั้งหมด เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในช่วงของการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมว่า ในการประชุมครั้งนี้มี อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม รวมทั้งยังมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รองนายกฯ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที รวมถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทุกคน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.อ.อุดมเดช สูตบุตร เสนาธิการทหารบกและตน โดยมติที่ประชุมวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศได้รับทราบมติในการประชุมครั้งนี้แล้ว
 
เลขาธิการสมช. กล่าวว่า จากกรณีที่มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มประกาศชุมนุมไม่เห็นด้วยกับการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการชุมนุมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะระดมมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และอาจชุนนุมยืดเยื้อ รวมทั้งลุกลามไปถึงการยึดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ หรืออาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุแทรกซ้อน เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง เพื่อหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือขัดขวางการทำหน้าที่ของฝายนิติบัญญัติ
 
"เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนหรืออันตรายต่อประชาชน ให้สมาชิกรัฐสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย และเป็นการป้องกันและป้องปรามภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และไม่ให้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลมีความหลากหลาย รวดเร็ว จนสามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิติบัญญัติ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน และความสงบเรียบร้อยในประเทศ สมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่คือ เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีกำหนด 10 วัน ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 โดยมีผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศอ.รส.) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" เลขา. สมช. กล่าว
 
พล.ท.ภราดร ได้กล่าวถึงการประเมินตัวเลขผู้มาร่วมชุมนุมว่า ยังระบุจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะเมื่อมีการเริ่มเปิดสภาแล้ว ผู้ชุมนุมจะเริ่มทยอยเข้าร่วม และเนื่องจากมีจำนวนหลายกลุ่มและมีความหลากหลาย ซึ่งมีโอกาสที่จะรวมกันได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกัน เพื่อไม่ให้กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเผชิญหน้ากัน ส่วนจำนวนกลุ่มใหญ่ๆของฝ่ายเห็นด้วยน่าจะมีหลักๆแค่ 1 กลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 3-4 กลุ่ม
 
"ในตอนนี้มีมาตรการที่จะป้องกันเพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างเผชิญหน้ากัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบได้ แล้วตรงนี้จะเป็นเหตุให้มือที่สามเข้ามาแทรกแซงได้ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่มีการใช้อาวุธอยู่แล้ว จะมีเพียงแค่โล่ และกระบองเท่านั้น และตอนนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สมช.) ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด" พล.ท.ภราดร  กล่าว
 
 
 
เปิดชื่อ 12 ถนน ห้ามเข้าออก เว้นแต่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ. มั่นคง ฯ
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้มีการเผยแพร่  ประกาศศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ เรื่อง ห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด
 
ประกาศระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ และมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖  ซึ่งได้มอบอำนาจให้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการ กำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร นั้น
 
เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ ในพื้นที่ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้ สถานการณ์ขยายลุกลามจนเกิดความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวมทั้ง การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒ และวรรคสาม ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงออกประกาศกำหนดดังนี้
 
ข้อ ๑ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเข้า หรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่และอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 
ข้อ ๒ ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเข้า หรือต้องออก จากบริเวณพื้นที่ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(๑) ถนนราชสีมา ตั้งแต่ แยกสวนรื่นฤดี ถึง แยกประชาเกษม
(๒) ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพาณิชย์
(๓) ถนนอู่ทองใน ตั้งแต่แยกอู่ทองในถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า
(๔) ถนนลิขิต
(๕) ถนนพระราม ๕ ตั้งแต่ สะพานอรทัย ถึง แยกสุโขทัย
(๖) ถนนสุโขทัย ตั้งแต่ แยกสวนรื่นฤดี ถึง แยกสุโขทัย
(๗) ถนนราชวิถี ตั้งแต่ แยกการเรือน ถึง แยกราชวิถี
(๘) ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่แยกพระรูป ถึง แยก จปร.
(๙) ถนนลูกหลวง ตั้งแต่ สะพานวิศุกรรมนฤมาณ (ถนนลูกหลวงตัดถนนราชสีมา) ถึงสะพานเทวกรรม (ถนนลูกหลวงตัดถนนนครสวรรค์)
(๑๐) ถนนพิชัย ตั้งแต่ แยกขัตติยานี ถึง ถนนราชวิถี
(๑๑) ถนนนครปฐม
(๑๒) ถนนกรุงเกษม แยกประชาเกษม ถึง แยกเทวกรรม
ทั้งนี้ ให้รวมถึงพื้นที่บริเวณถนน ทางเท้า คูคลอง และพื้นที่สาธารณะ ต่อเนื่องไปอีกในรัศมี๕๐ เมตร
 
ข้อ ๓ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ
รักษาความสงบเรียบร้อย หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่า
เป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้
 
ข้อ ๔ ประกาศกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
 
 
 
ศาลปฏิเสธคำขอประกันสมยศเป็นครั้งที่15 เหตุผล 'เกรงว่าจะหลบหนี'
 
1 สิงหาคม 2556 เวลา10.00 น.  นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการวารสาร Voice of Taksin ผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีตาม กม.อาญาฯ มาตรา112  ได้เดินทางไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อรับฟังคำสั่งศาลตามคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายสมยศ หลังจากที่นางสุกัญญาได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556  โดยในคำร้องได้ให้เหตุผลถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญและตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยในการนี้นางสุกัญญาได้ยื่นหลักทรัพย์เอกสารสิทธิในที่ดินประกอบการประกันตัวมีมูลค่าเป็นตัวเงิน 4,762,000 บาท
 
10.30 น. ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำสั่งปฏิเสธการให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า “การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และต่อความรู้สึกของประชาชน นับเป็นเรื่องร้ายแรง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปในระหว่างอุทธรณ์ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์”
 
ที่มา : ประชาไท
 
 
ประกาศล้มร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม แรงงานขู่ชุมนุมสกัดไม่ให้ผ่านสภาฯ
 
30 กรกฎาคม 2556 เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวแสดงท่าทีคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประกันสังคมแล้วและอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากที่ร่างกฎหมายฉบับที่มีการเข้าชื่อของประชาชน 14,264 รายชื่อ ไม่ถูกรับพิจารณา
 
ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งมาจากตัวแทนภาคแรงงานเพียงคนเดียว กล่าวถึงเนื้อหาในแถลงการณ์ว่า แรงงานและภาคประชาชนเห็นว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านการพิจารณาแล้วนั้น มีสาระสำคัญหลายประการที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูปปรับปรุงให้ระบบประกันสังคมดีขึ้น ทั้งบางประเด็นกลับยิ่งก่อปัญหาเพิ่มขึ้น
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงปัญหาของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า 1.ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตนราว 10 ล้านคน เพราะไม่กำหนดแนวทางให้มีการคัดเลือกตัวแทนผู้ประกันตนโดยตรงอย่างกว้างขวาง และร่างดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ประกันสังคม ซึ่งมีอำนาจในการออกระเบียบการเลือกตั้งคณะกรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการครอบงำสำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) จากนักการเมืองที่อาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้
 
2.ขาดกลไกในการตรวจสอบการบริหารงานของบอร์ดประกันสังคม เพราะในร่างที่ผ่านการพิจารณาไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำให้กองทุนประกันสังคมจำนวนมหาศาลกว่า 1 ล้านล้านในปัจจุบันไม่เกิดการทุจริต มีความโปร่งใสและบริหารงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง และ 3.ไม่ครอบคลุมลูกจ้างทุกกลุ่ม
 
ชาลี กล่าวถึงมาตรการที่จะมีการเคลื่อนไหว ดังนี้ 1.จะยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เพื่อตรวจสอบที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน เข้าพิจารณาในสภาฯ 2.จะยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมืองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ 3.จะนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุด้วยว่า หากระหว่างนี้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร
 
ที่มา : ประชาไท
 
 
แดงลพบุรียื่นรายชื่อหนุนนิรโทษฯ ฉบับ ปชช.
 
31 ก.ค. 56 ที่รัฐสภา นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้นำประชาชนจากจังหวัดลพบุรีประมาณ 100 คนมายังบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ที่มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนจำนวน 10,999 รายชื่อ ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือแทน โดยนายสุชาติกล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 วรรค 3 และวรรค 5 ซึ่งอยากเห็นการบรรจุร่างดังกล่าวเข้าในสภา เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดอาญาที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2554
       
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2554 ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน จำนวน 10,999 คน ที่นำยื่นโดยนายสุชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีมูลเหตุมาจากความเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน บั่นทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสงบสุขดังเดิม และพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศ และนำมาซึ่งความผาสุขแก่ประชาชนชาวไทย จึงเป็นการสมควรที่จะให้มีการนิรโทษกรรมแก่บรรดาบุคคลทั้งหลายทุกฝ่าย โดยการคืนสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดอาญาซึ่งมีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2554 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
       
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ. 2554” มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
       
มาตรา 3 บรรดาการกระทำผิดอาญาทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือได้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นจากการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่างนิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำผิดอาญาที่มีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2548-2554 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำในระหว่างวันที่กล่าวหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าว หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากการกระทำผิดทางอาญาโดยสิ้นเชิง
       
มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
       
ด้านนายเจริญกล่าวว่า ตนจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวส่งให้กับเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ซึ่งตนอยากให้ประชาชนติดตามที่ประชุมที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยให้ติดตามได้ทางการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ แต่หากคนใดว่างก็สามารถมาติดตามการประชุมได้ที่หน้ารัฐสภา
       
นายเจริญยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่เขตพระนคร เขตดุสิต และเขตสัมพันธวงศ์ เพื่อควบคุมการชุมนุมว่า เป็นเรื่องของสภาซึ่งได้มีการประสานงานกับทางรัฐสภาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดโดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา 100 นาย และตำรวจจากภายนอกเข้ามาประจำการอยู่ด้านใน 4 กองร้อยโดยยังไม่มีการขอเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด
 
 
 
วิปฝ่ายค้านมีมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ”ฉบับวรชัย”
 
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เวลา 12.00 น. ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้าน ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรใน จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจากการตรวจสอบในวาระการประชุมพบว่าขณะนี้มีทั้งหมด 7ฉบับ โดย 4 ฉบับแรกเป็นร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่ค้างอยู่ในสภา และอีก 2 ฉบับเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และฉบับที่ 3 เป็นร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน แต่ขณะนี้มีแนวโน้มว่าฝ่ายรัฐบาลจะนำร่างกฎหมายของนายวรชัย และนายนิยม เข้าสู่สภาฯ ซึ่งร่างฉบับของนายวรชัยได้เลื่อนมาเป็นวาระแรกตั้งแต่สมัยการประชุมที่แล้ว ซึ่งหาสภาฯ พิจารณาทั้ง 2ฉบับนั้น วิปฝ่ายค้านมีมติไม่รับหลักการกฎหมายดังกล่าว เพราะ 1.เป็นกฎหมายทำลายระบบนิติรัฐ หลักนิติธรรมประเทศ 2.เป็นการล้างผิดให้ผู้ทำผิดในคดีก่อการร้าย การเผาสถานที่ราชการ เอกชน การกระทำผิดต่อชีวิตร่างกาย การฆ่าคนตายและผู้กระทำผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า  3.ถ้ากฎหมายฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ จะเป็นหัวเชื้อนำไปสู่การนิรโทษกรรมแบบยกเข่งหรือสุดซอยได้ 4.การที่จะนิรโทษกรรมแบบยกเข่งได้ ไม่ได้นำประเทศสู่ความปรองดองตามที่รัฐบาลโฆษณาแต่จะสร้างความแตก เพราะขณะนี้มีสัญญาณเริ่มปรากฎประชาชนไม่เห็นด้วยได้ประกาศชุมนุมต่อต้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ5.กฎหมายฉบับนี้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน แต่การออกกฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนที่ทำความผิดใกล้เคียงกัน
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า วันที่ 1ส.ค.นี้ เป็นการประชุมสภาฯ นัดแรก แม้วิปรัฐบาลยืนยันจะไม่ลักไก่พิจารณากฎหมายฉบับนี้ แต่ฝ่ายค้านไม่ประมาทและเตรียมมาตราการต่างๆ ไว้รองรับแล้ว ทั้งนี้การประชุมสภาฯ ในวันพฤหัสบดีสภาจะไม่มีการพิจารณากฎหมาย แต่หากมีการหยิบยกขึ้นมาก็จะต้องใช้วิธีพิสดารอย่างมาก และสภาฯ ก็ยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ส่วนสถานการณ์การชุมนุมนั้น วิปฝ่ายค้านไม่ได้ประเมินอะไร แต่เห็นว่าในขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลต้องใช้กฎหมายพิเศษมาควบคุมการชุมนุม 
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับกระทู้ถามสด ฝ่ายค้านมี 2 เรื่อง คือ เรื่องการจ่ายค่าทำศพตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ของพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากในปี57รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณดังกล่าวเอาไว้ และเรื่องท่อน้ำมันรั่วที่จ.ระยอง ของพรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเรื่องนี้นอกจากจะกระทบสภาพแวดล้อมแล้วยังกระทบต่อการท่องเที่ยวในจ.ระยอง ด้วย แต่วันที่ 1ส.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ จึงคิดว่าเป็นการบริหารจัดการหนีสภาอย่างเป็นระบบ และในพฤหัสบดีหน้าซึ่งมีวาระกระทู้ถามสดก็ทราบว่านายกฯไม่อยู่ไปหัวหินอีก จึงต้องฟ้องประชาชนให้รับทราบพฤติกรรมนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้มติไม่รับหลักการนั้นจะมีมติเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ก่อน ส่วนพรรคภูมิใจไทยแจ้งว่าจะขอหารือในที่ประชุมพรรควันที่ 31ก.ค.นี้.  
 
ที่มา : เดลินิวส์
 
 
เลื่อนพิพากษาดีเจหนึ่งคดีคลื่นรักเชียงใหม่ 51 ประกาศปิดถนนดอยติ เมษา 52
 
1 สิงหาคม 2556 เวลาประมาณ 13.30 น.  ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1970/2554  ซึ่งมีนายจักรพันธ์  บริรักษ์  หรือดีเจหนึ่ง  ซึ่งมีชื่ออยู่ในผังล้มเจ้าฉบับ ศอฉ. เป็นจำเลยในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  จากการออกอากาศวิทยุชุมชนสถานีรักเชียงใหม่ 51 คลื่น 92.5 Mhz  กรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดถนนที่บริเวณสามแยกดอยติ จังหวัดลำพูนในวันที่ 12 เมษายน 2552  
 
นายจักรพันธ์ถูกจับกุมครั้งแรกช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 โดยถูกกักขังที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ 1 วันและได้รับการปล่อยตัว  จนกระทั่งถูกจับกุมอีกครั้งในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53  โดยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักประกันเงินสด 200,000 บาท  พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ส่งฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่  15 สิงหาคม 2554  และดำเนินกระบวนการสืบพยานตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 จนเสร็จสิ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2556 รวมทั้งสิ้นเป็นพยานโจทก์ 16 ปาก  พยานจำเลย 4 ปาก โดยมี ศ.ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์เข้าให้การต่อศาลในฐานะพยานจำเลยด้วย  แต่ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 5 กันยายน 2556
 
ศาลให้เหตุผลว่า  คดีนี้เป็นคดีสำคัญจึงต้องส่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจก่อน  แต่เนื่องจากยังตรวจไม่แล้วเสร็จและยังไม่ส่งสำนวนคดีคืนกลับมา  จึงต้องขอเลื่อนไปก่อน ในการพิจารณาคดีมีผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาในวันนี้มีประมาณ 10 คน  ประกอบด้วยแฟนรายการวิทยุ  สื่อมวลชน  และนักกิจกรรมสังคม
 
ที่มา : ประชาไท
 
 
ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ กรณีขนส่งน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล
 
จากกรณีท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ จ.ระยองตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ทำให้น้ำมันดิบจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลโดยกระจายครอบคลุมพื้นที่ทะเลเป็นบริเวณกว้าง และต่อมาคราบน้ำมันได้ถูกพัดพาเข้าสู่ชายหาดบริเวณ อ่าวพร้าว เกาะเสม็ดซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่บริษัทฯ ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารกำจัดน้ำมันดิบ ตลอดจนไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนและมาตรการในการจัดการปัญหา ทำให้ประชาชนไม่อาจทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและไม่มีความเห็นต่อแผนการและมาตรการในการจัดการปัญหา อีกทั้งหน่วยงานรัฐที่ต้องปกป้องผลประโยชน์สาธารณะและสิทธิของประชาชนก็ไม่ได้ไม่ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบและมาตรการในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน ทำให้ประชาชนไม่รู้เท่าทันสถานการณ์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และไม่มีส่วนร่วมในการติดตามแก้ไขปัญหาของภาครัฐ
 
องค์กรภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) จึงออกแถลงการณ์เรียกร้องฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล ดังนี้
 
ข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ
 
1.บริษัทฯ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน  อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
 
2.บริษัทฯ ต้องเสนอแผนและวิธีการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสาธารณะ  โดยต้องจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน
 
3.บริษัทฯ ต้องชี้แจงสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมันดิบและปริมาณรั่วไหลที่แท้จริงต่อสาธารณะ  รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม   ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับจากน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก  รวมทั้งต้องเสนอแผนและมาตรการที่เป็นระบบในการแก้ไขปัญหา   หากเกิดกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลอีกในอนาคต
 
ข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
 
1.หน่วยงานรัฐต้องให้ข้อมูลต่อสาธารณะ เกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมันดิบ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน
 
2.หน่วยงานรัฐต้องควบคุมตรวจสอบให้แผนและมาตรการแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันดิบที่เกิดขึ้นของบริษัทฯ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ และต้องควบคุมตรวจสอบให้บริษัทฯ เสนอมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาการรั่วไหลเกิดขึ้นอีก รวมทั้งเสนอแผนและมาตรการที่เป็นระบบในการจัดการปัญหาหากมีการรั่วไหลของน้ำมันดิบเกิดขึ้นอีกในอนาคต  โดยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิชาการอิสระที่หน่วยรัฐตั้งขึ้น ตลอดจนต้องควบคุมตรวจสอบให้มีการดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
 
3.หน่วยงานรัฐต้องควบคุมตรวจสอบให้บริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมันดิบ ตลอดจนแผนและมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
 
4.หน่วยงานรัฐต้องเร่งประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน  เพื่อดำเนินการให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว
 
5.หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนถึงสาเหตุและปริมาณที่แท้จริงของน้ำมันดิบที่รั่วไหล  เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด  เพื่อป้องปรามมิให้การกระทำผิดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
 
6.หน่วยงานรัฐต้องจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการจัดการปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในอนาคต โดยเร่งด่วน
 
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
 
 
ครม.อนุมัติหลักการเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน เห็นชอบร่าง พรบ.ปรับปรุงภาษีเงินได้
 
30 ก.ค.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง) และเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ)
 
โดย ครม.พิจารณาตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี
 
สาระสำคัญของร่าง พรก.ดังกล่าว กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะเฉพาะการกู้ยืมของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
 
สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ ให้เสียภาษีเงินได้สุทธิ ร้อยละ 20 สำหรับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้เสียภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ร้อยละ 20 โดยกำหนดให้ มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมิน ประจำปีภาษี พ.ศ.2556 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ.2557 เป็นต้นไป
 
ที่มา : ประชาไท