นักวิชาการเสนอ แก้ไขกระบวนการยุติธรรม ต้องมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ

นักวิชาการเสนอ แก้ไขกระบวนการยุติธรรม ต้องมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อ 21 ธ.ค. 2552

 

เมื่อวันที่ 16 .. 52 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดเสวนาเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในหัวข้อ "สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในการพิจารณาคดี” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
เจ้าหน้าที่ทำผิดต้องลงโทษ และเสนอยกฟ้องคดีที่ละเมิดสิทธิ
ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เคยแก้ไขหลายครั้งมาก เพิ่มสิทธิของผู้ต้องหามากมาย แม้ยังไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลหรือรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ปัญหาอยู่ที่ทางปฏิบัติมากกว่า
 
การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของเรา ไม่ว่าเป็นชั้นตำรวจ อัยการ หรือศาล ยังไม่ตรงกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ยังไม่ตรงกับวิ.อาญาที่แก้ไขใหม่ ยังใช้การปฏิบัติในรูปแบบเดิมอยู่ ทำให้บทบัญญติที่ดีในกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่สามารถมาคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างเต็มที่”
 
ทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ดร.ปกป้องเห็นว่า ต้องมีมาตราการลงโทษ ซึ่งอาจมาจากหน่วยงานภายในของตัวเอง คือ ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทางคือมาตราการการลงโทษจากศาล มาตรการที่ได้ผลรุนแรงที่สุดคือทำให้กระบวนพิจารณานั้นเสียไปทั้งหมด ศาลจะต้องยกฟ้องในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย
 
แต่ในปัจจุบัน ศาลยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา ศาลฎีกาไทยบอกว่า คดีอาญาลงโทษได้ คดีอาญาไม่เสียไป แต่ให้ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิไปเรียกร้องกับตำรวจเอาเอง ตรงนี้เป็นจุดยืนของศาลฎีกาไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจุดนี้อาจจะมีปัญหา
 
นอกจากนี้ดร.ปกป้องกล่าวถึงอีกปัญหาหนึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา 219 ที่กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกระเบียบและกำหนดว่า ปัญหาใดบ้างที่ให้ฎีกาได้ ซึ่งปัญหาที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่ามีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่แล้วและยังไม่ถึงเวลา กลับให้ออกคำสั่งไม่รับฎีกา จึงมีปัญหาว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาเป็นสิทธิพื้นฐานของคู่ความในกระบวนการยุติธรรม
 
ทนายความถก ปัญหาจากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติไม่สอดคล้องกับกฎหมาย
นางรัตนา ปืนแก้ว เลขนุการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เล่าประสบการณ์ถึงปัญหาในทางปฏิบัติที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยกล่าวว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้า เริ่มแรกด้วยการออกสื่อ ผลงานของตำรวจคือใช้สื่อแถลงข่าว พอแถลงข่าวแล้วก็จะตกเป็นจำเลยสังคมทันที ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนแถลงไม่ใช่ผู้ต้องหาแถลง แต่พอพิสูจน์แล้วว่าบริสุทธิ์ ไม่มีใครออกมายอมรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ออกมายอมรับ ไม่ออกมาชดใช้ค่าเสียหายที่เสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล
 
เมื่อขึ้นศาล พอจับเสร็จก็จะขังไว้ก่อน กฎหมายที่มารองรับคือการฝากขังโดยคำสั่งศาล กฎหมายบอกว่าคัดค้านการฝากขังได้ แต่ไม่เกินร้อยละ 20 ที่คัดค้านแล้วฟัง ส่วนการประกันตัว ถ้าเป็นคนมีสี ใกล้ชิดคนมีอิทธิพล ขอประกันตัวได้ แต่คนธรรมดากลับขอประกันตัวยากเพราะหลักทรัพย์สูงมาก แม้กฎหมายจะเขียนไว้ว่าให้ประกันโดยไม่มีหลักประกันก็ได้ แต่ก็ใช้หลักเกณฑ์ความพึงพอใจของศาลมากกว่า
 
การแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาก็ทำเป็นแบบพิมพ์เขียนไว้ว่า ผู้ต้องหาไม่ต้องการพบทนาย ไม่ต้องการอะไรเลย แล้วให้เซ็นต์ชื่อ ซึ่งศาลก็รับฟังว่ามีการแจ้งสิทธิแล้ว เวลาไปขึ้นศาลเบิกความว่าไม่ได้รับการแจ้งสิทธิ ศาลเชื่อแค่เอกสารฉบับเดียวที่บันทึกว่ามีการแจ้งสิทธิแล้ว
 
นี่คือวิธีปฏิบัติ ข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย มันจะสวนกันอย่างนี้ ไม่มีวันบรรจบกันเลย เป็นทางคู่ขนาน เราฝันอยากจะให้มีการปฏิรูป ฝันมาหลายปี พอแก้ไขจริงๆ เราดีใจมาก แล้วรัฐธรรมนูญมารองรับ สิทธิมนุษยชนก็มารองรับอีก แต่พอไปปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้”
 
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อธิบายถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน “จำเลยแต่ละคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เส้นทางเดินของเขาจะต้องผ่านกฎหมายสามฉบับ”
 
เริ่มจากยุทธการตรวจค้น ปิดล้อม จับกุม เป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก จะเริ่มประมาณตีสองตีสาม สนธิกำลังสามฝ่าย ประมาณ 300-500 คน ศาลไม่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นอำนาจเด็ดขาดของเจ้าหน้าที่ทหาร จะตรวจค้นทุกคน คนหนุ่มหลายคนจะถูกนำตัวออกมาสู่ค่ายทหาร
 
อำนาจในการกักตัวตามกฎอัยการศึก ตามมาตรา 15ทวิ นั้น สิทธิขึ้นพื้นฐานถูกลบทิ้งไปเลย สิทธิพบกับญาติไม่มี การสอบถามจะสอบถามตามจุดที่ตั้งหน่วย ฉก. ต่างๆ ทั้งคืน เกินกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ถูกซ้อมทรมาน ซึ่งการกักตัวมีอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. 2548 ให้ควบคุมตัวได้เจ็ดวัน เป็นเจ็ดวันที่ไม่มีใครเข้าตรวจสอบได้เลย หลังจากควบคุมตัวเจ็ดวันตามพ...ฉุกเฉินฯ ก็มาขอออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อควบคุมตัวไว้สอบสวนได้อีกสิบสี่วัน
 
นอกจากนี้ นายสิทธิพงษ์ยังเล่าถึงปัญหาการขอตรวจพยานหลักฐาน ตามหลักเกณฑ์ในกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา “ศาลเองยังไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติ กฎหมายตอนนี้ปรับแล้ว ให้โอกาสที่จำเลยจะตรวจเอกสารก่อน แต่วิธีการปฏิบัติของตุลาการบางท่าน ยังไม่ปรับตาม”
 
นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ วิพากษ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ที่ปฏิบัติต่อคนที่ถูกควบคุมตัวระหว่างที่ตกเป็นผู้ต้องขังว่า มีปัญหาที่เห็นอยู่ เช่น ออกระเบียบห้ามไม่ให้ผู้หญิงมุสลิมคลุมหน้า ไปตีตรวนคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในระหว่างที่ถูกกล่าวหาทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผิดหรือไม่แต่ไปปฏิบัติอย่างกับคนที่ผิดแล้ว เวลาเอาตัวมาศาลให้ใส่กุญแจมือ ใส่ชุดสีน้ำตาลทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้แล้วว่าคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาต้องสันนิษฐานว่าไม่ผิดจนกว่าศาลจะตัดสิน ทั้งที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เรื่องนี้ก็พูดกันมามากแต่ยังไม่มีการแก้ไข
 
รศ. ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในบางประเทศ การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในทางคดี ถือเป็นการละเมิดสิทธิโดยอำนาจมหาชนอย่างหนึ่ง เรื่องสามารถไปถึงศาลสูงอย่างศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นคนตรวจสอบสุดท้ายได้ สำหรับประเทศไทย หลักพื้นฐานในทางรัฐธรรมนูญนั้นไปไกล แต่กฎหมายสารบัญญัติตามไม่ทัน การใช้อำนาจและทัศนคติของเจ้าหน้าที่ไม่ไปด้วย จุดที่ไปเชื่อมโยงหรือไปสัมพันธ์กับประชาชนก็มีปัญหาตามไปด้วย เป็นปัญหาใหญ่ของการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับหลักสากล

 

Comments

MON KK's picture
เห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายให้มีความสอดคล้องและนำไปปฏิบัติได้จริง โดย เฉพาะ การกำหนดโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำการละเมิดผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาครับ

ตามข้างบน