สภาผ่านวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษตามคาด ตั้ง 35 กมธ.แปรญัตติ 7 วัน
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 8 ส.ค. นายเจริญ ได้ขอให้สมาชิกลงมติขอปิดการอภิปราย โดยผลออกมาว่าสมาชิกเห็นด้วยให้ปิดการอภิปรายด้วยคะแนน 300 ต่อ 125 งดออกเสียง 6 และให้ลงมติให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยคะแนนเสียง 300 ต่อ 124 งดออกเสียง 14 ไม่ออกเสียง 2 จากจำนวนส.ส.เข้าร่วมประชุม 439 ถือว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการ จากนั้นก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน โดยมีสัดส่วนกรรมาธิการ พรรคเพื่อไทย 17 คน พรรคประชาธิปัตย์ 10 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล พรรคละ 1 คน และคณะรัฐมนตรี 3 คน โดยให้แปรญัตติภายใน 7 วัน จากนั้น นายเจริญ ได้สั่งปิดการประชุมในทันทีในเวลา 16.50 น.
สัดส่วนคณะกรรมาธิการจากพรรคต่างๆ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายสามารถ แก้วมีชัย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานื นายสุนัย จุลพงศธร นายประยุทธ์ ศิริพานิช นายชวลิต วิชยสุทธิ นายพิชิต ชื่นบาน นายเชิดชัย ตันติสิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี นายสุทิน คลังแสง อดีต ส.ส.มหาสารคาม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.และนายประสิทธิ์ ไชยวิรัตนะ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ
สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.
สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, สัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ได้แก่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี, สัดส่วนพรรคชาติพัฒนา ได้แก่ นายประสาท ตันประเสริฐ ส.ส.นครสวรรค์, สัดส่วนพรรคพลังชล ประกอบด้วย นายรณเทพ อนุวัฒน์ ส.ส.ชลบุรี, สัดส่วนคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายนิพนธ์ ฮะกีมี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ
ลงนามยุติประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงทั้ง 3 เขตแล้ว
“ยิ่งลักษณ์” ลงนามยุติประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต รวมถึงประกาศข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกเกี่ยวเนื่องด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อย ให้มีผลเป็นอันสิ้นสุดลงด้วยตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามยุติเรื่องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรสิ้นสุด
ทั้งนี้ ตามที่ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2556 และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการนั้น โดยที่ปรากฏว่าในปัจจุบันกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้รายงานว่าเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อันเป็นเหตุให้มีการประกาศพื้นที่ดังกล่าวนั้นสามารถดำเนินการแก้ไขได้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบตามปกติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 23 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ของนายกรัฐมนตรี จึงออกประกาศให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศข้างต้น เป็นอันสิ้นสุดลง และมีผลให้บรรดาประกาศ ข้อกำหนดที่นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยประกาศ และออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นอันสิ้นสุดลงไปด้วย ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้เผยแพร่ประกาศ ระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2556 และมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ซึ่งได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ กำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร โดยผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 ข้อ 4 และวรรคสาม ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2556 ออกประกาศศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ ดังนี้
“๑. ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ เรื่อง ห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด
๒. ฉบับที่ ๒/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ เรื่อง ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
เนื่องจากเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักรสามารถดำเนินการแก้ไขได้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบตามปกติ หมดความจำเป็นที่จะใช้อำนาจตามประกาศดังกล่าวข้างต้น ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ในพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงแล้ว อาศัยอำนาจ ตามวรรคสาม ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงให้ยกเลิก ประกาศศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ และฉบับที่ ๒/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖”
“ประชา” ไม่หวั่น กปท.แม้เลิก พ.ร.บ.มั่นคงฯ
รองนายกฯ ความมั่นคง แจงเหตุการณ์กลับสู่ปกติ จึงเลิก พ.ร.บ.มั่นคงฯ ลั่นไม่กระทบสิทธิ ปชช.ตามที่ กสม.อ้าง ใช้อีกหรือไม่อยู่ที่ กอ.รมน. ยัน ตร.เอาอยู่กองทัพโค่นระบอบแม้ว ไม่หวั่นการเคลื่อนไหว รับยังไม่เป็นทางการบีอาร์เอ็นเลื่อนเจรจา คาดชะลอสักระยะ ยันคุยต่อไม่หยุด เตรียมออกหมายจับมือยิงอิหม่ามปัตตานี
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงการยกเลิกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯว่า ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯใน 3 เขต ประกอบด้วย ดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่ายแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.เป็นต้นไป ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้มีการประเมินสถานการณ์และเห็นสมควรให้ยกเลิก ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว จึงต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือในระหว่างที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์อะไรที่กระทบกระเทือนหรือรุนแรงขึ้นมา ส่วนที่ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่สวนลุมพินีนั้นถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ โดยทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกองบัญชาการตำรวจสันติบาลสามารถดูแลได้
ส่วนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกมาระบุว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนนั้น พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า เจตนารมณ์ในการตรา พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อป้องกันเหตุและภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และการประกาศใช้ไม่มีอะไรที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิพี่น้องประชาชนจนมากมายเกินเหตุ แต่สิ่งที่เราได้รับคือไม่มีเหตุและภัยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่มีการประชุมสภาฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะทำให้กลุ่มกปท.ที่ชุมนุมอยู่ที่สวนลุมพินีเคลื่อนตัวมาในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาหรือไม่ พล.ต.อ.ประชาตอบว่า มีเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งหากมีการเคลื่อนตัวมายังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรและเรื่องอื่นๆ เป็นสิทธิโดยชอบที่กระทำได้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า อาจจะต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าหากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านวาระ 3 จะออกมาชุมนุม พล.ต.อ.ประชาตอบว่า เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ที่ต้องติดตามสถานการณ์และประเมินเป็นขั้นตอนในทุกห้วงระยะอีกครั้งหนึ่ง
ทหารตัดโซ่ อุ้มผู้กอง'ปูเค็ม'ไปควบคุมตัว ที่สน.นางเลิ้งแล้ว
ผู้กอง "ปูเค็ม" โดนอุ้มไปสงบสติอารมณ์และควบคุมตัวไว้ที่ สน.นางเลิ่้ง แล้ว หลังนำมวลชนมัดตัวเองด้วยโซ่ติดกับประตูทางเข้า บก.ทบ.พยายามขัดขวางไม่ให้ "ยิ่งลักษณ์" เข้าตรวจเยี่ยมกองทัพบก เป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูกลิ่น อดีตนายทหารสังกัดกองทัพบก หรือ กองปูเค็ม นำมวลชน ประมาณ 20 คน เดินทางมาชุมนุมบริเวณด้านหน้ากองทัพบก เพื่อปิดกั้นไม่ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ตรวจเยี่ยมกองทัพบก อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งรมว.กลาโหม โดยผู้กองปูเค็ม ได้ใช้โซ่มัดแขนทั้ง 2 ข้างของตัวเอง ติดกับประตูรั้วทางเข้ากองทัพบกด้านถนนราชดำเนิน และมีมวลชนบางส่วนมาร่วมด้วย
ซึ่งในเวลาต่อมา พ.ต.ท.ประชา เนียมสุภาพ รองผู้กำกับการจราจร สน.นางเลิ้ง นำกำลังตำรวจปราบจลาจล เข้าดูแลสถานการณ์ และเจรจาต่อรองประมาณ 20 นาที เพื่อให้ผู้กองปูเค็ม และมวลชน เคลื่อนย้ายออกจากบริเวณดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล จึงประสานให้ทหารตัดโซ่ และผลักดันให้ตำรวจควบคุมตัว ขึ้นรถผู้ต้องขัง เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้งต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงชุลมุนมีผู้ชุมนุมเป็นหญิงวัยกลางคน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยและเป็นลม เจ้าหน้าที่นำตัวขึ้นรถตำรวจเพื่อปฐมพยาบาล
เพื่อไทยยัน 20ส.ค.ถกแก้รธน. เฉพาะปม สว.
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 56 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคเพื่อไทยจะเรียกประชุม ส.ส.ในวันที่ 19 ส.ค.เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดตัวผู้อภิปรายกรณีที่ประธานรัฐสภาจะเรียก ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 20 ส.ค.เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่มาของ ส.ว. ซึ่งในช่วงเช้าวันที่ 19 ส.ค.วิปรัฐบาลจะคุยกันเพื่อวางกรอบระยะเวลาการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนส่งข้อสรุปให้ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยรับทราบ เท่าที่วิปรัฐบาลได้หารือกัน ขอยืนยันว่า การประชุม
ร่วมรัฐสภาในวันที่ 20 ส.ค.จะอภิปรายเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.เพียงร่างเดียว เท่านั้น
ส่วนที่มีการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 190 มาตรา 68 และ 237 พ่วงมาด้วยนั้น เป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ส่งเรื่องที่พิจารณาเสร็จแล้วมายังประธานสภาฯ จะต้องบรรจุเรื่องเข้าสู่วาระภายใน 7 วัน ส่วนมาตรา 190 มาตรา 68 และ 237 จะพิจารณาได้เมื่อใด ต้องหารือกันอีกครั้ง แต่ไม่ใช่วันที่ 20 ส.ค.แน่นอน.
40ส.ว.ขู่ยื่นทุกศาล ค้านแก้ รธน.
ลุ่ม 40 สว. สับร่างแก้ไขรธน.เรื่องที่มาส.ว. จากการเลือกตั้ง เอื้อผู้ใกล้ชิดฝ่ายการเมืองเข้าฮุบสภาสูง ซัดรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จกลายเป็นสภาผัว-เมีย ยันค้านถึงที่สุด ขู่ใครหนุนร่างผ่านสภาฯเจอกันที่ศาล
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบ เรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เป็นประธานในการเสวนาเรื่อง "แก้รัฐธรรมนูญที่มาส.ว. : แผนเผด็จการรัฐสภาควบคุมองค์กรศาลและองค์กอิสระ " โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การที่สภาฯเร่งพิจารณาร่างฉบับดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะไม่ทันการ เพราะส.ว.ชุดปัจจุบันจะหมดอายุในต้นเดือนมี.ค ปี 2557 เป็นร่างที่มีการขายเหล้าพ่วงเบียร์แถมน้ำ หากร่างนี้ผ่าน จะทำให้สภาผัวเมียกลับมา
ส่วนผู้ที่เป็นส.ส.หรือรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง สามารถลงสมัครส.ว.ได้ทันที โดยไม่ต้องเว้นวรรคอีก ทำให้ผู้มีความใกล้ชิดฝ่ายการเมือง มีโอกาสเข้าครอบครองพื้นที่สภาสูง ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบการทำงานรัฐบาล ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ก็ควรมีสภาเดียวจะดีกว่า ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะหลอกลวง 3 ประเด็นคือ 1 .หลอกลวงว่าเป็นประชาธิปไตย 2. หลอกลวง
เป็นสภาฯกลั่นกรอง และ 3. หลอกลวงว่ามีองค์กรอิสระ จึงขอให้ประชาชนจับตาดูต่อไป
ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จะทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเกรงว่าอำนาจในการตรวจสอบลดลง ซึ่งตนเห็นว่า ส.ว.ควรมีที่มาแตกต่างจากส.ส. เพราะถ้ามีที่มาเช่นเดียวกัน จะทำให้ส.ว.ถูกรวบอำนาจ และทำให้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่จะนำไปสู่การครอบครองทั้ง 2 สภาฯ จะเป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือเป็นการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้เสื้อคลุมที่เรียกว่า อำนาจอธิปไตย ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภา ตนจะเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การออกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผิดตำรารัฐศาตร์ รัฐบาลพยายามทำให้ส.ว.และส.ส.มีการเลือกตั้งที่เหมือนกัน ทั้งที่ตามหลักสากล ที่มาของส.ส.และส.ว. ต้องมีที่มาที่ต่างกัน จึงมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องสภาฯผัวเมียนั้นชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรง ดังนั้นใครที่รับหลักการเรื่องนี้ขอให้เตรียมตัวขึ้นศาลได้เลย
เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เราจะต้องมาต่อสู้อย่างถึงที่สุด โดยจะยื่ีนเรื่องนี้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ศาลฎีกา คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงทุกๆศาลอย่างแน่นอน
อภิสิทธิ์ย้ำเดินหน้าค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเต็มที่
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 56 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปยัง จ.นครศรีธรรมราช ถึงจุดยืนพรรคที่จะเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านการปราศรัยเวทีผ่าความจริงเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทราการ พรรคเพื่อไทย ที่พิจารณาอยู่ในชั้นกรรมมาธิการ ซึ่งผู้กระทำผิดร้ายแรงไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีทางอาญา ที่อ้างเหตุจูงใจทางการเมือง ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับสร้างมูลเหตุความขัดแย้งมากขึ้น จากการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การข่มขู่ทำร้ายสื่อมวลชนในกรณีบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยเชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง หรือแม้แต่การนำมวลชนกดดันฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การที่สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีตำแหน่งใดในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน พร้อมย้ำจะทำหน้าที่ในชั้นกรรมาธิการเต็มที่ ทั้งนี้ มีความกังวลที่รัฐบาลได้บรรจุวาระ 2 ร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ในสัปดาห์หน้าแล้ว อาจทำให้กระทบกับเวลาในการพิจารณาร่างนิรโทษกรรม
ส่วนการที่นายนิพิฐฏ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปพูดคุยกลับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น เห็นว่า การพูดคุยมีแนวทางและทิศทางเดียวกันสามารถทำได้ เพราะยังมีมวลชนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ส่วนการจะผนึกกำลังออกมาต่อสู้ ยังไม่อยากให้มองถึงขั้นนั้น ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ทราบว่านายนิพิฐฏ์ จะลาออกจากการเป็น ส.ส.เพื่อร่วมกับมวลชน
ส.ส.แดงแปรญัตติขยายนิรโทษกรรมตั้งแต่ 1 ม.ค.48-วันประกาศใช้ กม. แกนนำไม่เกี่ยว
ส.ส.แกนนำแดงขอแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขยายเวลายกโทษตั้งแต่ 1 ม.ค. 48 ถึงวัน พ.ร.บ.ประกาศใช้ ยันไม่นิรโทษกรรมแกนนำทุกสี ส่วนที่ไม่ระบุให้ชัดเพราะขัดหลักกฎหมาย ซัด ปชป.ขี้ขลาดให้ประชาชนมาส่งที่รัฐสภา
นพ.เหวง โตจิราการ พร้อมด้วย นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวถึงการดำเนินการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยว่า ตนและคณะส.ส.ได้ยื่นคำแปรญัตติในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยมีการขยายเวลาจากข้อความเดิมที่ระบุว่าให้ความผิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ถึง 10 พ.ค. 2554 ได้รับการนิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 ไปจนถึงวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากว่าเพื่อป้องกันการครหาของฝ่ายต่างๆ ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ว่าเหตุการณ์ก่อนหน้ารัฐประหารเกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมือง เช่นเหตุการณ์กรณีทางการเมือง เช่น เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหตุการณ์ของภาคประชาชนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยึดบริเวณสวนจตุจักรเป็นที่ชุมนุม เมื่อเดือนมีนาคม 2549 และเหตุการณ์อื่นๆ ก่อนการรัฐประหาร
ดังนั้น ตนยืนยันว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวทุกกลุ่มทุกสีเสื้อจะได้รับอานิสงส์และจะไม่มีการนิรโทษกรรมแกนนำไม่ว่าจะเป็นใคร โดยเฉพาะพวกตนถือว่าถูกดำเนินคดีในชั้นศาลแล้ว ส่วนที่มีข้อเสนอว่าทำไมไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่าใครเป็นแกนนำในกฎหมายดังกล่าวนั้น ตนเห็นว่าถ้าระบุลงไปชัดเจนแล้วถือเป็นการขัดหลักกฎหมายที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทั่วไป แต่พวกตนก็จะตีความกฎหมายให้ชัดเจนขึ้นว่าใครเป็นแกนนำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับดังกล่าวจะได้รับอานิสงส์หรือไม่ นพ.เหวงระบุว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศกฎหมายฉบับนี้ทุกคนก็ได้รับอานิสงค์ทั้งหมด ซึ่งตนเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำตัวเหมือนนกรู้ โดยขอให้ประชาชนพามาส่งที่รัฐสภานั้น เป็นการกระทำที่ไม่กล้าหาญ ขี้ขลาดทางการเมือง และไม่รับผิดชอบต่อประชาชน
กก.สิทธิ์สรุปเสื้อแดงปี"53
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. 2553 - 19 พ.ค. 2553" หนา 92 หน้า สาระสำคัญคือส่วนที่ 4 การดำเนินการตรวจสอบใน 8 กรณี ผลปรากฏดังนี้ 1.การชุมนุมของนปช.ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในวันที่ 7 เม.ย. นั้น การชุมนุมเรียบร้อย กระทั่งมีการเคลื่อนย้ายไปชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 3 เม.ย. มีการกระทำที่มีแนวโน้มไปสู่การใช้กำลังความรุนแรง ถือเป็นชุมนุมที่นอกเหนือขอบเขตรัฐธรรมนูญ
2.กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจัดตั้งศอฉ. แม้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ แต่ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ส่วนกรณีการระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล เป็นการกระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากขณะประกาศพ.ร.ก. แต่พีทีวียังคงเผยแพร่การชุมนุมของนปช.ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม เป็นภัยต่อความมั่นคง ขณะที่ปิดกั้นบางเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีที แม้จะอ้างอำนาจตามพ.ร.ก. แต่ถือว่าลิดรอนและจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น ละเมิดเสรีภาพการเสนอข่าวและการแสดงความเห็น
3.กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มนปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 เห็นว่าคำสั่งขอคืนพื้นที่ของ ศอฉ. เป็นมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย เนื่องจากมีการใช้ความรุนแรง และมีกลุ่มชายชุดดำพร้อมอาวุธปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เพียงแต่การเข้าปิดล้อมพื้นที่ขาดการวางแผนที่ดี ใช้วิธีไม่เหมาะสม จนเกิดการปะทะกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ซึ่งจะต้องสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมถึงตรวจสอบที่มาของอาวุธร้ายแรงที่ใช้ชุมนุมเพื่อดำเนินคดีด้วย
4.กรณีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดงเมื่อ 22 เม.ย. 2553 เห็นว่าคืนเกิดเหตุมีพยานระบุว่ามีระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงมาจากบริเวณที่ชุมนุมของนปช. อีกทั้งแกนนำก็ประกาศทำนองรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งยังมีการจุดพลุ ตะไล ประทัด เพื่อกลบเสียงระเบิด จึงเป็นการชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน
5.กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2553 ระบุว่าแม้ศอฉ.จะสั่งเจ้าหน้าที่สกัดกั้นขบวนของกลุ่มนปช. ป้องกันไม่ให้กองกำลังติดอาวุธใช้ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ใช้อาวุธต่อสู้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจทางกฎหมาย แต่ผลจากการปะทะกันทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นาย จากอาวุธปืน และมีประชาชนกับเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
6.กรณีการชุมนุมบริเวณรอบ ร.พ.จุฬาลง กรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าตรวจค้นร.พ.จุฬาลงกรณ์ ทำให้ต้องย้ายผู้ป่วยในทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลอื่น เห็นได้เป็นการกระทำที่ไม่เคารพและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น บุคลากรทางการแพทย์เกิดความหวาดกลัวจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ละเมิดต่อหลักมนุษยธรรม ต้องสืบสวนสอบสวนทางอาญาต่อไป
7.กรณีเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. 2553 นั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิด สำหรับการเผาอาคารทำลายทรัพย์สินและแผ่ขยายไปถึงเผาศาลากลางในหลายจังหวัดนั้น มีพยานหลักฐานพบว่ามีผู้กระทำบางคนอยู่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มนปช. แสดงว่าการ ชุมนุมของนปช. เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง
8.กรณีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บบริเวณวัดปทุมฯ เมื่อ 19 พ.ค. 2553 นั้น แม้แกนนำประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 13.30 น. แต่เจ้าหน้าที่กับกลุ่มบุคคลติดอาวุธยังคงยิงปะทะกันต่อเนื่องถึงเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมสถานการณ์บริเวณรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีกลุ่มบุคคลติดอาวุธวิ่งหลบหนีไปมาและหลบเข้าไปในวัด แล้วยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องป้อง กันตนเอง ปรากฏว่ามี
ผู้เสียชีวิต 6 ศพ และบาดเจ็บ 7 คน อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีการไต่ สวนในชั้นศาลแล้ว จึงไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัย
2กสม.ไม่เอาด้วย-รายงานม็อบ53
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยว่า กรณีรายงานการตรวจสอบของ กสม. เพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.ถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่ได้เผยแพร่ออกไป จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ตนซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ไม่ได้ลงนามรับรองเห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นรายงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้นำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วน
"หากรายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกมาหลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมภายใน 3 เดือน ผมจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นี่มาเผยแพร่ในตอนที่เหตุการณ์ผ่านมา 3 ปีแล้ว ข้อมูลเนื้อหาในรายงานกลับไม่ได้มีการปรับปรุงตามสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น กรณีที่ศาลพิพากษาคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งเหยื่อที่เสียชีวิตไม่ได้ใช้อาวุธตอบโต้ หรือแม้แต่คดีที่ศาลยกฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหา แต่กสม.เสียงข้างมากไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาแต่อย่างใด" พล.ต.อ.วันชัยกล่าว
พล.ต.อ.วันชัยกล่าวอีกว่า เคยทำหนังสือโต้แย้งเสนอไปยังที่ประชุมให้พิจารณา แต่ที่ประชุมไม่ได้นำคำโต้แย้งมาพิจารณา ส่วนเหตุผลที่จำเป็นต้องโต้แย้ง เนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมมีหลายระดับ มีทั้งแกนนำ ประชาชนทั่วไป และผู้ก่อเหตุรุนแรง ดังนั้นกสม.ควรจำแนกว่าใครได้กระทำการใด ไม่ใช่เหมารวมไปทั้งหมด อีกทั้งข้อเสนอในรายงานที่เป็นเชิงนโยบาย ส่วนตัวจึงมองว่ายังไม่เป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปใช้จริงได้
"โดยรวมแล้วผมคิดว่ารายงานฉบับนี้ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้พยายามท้วงติงก่อนที่รายงานจะเผยแพร่ แต่กลับไม่มีใครรับฟัง จึงไม่แปลกอะไรที่หลังเผยแพร่รายงานฉบับนี้ออกมาแล้วจะถูกหลายฝ่ายต่อต้าน ซึ่งผมก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ด้วยการไม่ลงนามเซ็นชื่อรับรอง แต่หากรายงานนี้สร้างความเสียหาย คงต้องให้คนที่เซ็นชื่อลงนามเป็นคนรับผิดชอบ" พล.ต.อ.วันชัยกล่าว
รายงานข่าวระดับสูงใน กสม.เผยว่า นอกจากพล.ต.อ.วันชัยแล้ว ยังมีกรรมการ สิทธิฯอีก 1 คนที่ไม่เซ็นรับรองรายงานเช่นกัน เพราะรายงานฉบับดังกล่าวยังนำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน ซึ่งเห็นว่าเป็นรายงานที่ให้คุณให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากเกินไป ทั้งที่ กสม.แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีบุคคลจากฝ่ายต่างๆ อาทิ นักวิชาการ กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และองค์กร
ต่างๆ มาร่วมกันพิจารณาและให้ข้อมูล แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดนี้กลับไม่ได้ทำงาน เหมือนตั้งขึ้นมาเฉยๆ เท่านั้น
รุมค้านปอท. ล้วงข้อมูลไลน์
นายกฯ ปูยันไม่มีแนว คิดจำกัดสิทธิประชาชน คุมเล่นแอพพลิเคชั่น 'ไลน์' สงสัย ปอท.จะตรวจสอบเฉพาะบุคคลมากกว่า ผบก.ปอท.ส่งทีมบินญี่ปุ่นหารือโปรแกรมเมอร์ผู้ควบ คุม ได้รับความร่วมมืออย่างดี อ้างต้องการตรวจสอบประเด็นหมิ่นเหม่ เข้าข่ายความมั่นคงเศรษฐกิจ การเมือง ความสงบเรียบร้อย และเรื่องศีลธรรมอันดี ไม่ได้คุมทั้งหมด องค์กรสิทธิ์รุมจวกยับ ละเมิดสิทธิขั้น พื้นฐาน กระทรวงไอซีทีก็ไม่เอาด้วย 'โอ๊ค-พานทองแท้' โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กไม่เห็นด้วยกับปอท. และเชื่อว่ารัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน 'ไลน์' ในประเทศไทยยันยังไม่เคยได้รับการติดต่อจากตำรวจ
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการกระทำ ความผิดผ่านทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ วอตส์แอพ รวมถึงการสนทนาในแอพพลิเคชั่น "ไลน์" (LINE) ที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งเมื่อวันที่ 5-9 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ส่งทีมงานเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นที่รับดูแลเซิร์ฟเวอร์ให้กับบริษัทไลน์ คอร์เปอร์เรชั่น เพื่อเจรจาขอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด โดยขอยืนยันว่าจะไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนพึงมีแน่นอน เนื่องจากทาง ปอท. จะมีเครื่องซอฟต์แวร์ ที่เป็นตัวเช็กคำที่สุ่มเสี่ยงและก่อให้เกิดการ กระทำที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว
พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวต่อว่า โดยความผิดดังกล่าวจะเน้นเพียง 3 เรื่องเท่านั้น คือ 1.ความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และประเทศชาติ 2.กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และ 3.กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยการติดต่อขอข้อมูลในครั้งนี้เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
"ปัจจุบันประเทศไทยมีคนใช้โปรแกรมไลน์ 15 ล้านคน ผมไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เราจะดูเฉพาะคนใช้โซเชี่ยลทำผิดกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ละเมิด ประชาชนคนไทยมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นปกติตามหลักสามัญแน่นอน และเรามีซอฟต์แวร์ที่ช่วยสุ่มคีย์เวิร์ดคำที่สุ่มเสี่ยง เช่น คำว่าค้าขายอาวุธปืน, ค้ายา, ค้าของปลอม, ละเมิดลิขสิทธิ์, ค้าประเวณี พวกนี้ต่างหาก ถามว่าเราขอไปเขาจะให้หรือไม่เป็นสิทธิของเขาในการพิจารณา ถ้าไม่ให้เราก็มีวิธีตรวจสอบอย่างอื่น แต่ถ้าให้มันก็ถือว่าดีในวันข้างหน้าที่เป็นการช่วยเราอีกต่อหนึ่ง" พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว
และว่า ก่อนหน้านี้ ปอท.เคยติดต่อทาง ผู้ก่อตั้งวอตส์แอพ ยูทูบ และเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ตรงข้ามกับกรณีญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มได้รับความร่วมมือที่ดีกว่า ตนคิดว่าการกระทำความผิดในโซเชี่ยลมีเดียเป็นความผิดพิเศษ ไม่มีระยะเวลา ไม่มีพรมแดน ดังนั้น การร่วมมือระหว่างประเทศจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะระงับความผิดเหล่านั้นได้ สำหรับกลุ่มที่จับตามองเป็นพิเศษตอนนี้มีเป็นสิบ ถึงหลักร้อยที่ทาง ปอท.เฝ้าจับตา
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ปอท.จะตรวจสอบข้อมูลการสนทนาในแอพพลิเคชั่น "ไลน์" (LINE) เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ว่า เพิ่งรับทราบเรื่องนี้ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของรัฐบาลไม่ต้องการเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแอพพลิเคชั่นดังกล่าวคงไม่ไปเกี่ยวข้องหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่หากจะติดตามตรวจสอบก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากกว่า
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าการสนทนาผ่านโปรแกรมแช็ตถือเป็นการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องส่วนตัวผ่านพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหากผบก.ปอท.จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการสนทนาจริงต้องระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลทั่วโลก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสากล ไม่ใช่
เฉพาะการสนทนาในประเทศเท่านั้น อีกทั้งตนมองว่าการตรวจสอบดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิบุคคลอื่นได้ง่าย เพราะการสนทนากันส่วนใหญ่เป็นการสนทนากันในเรื่องเฉพาะตัว การเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการสนทนาก็คล้ายกับการดักฟังโทรศัพท์
นางอมรากล่าวอีกว่า ดังนั้น หากจะทำจริงก็ต้องวางกรอบแนวทางในการตรวจสอบให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้เกี่ยวพันกับกรณีที่ทางบก.ปอท.ได้ออกหมายเรียก 4 บุคคล ที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการปฏิวัติผ่าน โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก กรณีนี้มีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งคณะกรรมการ สิทธิฯ ก็คงจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าร่วมพิจารณาด้วย
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปตรวจสอบและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนแน่นอน จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของปอท. เนื่องจากไลน์ถือเป็นแอพพลิเคชั่น ที่ใช้กันทั่วโลก และเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่ควรถูกละเมิด ซึ่ง ปอท.ไม่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบการใช้งานใดๆ และเซิร์ฟเวอร์หลักที่ใช้เก็บข้อมูลการ
ใช้งานทั้งหมดก็เป็นของบริษัทผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น โดยสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลก็ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตไลน์จะอนุญาตหรือไม่
นอกจากนี้ ไอซีทีไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากปอท. และไม่ได้ร่วมมือใดๆ ที่จะเข้าไปดำเนินการในครั้งนี้ เพราะไอซีทีไม่เห็นด้วยกับนโยบายปอท. และยืนยันว่าเรื่องใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ใช้สำหรับสื่อสารระหว่างกันส่วนบุคคลเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไลน์มีผู้ใช้งานแล้ว 200 ล้านคนทั่วโลก โดยประเทศไทยมีผู้ใช้ประมาณถึง 15 ล้านราย
ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ผบก.ปอท.จะตรวจสอบข้อมูลการสนทนาในแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยอ้างเรื่องภัยความมั่นคงในสังคมออนไลน์ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นกังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นการสกัดกั้นเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ขายหน้าประชาคมโลกมาก อยากถามไปยังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และพล.ต
.อ. ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ว่าได้มอบนโยบายนี้ให้ปอท.หรือใครมีใบสั่งให้ดำเนินการ หรือผบก.ปอท.ทำเอง
ดังนั้น หลังจากที่ตัวแทน ปอท.เดินทางกลับจากการพบกับโปรแกรมเมอร์ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ทางชมรมจะขอเข้าพบกับพล.ต.ต. พิสิษฐ์ และคณะทำงานดังกล่าว เพื่อสอบ ถามข้อมูลที่แท้จริง เพราะขณะนี้ประชาชนรู้สึกหวาดหวั่น แม้กระทั่งไลน์ของกลุ่มส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่พากันเลี่ยงไม่โพสต์ข้อความที่สำคัญ เนื่องจากเกรงว่าปอท.จะเข้าตรวจสอบ
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ขอยืนยันว่า นายกฯ และพล.ต.อ.ประชา ไม่ได้เป็นผู้สั่งการเรื่องนี้แน่นอน ปัจจุบันมีประชาชนเล่นไลน์มากถึง 15 ล้านคน ขณะที่พล.ต.ต.พิสิษฐ์ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อความที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ ไม่อยากให้มองว่ามีใบสั่งหรือรัฐบาลต้องการตัดสิทธิ์ประชาชน ซึ่งก็ไม่จริง ทั้งนี้ หากมี คำสั่งดังกล่าวจริงขอท้าให้เอาคำสั่งของ นายกฯ หรือพล.ต.อ.ประชา ออกมาแสดง
มีรายงานว่า ตัวแทนประชาสัมพันธ์ของไลน์ในประเทศไทยระบุว่า ไลน์ยังไม่เคย ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากตำรวจไทย จึงชี้แจงข้อเท็จจริงไม่ได้ในกรณีพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท. กล่าวว่าได้ส่งทีมงานไปประเทศญี่ปุ่นเข้าพบกับ ผู้บริหารไลน์เพื่อขอความร่วมมือตรวจสอบการใช้โปรแกรม ทั้งนี้ ไลน์ไม่ได้เก็บข้อมูล รวมทั้งเรียกข้อมูลจากฐานเก็บสำรองมาดูไม่ได้ เพราะไลน์ต้องเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เป็นระบบการรักษาความปลอดภัยสากล
ค่ำวันเดียวกัน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ให้สัมภาษณ์กรณีนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพออกมาต่อต้าน ปอท.จะตรวจสอบข้อมูลแอพพลิเคชั่นสุดฮิต 'ไลน์' (LINE) รวมถึงโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ว่า ตนมีอำนาจตรวจสอบก็จริง แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย เมื่อจะตรวจสอบใครที่ ปอท.พบว่าเกี่ยวข้องกับการทำความผิด ปอท.ก็ต้องขออำนาจศาล ตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 18 ก่อน ไม่เช่นนั้นทำอะไรไปโดยพลการ
พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาข้อเท็จจริงก็เห็นว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นจากการใช้โซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ยูทูบ และ โซเชี่ยลแคมเป็นจำนวนมาก และแอพพลิเคชั่นสุดฮิต 'ไลน์' ก็มีแนวโน้มสูงที่จะกลายเป็นเครื่องมือของขบวนการค้ายาเสพติด หรือขบวนการค้าอาวุธ ซึ่งตนไม่ยอมให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ ส่วนกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนที่ออกมาโจมตีก็ระแวงเกินเหตุ เพราะตนระบุแล้วว่าการ
จะตรวจสอบนั้นต้องได้รับแจ้งหรือพบเองก่อนว่ามีแอ๊กเคาต์ใดบ้างที่เข้าข่ายกระทำความผิดแน่ๆ ไม่ใช่ไปตรวจสอบด้วยวิธีหว่านแหหรือสุ่มตรวจ
4 องค์กรสื่อ ยันโพสต์ข้อความออนไลน์ like-Share เป็นสิทธิ จี้ ให้ความเป็นธรรมตาม กม.
4 องค์กรสื่อออก จม.เปิดผนึก เหตุ ปอท.ออกหมายเรียกบุคคลที่โพสต์ข้อความโลกออนไลน์ รวมถึง บก.การเมืองอาวุโส TPBS อ้างทำตื่นตระหนก ชี้ทำตามเสรีภาพตาม รธน. ไร้เจตนาป่วน จี้ ปอท.ให้ความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.คอมพ์ ไม่ควรใช้การเมืองกดดัน อาจเข้าข่ายละเว้นหน้าที่ อย่าเหมารวมกด like-Share ผิด ต้องดูตาม กม. แนะสื่อแสดงออกต้องยึดหลักวิชาชีพ
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ออกจดหมายเปิดผนึกกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ออกหมายเรียกบุคคลที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า
ตามที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ออกหมายเรียกบุคคลที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ที่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก จำนวน 4 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโสสายข่าวการเมืองและความมั่นคงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS นั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมกันพิจารณากรณีนี้แล้วเห็นว่าการโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคลดังกล่าว ถือเป็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลตามสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงควร ใช้ดุลยพินิจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างเป็นธรรม โดยการตีความบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ความเชื่อหรือแรงกดดันทางการเมืองในการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ อันมีลักษณะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความกลัวแก่ประชาชนทั่วไปในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้
นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ยังเห็นว่าการกด like หรือ กด Share เป็นปรากฎการณ์ปกติและเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในสังคมออนไลน์ที่นิยมแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน (Interactive) ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรตีความว่า การกด Like คือการร่วมลงชื่อรับรองข้อมูลอันเป็นความผิดดังกล่าว แม้มิได้เจตนาโดยตรงแต่เป็นเจตนาเล็งเห็นผลว่าการ Like นั้นให้ข้อมูลได้รับความเชื่อถือมากขึ้นย่อมเข้าองค์ประกอบความผิดในฐานะตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ การกด Like หรือกด Share ดังกล่าวต้องไม่เป็นการกระทำตามบทบัญญัติมาตรา 14 (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเจตนาเล็งเห็นผล (ซึ่งอาจได้รับโทษฐานเป็นตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือข้อมูล คอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาหรือข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
อย่างไรก็ตาม ขอให้สื่อมวลชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์พึงตระหนักว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงควรยึดถือแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. 2553 เป็นสำคัญ
'หน้ากากขาว' เล็งเอาผิด 112 'ธาริต' เปรียบ นายกฯ ประมุขประเทศ
'กลุ่มหน้ากากขาว' ชุมนุมดีเอสไอประท้วง 'ธาริต' กรณีระบุนายกฯ เป็นประมุขประเทศ เล็งฟ้องดำเนินคดีหมิ่นสถาบัน 'ธาริต' ชี้ถ้าฟังทั้งบริบทก็จะรู้ไม่เจตนาหมิ่น แจง 'ประมุขประเทศ' เป็นศัพท์รัฐศาสตร์
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.56 เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน นำโดย บวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมหน้ากากขาวกว่า 50 คน ประท้วงหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เนื่องจากไม่พอใจกรณีที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าว รับคดีตัดต่อภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คู่กับป้ายอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นคดีพิเศษ โดยระบุเหตุผลว่า เป็นหน้าที่ของดีเอสไอ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นประมุข ฝ่ายบริหาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี
โดยบวรอ่านหนังสือเปิดผนึกกล่าวโทษนายธาริตว่า กรณีที่นายธาริตแถลงจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการตัดต่อและเผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมต่อนายกรัฐมนตรี และมีการใช้ถ้อยคำให้เหตุผลความจำเป็นที่ดีเอสไอต้องดำเนินคดีนี้ว่า "ดีเอสไอ ไม่ได้รับใช้การเมือง แต่ว่าประมุขของประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีถูกกระทำอย่างนี้ และเป็นความผิดที่ดีเอสไอรับผิดชอบ จึงต้องดำเนินการ" นั้น เป็นถ้อยคำที่บิดเบือนและสร้างความเสียหายต่อประเทศ อันเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายความมั่นคงของชาติ เพราะประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์จะถูกผู้ใดละเมิดมิได้
ดังนั้น นายธาริตจึงกระทำผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้นายธาริตเป็นข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมานานได้รับพระมหากรุณาธิคุณจนได้รับโปรดเกล้าฯเป็นถึงอธิบดีดีเอสไอ การก้าวล่วงเกินองค์ประมุขเช่นนี้ไม่มีเหตุผลควรเชื่อได้ว่า เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล้อ เพราแม้มีผู้ทักท้วงมากมายแล้วแต่นายธาริตก็เพิกเฉยที่จะชี้แจง ทั้งนี้แม้จะเป็นโดยประมาทเลินเล้อความผิดนี้ก็มิอาจยอมความกันได้ ประกอบกับพฤติกรรมของนายธาริต ที่ผ่านมามักไม่ใส่ใจกับคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าที่ควร จนมีผู้กระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากมาย จึงเป็นข้อสงสัยในความจงรักภักดีของนายธาริตมาโดยตลอด
บวร ระบุด้วยว่า จะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อกล่าวโทษนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ และในฐานะผู้มีส่วนเสียกับคำพูดของนายธาริต โดยขอให้พักราชการและตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อนายธาริต
บวร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้พักราชการและตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อนายธาริต รวมทั้งจะยื่นหนังสือต่อพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีต่อนายธาริต ในความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง จะสะท้อนให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี มีความประสงค์เช่นเดียวกับนายธาริต ก็จะดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คงไม่จำเป็นต้องมีการเปิด แถลงข่าวชี้แจงคำพูดดังกล่าว เพราะถ้าได้รับฟังบริบททั้งประโยคในการแถลงข่าวก็จะทราบเจตนาที่แท้จริงว่า ไม่มีเจตนาไม่เหมาะสม
ธาริต ระบุว่า ข้อเท็จจริงคือเป็นการพูดอ้างจากศัพท์ทางรัฐศาสตร์ ว่าด้วยอำนาจ 3 ฝ่ายของการบริหารบ้านเมือง คือ บริหาร ตุลาการ และ นิติบัญญัติ ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวโยงกับการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่า ตนเองจงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันมาตลอด ไม่คิดอาจเอื้อมกระทำการเช่นนั้นแน่ ดังนั้น ผู้ที่นำไปกล่าวอ้าง ถือว่าเป็นพวกที่มีอคติ ที่นำเรื่องแบบนี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งคนที่นำมาพูดอาจจะเข้าข่ายหมิ่นสถาบันเสียเอง
หน้ากากขาวพร้อมจับมือกองทัพประชาชน ดาวกระจาย
กลุ่มหน้ากากขาวรวมตัวชุมนุมหน้าลาน เซ็นทรัลเวิล์ด ก่อนเคลื่อนขบวนไปสมทบร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่สวนลุมพินี โดยกองทัพประชาชนฯเตรียมดาวกระจายตามสถานที่สำคัญต่่างๆในสัปดาห์หน้านี้
กลุ่มสมาพันธ์หน้ากากขาวแห่ง ประเทศไทย กว่า 200 คน รวมตัวกันที่บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เพื่อแสดงพลังคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนจะเคลื่อนขบวนเดินทางไปยังสวนลุมพินีเข้าร่วมการชุมนุมกับกองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ โดยกลุ่มสมาพันธ์หน้ากากขาวฯ ประกาศเจตนาว่าจะร่วมชุมนุมกับทุกกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณ
ขณะที่นายไทกร พลสุวรรณ โฆษกกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ระบุว่าตั้งแต่วันอังครที่ 20 สิงหาคม เวลา 11.00 น. ทางเสนาธิการร่วมฯและแกนนำกองทัพประชาชนฯ จะเคลื่อนนำมวลชนเคลื่อนขบวนไปยังพื้นที่เศรษฐกิจ ย่านถนนสีลม เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์และชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกับกองทัพ ประชาชน พร้อมชี้แจงเกี่ยวกับระบอบทักษิณที่กำลำทำร้ายประเทศ
และในวันพุธที่ 21 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ทางกลุ่มจะเคลื่อนขบวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กำลังใจคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม จะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เพื่อยื่นหนังสือให้ดำเนินคดีกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ไม่เอาผิดกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีใช้ถ้อยคำทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในเรื่องประมุขของชาติ จากการแถลงข่าว
ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม จะเดินทางไปยังกองทัพไทย เพื่อยื่นหนังสือขอให้กองทัพไทยปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ในการทำหน้าที่ทหารเพื่อประเทศชาติ
กปท.เคลื่อนทัพสัปดาห์หน้า! ไปสีลม-ศาล รธน.-ป.ป.ช.-บก.ทท. - หน้ากากขาวร่วมแจม
กองทัพโค่นระบอบแม้ว ลั่นยกระดับม็อบ 20 ส.ค. “ประสงค์” พาเดินรณรงค์ชาวสีลมร่วมทัพ วันพุธไปศาล รธน.ให้กำลังใจตุลาการ วันพฤหัสฯ ไป ป.ป.ช.ยื่นเอาผิดนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม ไม่ฟัน “ธาริต” ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม วันศุกร์ไป บก.ทท.จี้ทหารปกป้องประเทศ ด้านหน้ากากขาวแห่มาร่วมสมทบ
วันนี้ (18 ส.ค.) ที่สวนลุมพินี นายไทกร พลสุวรรณ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) แถลงว่า ตั้งแต่วันอังคารที่ 20 ส.ค.นี้เป็นต้นไป กปท.ยกระดับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนตามสถานที่ต่างๆ ในกทม.ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงในการเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเบื้องต้นในวันที่ 20 ส.ค. เสนาธิการร่วมและ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานที่ศึกษา กปท.จะไปรณรงค์เชิญชวนให้ชาวกรุงเทพฯ ในย่านสีลมออกมาร่วมชุมนุมที่สวนลุมพินี จากนั้นวันที่ 21 ส.ค. กปท.จะเดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้กำลังใจในการทำหน้าที่ให้การพิจารณาคดีต่างๆรวดเร็วขึ้น และวันที่ 23 ส.ค.จะเดินทางไปยังกองทัพไทย เพื่อเรียกร้องให้กองทัพทำหน้าที่ในการปกป้องประเทศตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 70 และมาตร 77
นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ส.ค. กปท.จะเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นหนังสือให้ดำเนินการเอาผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีไม่ดำเนินการสอบสวน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่แถลงข่าวแล้วใช้ถ่อยคำที่ไม่เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้ กปท.จะให้มวลชนเดินทางไปยังสถานที่นัดหมายแต่จะไม่ให้ส่งผลกระทบกับการจราจรของประชาชนในถนนเส้นต่างๆ
มีรายงานว่า เวลา 15.30 น. กลุ่มหน้ากากขาวที่ชุมนุมที่เซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนหนึ่งได้เคลื่อนตัวมาร่วมชุมนุมกับ กปท. โดยมีการแห่กลองยาวเข้ามายังพื้นที่ชุมนุมสวนลุมพินี รวมถึงนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองจำนวนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน ทำให้บรรยากาศที่สวนลุมพินีคึกคักมากขึ้น