รอบอาทิตย์ที่สอง ก.ย.56: กสทช.ฟ้อง เดือนเด่น+ณัฏฐา

รอบอาทิตย์ที่สอง ก.ย.56: กสทช.ฟ้อง เดือนเด่น+ณัฏฐา

เมื่อ 13 ก.ย. 2556
วุฒิสภา ผ่านกม.ตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ส่งให้สภาฯ พิจารณาต่อ
 
9 กันยายน ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว จากนั้นสภาฯ จะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
 
โดยที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เพื่อจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 15 คนมาจากการสรรหาของผู้แทนองค์กรผู้บริโภค โดยมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ละเลยการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ พร้อมกับสนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนหรือการดำเนินคดีของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการและดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
 
ทั้งนี้ ยังกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปโดยตรงเป็นรายปี จากงบประมาณแผ่นดินประจำปี และต้องเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการบริหารงานโดยอิสระในค่าใช่จ่ายที่จำเป็น แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากร และในทุก 3 ปี ให้มีการกำหนดอัตราเพิ่มขึ้นในพระราชกฤษฎีกาโดยปรับตามดัชนีค่าครองชีพ
 
ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขอบคุณที่สมาชิกวุฒิสภาที่เห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จากที่ร่วมกันผลักดันมากว่า 15 ปี และคาดหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้
 
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นจริง มีสิทธิร้องเรียน ได้รับการการเยียวยาความเสียหาย และรวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยกฎหมายมีหลักการและสาระสำคัญหลายประการ เช่น
 
1) ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจากหน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณขององค์การไว้ที่ 3 บาท ต่อหัวประชากร
2) ให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
3) ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
4) เปิดเผยรายชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้
5) เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการสามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีได้
6) สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนและการดำเนินคดีของของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค
 
ที่มาข่าว สำนักข่าวอิศรา
 
 

ไม่ถอนฟ้อง 'เดือนเด่น-ณัฏฐา' สำนักงาน กสทช. ลั่นพิสูจน์กันในศาล
 
สำนักงาน กสทช.แจงผ่านเว็บ ฟ้องนักวิชาการ-สื่อ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ชี้ผลกระทบจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ทำลายความเชื่อมั่น-ความน่าเชื่อถือองค์กรก ซ้ำทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โอดถูกกล่าวหาตั้งแต่การจัดประมูล 3จี
 
สืบเนื่องจากกรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ประกอบด้วย พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, สุทธิพล ทวีชัยการ, พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 โดยมี เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ณัฎฐา โกมลวาทิน ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากการให้ข่าวและนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz
 
6 ก.ย.56) สำนักงาน กสทช. เผยแพร่คำชี้แจงผ่านเว็บไซต์ http://www.nbtc.go.th/ ระบุว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นการปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของกทค.ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช. ที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการฟ้องร้องเพื่อคุกคามนักวิชาการหรือสื่อมวลชนอย่างที่มีคนพยายามไปบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ไปข่มขู่หรือใช้อิทธิพลไปห้ามสื่อนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ กสทช. เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ยังสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ใช่เอาข้อมูลที่ไม่จริงหรือบิดเบือนมานำเสนอก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น การฟ้องคดีนี้แท้จริงแล้วจะส่งผลเป็นการปกป้องสื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายองค์กรใดๆ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของสถาบันวิจัยให้มีมากขึ้น ตลอดจนจะช่วยให้สื่อต้องตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบและนำเสนอข้อมูลให้รอบด้านโดยไม่เลือกนำเสนอเฉพาะในบางแง่บางมุม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
 
องค์กรผู้บริโภค จี้ กทค.ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้น
 
13 ก.ย.2556 จากกรณีที่ที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูกกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คนและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฟ้องคดีหมิ่นประมาท จากกรณีแสดงความเห็นเรื่องการหมดสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz
 
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และตัวแทนองค์กรผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อ กทค. ดังนี้
 
1.ขอให้เร่งรัดและออกหลักเกณฑ์ เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยด่วน เพื่อยุติการกระทำที่ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553
 
2.กทค.ควรเร่งปรับปรุงให้หน่วยรับเรื่องร้องเรียนเป็นอิสระ มีระบบที่ดี มีประสิทธิภาพในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ทั้งการแก้ปัญหาผู้บริโภค การป้องกันปัญหา และบังคับใช้กฎหมายและประกาศของตนเองอย่างเข้มงวด และเห็นว่าการที่ยังมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศ กฎหมายระเบียบ คำสั่งของ กสทช. เป็นการดูถูก ดูแคลนและละเมิดศักดิ์ศรีในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล มากกว่า การฟ้องคดีกับบุคคลที่สนับสนุนการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความ เห็นที่แตกต่างจาก กทค.
 
3.ขอให้สนับสนุนการทำหน้าที่การให้ความเห็นและการติดตามตรวจสอบของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เพื่อให้ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
4.ขอให้ กสทช.มีการบังคับทางปกครองอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ คำสั่งของ กสทช. เพื่อไม่ให้ต้องเป็นภาระกับผู้บริโภคที่ต้องร้องเรียนเป็นกรณีไป เช่น กรณีการฝ่าฝืน ประกาศ กสทช.เรื่องอัตราขั้นสูงฯ ค่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 99 สตางค์ การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายการให้บริการ 3G เรื่องการลดค่าบริการร้อยละ 15 โดยเฉพาะกับผู้ใช้บริการรายเดิม
 
ที่มาข่าว สำนักข่าวอิศรา
 
 
 
ชง สธ.ชี้ขาดยกเลิกยาเสพติดกระท่อม
 
11 ก.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม  นายชัยเกษม  นิติสิริ  รมว.ยุติธรรม  กล่าวถึงการติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อมในการศึกษาผลดี ผลเสียและความเป็นไปได้ในการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ว่า  ได้รับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อจากที่ประชุมคณะทำงานแล้ว ประกอบด้วย  
1.การพิจารณาให้ประกาศยกเลิกพืชกระท่อมให้ไม่เป็นยาเสพติด โดยกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นสมุนไพร  
2.การประกาศยกเลิกพืชกระท่อมให้ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ และให้เป็นสารที่ถูกควบคุมในฐานะวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 
3.ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย แต่ให้มีการปรับปรุงระเบียบ แนวทางควบคุมที่จะเอื้อต่อวิถีชีวิตปกติของผู้ใช้พืชกระท่อมแบบดั้งเดิมเช่น การเคี้ยวเพื่อทำงาน  
4.การนำใบกระท่อมไปเป็นสารตั้งต้นยาเสพติด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปพิจารณาประกอบการปรับแก้กฎหมาย และ
5.ขอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพิจารณาหากมีประเด็นนอกเหนือจากข้อเสนอข้างต้นว่าสมควรดำเนินการอย่างไร 
หลังจากนี้ตนจะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขเพื่อให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ 
 
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า  ส่วนตัวเห็นด้วยกับการยกเลิกพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ  แต่ไม่ขัดข้องหากจะควบคุมด้วยวิธีอื่น  เพราะแม้พืชกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติดแต่หากนำมาสกัดก็สามารถนำไปใช้เป็นสารตั่งต้นยาเสพติดได้  อย่างไรก็ตาม หากไม่ยกเลิกพืชกระท่อมจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ  แต่อนุญาตให้ปลูกเพื่อเคี้ยวสดก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว  ทั้งนี้ต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเป็นผู้ชี้ขาด.
 
ที่มาข่าว เดลินิวส์
 
 
 
“ม.อ.ออกนอกระบบ” นักศึกษาขอเลือกตั้งผู้บริหารและขอที่นั่งในสภา 
 
นักศึกษาม.อ.ออกแถลงการณ์เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ชี้การเป็นเอกชนทำให้คนรายได้น้อยขาดโอกาส เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในสภามหาวิทยาลัย ต้องมีองค์กรคานอำนาจและผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง   เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้มีการประชุมกันที่ห้ององค์การบริหารนักศึกษาเรื่องการขับเคลื่อนและเดินหน้าทิศทางการเข้ามีส่วนร่วมในเปลี่ยนแปลงสู่มหาลัยในกำกับของรัฐ หลังจากที่ได้ยื่นแถลงการณ์มาแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 แล้วก่อนหน้านี้ 
 
ทางเครือข่ายนักศึกษาจึงมีข้อเรียกร้องในการดำเนินการการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐว่า พ.ร.บ.ที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรจะต้องผ่านการลงประชามติจากประชาคมมหาวิทยาลัย ที่ประกอบไปด้วย คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา  
 
ขอให้เปิดเผยการร่าง พ.ร.บ.ให้กับประชาคมรู้โดยทั่วกัน ให้มีตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีองค์กรที่สามารถคานอำนาจกับฝ่ายบริหารได้ เช่น สหภาพบุคลากร หรือองค์การนักศึกษา และอธิการบดี รองอธิการบดีของแต่ละวิทยาเขต และคณบดี จะต้องมาจากการเลือกตั้งของมวลสมาชิกทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงนักศึกษาทุกคน

ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
 
ศาลพัทยาเปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยวเป็นแห่งแรก
 
5 ก.ย. ณ ศาลจังหวัดพัทยา นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยวซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศได้รับความเป็นธรรมภายใต้ระบบกฎหมาย โดยมี นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีในครั้งนี้
       
ส่วนคดีนักท่องเที่ยวในศาลจังหวัดพัทยา เป็นนโยบายของศาลยุติธรรมที่จะเปิดเผนกคดีท่องเที่ยวเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการพัฒนาระบบการคุ้มครองสิทธิของนักท่องเที่ยว ให้ได้มาตรฐานสากล และเห็นชอบให้เปิดส่วนคดีนักท่องเที่ยวในศาลจังหวัด และศาลแขวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวม 7 แห่ง ได้แก่ศาลจังหวัดพัทยา ศาลแขวงเชียงใหม่ ศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดเกาะสมุย ศาลจังหวัดกระบี่ ศาลแขวงปทุมวัน และศาลแขวงดุสิต
       
ในครั้งนี้เป็นการเปิดทำการที่ศาลจังหวัดพัทยาเป็นแห่งแรก ภารกิจสำคัญของส่วนคดีนักท่องเที่ยว ได้แก่ การให้คำแนะนำ และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในการดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หรือในกรณีที่นักท่องเที่ยวต้องรีบเดินทางกลับ ก็จะสืบพยานนักท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้า และอาจแต่งตั้งให้ผู้แทนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลคดีแล้วแจ้งผลให้ทราบต่อไป หรือถ้านักท่องเที่ยวตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา และประสงค์จะแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลประเทศของตนทราบเพื่อขอความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้
       
ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศได้รับความเป็นธรรมภายใต้ระบบกฎหมายไทยโดยเท่าเทียมกัน
 
 

เอฟทีเอ ว็อทช์แจงเหตุผลเคลื่อนไหวระหว่างการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูรอบ 2 ที่เชียงใหม่
 
ภาคประชาสังคมไทยจับมือทุกสีเสื้อ ประกาศชุมนุมใหญ่ติดตามเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู รอบ 2 ที่เชียงใหม่สัปดาห์หน้า ใช้ข้อมูล พณ.ตอกหน้ากลุ่มทุนส่งออกอาหารและยานยนต์ อยากต่อสิทธิ GSP แค่ 3 หมื่นล้าน แต่ปล่อยให้ยาแพงแสนล้าน เมล็ดพันธุ์แพงแสนล้าน เกษตรกรเดือดร้อนทั่วแน่ ตามที่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รอบที่ 2 จะมีขึ้นระหว่าง วันที่ 16-20 ก.ย.นี้ ณ โรงแรมเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ นั้น วันนี้ (10 กันยายน 2556) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดแถลงข่าว การเคลื่อนไหวภาคประชาชนระหว่างการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ระหว่างวันที่ 18 -19 กันยายนที่จะถึงนี้
 
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ใน 3 เรื่องหลักคือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991 ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปส และยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตนั้น จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม
 
 
สคส.เปิดเวทีรับฟังความเห็นร่างพรบ.กฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ ฉบับปชช.
 
9 ก.ย. 56 มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง จัดเวทีรับฟังความเห็น ร่างพรบ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ฉบับประชาชน ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังร่างพรบ.ดังกล่าวประมาณ 200 คน
 
สืบเนื่องจากกฎหมายอนามัยการเจริญพันธุ์ เป็นกฎหมายแนวคิดใหม่ที่ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย แต่มีการประกาศใช้แล้วในบางประเทศ ซึ่งประเทศไทยกำลังยกร่างกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพแก่ประชาชนในเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ฉบับภาคประชาชน ที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน ได้จัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ตัวแทนกลุ่มเยาวชน ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้การจัดเวทีประชุมเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับภาคประชาชน จัดขึ้นใน 4 ภาค คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้จัดที่จังหวัดสงขลา ภาคเหนือจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคกลางจัดที่กรุงเทพฯ และจะมีการนำร่างพรบ.เข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาต่อไป
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม