ทหารในสนามบอล? ลดบทบาททหารกันเถอะ

ทหารในสนามบอล? ลดบทบาททหารกันเถอะ

Benjamin Franklin เมื่อ 30 ก.ย. 2556

เมื่อเดือนก่อน ผู้เขียนมีโอกาสชมฟุตบอลคู่หนึ่ง(ขออนุญาตสงวนชื่อทีม) ระหว่างการแข่งขันแฟนบอลทีมเจ้าบ้านไม่พอใจกรรมการเพราะเห็นว่าตัดสินเป็๋นประโยชน์กับทีมเยือนมากจนผิดสังเกต จึงเริ่มขว้างปาขวดลงมาในสนามจนเกิดความวุ่นวาย เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องนำกำลังเข้ามาในสนามเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาควบคุมความสงบเรียบร้อยมีทั้ังตำรวจและทหาร 
 
สำหรับตำรวจ เมื่อมีเหตุการณ์วุ่นวายเช่นนี้ ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องนำกำลังเข้ามาควบคุมสถานการณ์ แต่สำหรับทหาร การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมฝูงชนดูจะเป็นการปฏิบัติงานที่ผิดฝาผิดตัว อย่างไรก็ตาม การปรากฎตัวของทหารในฐานะผู้ควบคุมความสงบเรียบร้อยในสนามฟุตบอล ดูจะไม่ทำให้คนในสังคมตั้งคำถามมากนัก อาจเป็นเพราะชายในชุดพรางเข้ามามีบทบาทในภาคส่วนต่างๆของสังคมไทยนานแล้ว นานจนผู้คนรู้สึกคุ้นชินและมองว่าการปรากฎกายของทหารในที่ๆไม่ควรจะมีทหารอยู่เป็นเรื่องธรรมดา
 
 
 
 
 
 
โดยหลักการ ทหารเป็นเพียงสถาบันเดียวในรัฐที่ถือครองและใช้อาวุธร้ายแรงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย บทบาทของทหารจึงจำเป็นที่จะต้องถูกจำกัดให้อยู่แค่การใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องอธิปไตยและความอยู่รอดของรัฐ ซึ่งได้แก่การใช้กำลังป้องกันภัยคุกคามจากรัฐอื่นหรือใช้กำลังเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่ออธิปไตยภายใน ได้แก่การป้องกันการยึดอำนาจโดยไม่ชอบเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธเข้ามาเป็นผู้ถืออำนาจหรือมีบทบาทในการบริหารปกครองรัฐ อย่างไรก็ดี สังคมไทยดูจะไม่สนใจที่จะเดินตามหลักที่ว่ามาข้างต้นมากนัก
 
ในรัฐไทย ทหารดูจะเป็นสถาบันที่มีอำนาจและมีอิทธิพลมาก ในอดีตทหารเคยมีบทบาทมากถึงขนาดเป็นผู้ถืออำนาจการปกครอง ในปัจจุบันแม้ทหารจะไม่ได้เข้ามามีบทบาททางการปกครองเฉกเช่นกาลก่อน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับสังคมไทย ทหารมีบทบาทมากไปกว่าการเป็นแค่ผู้ปกป้องอธิปไตยและความอยู่รอดของรัฐ เช่น
 
เวลามีวิกฤตการณ์ทางการเมือง ผู้บัญชาการทหารบกมักเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆที่สื่อจะเข้าไปถามความเห็น เวลารัฐเผชิญปัญหาจากการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ รัฐมักให้ทหารมาช่วยตำรวจควบคุมฝูงชน (แม้หลายครั้งยังมีความคลุมเคลืออยู่บ้างว่าผู้ชุมนุมเป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยและความอยู่รอดของรัฐถึงขั้นที่จะต้องให้ทหารมาทำหน้าที่แล้วหรือไม่) เวลาเด็กนักเรียนตีกันทหารมักรับหน้าเสื่อเป็นผู้จัดค่ายอบรมเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นอกจากน้ี ทหารยังมีบทบาทในการบรรเทาสาธารณะภัยหรือแม้แต่เข้ามาช่วยตำรวจควบคุมสถานการณ์ในสนามฟุตบอลด้วย 
 
ดูผิวเผินการที่ทหารเข้ามามีบทบาทในกิจการของรัฐนอกเหนือไปจากทำหน้าที่ป้องกันอธิปไตยเช่นการเข้ามาควบคุมฝูงชน ภารกิจบรรเทาสาธารณะภัยและการออกมาปรามในยามที่สังคมเกิดความขัดแย้งเหมือนจะเป็นเรื่องดี ทหารซึ่งมีการทำงานที่เด็ดขาดและเป็นเอกภาพดูจะรับมือกับสิ่งต่างๆได้ดีกว่ากลไกพลเรือนโดยเฉพาะนักการเมืองที่มักขัดขาขั้วตรงข้ามจนการทำงานไม่คืบหน้า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดูเหมือนดีนี้มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายไป 
 
ในแง่ของความโปร่งใส สถาบันทหารเป็นเสมือนแดนสนธยา เพราะข้อมูลหลายอย่างถูกปิดบังภายใต้ข้ออ้างเรื่อง"ความมั่นคง" หากทหารเข้ามามีบทบาทในมิติอื่นมากขึ้นสิ่งที่เคยเปิดเผยอาจถูกดูดกลืนเข้าไปในแดนสนธยาไม่วันใดก็วันหนึ่ง นอกจากนี้ลักษณะการทำงานของทหารซึ่งเป็นระบบสั่งการจากบนลงล่างอย่างเคร่งครัด หากนำมาใช้จัดการกับความขัดแย้งทางการเมืองอาจทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยไทยต้องหยุดชะงักเพราะมันจะไปกดทับความแตกต่างและการโต้เถียงซึ่งเป็นสิ่งปกติตามระบบประชาธิปไตย 
 
คงเป็นหน้าที่ที่คนในสังคมจะต้องถามตัวเองว่าพร้อมจะจ่ายราคาที่ว่านี้หรือไม่ หากคนในสังคมเลือกที่จะยอมจ่ายผู้เขียนก็คงต้องเคารพการตัดสินใจนั้น แต่หากคนในสังคมเห็นว่าราคาที่จะต้องจ่ายไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับ นี่ก็อาจจะเป็นเวลาที่จะต้องเสนอให้มีการลดบทบาทของทหารกันแล้ว 
 
Image credit
 
Image: elijahlight
Thumbnail: dying regime
คุณแสดงความคิดเห็นว่า
Vote
Get Adobe Flash player