รอบอาทิตย์ที่สอง เดือนตุลาคม 56: ประกาศพรบ.มั่นคงคุมม็อบกปท.

รอบอาทิตย์ที่สอง เดือนตุลาคม 56: ประกาศพรบ.มั่นคงคุมม็อบกปท.

เมื่อ 13 ต.ค. 2556
กฤษฎีกา ระบุ นายกฯไม่ผิดหากแก้รัฐธรรมนูญล้ม ชี้ กฎหมายไม่มีบทบญัติให้ต้องรับผิดชอบ
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนายสาย กังกเวคิน สว.สรรหา เป็นประธาน ได้พิจารณาถึงประเด็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสว. ที่ล่าสุดพบว่าได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ โดยนายนิพนธ์ ฮะกิมี รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าชี้แจงฐานะตัวแทนรัฐบาล ว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
 
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยทางกฎหมายแล้วเห็นว่าประเด็นที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นจะมีเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ตามที่มาตรา 291 (1) วรรคสองระบุเท่านั้น
 
ทั้งนี้ คณะกมธ. ซักถามถึงต่อความรับผิดชอบของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการหากเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68
 
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุถึงความรับผิดชอบดังกล่าว อีกทั้งไม่ทราบว่าผลพิจารณาจะออกมาในรูปแบบใด และกรณีที่มีผู้ร้องศาลให้พิจารณาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ส่วนตัวคิดว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญขึ้นมา บทสรุปของรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วจะตกไปด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใด ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาไต่ตรองต่อไป
 
“ม็อบอุรุพงษ์” ปักหลักที่เดิม จี้ดูแลความปลอดภัย “นิติธร” ลั่นเลือดตกยางออกไปที่ ตร.เยอะ
รอง ผบช.น.บุกม็อบอุรุพงษ์ จี้ย้ายไปสวนลุมฯ อ้างการจราจรมีปัญหา ชักแม่น้ำทั้งห้ายกมุกพื้นที่เสด็จฯ ลอกแม่นางโพยเข้าสู่อาเซียน อ้างนายกฯ จีนยังต้องไปที่อื่น แกนนำ คปท.ยืนยันชุมนุมที่เดิมโดยสงบ ไม่เผาบ้านเผาเมือง “ทนายนกเขา” อัดกลับ นายกฯ เปิดโอกาสชุมนุมโชว์ ปชต.ดีกว่าออก พ.ร.บ.จำกัดสิทธิ ใบ้ให้ถ้าม็อบเลือดตกยางออก ย้ายไปที่ตำรวจเยอะแน่ ท้าไม่ต้องประกาศ พ.ร.บ.ทุบม็อบ มาจับพวกตนได้ พร้อมสู่วิถีทางตามกฎหมาย
       
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เมื่อเวลา 18.20 น. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะดูแลงานด้านจราจร เข้าเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่แยกอุรุพงษ์ ถนนพระราม 6 โดยมี นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) และนายนิติธร ล้ำเหลือ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม คปท.ร่วมเจรจา โดยการเจรจาดังกล่าวได้มีการใช้เครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบอย่างเปิดเผย
       
พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มาขอคืนพื้นที่ แต่ขอมาพูดคุยกัน แต่ถ้าจะทำอะไรต้องดูประเทศชาติและประชาชน ซึ่งการพูดคุยกับแกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ มาวันนี้ด้วยความเป็นห่วง ประการแรกสิทธิตามรัฐธรรมนูญก็เห็นด้วยในการกำหนดไว้ในการให้สิทธิประชาชน ซึ่งการชุมนุมตามประชาธิปไตยเป็นสิ่งสวยงาม แต่อยากให้เข้าใจว่าการจราจรมีปัญหา จึงคิดว่าเพื่อไม่ให้มีปัญหาจราจรภาพรวมก็ขอร้องให้ไปชุมนุมจุดที่ไม่มีปัญหาจราจรโดยจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล จึงอยากขอร้องและความกรุณาด้วย ที่ผ่านมาตนก็ถูกด่าว่าดูจราจรอย่างไร ถ้าตนไม่มาตนก็ไม่ได้แก้ปัญหา
       
ทั้งนี้ ถ้าอยู่ตรงนี้อาจมีเหตุซ้ำซ้อนขึ้นอีก อาจมีพวกไม่พอใจ มาครั้งนี้จึงอยากมาปรึกษาหารือ แต่ถ้าจะปักหลักที่นี่ก็ไม่เป็นไร ตำรวจจะคอยดูแล ถ้าจะย้ายไปสวนลุมฯ ก็จะจัดรถมาให้เรียบร้อย อยู่ตรงนี้กับตรงนู้นไม่ต่างถ้ามีอุดมการณ์แน่วแน่ ถ้าจะปฏิรูปเราต้องแข่งขัน ปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่สำคัญเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเสด็จฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะเป็นเส้นเดินทางของนายกรัฐมนตรีจีน ก็ต้องย้ายไปเส้นอื่น จึงอยากขอร้องด้วย
       
ด้านนายอุทัย กล่าวว่า ถ้าจะย้ายสถานที่ตรงนี้ หยุดชุมนุมไม่ดีกว่าเลยหรือ เพราะท้ายที่สุดจะมีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง อีก ก็ต้องย้ายที่ชุมนุมไปเรื่อยๆ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าแถวนี้ก็บอกว่าขายของได้ดีกว่าเดิม แต่การกีดขวางการจราจรไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุด เพราะมีการแบ่งพื้นที่จราจรแล้ว ดังนั้นการชุมนุมจุดนี้ดีกว่าชุมนุมที่ทำเทียบรัฐบาล ขอให้ไปดูว่าชุมนุมสงบ ไม่มีการเผาบ้านเผาเมือง จึงขอยืนยันว่าจะปักหลักตรงนี้ ไม่เคลื่อนไปไหน ขออยู่ตรงนี้ เราไม่สร้างความปั่นป่วน วุ่นวาย จะชุมนุมอหิงสา ปราศจากอาวุธ ถ้าจะสร้างสถานการณ์ก็เข้าใจ เพราะมีคนชอบและไม่ชอบ แต่ขอให้ตำรวจมาดูแลความปลอดภัยด้วย
       
ขณะที่ นายนิติธร กล่าวว่า ตนขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจราจร และขอบคุณที่ได้เปิดโอกาสให้ใช้พื้นที่นี้เปิดโอกาสแสดงสิทธิ์แก้ไขปัญหาบ้านเมือง ขอบคุณตำรวจทุกคนที่อำนวยการด้านการจราจร เชื่อว่าจะดูแลด้านความปลอดภัยอย่างเต็มที่ และเหตุการณ์เมื่อคืนจะไม่เกิดขึ้นอีก ความงดงามของประชาธิปไตยที่จะหวนให้กับพี่น้องต่างชาติ ต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยือนและสัมพันธไมตรี ตนเห็นว่าเมืองไทยมีประชาธิปไตยแต่รูปแบบมานานแล้ว วันนี้ถ้าผู้นำจีนจะมาได้เห็นประชาธิปไตยแต่เนื้อหา ได้เห็นประชาชนได้มาแสดงสิทธิเสรีภาพ แสดงข้อเรียกร้องอย่างเปิดเผยโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เขาจะชื่นชมประเทศไทยมากกว่าออก พ.ร.บ.ความมั่นคง มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       
ทั้งนี้ ตนคิดว่าถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำสักครั้งหนึ่งในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพ ตนเชื่อว่านายกฯ คณะรัฐมนตรี และตำรวจจะได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลกที่เคารพสิทธิมนุษยชน ในส่วนประชาธิปไตยในเนื้อหานั้น เรายึดถือหลักสำคัญคือหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักสิทธิเสรีภาพ หลักการตรวจสอบ ถ้าหลักสิทธิเสรีภาพ หลักการตรวจสอบยังอยู่ได้ นั่นหมายความว่าประชาธิปไตยในประเทศนี้ยังมีอยู่ได้ ฉะนั้นถ้าหลักสิทธิเสรีภาพนั้นหายไปแม้แต่นิดเดียว นั่นหมายถึงการสั่นคลอนของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
       
นายนิติธร กล่าวต่อว่า ในส่วนเสรีภาพในการชุมนุมนั้น ตนคิดว่าตำรวจก็ดูกฎหมายเหมือนกัน ในมาตรานี้เขาไม่ได้กำหนดสถานที่ชุมนุมไว้ กำหนดไว้ว่าโดยสงบ เพื่อให้สื่อสารถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนที่จะเสนอตรงต่อผู้ปกครอง ผู้บริหารประเทศ วันนี้ประชาชนกำลังทำตรงนี้ ตนยืนยันว่าการชุมนุมตรงนี้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน และตนเชื่อมั่นว่า ตำรวจจะเปิดทางให้ประชาชนทุกคนที่เห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมชุมนุมอย่างเต็มที่ เหตุการณ์เมื่อคืนนั้นตนถือว่าเป็นช่วงของการเริ่มต้น การดูแลอาจยังไม่ครบถ้วน แต่หลังจากนี้ ตนคิดว่าเราต้องปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์
       
“ถ้าพี่น้องประชาชนตรงนี้ไม่ปลอดภัย ผมจะหารือกันว่าเราจะหาที่ปลอดภัยที่ไหน และที่ปลอดภัยที่ดีที่สุดสำหรับผม สำหรับพี่น้องประชาชน คือที่ที่มีตำรวจเยอะที่สุด ฉะนั้นผมก็ฝากเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ผบ.ตร.และ ผบช.น.ถ้าคืนนี้พี่น้องผมเจ็บแม้แต่นิดเดียว มีการถูกทำร้าย ผมจะเคลื่อนย้ายไปหาที่ปลอดภัยทันที แล้วถ้าท่านเห็นว่าผมทำผิดกฎหมาย ผมอยู่ตรงนี้ ผมจะบอกพี่น้องประชาชนทุกคนว่า ไม่ต้องต่อต้านตำรวจ พี่น้องประชาชนที่เห็นต่างจะเข้ามาทำร้าย ไม่ต้องตอบโต้ เพราะพวกเราทำร้ายประชาชนด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายขอขอบคุณและเข้าใจในความหวังดี สบายใจได้ว่า ผมจะอยู่ในที่นี้ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ขอเพียงรับรองความปลอดภัยให้กับผม แล้วถ้าหากว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ไม่ต้องประกาศ พ.ร.บ.ไปเชิญ ผบ.ตร. ผบช.น.มา แล้วมาจับพวกผมไป ผมจะไปดีๆ ไม่ต้องเอากำลังมา ไม่ต้องเอาโล่ ไม่ต้องเอากระบองมา โทร.มาผมไปรอที่หน้าชุมนุม ไปกับท่านทันที ผมพร้อมจะสู้ในวิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย เราอยู่กันได้อย่างสงบ” นายนิติธร กล่าว
 
โฆษกศอ.รส.แจงประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคง
ที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 9 ต.ค.2556 เมื่อเวลา 18.00 น. พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ศอ.รส.เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะผอ.ศอ.รส. ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อหารือและรับทราบแนวทางปฎิบัติเกี่ยวการชุมนุม ณ ศปก.ตร. อาคาร 1 ชั้น 20 ตร. ซึ่ง ผอ.ศอ.รส.ได้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯระหว่างวันที่ 9 - 18 ต.ค. 2556 จำนวน 3 เขต คือ เขตดุสิต, เขตป้อมปราบและเขตพระนครฯ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
 
ทั้งนี้ เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการปลุกระดม เพื่อขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ประกอบกับได้มีการกระทำที่ละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย โดยได้มีการจับกุมผู้พกพาอาวุธปืน อาวุธมีด และอุปกรณ์อื่นที่ใช้เป็นอาวุธได้อยู่ในพื้นที่ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีข้อมูลข่าวสารว่า มีการตระเตรียมการชุมนุมยืดเยื้อเป็นเวลานาน และจะยึดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทำเนียบรัฐบาลและใกล้เคียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ และรับรองแขกสำคัญจากต่างประเทศ ประการสำคัญ อาจมีผู้ไม่หวังดีก่อเหตุระหว่างการชุมนุมเพื่อหวังผลสร้างสถานการณ์ให้รุนแรง และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ หากไม่มีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างเหมาะสมอาจทำให้สถานการณ์ขยายลุกลามจนเกิดความรุนแรงเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการบริหารราชการแผ่นดิน
 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า สำหรับการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวนั้น ถือเป็นกฎหมายที่ป้องกันเหตุ ซึ่ง ผอ.ศอ.รส. ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ใช้ความอดทนในการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดหลักเมตตาธรรม นิติธรรม และหลักประชาธิปไตย ให้ตำรวจพึงระลึกถึงและยึดถือรัฐธรรมนูญ โดยตำรวจมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายกลับไปสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
 
ครม.ไฟเขียวกม.คุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ.... เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครองและส่งเสริม มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ใน 7 สาขา ได้แก่ ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม วรรณกรรมพื้นบ้าน กีฬาภูมิปัญญาไทย แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรม และงานเทศกาล ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และภาษา โดยหลักการของพ.รบ. ดังกล่าว ประกอบด้วย มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ระดับชาติและระดับจังหวัด การจัดทำทะเบียนของจังหวัด การขึ้นทะเบียนของชาติ คุ้มครองและส่งเสริม มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายที่คุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้อง ไม่ได้จากประเทศอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศฝรั่งเศส และประเทศโรมาเนีย
 
นายสนธยา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังจะรองรับพันธกิจในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้อง ไม่ได้ เมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นอนุสัญญาภาคีแล้ว ได้แก่ การจัดทำทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่ตับต้องไม่ได้ การจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองการดำเนินมาตรการทาง กฎหมาย การเสนอรายการที่เป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ ประเทศไทย ได้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2552-2556 แล้ว จำนวน 218 รายการ ได้แก่ สาขาศิลปะการแาดง 51 รายการ งานช่างฝีมือดั้งเดิม 42 รายการ วรรณกรรมพื้นบ้าน 43 รายการ กีฬาภูมิปัญญาไทย 20 รายการ แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรม และงานเทศกาล 22 รายการ ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 25 รายการ และภาษา 15 รายการ ซึ่งหลังจากนี้ วธ. จะนำ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาต่อ คณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
 
นักวิชาการระบุ รบ.ประกาศพรบ.มั่นคงคุมม็อบไม่คุ้ม
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2556 นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่ 3 เขตได้แก่ เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตพระนคร เป็นระยะเวลา 10 วันตั้งแต่วันที่ 9-18 ต.ค.56 เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ที่มีการชุมนุมอยู่ที่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง อาจอ้างได้ว่านายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 ต.ค. แต่ถ้ามองที่ผ่านๆมารัฐบาลก็ปล่อยให้มีการชุมนุมในขณะที่นายกฯประเทศอื่นๆเดินทางมาได้ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มกปท.ก็ไม่ได้มีเจตนาที่ต่อต้านนายกฯจีนแต่อย่างใด 
 
"การประกาศกฎหมายพิเศษของรัฐบาลก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปที่นำมาใช้กับมวลชนในหลักร้อยคน และท่าทีของกปท.ก็ไม่มีท่าทีรุนแรงใดๆ รัฐบาลตื่นตูมมากที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ทำไมไม่ใช่กฎหมายปกติ ใช้กฎหมายพิเศษมากๆ ก็จะกลายเป็นไม่พิเศษ ทั้งนี้ผมมองว่าการที่รัฐบาลประกาศออกมาเพราะกลัวในวันที่ 12-13 ต.ค.จะมีมวลชนมาเติมและจะคุมลำบาก และกลัวสัญลักษณ์ในวันที่ 14 ต.ค. เพราะกปท.ก็ได้มีกลุ่มอาชีวะเข้าร่วม และผมมองอีกว่าการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคง รัฐบาลไม่คุ้ม เพราะกปท.มีคนไม่มาก รัฐบาลอย่าไปตื่นตระหนก"นายไชยันต์ ระบุ
 
เขายังให้ความเห็นในตอนท้ายว่า ถ้ารัฐบาลกลัวมาก ก็ให้ส.ส.เสียงข้างมากในสภาออกกฎหมายให้มีที่ชุมนุมสาธารณะ
 
วิปรัฐฯ เดินหน้าแก้ รธน.190 วอน ปชช.เห็นใจ รัฐจำเป็นใช้ ก.ม.มั่นคง
นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาลเผย รัฐ เดินหน้า พิจารณา แก้ รธน.ม.190 อังคาร 15 ต.ค.นี้ ต่อด้วย ม.68-237   วอน ปชช.เห็นใจ รัฐจำเป็นใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ คุมม็อบ
 
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่า ทางวิปรัฐบาลได้แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า จะมีการพิจารณา แก้ รธน.ม.190 ในวันที่ 15 ต.ค. ที่จะถึงนี้ แล้ว เมื่อแก้ รธน.ม.190 เสร็จแล้ว ซึ่งส่วนตัวก็ยังไม่ทราบว่าจะพิจารณาเสร็จภายในกี่วัน ทางรัฐบาลก็จะขอบรรจุ การแก้ รธน.ม.68 และ ม.237 ต่อไปในทันที
 
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่เป็นห่วงว่า อาจจะกระทบกับรัฐบาล เพราะต้องนรอทางศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดี เกี่ยวกับการแก้ รธน. ที่มา ส.ว. ผิด รธน.ม.68 ให้เสร็จก่อน เนื่องจากเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ ชัดเจน ที่จะทำการแก้ รธน.ได้ตามรธน.ม.3(2) หรือ แม้แต่กรณีอาจเกิดการตีรวนจากฝ่ายค้าน ก็ตาม ซึ่งเราเชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
 
ส่วนกรณีที่รัฐบาล ตัดสินใจประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระหว่างวันที่ 9-18 ต.ค. นี้นั้น ทางรัฐบาลต้องขอความเห็นใจจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจป้องกันและดูแลความเรียบร้อย ยิ่งในวันพรุ่งนี้ นาย หลี่ เคอ เชียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. และมีกำหนดการณ์มาเยือนที่รัฐสภา แล้วกลุ่มม็อบเองก็ประกาศจะชุมนุมในวันพรุ่งนี้พอดี ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือหากรัฐสภาเกิดประชุมไม่ได้ขึ้นมา เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดล้อม ประเทศคงได้รับความเสียหายแน่
 
ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงต้องป้องกันเอาไว้ก่อน ความเป็นจริงไม่ได้ต้องการจะจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ก็ต้องขออภัยพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้รับความสะดวก.
 
6 องค์กรสิทธิฯ จี้รัฐบาลเลิกใช้ กม.มั่นคง จัดการม็อบ
จี้ยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง 6 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องรัฐบาลล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงจัดการกับการชุมนุมของประชาชน ขณะสมาคมรัฐศาสตร์ มก. เตือนยกเลิกใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ก่อนเสพติดความรุนแรง
กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติวานนี้ (9 ต.ค.56) ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9-18 ต.ค. นี้
 
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 56 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ศกส.) และ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชน รวมถึงให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจบริหารให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
ที่มา : ประชาไท
 
จ่อฟ้องรัฐ ประกาศใช้พ.ร.บ.มั่นคง โดยมิชอบ
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.

นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือ กปท.เดินทางมายังศาลอาญา ตามที่ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายไทกร พลสุวรรณ นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ คดีร่วมกันก่อการร้ายปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เนื่องจากทั้งสามมีพฤติการณ์กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว กรณีจัดชุมนุม และขึ้นเวทีปราศรัย ที่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 และพื้นที่บางส่วนภายในบริเวณสวนลุมพินี ถ้อยคำปราศรัยเป็นการโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง รวมทั้งคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 4-5 สิงหาคม ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้นายไทกร กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งในวันนี้ได้นำหลักฐานเป็นเอกสารและซีดีบันทึกเหตุการณ์ชุมนุมมอบให้ศาล ส่วนพยานบุคคลส่วนตัวได้กำหนดไว้เบื้องต้น 4 ปาก  

ในส่วนสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปท. ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลนั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรับคำสั่งจากรัฐบาล ตัดน้ำและอาหารที่จะส่งเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ส่วนที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เห็นว่าขั้นตอนการประกาศใช้มิชอบโดย กฎหมาย เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้กีดขวางทางสาธารณะแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองที่นำแผงเหล็กมากั้น เป็นเหตุให้ทางสาธารณะติดขัด และขณะนี้อยู่ระหว่างปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของ กปท.เพื่อยื่นฟ้องดำเนินคดีกับคณะรัฐมนตรีที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงดังกล่าวที่ศาลปกครอง รวมถึงดำเนินคดีแพ่งด้วย
 
ฟังความเห็นร่างกฎหมายน้ำ คปก. วางหลักสิทธิเข้าถึง มีมาตรการป้องกันเตือนวางแผนป้องกันน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 56 คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. ....”  ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 
 
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า  บทบาทสำคัญของคปก.คือการให้คำปรึกษาร่างกฎหมายแก่ภาคประชาชน โดยร่างฯฉบับนี้เป็นความริเริ่มขององค์กรภาคประชาชนที่เสนอให้คปก.จัดทำ โดยที่ผ่านมากระบวนการจัดทำกฎหมายของคปก.มีสองแนวทางคือ 1.การศึกษา ค้นคว้าทางวิชาการ 2.การรับฟังความเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยได้จัดรับฟังความคิดเห็นครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว ทั้งนี้พบประเด็นที่สำคัญคือ ทรัพยากรน้ำมีความสำคัญต่อคนทุกคน ไม่ควรถูกผูกขาดจากคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติอาจจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ประกอบกับปัจจุบันพบว่า การจัดการทรัพยากรน้ำยังคงมีปัญหาในหลายด้าน เช่น ปัญหาน้ำอุทกภัย ปัญหาน้ำขาดแคลน มลพิษทางน้ำ ความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ปัญหาความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำในฤดูแล้งและการระบายน้ำในช่วงอุทกภัย รวมไปถึงการสูญเสียความสมดุลของน้ำในระบบนิเวศทั้งแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
 
“มาตรการจัดการน้ำกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติจะต้องมีแผนก่อนโดยการจัดทำแผนควรมาจากระดับฐานรากตั้งแต่ระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับลุ่มน้ำ โดยมีแนวทางสำคัญคือ มองภาพวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้งต้องมองในระยะยาวโดยเน้นไปที่การป้องกัน การเชื่อมโยง และต้องมีแผนจัดการในระยะยาว อีกทั้งให้อำนาจเจ้าหน้าที่เป็นกรณีพิเศษในระยะชั่วคราวให้สามารถเข้าไปดำเนินการจัดการได้” 
 
นายไพโรจน์ กล่าวว่า การจัดการน้ำที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยรัฐแต่ในระยะ4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าชุมชนเข้ามาจัดการเรื่องน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติปัญหาเรื่องน้ำ ดังนั้นการมีกฎหมายต้องตอบโจทย์การมีส่วนร่วม และควรอยู่บนหลักการที่สำคัญคือ 1.การให้สิทธิในการเข้าถึงเรื่องน้ำ 2.จัดระบบมาตรการบริหารต้องจัดการร่วมกัน 3.นำไปสู่การจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาภาพและสร้างความสมดุลกับระบบนิเวศน์ที่ดำรงอยู่ 4.มีมาตรการในการป้องกัน และหลีกหนีภาวะวิกฤติของน้ำ ตนเชื่อว่าหากมีหลักการเหล่านี้จะสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ในภาพรวมของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารองค์กร และเพิ่มบทบาทองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาการจัดการน้ำในประเทศไทย นอกจากการรับมือแล้ว ตนเชื่อว่าจะสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรน้ำมากขึ้น 
 
นายไพโรจน์ กล่าวว่า น้ำเป็นของส่วนรวมเพียงแต่การจัดการน้ำควรอยู่ที่ใคร และจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในรูปแบบใดเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน หลักการจึงควรวางหลักการพื้นฐานให้เป็นหลักประกันว่า น้ำประเภทใดบ้างที่จะต้องได้รับการดูแลก่อนหรือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการดำรงชีพ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อระบบนิเวศ และน้ำเพื่อจารีตประเพณี ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ระบุชัดเจนว่ารัฐจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น กรณีมีโครงการทุกระดับรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างทั่วถึงและต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
 
“หากพิจารณาองค์กรจัดการน้ำจะมีอยู่ 4 ระดับ เราออกแบบว่าควรมีระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้ง4  ระดับต้องทำงานเชื่อมโยงกัน ซึ่งมีประเด็นตามมาในเรื่องกองทุนน้ำ กฎหมายฉบับนี้ได้ออกแบบให้เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ส่วนแหล่งทุน จะมาจากภาษีเกี่ยวกับน้ำตามที่กำหมายกำหนด และส่วนหนึ่งจะมาจากเงินงบประมาณประจำปีหรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยกองทุนนี้มุ่งหมายให้ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาและองค์กรผู้ใช้น้ำ  อีกทั้งสนับสนุนชุมชนในการร่วมพัฒนา ฟื้นฟู คุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ” 
 
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรน้ำ ซึ่งในร่างฯดังกล่าวได้กำหนดการแบ่งประเภทการจัดสรรน้ำออกเป็น 5 ประเภท คือ 1. การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน 2.การใช้น้ำเพื่อการเกษตรรายย่อย การอุตสาหกรรมในครัวเรือน 3.การใช้น้ำเพื่อจารีตประเพณี รักษาระบบนิเวศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 4.การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่นตามที่กนช.กำหนด 5.การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ  ในร่างฯดังกล่าวระบุชัดว่า การใช้น้ำประเภทที่ 4 และ 5 จะต้องจ่ายค่าใช้น้ำ และได้กำหนดให้การออกใบอนุญาตอาจกำหนดเงื่อนไข เช่น เงื่อนไขในการปฏิบัติ ปริมาณน้ำสูงสุดที่อนุญาต ระยะเวลาที่จำเป็นแก่การควบคุมคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำ
ที่มา : ประชาไท
 
21 ต.ค.เริ่มมาตราการยกรถแทนล็อคล้อบนถนน10สาย แก้ปัญหาจราจร
คมนาคม ประสานกำลัง บชน.และกทม.บังคับใช้มาตรการยกรถแทนล็อคล้อ เริ่ม 21 ต.ค.นี้ ดีเดย์บนถนน 10 สายหลักแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด โดยสัปดาห์หน้าจะระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พร้อมประชาสัมพันธ์ผู้ใช้รถใช้ถนนเข้าใจกฎหมาย 
       
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเป็นการบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเห็นชอบร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในถนน 10 เส้นทาง ตามที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) กำหนดไว้ ประกอบด้วย ถนนลาดพร้าว  / พระราม ๔ / สุขุมวิท /  รัชดาภิเษก  /  รามคำแหง /  พหลโยธินรวมเกษตร – นวมินทร์  / สาทร  /  ราชดำเนิน / เพชรบุรี และ วิภาวดีรังสิต โดยช่วงแรกจะระดมเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบด้านกายภาพสภาพทั้งหมด ทั้งสภาพการจราจร การกำหนดความเร็วในการขับขี่ สัญญาณไฟจราจร แนวเส้นจราจร ถนนหรือทางเดินที่ชำรุด  คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้นจะเริ่มตรวจสอบในชั่วโมงเร่งด่วน 
       
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายในวันที่ 21 ตุลาคม กรณีพบการจอดรถที่ผิดกฎหมายจะไม่ใช้มาตรการล็อคล้อแต่ใช้วิธียกรถออกจากพื้นที่ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง รวมถึงการลงโทษ โดยจะมีการประเมินผลใน  1  เดือน และ 3 เดือน เพื่อนำประเด็นปัญหาที่พบมาหารือแก้ไขร่วมกัน ซึ่งก่อนวันที่ 21 ตุลาคม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับทราบล่วงหน้า หากพบการจอดรถที่ผิดกฎหมายจะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนก่อน 
       
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหาจราจร หรือ ITS มาใช้เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ดำเนินโครงการศูนย์การจราจรอัจฉริยะ ระยะที่ 2 บนทางพิเศษกาญจนาภิเษก( บางพลี – สุขสวัสดิ์)   โดยติดตั้งระบบเก็บข้อมูลสภาพการจราจรแบบอัตโนมัติบนทางพิเศษกาญจนาภิเษกและได้มีการพัฒนาระบบ ITS มาใช้บนทางพิเศษอื่น ซึ่งสามารถประมวลผลและจัดการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง การขนส่ง และความปลอดภัยบนทางพิเศษ และได้พัฒนาเป็นแอพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนภายใต้ชื่อ EXAT ITS ซึ่ง กทพ. จะประสานงานกับ บก.จร. และ กทม. ในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
 
มติวุฒิสภารับหลักการ ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ 2ล้านล้าน
ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงินฯ) วงเงิน 2ล้านล้านบาท วาระแรก ด้วยคะแนนเสียง 86 เสียง ต่อ 41 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คนพิจารณา และกำหนดวันแปรญัตติ 7 วัน
 
โดยในการอภิปรายของส.ว. พบว่าใช้เวลาไปทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง มีส.ว.ที่อภิปรายทั้งสิ้น 70 คน ทั้งนี้ในการอภิปรายของส.ว.ในภาพรวมนอกจากจะสนับสนุนการออกร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ แล้ว ได้เสนอให้รัฐบาลมีการใช้งบฯ ที่มาจากการกู้เงินด้วยความโปร่งใส ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม ชี้แจงตอนท้ายว่าสิ่งที่สว.ท้วงติงว่าบางโครงการยังไม่พร้อม เพราะไม่ผ่านกระบวนการทำอีไอเอ ประเด็นดังกล่าวมีความสอดคล้องยุทธศาสตร์ระยะยาว 7 ปี ที่จะต้องมีกระบวนการทำอีไอเอ ส่วนที่ดำเนินการได้ทันทีในปีแรกสามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้โครงการใดที่ยังไม่มีกระบวนการทำอีไอเอ ยังไม่สามารถกู้เงินเพื่อดำเนินการได้
 
"ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ ร้อยละ 60 เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นเรื่องอนาคต ขณะนี้มีความตกลงกับ 5 ประเทศเพื่อส่งบุคลากรไปฝึกฝน ดังนั้นเชื่อว่าจะเกิดความตื่นตัว ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูง รัฐบาลได้มองถึงแง่ความเติบโตของเศรษฐกิจในการสร้างเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามขณะนี้มีต่างประเทศแสดงความต้องการที่จะเข้ามาร่วมทุนแล้ว ในสัดส่วนต่างชาติ ร้อยละ 49 และนักลงทุนไทย ร้อยละ 51 ทั้งนี้ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ในด้านการดำเนินการยืนยันจะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง" นายชัชชาติ ชี้แจง
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวขอบคุณและชี้แจงว่า การกู้เงิน 2ล้านล้านบาท เป็นกรอบวงเงินเพื่อให้รัฐบาลชุดปัจจุบันและอนาคต กู้เงินไม่เกินวงเงินดังกล่าว ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถควบคุมวินัยการคลังและการชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี ไม่ได้เป็นไปตามที่ส.ว.ให้ความกังวล และที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้ออกกฎหมายเงินกู้จำนวนหลายฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดที่มแผนการชำระเงินกู้อย่างเป็นทางการ แม้การชำระหนี้ที่มีการคำนวณไว้ 50 ปีจะชำระหมด ภายใต้ข้อสมมติของอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น และเงินต้น ได้คำนวณอย่างระวังไม่กระทบต่อกฎหมายรายจ่ายประจำปี โดย 10 ปีแรกจะไม่มีการชำระคืนเงินต้นของยอดกู้เงิน แต่หลังจากนั้นจะคืนเงินต้น จำนวน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
 
ปภ.รายงานอุทกภัย 29 จังหวัด เสียชีวิต 37 ราย
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2556 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 41 จังหวัด 302 อำเภอ 1,849 ตำบล 14,700 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,027,348 ครัวเรือน 3,496,630 คน บ้านเรือนเสียหาย 20,542 หลังพื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,254,417 ไร่ ผู้เสียชีวิต 37 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง กำแพงเพชร อุทัยธานี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ และยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 29 จังหวัด 166 อำเภอ 1,033 ตำบล 7,760 หมู่บ้าน 499,761 ครัวเรือน 1,792,519 คน 
 
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดที่ประสบอุทกภัย แยกเป็น ระดับความรุนแรง 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ส่วนระดับปานกลางมี 15 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชลบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท นครนายก ราชบุรี และปทุมธานี และระดับเล็กน้อย 11 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ขอนแก่น ระยอง จันทบุรี กาญจนบุรี สระบุรี ยโสธร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และสมุทรปราการ 
 
"แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ อย่างไรก็ตามจากการติดตามสภาพอากาศในระยะ 2-3 วันนี้ พบว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางแห่ง" นายฉัตรชัย กล่าว
 
ตั้งคณะทำงานชุดเล็กใน7ประเด็นปฏิรูปการเมือง
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2556 เวลา 14.00 น. มีการประชุม "เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตย และ ประเทศร่วมกัน" ด้านการเมือง ตามแนวคิดการจัดเวทีสภาปฏิรูปประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุม ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. นายบรรหาร ศิลปอาชา แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นควรสรุปกำหนดประเด็นการปฏิรูปการเมือง แบ่งออกเป็นเรื่องสำคัญ 7 ประเด็นดังนี้ 1.วิสัยทัศน์การเมืองและประชาธิปไตยไทย 2.การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ รวมทั้งโครงสร้างสถาบันทางการเมือง และระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล 3.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการเมืองภาคประชาชน 4.การพัฒนาพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 5.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 6.การสร้างคามปรองดองที่ยั่งยืน 7.ประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า 
 
นายบรรหาร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้คณะทำงานได้มอบหมายให้นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำความเห็นต่างๆ ของผู้เข้าร่วมประชุมไปดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กตามประเด็นย่อยข้างต้น โดยคณะทำงานชุดเล็กแต่ละชุดประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทำงานประสานกับองค์กรประชาธิปไตย สถาบันทางวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ความคิดที่ตกผลึก มีเป้าหมาย แนวทางและกรอบเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน แล้วนำกลับมาเสนอต่อตน ในฐานะผู้ดูแลภาพรวม เพื่อประมวลความเห็นต่อที่ประชุมเวทีปฏิรูประเทศไทย ในเดือนธ.ค.ที่มีนายกฯ เป็นประธานต่อไป ทั้งนี้ตนเชื่อว่าเวทีปฏิรูปประเทศไทยทั้งหมด จะเป็นรูปเป็นร่างภายในปีนี้
 
ศาลรธน.ไม่รับตีความร่างแก้ไขรธน.ตามช่องทางม.154
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ภายหลังผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งไม่รับคำร้อง กรณีที่ประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะรวม 68 คน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กับคณะรวม 142 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1) ว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาส.ว. มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 
 
เนื่องจากทั้งสองกรณีมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน ศาลจึงพิจารณารวมกัน เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291 โดยบัญญัติหลักเกณฑ์ และวิธีการตาม (1) ถึง (7) ว่า ให้ต้องทำเป็นบัญญัติขอแก้ไขเพิ่มเติมรับธรรมนูญ และเสนอเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ มาตรา 291 (7) ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับตราพระราชบัญญัติ เฉพาะมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติ มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัย มาบังคับใช้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้ว กรณีตามคำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
 
นอกจากนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้ชี้แจงการคัลเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมเพื่อเลือกกันเองเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมมีมติด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 เลือกนายจรูญ อินทจาร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
 
ผู้สูงอายุ-เครือข่ายด้านคนพิการเรียกร้อง "รถเมล์ภาษีประชาชน ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน"
เครือข่ายสูงอายุ ร่วมกับ องค์กรด้านคนพิการ เดินทางไปสำนักงานใหญ่ ขสมก. เรียกร้องให้การจัดซื้อรถโดยสารรอบใหม่ 3,183 คัน มีทางลาดบริเวณประตูรถ มีระบบเสียง และมีอักษรวิ่ง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก และปลอดภัย พร้อมระบุด้วยว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายหาก ขสมก. ใช้เงินภาษีจัดซื้อรถเมล์แบบเลือกปฏิบัติ
 
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนสูงอายุ นำโดย สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ เครือข่ายจิตอาสาเพื่อนคนพิการ เครือข่ายองค์กรด้านคนพิการ และประชาชนสูงอายุผู้ใช้รถโดยสาร (รถเมล์) สาธารณะ ได้เดินทางไปที่สำนักงานใหญ่ ขสมก. ถ.เทียนร่วมมิตรฯ กทม. เพื่อเรียกร้องให้ ขสมก. ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดซื้อรถโดยสารแบบ NGV จำนวน 3,183 คัน จัดทำ TOR หรือขอบเขตของงานในการจัดซื้อรถโดยสารให้ทุกๆ คนสามารถเดินทางด้วยรถเมล์ได้
 
โดยในแถลงการณ์ที่ยื่นต่อ ขสมก. ได้เรียกร้องให้กำหนดขอบเขตของงาน หรือ TOR การจัดซื้อรถโดยสารให้ชัดเจนว่าจะต้องมี 1) ระบบอำนวยความสะดวกให้ทุกคนในสังคม รวมถึงผู้สูงอายุ และคนพิการทุกคนใช้รถเมล์ทุกคันได้อย่างสะดวก และปลอดภัย และ 2) มีระบบเสียงและตัวอักษรวิ่งบนป้ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้คนตาบอดและคนหูหนวกได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่พนักงานขับรถหรือพนักงานเก็บเงินพูด/ทำท่าทางบอกผู้โดยสารทั่วไป
 
ในแถลงการณ์ที่เครือข่ายยื่นต่อ ขสมก. ระบุด้วยว่า หาก  ขสมก. ไม่ดำเนินการแก้ไข TOR ตามข้อเสนอดังกล่าว เครือข่ายผู้สูงอายุ พร้อมจะร่วมกับ “ภาคีเครือข่ายประชาชน : ทุกคนขึ้นรถเมล์ได้ทุกคัน” ดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจาก ขสมก.เลือกปฏิบัติ กล่าวคือ  ใช้เงินจากภาษีของประชาชนทุกคนจัดซื้อรถเมล์ 3,183 คัน  แต่ไม่จัดบริการรถเมล์สาธารณะให้ประชาชนทุกคนใช้ได้ทุกคันอย่างเสมอภาคกัน
ที่มา : ประชาไท
 
มติ ศธ.ให้รร.และอาชีวศึกษาเปิดเรียน16พค.ตามเดิม
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2556 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องกำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมาะสมของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา และมีมติให้โรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ใช้กำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม โดยเปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 16 พ.ค.-11 ต.ค. และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พ.ย.-1 เม.ย.ของทุกปี เพราะเห็นว่ากำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนที่ใช้อยู่มีข้อดีมากกว่า 
 
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอให้เลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 10 มิ.ย.-4 พ.ย. ส่วนภาคเรียนที่ 2 เปิดวันที่ 26 พ.ย.-26 เม.ย. อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูแล้วกำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนเดิมมีความสอดคล้องกับสภาพสังคม ประเพณี ฤดูกาลของไทยมากกว่า นักเรียนไม่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเดือน ต.ค.และยังสอดคล้องกับสภาพตลาดแรงงานในประเทศด้วย เพราะความต้องการแรงงานในประเทศจะขึ้นสูงมากในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.ของทุกปี เพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนอาชีวศึกษาสำเร็จการศึกษาในช่วงเดือนเม.ย.ก็จะสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากกว่า 
 
"สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้นแม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาตั้งแต่เดือน เม.ย.ทำให้เหลือเวลาร่วม 4 เดือนครึ่งเพื่อรอเปิดภาคเรียนระดับอุดมศึกษาในเดือน ส.ค. โดยจากการพิจารณาพบว่าไม่มีปัญหากลับเป็นโอกาสให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัวสอบมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดีในการปรับระบบการสอบรับตรง ที่จะขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยให้เปิดสอบรับตรงหลังจากนักเรียนจบการศึกษา คือหลัง 1 เม.ย. ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัว และมหาวิทยาลัยเองก็มีเวลาในการจัดระบบการสอบให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้หารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)องค์การมหาชนให้ช่วยขยับช่วงเวลาการสอบของสทศ.ไปช่วงหลังปิดภาคเรียน ซึ่งก็ได้รับความเห็นด้วยจาก สทศ."รมว.ศึกษาธิการ กล่าว