รอบอาทิตย์ที่สาม เดือนตุลาคม 56: แดงแจ้งจับป.ป.ช.หมิ่นเบื้องสูง

รอบอาทิตย์ที่สาม เดือนตุลาคม 56: แดงแจ้งจับป.ป.ช.หมิ่นเบื้องสูง

เมื่อ 18 ต.ค. 2556
14 ตุลาคม 2556
 
เดินหน้า​ พรบ.คุ้มครองวัฒนธรรม ย้ำไม่ใช่การแช่แข็ง
 
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ย้ำเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้  แม้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการแช่แข็งวัฒนธรรม โดยยืนยันว่าเป็นการคุ้มครองเจ้าของวัฒนธรรม จากการถูกบิดเบือนและละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ และรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
 
ภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ วันนี้ นายปรีชา กันทิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย เสนอต่อคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ พร้อมย้ำร่างกฎหมายนี้ ไม่ใช่การแช่แข็งวัฒนธรรม อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล
 
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การออกกฎหมายคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม เป็นการคุ้มครองเจ้าของวัฒนธรรม จากการถูกบิดเบือนสาระสำคัญ และการถูกละเมิดลิขสิทธ์ ภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายคุ้มครองผลประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าของวัฒนธรรมไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ได้เอง
 
ส่วนประเด็นการดึงสถาบันหลักของชาติ เป็นองค์ประกอบของการคุ้มครองวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มองว่า เป็นการปกป้องปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสาหลักของชาติ
 
นอกจากนี้ นายปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกกฎหมายคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นการปฏิบัติตามหลักการขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ที่หลายประเทศปฏิบัติตาม ซึ่งไทยเองก็ดำเนินการช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
 
ที่มา Voice TV
 
15 ตุลาคม 2556
 
เร่งปรับกฎหมายอุปถัมภ์ฯ รวม พ.ร.บ.คณะสงฆ์
 
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและมีความเห็นว่า ควรนำบทบัญญัติในส่วนที่กำหนดแนวทางเกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและการกำหนดให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาไปบัญญัติเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จะเหมาะสมกว่าการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่นั้น ตนได้นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวรายงานต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) แล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอมา
 
และในเร็ววันนี้ จะมีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอมาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาต่อไป ในส่วนของการรับรองสถานภาพของแม่ชี ที่มีการระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาด้วยนั้น ทาง มส.เห็นว่า การรับรองสถานภาพของแม่ชี สามารถออกเป็นระเบียบเพื่อมารองรับสถานภาพของแม่ชีได้ ไม่จำเป็นต้องมีการระบุไว้ในร่างกฎหมายดังกล่าว
 
พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการและโฆษก มส. กล่าวว่า รู้สึกงงต่อกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีกลับร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ทั้งยังแนะนำให้ไปปรับใช้กับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ซึ่งก็ยังถือว่ามีบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่า คนเขียนกฎหมายไม่ได้ใช้ ส่วนผู้ที่ใช้ไม่ได้เขียน ทั้งที่พระคือผู้ปฏิบัติก็น่าให้พระเป็นผู้ร่วมเขียนด้วย พระจะได้ปฏิบัติถูก 
 
นอกจากนี้แนวปฏิบัติของสังคมสงฆ์ในสมัย พ.ศ.2505 กับปัจจุบันก็แตกต่างกันมาก ทางคณะสงฆ์อยากให้มีกฎหมายที่ตราขึ้นให้ทันต่อสภาวการณ์ กฎหมายยุคนั้นย่อมเหมาะกับยุคนั้น แต่มายุคนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น จะทำอย่างไรให้แนวบริหารกิจการคณะสงฆ์เป็นไปอย่างทันต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน
 
 
16 ตุลาคม 2556
 
"พรีม่าโกลด์" เผยผู้บริหารสาวชูป้ายด่ากราดนายกฯ ลาออกไปแล้ว เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
 
จากกรณีมีภาพสุภาพสตรีคนหนึ่งไปร่วมชุมนุมประท้วงกับกลุ่มหน้ากากขาว และม็อบต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมกับชูป้ายใช้คำหยาบคายด่าทอนายกรัฐมนตรี และต่อมามีคนใช้อินเตอร์เน็ตฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลออกมาเผยแพร่ชื่อและสถานที่ทำงานของสตรีคนดังกล่าว ว่าเป็นรองกรรมการผู้จัดการของบริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ส่งผลให้ในเว็บเพจเฟซบุ๊กของพรีม่าโกลด์ มีประชาชนเข้าร้องเรียนพฤติกรรมของสตรีคนดังกล่าวจำนวนมาก
 
ล่าสุด ผู้ดูแลเฟซบุ๊กพรีม่าโกลด์ ได้โพสต์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ "ทางบริษัทฯ ได้ทำการพิจารณาหาข้อยุติ โดยพนักงานท่านนี้จะขอแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออกเพื่อไม่ให้การแสดงออกส่วนตัวทางการเมืองเกิดผลกระทบต่อองค์กร"
 
ด้านนายสมศักดิ์  เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "การเอาทัศนะทางการเมืองของใคร (โดยที่การแสดงทัศนะนั้นของเขา ไม่ได้ทำในนามองค์กร) มาเล่นงานที่อาชีพการงานส่วนตัวของเขา เป็นลักษณะสำคัญของยุคสมัยและวิธีการรณรงค์ที่เรียกว่า "แม็คคาธี่อิสม์" ใน ปวศ อเมริกัน ที่ใช้ทัศนะการเมืองของดารา นักเขียน จำนวนมาก มาบีบให้เขาตกงาน (เรียกว่าถูกขึ้น "แบล็คลิสต์") 
 
"นี่เป็นวิธีการแบบฟัสซิสต์ ที่เราเห็น ฝ่ายเหลือง ทำกัน (บีบไม่ให้มหาวิทยาลัย รับ "ก้านธูป" หรือการกดดันจะให้มหาลัย หรือที่ทำงานไล่ นศ หรือ พนักงานที่ "ล้มเจ้า" ออก) ก็นับว่า "ประหลาด" ดีที่เสื้อแดงหลายคน (แม้แต่คนที่มีการศึกษาและอาชีพการงานสูง คือไม่ใช่เสื้อแดง "ระดับชาวบ้าน" อะไร) ที่อ้างเสมอว่า "เป็นฝ่ายประชาธิปไตย" กลับนิยมชมชอบวิธีการแบบฟัสซิสต์แบบนี้ หรือมาแก้ตัวน้ำขุ่นๆให้กับวิธีฟัสซิสต์ แบบนี้ 
 
"การยืนยันว่าวิธีการแบบนี้ผิด ไม่เกี่ยวกับ "มองโลกสวย" อะไร แค่ยืนยันว่า ไม่ต้องการใช้วิธีการแบบฟัสซิสต์ แต่ปากว่าตาขยิบว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย"
 
 
17 ตุลาคม 2556
 
แดงแจ้งจับป.ป.ช.หมิ่นเบื้องสูง
 
เวลา 14.00 น. นายโชคชัย ฤทธิ์บุญรอด ผู้แทนเครือข่ายสภายุติธรรม พร้อมด้วย นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป.ที่กองปราบปรามเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, นายกล้านรงค์ จันทิก, นายใจเด็ด พรไชยา, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, นายภักดี โพธิศิริ, นายเมธี ครองแก้ว, นายวิชา มหาคุณ, นายวิชัย วิวิตเสวี, นายปรีชา เลิศกมลมาศ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 83
       
นายหนึ่งดินกล่าวว่า จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดี เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดร่วมกันแต่งตั้งนายวิชัย วิวิตเสวี เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่มีการยื่นเรื่องเพื่อให้ ปปช.ชี้มูลความผิดกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากการที่นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งบุตรชายคือ นายทนายรัฐ กุลบุปผา เป็นเลขานุการส่วนตัว และอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยยังได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว
       
ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช.ไต่สวนกรณีนี้แล้วระบุว่า ไม่มีมูลความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจหลีกเลี่ยงการชี้มูลความผิด และถือเป็นความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ ป.ป.ช.ไปด้วย
 
พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป.ได้รับเรื่องไว้ในเบื้องต้น ก่อนจะนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
 
 
พนง.มหาลัย ฟ้องผู้บริหาร แฉสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม
 
พนง.มหาวิทยาลัย แจ้งความผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แฉถูกกดดัน-บีบสัญญาจ้าง ด้านศูนย์ประสานงานบุคลาการในสถาบันอุดมศึกษาเผย พบกรณีสัญญาพนักงานมหาวิทยาลัยไม่เป็นธรรมทุกภูมิภาค ชี้ระบบพนักงาน ม.ยากต่อการเรียกร้องสิทธิ
 
ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากแหล่งข่าว พร้อมเอกสารถึงกรณีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต่อสถานีตำรวจภูธร จังหวัดเชียงราย และผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาไต่สวน
 
โดยแหล่งข่าวแจ้งว่า การแจ้งความดำเนินคดีเกิดขึ้นเพราะ มีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการประเมินการต่อสัญญาจ้าง ที่มีลักษณะเป็นการกดดัน และบีบสัญญาจ้างทั้งรู้สึกว่ามีการกลั่นแกล้งระหว่างการประเมิน 
 
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง รศ.วีรชัย พุทธวงศ์  ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา รศ.วีรชัยกล่าวว่า ทางศูนย์ประสานงานฯ ได้รับข้อมูลจากทั่วประเทศ และทราบว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงทุกภูมิภาค ล่าสุด ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษร์ธานี ก็มีการแจ้งความในลักษณะเดียวกัน 
 
รศ.วีรชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ตนเองและตัวแทนคณะอาจารย์ทั่วประเทศกว่า 50 คนได้เข้าพบและนำเรียนปัญหานี้แล้วกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นย้ำเรื่องระบบพนักงานมหาวิทยาลัย ที่เป็นระบบที่ดีมากในระบบอุดมศึกษา แต่มีเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือของผู้บริหารที่ไม่มีธรรมาภิบาล ในการขจัดคนดีคนเก่งออกจากระบบ สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้ความมั่นคงในอาชีพพนักงานมหาวิทยาลัยลดลง จะทำธุรกรรมการเงินก็ไม่มีใครอยากให้ทำ นอกจากนี้ ระบบพนักงานมหาวิทยาลัยก็ไม่ขึ้นกับกฎหมายแรงงาน การฟ้องเรียกคืนความเป็นธรรม จึงทำได้ลำบาก
 
ที่มา ประชาไท
 
18 ตุลาคม 2556
 
กมธ.พิทักษ์สถาบันเรียกสปอนเซอร์หนังสือ ย้ำยุค รุกสมัย ให้ข้อมูล
 
เมื่อวันที่17 ต.ค. 2556 นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 40 ปี 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เจ้าภาพจัดงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์ เรียกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ลงโฆษณาหนังสือ ย้ำยุค รุกสมัย ไปให้ข้อมูล ได้แก่ 1.ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2.ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 3.ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) 4.อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 5.ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 
 
ทั้งนี้ หนังสือย้ำยุค รุกสมัย: เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา จัดพิมพ์โดยมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เป็นหนังสือรวมบทสัมภาษณ์นักวิชาการชื่อดังและอดีตญาติผู้สูญเสียสมาชิกครอบครัวในเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งต่างๆ เช่น ธงชัย วินิจจะกูล, ประจักษ์ ก้องกีรติ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, เกษียร เตชะพีระ, ละเมียด บุญมาก, พะเยาว์ อัคฮาด, อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งนำมาแจกฟรีให้กับประชาชนที่ร่วมงานวันที่ 6 และ 14 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในมีโฆษณาและคำกล่าวขอบคุณหน่วยงานทั้ง 5 หน่วยงานที่กมธ.เรียกไปให้ข้อมูล โดยผู้ที่ถูกเชิญ จะเดินทางเข้าพบคณะกรรมาธิการดังกล่าวเพื่อให้ข้อมูลในวันที่ 18 ต.ค.
 
ที่มา ประชาไท