ควรมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนในชุมชนเมือง

ควรมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนในชุมชนเมือง

iLaw เมื่อ 23 ต.ค. 2556

นโยบายสร้างการคมนาคมระบบราง ไม่ว่าจะเป็น BTS MRT หรือAirport linkในพื้นที่ชุมชนเมืองได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ที่ต้องสัญจรไปมาในกรุงเทพเป็นอย่างดี เพราะการคมนาคมระบบรางดูจะเป็นทางเลือกที่สามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างระบบคมนาคมนี้ก็มีผลกระทบในทางลบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในหลาย ๆชุมชนไม่น้อย
 
การสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงสถานีราชปรารภ เป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวเป็น “พื้นที่ทองคำ” ที่มูลค่ามีมหาศาลและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การเวนคืนที่ดินของภาครัฐโดยไม่มีการให้ข้อมูลเรื่องการเวนคืนที่ชัดเจนและข้อมูลเรื่องการเยียวยาหลังเวนคืนเช่นการฟื้นฟูวิถีชีวิตหรือการจัดสรรที่อยู่ใหม่ของชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดิน ก่อให้เกิดคำถามว่าการเวนคืนครั้งนี้ เป็นความจำเป็นเพื่อการพัฒนาหรือเป็นการเวนคืนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีการเวนคืนที่ดิน มีราคาที่ต้องจ่ายไปมากกว่าแค่งบประมาณแผ่นดิน เพราะการที่คนในชุมชนต้องย้ายที่อยู่โดยฉับพลันย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ รวมทั้งกระทบต่อความเป็นตัวตน และอัตลักษณ์ที่พวกเขาเหล่านั้นผูกพันกับชุมชนหนึ่ง ๆ การคำนวณราคาของการพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยคำนวณแต่เฉพาะเม็ดเงินลงทุน จึงไม่เพียงพอ เพราะมันไม่ครอบคลุมราคาทางสังคม เช่น จะมีกี่คนที่วิถีชีวิตและการทำมาหากินต้องล่มสลายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งการพัฒนา และเขาเหล่านั้นจะได้ประโยชน์แห่งการพัฒนามากน้อยแค่ไหน
 
 
 
แม้ว่าปัจจุบันระบบกฎหมายไทยจะมีการรับรองสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2550 มาตรา67 แล้ว แต่การรับรองสิทธิดังกล่าว คุ้มครองเพียงแค่เฉพาะสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิของคนในชุมชนเมืองที่ถูกเวนคืนจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีคิดว่า ในเวลาอันใกล้นี้ ควรมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนในชุมชนเมือง โดยคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ควรได้รับความคุ้มครองในเรื่องที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิต เพื่อดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของคนในชุมชน แต่หากจะพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ควรได้รับความเห็นชอบ และให้ความเป็นธรรมกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือการลิดรอนสิทธิ และเสรีภาพ หากเกิดความขัดแย้ง หรือมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างคนในชุมชนกับภาครัฐหรือผู้ที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ควรจะใช้การเจรจาเพื่อหาทางออก ห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรงใด ๆ กับผู้ที่อาศัยในชุมชน
 
เรื่องโดย เนติณี ประทุมทอง นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ ประสานมิตร
 
คุณแสดงความคิดเห็นว่า
Vote
Get Adobe Flash player