รอบอาทิตย์ที่สี่ ตุลาคม56 : อาลัยสมเด็จพระสังฆราช

รอบอาทิตย์ที่สี่ ตุลาคม56 : อาลัยสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อ 26 ต.ค. 2556
24 ตุลาคม 2556 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 เรื่อง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า "วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา รายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19:30 นาฬิกา ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 24 ตุลาคม 2556"
 
ต่อมา เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศว่า "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สิ้นพระชนม์ เนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ โรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2556 เวลา 19 นาฬิกา 30 นาที"
 
 
ผบ.ตร.วอน สถานบันเทิงงดการละเล่น 15 วันไว้ทุกข์พระสังฆราชฯ
 
25 ต.ค.2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้บัญชาการและผู้บังคับการ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเนื้อหาระบุว่า  เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ถวายความอาลัยด้วยการลดธงชาติครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน และให้ข้าราชการแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัว ได้ร่วมถวายความอาลัย โดยพร้อมเพรียงกัน จึงให้ดำเนินการดังนี้
 
1.ให้ทุกหน่วยงานลดธงลงครึ่งเสา เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-27 ต.ค. 2556
 
2.ให้ข้าราการตำรวจและครอบครัวแต่งกายไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.- 8 พ.ย. 2556และอธิษฐานถวายพระพร ตามที่สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชได้เผยแพร่ไว้
 
3.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการสถานบริการ สถานบันเทิง ให้งดเว้นการละเล่น การแสดงบันเทิงและให้ร่วมถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นเวลา 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.- 8 พ.ย. 2556
 

ที่มาข่าว ประชาไท

 

ได้ฤกษ์ดันร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครเข้ารัฐสภา
 
26 ต.ค. 2556 ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองยื่นร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ..ต่อนายวิสุทธิ์  ไชยณรุณรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่2 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์จังหวัดเชียงใหม่
 
นับเนื่องจากภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองและประชาชนได้ร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครขึ้นโดยมีการล่ารายชื่อได้กว่า 12,000 รายชื่อตามกฎหมายเพื่อยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาทั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและให้อำนาจจังหวัดจัดการตนเอง
 
เมื่อเวลา15.00 น. มีประชาชนประมาณ 200 คนยืนตั้งแถว พร้อมตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มชาติพันธุ์ นำโดย นางสาวเงินละวรรณ ได้อ่านแถลงการณ์ ขอรับมอบบ้านเมืองมาจัดการตนเอง และยื่นรายชื่อประชาชน 12,000 รายชื่อต่อนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม

 

จำคุก 75 ปี สาวลวงขาย'เฟอร์บี้'ผ่านเน็ต
 
24 ต.ค. 56 ที่ศาลอาญา ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาคดีที่ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวชนนิกานต์ ไตชิละสุนทร จากกรณีลวงขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ผ่านอินเทอร์เน็ต มีผู้เสียหายหลายราย มูลค่าความเสียหายนับล้านบาท โดยศาลพิพากษาจำคุก นางสาวชนนิกานต์ ไตชิละสุนทร ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กรณีหลอกขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ผ่านอินเทอร์เน็ต จนมีผู้หลงเชื่อสั่งซื้อ 25 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 5 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดจริงจึงพิพากษาจำคุก 75 ปี ปรับ 125,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 35 ปี 6 เดือน ปรับ 62,500 บาท
 
ซึ่งตามกฎหมายความผิดฐานฉ้อโกงสามารถจำคุก ได้ไม่เกิน 20 ปี ดังนั้นให้ลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด แต่จากพยานหลักฐานพบว่าจำเลยได้ชดเชยค่าเสียหายคืนแก่ผู้เสียหายทั้งหมดแล้ว ศาลจึงให้โอกาสกลับตัวรอลงอาญา 3 ปี พร้อมทำงานบำเพ็ญประโยชน์สังคม 30 ชั่วโมง
 
ที่มาข่าว ไทยรัฐออนไลน์
 
 
7 องค์กรอิสระลงนามสร้างพลังคุณธรรม
 
23 ต.ค. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานในพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน ระหว่าง 7 องค์กรอิสระ ประกอบด้วย สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป.ป.ช. และตัวแทนจาก 7 องค์กรอิสระ เข้าร่วมลงนาม
 
 นางผาณิตกล่าวว่า วัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนพลังคุณธรรมจริยธรรม สร้างความเข้มแข็งมีประสิทธภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคีเครือข่าย ให้คนดีมีที่ยืนในสังคม ทั้ง 7 องค์กรอิสระจะนัดประชุมใหญ่กับเครือข่ายภาคีต่างๆ อีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย. นี้ เพื่อประสานความร่วมมือและจัดกิจกรรมให้เป็นรูปธรรมต่อไป 
 
ด้านนายวิชากล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยเข้าสู่วิกฤต ถ้าเราไม่สร้างจิตสำนึกปลุกคนไทยให้ต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น ปล่อยให้ทำอะไรตามใจชอบ คงไปไม่รอด วันนี้คนที่ถูกรังแกที่สุดคือข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้ เครือข่ายจะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเพื่อแก้ปัญหาให้ข้าราชการ 
 
ที่มาข่าว ข่าวสดออนไลน์
 
 
“บรูไน” ประกาศ “กม.ชะรีอะห์” “คบชู้ปาด้วยหินจนตาย-ขโมยของตัดอวัยวะทิ้ง” บังคับใช้ระดับชาติ
 
สุลต่าน ฮัสซานัน โบลเกีย แห่งบรูไน ทรงประกาศกลางงานการประชุมศาลแห่งบรูไนที่จัดขึ้นในกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ว่า หลังจากที่ผ่านมากฎหมายชะรีอะห์ หรือประมวลข้อปฏิบัติต่างๆ ของกฎหมายศาสนาอิสลามนั้น ได้บังคับใช้ในคดีครอบครัว มรดก และคดีเล็กๆ น้อยๆ ในบรูไน แต่ทว่ากฎหมายที่อิงตามหลักศาสนาอิสลามฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในระดับประเทศในเดือนเมษายน 2014 ซึ่งถือได้ว่าบรูไนเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะหกับพลเมืองมุสลิมที่มากถึง 2 ใน3 ของจำนวนประชากรทั้งหมดราว 420,000 คน ส่วนประชาชนชาวบรูไนชนกลุ่มน้อยที่นับถือพุทธ คริสต์ หรือ ความเชื่ออื่น ที่รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ นั้นจะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายอิสลามนี้
       
โดยจุดมุ่งหมายของการขยายให้กฎหมายชะรีอะห์ถูกบังคับใช้ในระดับประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้ศาสนาอิสลามมีอิทธิพลกับสังคมในประเทศ และทำให้บทลงโทษต่างๆ นั้นจะมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การลงโทษด้วยการถูกปาหินจนเสียชีวิตในคดีผิดประเวณี การลงโทษด้วยการถูกตัดอวัยวะในคดีขโมยทรัพย์สิน และการเฆี่ยนในคดีดื่มสุรา เป็นต้น โดยศาสนจารย์ระดับสูงของบรูไน มัฟติ อาวาง อับดุล อาซิส ที่อยู่ร่วมในการประชุมด้วยกล่าวว่า “อย่าไปสนใจในบทลงโทษ เช่น ตัดมือ ปาหิน หรือเฆี่ยน แต่ควรให้ความสนใจในระบบการตัดสินโดยรวม ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะยุติธรรมกับทุกคน และกฎหมายข้อบังคับใหม่จะเป็นเครื่องยืนยันให้ประชาชนชาวบรูไนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
       
 
 
แดง-กลุ่มญาติฯ เดินประท้วงไม่เอาเหมาเข่ง เร่งนิรโทษฯ ปชช.ทุกสี รวม 112
 
เครือข่ายประชาชนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใบสั่ง ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2553 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย และอื่นๆ ประมาณ 60 คน เดินขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริวเณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แก้เนื้อหาจากร่างเดิมที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคณะเสนอ ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้เร่งนิรโทษกรรมกับประชาชนทุกฝ่ายทุกสีเสื้อ รวมถึงนักโทษการเมืองในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ม.112 โดยเร็วด้วย
 
ทั้งนี้เครือข่ายฯ มีการแสดงกิจกรรมด้วยการนำเข่งมาสวมในการเดินขบวนประท้วงด้วย โดยมีการยืนหนังสือต่อตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามไม่มีการเคลื่อนขบวนไปหน้ารัฐสภาเนื่องจากเป็นพื้นที่ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีเพียงตัวแทน 10 คนที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่รัฐสภา
 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของ สมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กหนุ่มผู้ถูกยิงเสียชีวิตให้เหตุการณ์กระชับวงล้อม 15 พ.ค. 53 กล่าวถึงข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ว่าด้วยสิทธิเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถูกยกมาเป็นเหตุผลในการขยายนิรโทษกรรมถึงผู้สังการสลายการชุมนุมนั้นว่า หากยกมาตราดังกล่าวขึ้นมา ก็ต้องนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมืองมาตรา 112 ด้วย แต่กลับไม่มีการนิรโทษกรรมคนกลุ่มนี้
 
พันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์อาชญากรรมระหว่างประเทศ รวมถึงการละเมิดสิทธิในเรื่องต่างๆ นั้นขัดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ

ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ค้านไทยนิรโทษเหมาเข่ง
 
24 ต.ค. 2556 องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งที่จะรวมถึงผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 53
 
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียองค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ถูกแก้ไขจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม จะเป็นการทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมที่มีความผิดไม่จำเป็นต้องรับโทษ 
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
ตร.ปรับ 500 ก่อนปล่อยเนติวิทย์กับพวก หลังชุมนุมปฏิรูปการศึกษา
 
25 ต.ค.2556 เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. แนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทยประมาณ 30 คน นำโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับการปล่อยตัวจาก สน.ดุสิต หลังถูกจับที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ขณะเตรียมเดินขบวนไปกระทรวงศึกษาธิการ โดยตำรวจตั้งข้อหาใช้รถดัดแปลง ซึ่งทั้งหมดโดนปรับรวม 500 บาท
 
ปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาหนึ่งในผู้ถูกจับกุม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตำรวจมีความพยายามแจ้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ความมั่งคงด้วย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาจากข้อเรียกร้อของแนวร่วมฯ ไม่มีประเด็นทางการเมืองจึงยอมไม่เอาความ แต่ทางกลุ่มตนเตรียมแจ้งความกลับตำรวจในข้อหาใช้รถไม่ติดทะเบียน
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
4 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือICT ค้านร่างพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่
 
24 ต.ค.2556 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสายสารสนเทศ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ โดยยื่นต่อ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 
 
แถลงการณ์ ระบุว่า เนื้อหาของร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลและขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐ ธรรมนูญค่อนข้างมาก พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยตั้งตัวแทนจากองค์กรสื่อสารมวลชน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเชื่อมต่อบนอินเทอร์เน็ต หรือผู้ประกอบการเว็บไซต์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เข้าร่วมเป็นตัวแทนในการพิจารณายกร่างดังกล่าวด้วย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
 
ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 1 ปี คดีปิดถนนค้านโรงไฟฟ้าหนองแซง 
 
24 ต.ค.2556 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลจังหวัดสระบุรีนัดอ่านคำพิพากษา คดีชาวบ้านหนองแซงปิดถนนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซงและบ่อขยะในพื้นที่ เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย.2552 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆ ในทางสาธารณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร, ร่วมกันปิดกั้นทางหลวงนำสิ่งใด มากีดขวาง หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่อาจเกิดอันตราย เสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล, ไม่จอดรถชิดขอบทาง, ร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต   
 
จำเลยในคดี 5 คน ประกอบด้วย นายนพพล น้อยบ้านโง้ง และนายคูณทวี ภาวรรณ์ ชาวบ้านจากพื้นที่ อ.แก่งคอยและ อ.เมือง ซึ่งประสบปัญหาจากบ่อขยะเคมีของบริษัท เบ็ตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด, นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และนายสมคิด ดวงแก้ว ชาวบ้านจาก อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งประสบปัญหาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซง ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ และนางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง นักพัฒนาเอกชน
 
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปใจความได้ว่า คดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า การชุมนุมของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 63 หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากที่ยุติแล้วในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปิดถนน เอารถยนต์มาจอดกีดขวางในลักษณะน่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 และ พ.ร.บ.ทางหลวง จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ   
 
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ให้จำคุกจำเลยทั้ง 5 คนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนดคนละ 2 ปี
 
ที่มาข่าว ประชาไท