รอบอาทิตย์สุดท้าย ต.ค.56 : ฉลุย! สภาฯ ผ่านวาระ 3 นิรโทษกรรม “สุดซอย-เหมาเข่ง”

รอบอาทิตย์สุดท้าย ต.ค.56 : ฉลุย! สภาฯ ผ่านวาระ 3 นิรโทษกรรม “สุดซอย-เหมาเข่ง”

เมื่อ 1 พ.ย. 2556
ฉลุย! สภาฯ ผ่านวาระ 3 นิรโทษกรรม “สุดซอย-เหมาเข่ง” ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
 
31 ตุลาคม 2556ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 สั่งพักการประชุมนานกว่า 30 นาที การประชุมสภาฯก็เปิดอีกครั้ง
 
เวลา 19.30 น. โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เสนอต่อที่ประชุมปิดอภิปรายมาตรา 1 เกี่ยวกับชื่อร่างทันที เนื่องจากเห็นว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสงค์อภิปรายแล้ว แต่ถูกส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คัดค้าน โดยเฉพาะ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ที่ประชุมไม่ควรตัดสิทธิการแปรญัตติ โดยครั้งนี้เป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญคงต้องใช้เวลามากกว่ากฎหมายปกติ ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายในวาระอย่างเดียว ถ้าสมาชิกที่ไม่ได้แปรญัตติหรือสงวนความเห็นไว้ ติดใจในเรื่องใดๆ ก็สามารถอภิปรายต่อที่ประชุมได้เช่นกัน แต่ที่ประชุมพลาดตรงนี้ตั้งแต่แรก แนวทางหลังจากนี้จะทำให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นต้องยึดหลักการและให้สิทธิการอภิปรายที่ถูกต้อง อย่าไปกังวลเรื่องเวลาเป็นสำคัญ และหากทำไปอย่างนี้กฎหมายจะเกิดปัญหา
       
ทำให้นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ประธานในที่ประชุม ได้ขอนัดให้วิปทั้งสองฝ่ายไปปรึกษาหารือกันในเวลา 20.30 น. พร้อมกับขอให้ถอนญัตติออกไป โดยนายครูมานิตย์ก็ยินยอม เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ตัดบทให้ดำเนินการประชุมในมาตรา 1 ต่ออีกครั้ง
       
จากนั้นนายธนา ชีรวินิจ ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายมาตรา 1 โดยเสนอให้ตัดทั้งมาตรา ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยประท้วงว่าไม่มีสิทธิอภิปรายเพราะตัดออกทั้งมาตราซึ่งผิดหลักการของการเสนอกฎหมาย แต่ประธานฯก็พยายามไกล่เกลี่ยจนกระทั่งนายธนาอภิปรายจนจบ
       
ต่อมา นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายพร้อมได้นำรูปตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ มาร่วมประชุมกับคนเสื้อแดง ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจอย่างมาก จนเกิดการประท้วงกันวุ่นวายอีกครั้ง จนนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 1 ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าในเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ขอให้ปิดอภิปราย และขอให้ไปพิจารณาต่อในวันอื่น
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้ทุกคนสามารถอภิปรายได้โดยเดินตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การประชุมเดินไปได้ และรวมกันวางกติกาเช่นนี้ในอนาคต โดยให้ประธานเป็นผู้ควบคุม อย่างเช่นสมัยตนเองเป็นรัฐบาลที่เปิดอภิปรายได้เต็มที่โดยไม่มีการปิดอภิปรายแม้จะล่วงเลยไปหลายวัน ทำให้ประธานสั่งพักการประชุม 5 นาที เพื่อไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำกันได้
       
จากนั้นเวลา 22.30 น. นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานสภาคนที่ 1 ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม และขอให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ถอนญัตติการปิดอภิปรายโดยอ้างว่า ได้ไปหารือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แล้วและขอพูดอีก 4 คน คนละ 7 นาที โดยนายพิเชษฐ์ก็ยอมถอนญัตติทำให้นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายมาตรา 1 ต่อไป
       
ต่อมาเมื่อเวลา 23.40 น.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้มีการลงมติหลังส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายในมาตรา 1 ครบ 4 คนคนละ 7 นาที ตามข้อตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 317 ต่อ 74 และงดออกเสียง 1
       
จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณามาตรา 2 ว่าด้วย พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 02.35 น.การอภิปราย ในมาตรา 2 ว่าด้วย “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” โดย ส.ส.ปชป.ที่สงวนคำแปรญัตติและสงวนความเห็นทั้งเวลาการบังคับใช้และให้ตัดออกทั้งมาตรา หลังจากการอภิปรายผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง 30 นาที นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.พท.เสนอญัตติปิดอภิปราย ขณะที่ ส.ส.ปชป.โต้แย้งแต่ก็ไม่มีผล ทำให้ต้องลงมติในมาตรา 2 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะ กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 40 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง จากนั้น นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 จึงให้ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 3 ว่าด้วย การให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่ตั้งขึ้น หลังการัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 49 ถึง 8 สิงหาคม 56 ไม่ว่าผู้กระทำจะทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบ
 
ทำให้ ส.ส. ปชป.ไม่พอใจ ลุกขึ้นประท้วงทันที โดย น.พ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง ปชป. ประท้วงว่า ดึกแล้วแต่ก็ยังดึงดันจะอภิปรายต่อในมาตรา 3 แสดงว่าประธานมีใบสั่งจริงๆ ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ประท้วงโต้กลับไป ว่า มาตรา 1 และมาตรา 2 เสียเวลาไปมากแล้ว ควรจะเข้ามาตรา 3 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ประธานทำหน้าที่ถูกแล้ว จึงอยากให้ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับให้มีการอภิปรายต่อไป แต่ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยังไม่หยุดประท้วง พยายามระบุว่าอำนาจการสั่งพักการประชุม เป็นของประธาน เรารีบได้ถ้ามีประชาชน 4-5 หมื่นมาชุมนุมหน้าสภาเพื่อให้นิรโทษฯ แต่ตอนนี้ผู้ชุมนุม 4-5 หมื่นคน ออกมาคัดค้านการนิรโทษฯ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องให้วิปหารือกัน และสั่งเลื่อนการประชุมออกไปต่อวันพรุ่งนี้ ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียด ทำให้นายเจริญตัดสินใจสั่งพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 03.00 น.
 
 
จากนั้น 03.20 น. ที่ประชุมกลับมาพิจารณาอีกครั้ง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ สลับขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า “จากการหารือคงต้องเอาให้จบ เพราะหากทำตามฝั่งหนึ่งก็จะต้องโดนอีกฝั่งหนึ่งว่า ดังนั้นต้องเป็นอำนาจของประธานที่จะวินิจฉัยซึ่งผมขอวินิจฉัยให้ประชุมต่อ” พร้อมทั้งให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปราย แต่ ส.ส.ปชป. หลายสิบคน อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายสุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง เป็นต้น ได้ลุกฮือประท้วงพร้อมเดินไปหน้าบัลลังก์ ชี้หน้านายสมศักดิ์ ทำให้นายชาดา ต้องอภิปรายด้วยเสียงดังอย่างมีอารมณ์เพื่อกลบเสียงโห่ร้องโวยวายของ ส.ส.ปชป. ทั้งนี้ภายหลังจากที่นายชาดา อภิปรายเสร็จ บรรดา ส.ส.ปชป.ก็เริ่มตะโกนโห่ร้องเพื่อขอให้สั่งเลื่อนการประชุมอีกครั้ง
               
ทำให้ นายสมศักดิ จึงกล่าวขอพักประชุม เพื่อขอหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แต่ ส.ส.ปชป.ไม่ยอม และโห่ร้องอย่างต่อเนื่องจะให้ประธานสั่งพักการประชุมเพื่ออภิปรายต่อในวันพรุ่งนี้  ทำให้นายสมศักดิ์เปลี่ยนใจให้ที่ประชุมดำเนินการประชุมต่อ
 
 
ทั้งนี้ หลังจากที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสร็จ และไม่มีผู้ใดอภิปรายต่อ ทำให้นายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พท. เสนอญัตติ ปิดอภิปรายทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง ตะโกนด่าทอ ของ ส.ส.ปชป. ว่า “ลงคะแนนเลยจะได้ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล” “ข้ามศพมันให้หมดเลย” กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่ คณะ กมธ.เสียงข้างมากเสนอแก้ไข ด้วยคะแนน 307 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 4 เสียง
                
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯคนที่ 2 ขึ้นมานั่งบนบังลังก์ด้วย จากนั้น นายสมศักดิ์ให้เข้าสู่การอภิปรายต่อในมาตรา 4 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม พท. ลุกขึ้นอภิปราย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของ ส.ส.ปชป. ตระโกนว่า “ขี้ข้า” ทำให้ นายจิรายุ พูดขึ้นว่า “ปชป.ใช้มุกเดิม ตะโกนในโรงหนังอีกแล้ว”
 
 
จากนั้น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ลุกขึ้นอภิปรายอย่างมีอารมณ์ว่า เข้าใจถึงสาเหตุของการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยอมรับว่าไม่พอใจที่ กมธ.เสียงข้างมาก มีการแก้ไขเพราะ ตนได้สูญเสียบุพการีไป และยังมีญาติผู้สูญเสียด้วย แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ เอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว ทุกคนในสภาฯแห่งนี้ไม่มีใครสูญเสีย มีตนเพียงคนเดียวที่เป็นผู้สูญเสีย ดิฉันของใช้โอกาสสุดท้ายที่ในสภาฯแห่งนี้ เพื่อยังอยากเรียกร้องหาคนฆ่าพ่อของตนอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกข้อครหาว่าเหยียบศพพ่อของตัวเองเข้ามาที่สภาฯแห่งนี้ ตนก็อยากให้ กมธ.ทบทวนก่อนลงมติ เพื่อเรียกคืนความยุติธรรมและทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นด้วย
                
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่มีผู้อภิปรายต่อ ทำให้ นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พท. เสนอญัตติปิดอภิปราย โดยที่มติเสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการปิดอภิปราย กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมาด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง ต่อด้วยการอภิปรายในมาตรา 5 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 311 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ส่วนมาตรา 6 ไม่มีผู้ขออภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ต่อด้วยมาตรา 7 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน  315 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 เสียง
 
และที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากนั้น นายสมศักดิ์ จึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 04.25 น.
               
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในระหว่างการพิจารณา 5 มาตรารวด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายชวน หลีกภัย และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีการลุกขึ้นทักท้วงแต่อย่างใด ทั้งนี้ รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองตรวจสอบในชั้นวุฒิสภาต่อไป
 
 
 
'พีระพงษ์' แจงแค่ถอนร่างประกาศคุมเนื้อหาสื่อไปแก้ให้ชัด-เล็งชงเข้า กสท. 4 พ.ย.
 
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ถอนร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ออกจากวาระการพิจารณาของที่ประชุม เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา
 
30 ต.ค. 2556 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงสาเหตุที่ถอนร่างประกาศฯ ว่า เป็นการถอนเพื่อเอาไปปรับแก้ เนื่องจากเนื้อหาในร่างประกาศฯ นี้บางส่วน ยังมีข้ออ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่ เพราะมีบางถ้อยคำที่คนอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ต้องไปตีความกันอีก โดยเฉพาะในหมวดที่ 2 ที่มีถ้อยคำต้องปรับแก้มากหน่อย ยืนยันว่าการถอนร่างประกาศฯ นี้ออกที่ประชุม กสท.วันดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้ให้นักกฎหมายหลายสำนักรวมถึงฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กสทช.ดูร่างประกาศฯ นี้แล้ว ก็ไม่มีใครท้วงติงเรื่องปัญหาทางข้อกฎหมายแต่อย่างใด
 
พล.ท.พีระพงษ์ ระบุด้วยว่า จะนำร่างประกาศฯ นี้กลับไปหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการเนื้อหาและผังรายการ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 เพื่อปรับแก้เนื้อหาที่ยังไม่ชัดเจน จากนั้นจะเสนอกลับไปให้ที่ประชุม กสท.ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 พิจารณาทันที โดยการปรับแก้เนื้อหาครั้งนี้ เป็นไปเพื่อตอบโจทย์การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์บางคนหรือบางกลุ่ม
 
ที่มา : ประชาไท
 
 
ผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 1 หมื่นชื่อ-ขอแก้รัฐธรรมนูญใช้ 5 หมื่นได้
 
30 ต.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา โดยมีสาระสำคัญคือเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 และให้สิทธิประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,000 คน เข้าชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ได้ และให้สิทธิประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 50,000 คน เข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยในขั้นตอนต้องมีการแจ้งให้ประธานรัฐสภาได้รับทราบถึงความริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย หรือเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภา, สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือหน่วยงานที่มีอำนาจช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎหมายแต่ประชาชน ตามที่ผู้ริเริ่มเสนอร่างกฎหมายต้องการ นอกจากนั้นให้สิทธิประชาชนขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองตามที่กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมืองกำหนดได้ ทั้งนี้หลังจากการแสดงเจตจำนงริเริ่มร่างกฎหมายแล้ว ต้องดำเนินการเข้าชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามเวลาให้สิทธิ์จำหน่ายเองคืนผู้ริเริ่ม
       
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาจะต้องเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องไม่เป็นผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และเมื่อประชาชนยื่นรายชื่อประกอบเสนอร่างพ.ร.บ.หรือญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาต้องตรวจสอบความถูกต้องให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน จากนั้นให้ประกาศรายชื่อผู้เขาชื่อทางสื่อเทคโนโลยีของสำนักงานเลขาธิการสภา และจัดทำเอกสารให้ประชาชนรวมถึงให้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีตรายชื่อตรวจสอบ และหากประชาชนคนใดถูกแอบอ้างชื่อสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อประธานรัฐสภา ภายใน 30 วัน ส่วนบุคคลใดที่แอบอ้างชื่อเพื่อร่วมเสนอกฎหมายได้กำหนดให้มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากบุคคลใดสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อจูงใจให้ร่วมลงชื่อ หรือไม่ให้ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการบังคับให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
       
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ มีมติเห็นชอบพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มีมติด้วยเสียง 368 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง และหลังจากที่สภามีมติเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่กระบวนการประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
 
 
 
เครือข่ายปกป้องสถาบัน นัดแจ้งความ 112 ละครเจ้าสาวหมาป่า
 
 
30 ต.ค.2556 ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ภายในงานมีการพูดถึงขบวนการล้มสถาบัน และมีการเปิดฉายคลิปบางส่วนของละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” ที่จัดแสดงในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้ดำเนินรายการชี้ว่าอาจมีการหมิ่นสถาบันผ่านละครดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการนัดแนะเครือข่ายฯ ให้นำคลิปละครดังกล่าวเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัยในความผิดมาตรา 112 ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยจะมีการแจกคลิปภายหลังงานสำหรับผู้ที่สนใจเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 52 คนได้ลงชื่อแสดงความสนใจ
 
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากเครือข่ายจากจังหวัดอยุธยาได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงความยากลำบากในการแจ้งความคดีมาตรา 112 ซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมักไม่รับแจ้งความ แม้แต่อัยการหรือสภาทนายความประจำจังหวัดก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
ผศ.ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า กรณีนี้ควรแจ้งความเอาผิดกับผู้แสดง, ผู้แต่งบทละคร, ผู้จัดงานและผู้เผยแพร่ โดยเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องไปหารายชื่อบุคคลเหล่านี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความให้ผู้แจ้งยืนยันให้ตำรวจทำบันทึกเหตุผลการไม่รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งในการแจ้งความควรรวบรวมรายชื่อจำนวนมากเพื่อแสดงพลังมวลชน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากมาตรการทางกฎหมายในการแจ้งความทุกภูมิภาคแล้ว ควรมีมาตรการเชิงรุกในการลงโทษทางสังคมกับผู้กระทำผิดด้วย
 
รศ.กิจบดี ก้องเบญจภุช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ผู้ที่ยุ่งกับสถาบันกษัตริย์ไม่เคยมีใครได้ดี ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปเสียชีวิตที่รั่งเศส จอมพล ป.พิบูลสงครามก็เสียชีวิตในต่างประเทศเช่นกัน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความยุติธรรมนั้นหมดไป การเมืองกลายเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่มีใครที่เคารพความสุจริต ดังนั้น ในการจัดการกับกระบวนการทำลายสถาบัน เราจึงควรแจ้งความเพราะเรื่องนี้เป็นอาญแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว หากไม่ดำเนินการก็สามารถใช้มาตรา 157 เอาผิดเจ้าหนาที่ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
 
สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กมธ. วิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบการจัดงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ จัดโดยคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ในฐานะที่ปรึกษารมว.ต่างประเทศเป็นประธาน ทั้งในส่วนของการจัดทำหนังสือ “ย้ำยุค รุกสมัย” และละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” การแสดงงิ้วการเมือง ลิเกการเมือง การแสดงละครเวทีนั้นเป็นการล้อเลียนพระเจ้าอยู่หัวและบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนของสปอนเซอร์การจัดงานไม่ว่าจะเป็น กฟผ.ปตท.ธกส.กรมส่งเสริมการปกครองฯ ทาง กมธ.ได้เรียกมาชี้แจงแล้วพบว่า มีการสนับสนุนเงินทุนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท โดยที่ไม่รู้เห็นกับเนื้อหาของงาน
 
สมชายยังระบุเนื้อหาสำคัญในหนังสือย้ำยุคฯ ด้วยว่ามีบทกวีและบทความจากนักวิชาการหลายคนที่มีเนื้อหาสอดรับกับการจัดงาน ซึ่งกำลังศึกษาว่าจะสามารถดำเนินคดีกับส่วนใดได้บ้าง
 
สำหรับเครื่องมือในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ นั้น สมชายเห็นว่า ต้องช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสังคมทั้งในลักษณะปากต่อปาก ทางเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และวิทยุชุมชน เพราะวิทยุชุมชนก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ข้อมูลผิดๆ เช่น การสร้างละครไม่น้อยกว่า 170 ตอนเผยแพร่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด
 
ที่มา : ประชาไท
 
 
คนกำแพงเพชร แจ้งจับคนแสดงละคร“เจ้าสาวกับหมาป่า”ส่อหมิ่นเบื้องสูง
 
1 พ.ย.56 นายสุวัฒน์ วัฒนศิริ และ นายมรุธ สุวรรณสุข พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบัน จังหวัดกำแพงเพชร ประมาณ 20 คน ได้เดินทางไปที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร เพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีคณะการแสดงละคร เรื่องเจ้าสาวกับหมาป่า เนื่องจาก เป็นการจงใจแสดงเจตนาดูหมิ่น และให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์
       
ก่อนที่เครือข่ายฯ จะเข้าพบพนักงานสอบสวนนั้น ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ด้วยขณะนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว่า มีกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เรียกชื่อว่ากลุ่ม ” นิติราษฏร์” ได้พยายามออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีการวิพากษ์อย่างรุนแรง ถึงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนี้ แต่ก็ถูกต่อต้านจากพี่น้องประชาชน ผู้รักสถาบันพระมหากษัตริย์
       
หลังจากที่เหตุการณ์เงียบไประยะหนึ่ง เพราะถูกต่อต้านอย่างเปิดเผย ทำให้คนกลุ่มนี้พยายาม ที่จะแสดงออกทางสัญลักษณ์โดยวิธีอื่น จนกระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2556 ซึ่งมีการจัดงานวันระลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้มีนักศึกษา และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จัดแสดงละครเพื่อรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่เนื้อเรื่องและบทบาทการแสดงละครดังกล่าว มิได้มีเนื้อหาถึงเหตุการณ์ในอดีตที่กล่าวถึงเลย กลับแสดงละคร เรื่อง “เจ้าสาวกับหมาป่า” โดยใช้คำพูดในบทละคร มีลักษณะจงใจหมิ่นสถานบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ผู้เข้าชม และสื่อมวลชนต่างวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไปว่าไม่เหมาะสม ขณะที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว และบุคคลในรัฐบาล กลับปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
       
ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคิดจะทำอะไร อย่างไร หรืออาจมีส่วนรู้เห็นในการกระทำของนักศึกษา และอาจารย์ ดังนั้น ในฐานะเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบัน จังหวัดกำแพงเพชร ได้เล็งเห็นว่า การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้น เป็นการจงใจแสดงเจตนาดูหมิ่น และให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงแม้นเนื้อหาในละครอาจจะใช้คำพูดเลี่ยงคำ เช่น พระเจ้าแผ่นดินประเทศสระขัน ,โครงการแก้มชะนี และอีกหลายๆคำ ที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นเจตนาใช้คำล้อเลียนทั้งที่รู้อยู่ว่า เจตนาที่แท้จริงมุ่งหมายถึงใคร
       
ฉะนั้นพวกเราจึงมาแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาอาจารย์ที่แสดงละครดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างจริงจัง และพวกเราจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป และให้เวลาเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
       
หลังจากจบการแถลงการณ์ เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบัน จังหวัดกำแพงเพชร ได้เข้าพบ ร.ต.ท.คำรณค์ จันทิตย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร นำแผ่นซีดีบันทึกการแสดงละคร พร้อมกับเอกสารในการแจ้งความ มอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินคดีต่อไป
 
 
 
เลื่อนนัดส่งฟ้อง มาร์ค-สุเทพ 12 ธ.ค.
 
31 ต.ค.2556 ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เวลา 08.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เดินทางเข้าพบ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด
 
จากที่มีคำสั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 และ 288 จากกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553
 
หลังรับทราบคำสั่งฟ้องเสร็จ ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้ขอเลื่อนการสั่งฟ้องออกไป เนื่องจากอยู่ในสมัยประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อัยการจึงเลื่อนส่งฟ้องและนัดส่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่อศาลอาญา ไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค.56 เวลา 10.00 น.ต่อไป
 
ที่มา : ไทยรัฐ