รอบอาทิตย์แรก พฤศจิกายน 56: ศปช.เสนอวุฒิสภา แก้ร่าง พ.ร.บ. 'นิรโทษเฉพาะประชาชน'

รอบอาทิตย์แรก พฤศจิกายน 56: ศปช.เสนอวุฒิสภา แก้ร่าง พ.ร.บ. 'นิรโทษเฉพาะประชาชน'

เมื่อ 8 พ.ย. 2556
ศปช.เสนอวุฒิสภา แก้ร่าง พ.ร.บ. 'นิรโทษเฉพาะประชาชน'
7 พ.ย.2556 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) เสนอข้อเรียกร้องต่อวุฒิสภา ให้พิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อประชาชน โดยแสดงความกังวลว่า หากวุฒิสภายับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจริง จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายนี้ได้อีกจนกว่าจะพ้นระยะเวลา 180 วันไปแล้ว เท่ากับว่า ประชาชนธรรมดาที่ถูกจับกุมคุมขังอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง จะต้องสูญเสียอิสรภาพต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน
 
ศปช. เสนอด้วยว่า เพื่อให้เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบรรลุผล สมาชิกวุฒิสภาไม่ควรยับยั้งร่างกฎหมายทั้งฉบับ แต่สมควรพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายให้เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในวาระที่ 1 โดยมีสาระ คือ นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกคำสั่ง บังคับบัญชา หรือกระทำการใดๆ อันนำไปสู่ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 และไม่นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใดๆ ของบุคคลไม่ว่าฝ่ายใดที่ถูกดำเนินคดีหรืออาจถูกดำเนินคดีในอนาคตในความผิดต่อชีวิต และไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่อย่างใด 
อ่านเพิ่มเติม : ประชาไท
 
 
วิป รบ. ถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมค้างสภาฯ 6 ฉบับ
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่รัฐสภา นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)  นำทีมวิปรัฐบาลแถลงข่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นข้อเสนอทางออกประเทศโดยให้ถอนร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ในสภาฯจำนวน 6 ฉบับ ออกจากวาระการประชุม ว่า วิปรัฐบาลได้หารือกันแล้ว มีมติว่า เพื่อความสบายใจของผู้ชุมนุม วิปรัฐบาลเห็นชอบให้ถอนร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม 6 ฉบับ ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านออกจากวาระการประชุมสภาฯ 
 
ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน กับคณะ เป็นผู้เสนอ 2.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่มี นายนิยม วรปัญญา กับคณะ เป็นผู้เสนอ 3.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย กับคณะ เป็นผู้เสนอ 4.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่มี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับคณะ เป็นผู้เสนอ 5.เรื่องที่ค้างอยู่ในวาระสภาฯ ร่างพระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่มีนายพีรพันธุ์ พาลุสุข กับคณะเป็นผู้เสนอ และ 6. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... ที่มีนายนิยม วรปัญญา กับคณะ เป็นผู้เสนอ 
 
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 6 ฉบับ สามารถถอนออกจากสภาฯได้ เนื่องจากยังไม่ผ่านวาระรับหลักการจากสภาฯ ขณะที่มี 2 ร่าง ค้างพิจารณาอยู่ เมื่อไม่หยิบยกมาพิจารณาก็เหมือนว่าตกไปอยู่ดี ทั้งนี้ พร้อมจะถอนร่างดังกล่าวออกจากสภาฯในสัปดาห์หน้า โดยได้พูดคุยกับเจ้าของร่างทั้ง 6 ฉบับแล้ว ทุกคนยินดีให้ถอนร่าง เพราะไม่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์นำไปเป็นประเด็นตีกิน 
 
ส่วนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของส.ว.แล้ว ไม่สามารถถอนร่างได้ ต้องรอดูการประชุมของส.ว.ในวันที่ 11 พ.ย. หากส.ว.มีมติคว่ำร่างดังกล่าวในวาระ 1  วิปรัฐบาลก็อาจจะให้กฎหมายฉบับนี้ตกไปด้วยก็ได้ แต่ก็ต้องดูกระแสสังคมและประชาชนเป็นตัวตั้ง เพราะแม้แต่ร่าง 6 ฉบับอยู่ในสภาฯรัฐบาลยังยอมถอนได้เลย เมื่อถามว่า อนาคตอาจมีการเสนอเข้ามาสภาฯในรูปพระราชกำหนดแทนหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า วิปรัฐบาลบังไม่มีการคุยถึงขั้นนี้
 
ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ย. หลังจากส.ว.มีมติเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระ 1 ออกมาแล้ว วิปจะแถลงแนวทางอีกครั้งหนึ่งว่า จะทำอย่างไรกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ต่อไปเพื่อให้คำยืนยันอย่างชัดเจนต่อสังคม ไม่ต้องรอให้ถึงเวลา 180 วัน แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้คงไม่ได้ตามร่างเดิมที่เสนอไปแล้ว เมื่อถามว่า ถือเป้นึความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายไพจิต กล่าวว่า ตนไม่อยากมองอย่างนั้น วิปรัฐบาลทำตามหน้าที่ที่เกี่ยวกับสภาฯ และหากเป็นทางออกประเทศเราก็พร้อมทำตามข้อเสนอแนะและแนวทางที่นายกฯต้องการยุติสถานการณ์ชุมนุม
 
 
ศาลยุติธรรมไฟเขียวตลก.ใช้สิทธิปชช.ค้านนิรโทษกรรม
ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 6 พ.ย.2556 นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน 63 ท่าน ร่วมลงชื่อคัดค้านและแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ผู้พิพากษาควรต้องคำนึงว่ามี 2 ฐานะ ฐานะแรกคือประชาชน จึงย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริตภายใต้กรอบของกฎหมาย ส่วนอีกฐานะหนึ่งคือการเป็นผู้พิพากษาซึ่งจะต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชนว่าจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ดังนั้น หากผู้พิพากษาที่ใช้ชื่อกลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดินทั้ง 63 ท่านร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนแล้ว ก็ย่อมสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
 
เมื่อถามว่า หากแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชน โดยเข้าร่วมเดินขบวนคัดค้านจะสามารถทำได้หรือไม่ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หากทำในฐานะประชาชนก็ต้องระวังและพิจารณาตามกรอบ ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติของผู้พิพากษา
 
 
คปก.เสนอวุฒิสภาหยุดร่างฯนิรโทษ ชี้ขัดกระบวนการตราพ.ร.บ.- รธน.-อนุสัญญายูเอ็น
7 พ.ย. 2556  คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร โดย คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า วุฒิสภาควรยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินี้ไว้ก่อนและส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการให้ตกไป
 
นอกจากนี้ คปก. เสนอด้วยว่า เมื่อมีการยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว รัฐบาลและรัฐสภาควรแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างแน่วแน่ในการสร้างความปรองดอง โดยการนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)  มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และนำความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่เคยเสนอไว้ว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมชอบที่จะดำเนินกระบวนการอื่นๆ เสียก่อน เช่น การใช้มาตรการตามกระบวนการยุติธรรมปกติเพื่อสร้างความเป็นธรรม การค้นหาความจริง การยอมรับความผิด การขอโทษ การให้อภัย การชดใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การปฏิรูปสถาบัน และการป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นอีก
 
คปก.มีความเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 ขัดกับกระบวนการตราพระราชบัญญัติตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ข้อ 117 และข้อ 123 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134
 
นอกจากนี้ คปก.เห็นว่า การนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ไม่ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองอันควรได้รับการนิรโทษกรรม และขัดต่ออนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ประกอบกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 82 และการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตโดยปราศจากเงื่อนไข ย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 และนโยบายสหประชาชาติที่ระบุไว้ในเอกสารบันทึกทางเทคนิคเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติในการกำหนดระเบียบด้านการนิรโทษกรรม คปก.จึงเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: ประชาไท
 
 
สภาทนายความคลอดแถลงการณ์ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
สภาทนายความออกแถลงการณ์ 5 ข้อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ยกเว้นการกระทำผิดฐานคอร์รัปชั่นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เตือนรับกุมผู้ชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภานทนายความ นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวม 5 ข้อ
 
1.หลักการและเหตุผลประกอบกับคำแปรญัตติของ ส.ส.ที่ปรากฏในร่างมาตรา 3 วรรคแรก ซึ่งมีการที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ เป็นที่ชัดเจนว่าหากกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับจะเป็นการยกเว้นการกระทำความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง ให้กับกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองในช่วงระหว่างวันที่ 19 กันยายน 49 จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 56 ซึ่งการยกเว้นนี้ให้ยกเว้นทั้งทางคดีแพ่งและคดีอาญานั้น ย่อมรวมถึงการยกเว้นการกระทำผิดฐานคอร์รัปชั่น และการกระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบรวมอยู่ด้วยอย่างชัดแจ้ง สอดคล้องกับเหตุผลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ขอแปรญัตติที่อ้างว่าได้ไปพบกับผู้ที่จะได้ประโยชน์จากบุคคลซึ่งต้องคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีซุกหุ้น (อม.1/53) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตตั้งแต่เริ่มยกร่างและการนัดหมายให้มีการแปรญัตติเพื่อบุคคลดังกล่าว
 
2.แม้ในวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา บุคคลผู้ได้รับประโยชน์ก็ออกมาแถลงเพื่อเอาใจผู้ที่ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ว่าจะไม่ขอรับทรัพย์สินที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดยึดไปแล้วคืน หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการอนุมัติ ข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงเช่นนี้ย่อมทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มหนึ่งนั้นขัดต่อกฎหมายและวินัยของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดแจ้ง 
 
3.ในมาตรา 7 ที่ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้เห็นว่า ความในมาตรานี้เป็นเรื่องที่ขัดกับผลประโยชน์ของนักการเมืองโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน เพราะนายกรัฐมนตรีเองก็มีส่วนได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนี้ เพราะทรัพย์สินที่รัฐยึดมาตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีส่วนที่มาจากบัญชีของนายกรัฐมนตรีในฐานะน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมอยู่ด้วย การที่จะให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดว่าขัดกับหลักการของการออกกฎหมายโดยชัดแจ้ง
 
4.การกระทำดังที่ชี้แจงมานี้ เห็นได้ชัดเจนว่าการออกกฎหมายของ ส.ส.นั้น มาจากการสมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้กำหนดโชคชะตาของ ส.ส.ส่วนมาก ซึ่งได้เดินทางออกไปพบผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดและหลบหนีอยู่ขณะนี้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น หากรัฐบาลจะจับกุมคุมขังประชาชนที่มาต่อต้านการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งใดก็ตามที่เป็นคำสั่งซึ่งออกมาจากฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ใต้บังคับบัญชา ล้วนแล้วแต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีและญาติพี่น้อง จึงไม่ชอบที่จะดำเนินการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใดที่รับไปปฏิบัติพึงต้องระมัดระวังและเข้าใจเสมอโดยตลอดว่า คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นท่านไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
 
5.สภาทนายความเห็นว่าควรจัดให้มีการทำคำแปลร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับเผยแพร่คำแปลคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยแพร่ไปยังบรรดาองค์กรทางนิติศาสตร์ทั่วโลก รัฐสภา ศาล และสภาวิชาชีพทางกฎหมายทุกแห่งให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงของการคัดค้าน รวมถึงชื่อของบุคคลผู้ที่ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้รู้ว่ามีความพยายามในการล้มล้างการกระทำผิดคอร์รัปชั่นและความร่วมมือของบุคคลผู้ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการกระทำที่ไม่ต้องด้วยมติของสหประชาชาติที่ต่อต้านการคอร์รัปชั่น
                                                                                                                                         
“การชุมนุมครั้งนี้ ผู้ได้รับการกระทำที่ไม่ชอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถขอรับความช่วยเหลือจากทนายความได้ทั่วประเทศ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการต่อสู้กับการออกกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมดังกล่าวนี้ สภาทนายความจึงขอให้ประชาชนทุกคนบันทึกภาพเสียงหรือการกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิของประชาชนในการออกมาต่อต้านครั้งนี้ พร้อมให้ส่งหลักฐานและคำร้องเรียนที่จะให้สภาทนายความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไปได้ตลอดเวลา”
 
 
กก.ที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาเสนอยับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมหมายเลข 301 อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามคำสั่งของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก่อนจะนำเสนอต่อวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน โดยที่ประชุมประกอบด้วยนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา นายถนอม ส่งเสริม ส.ว.อุบลราชธานี พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร และกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง
 
หลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ต.อ.จงรัก ในฐานะรองประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงรายละเอียดแต่ละมาตรา รวมทั้งขอบเขตการใช้บังคับของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยคำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมืองประกอบด้วยแล้ว จึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เนื่องจากขณะนี้มีผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นจำนวนมาก และอาจมีการชุมนุมยืดเยื้อ ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ประกอบกับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ จึงเห็นควรให้มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้ก่อน โดยไม่ให้ความเห็นชอบ และหากสมาชิกวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบ ก็มีผลเป็นการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แล้วส่งกลับคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรจะหยิบยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลา 180 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นหากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ควรมีกฎหมายฉบับนี้และไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา กฎหมายนี้ก็จะตกไป
 
 
"จ่าประสิทธิ์"น้ำตาซึมขอโทษ"ปู-เจ๊แดง"
วันที่ 7 พ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้เดินทางมาร่วมประชุมพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยทันทีที่เดินทางมาถึง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้เดินเข้าไปหาพร้อมกับยกมือไหว้ แล้วกล่าวว่า "ผมขอโทษนะครับ" ซึ่งนายกฯได้พูดกลับว่า "มีอะไรให้บอกสื่อเลย" โดย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ กล่าวว่า "ผมเตรียมแถลงอยู่แล้วครับ" จากนั้นนายกฯถามอีกว่า "จะทำตามมติพรรคใช่มั้ย" จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ตอบกลับทันทีว่า "ครับ"
 
ทั้งนี้ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาถึง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปราศรัยถึงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุว่า สิ่งที่พูดไปเป็นขั้นตอนของกฎหมายที่พูดตาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งปราศรัยบนเวทีราชดำเนิน ถือเป็นข้อกฏหมายไม่ใช่ความลับอะไร และสิ่งที่กล่าวบนเวทีเสื้อแดงก็เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค
 
เมื่อถามว่าทางพรรคได้ตำหนิอะไรบ้างหรือไม่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับแกนนำพรรค นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่ถูกพรรคประชาธิปัตย์นำไปขยายความต่อ แต่หากพรรคจะลงโทษอย่างไรก็พร้อมที่จะรับการลงโทษ
 
"ส่วนตัวเห็นว่า ผมเป็นแค่ปลายแถว อย่ามาโทษผมเลย ถ้าจะโทษไปโทษหัวแถวคนที่เสนอร่างนี้ดีกว่า ผมเป็นแค่คนตัวเล็กๆคนหนึ่งอย่ามาเอาอะไรกับผมเลย"จ.ส.ต.ประสิทธิ์กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในการประชุมพรรคเพื่อไทย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ยังได้เดินเข้าไปหา น.ส.ยิ่งลักษณ์และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย พร้อมยกมือขึ้นไหว้และพูดว่า "ผมขอโทษ" พร้อมมีน้ำตาไหลด้วย
 
จากนั้น จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ได้ลงมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและได้น้ำตาซึมอีกครั้ง โดยผู้สื่อข่าวถามว่า ร้องไห้ทำ จ.ส.ต.ตอบว่า "มันเจ็บ"
 
ทั้งนี้จ.ส.ต.ประสิทธิ์ แถลงยืนยันว่ายอมรับมติพรรคเพื่อไทยที่ถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและปรองดองทั้ง 6 ฉบับ รวมทั้งไม่หยิบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา มาเสนออีกหากวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการในวาระแรก พร้อมระบุว่า คำพูดที่ปรากฎในคลิปเป็นความเห็นส่วนตัว และพูดไปก่อนพรรคจะมีมติ
 
 
'อภิสิทธิ์' นำคณะ ส.ส.ให้กำลังใจผู้ชุมนุมต้านนิรโทษกรรมที่ราชประสงค์
7 พ.ย. 2556 - เวลา 17.20 น. วันนี้ ในการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราวพันกว่าคนนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา และคณะ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ชุมนุมด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องทำให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตกไปทุกฉบับโดยเร็วที่สุด อนึ่งในการถ่ายทอดสดของวิทยุออนไลน์ BlueSky ได้มีการเผยแพร่เสียงที่ผู้ชุมนุมได้ตะโกนให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์และคณะ พร้อมให้กำลังใจว่าจะรอท่านกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี
 
ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ตราบที่กฎหมายยังคงอยู่ในระบบ ประชาชนจะไม่ยอม กรณ์กล่าวด้วยว่า การถอน 6 ร่าง เป็นการหลอกประชาชนว่าแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ประชาชนไม่โง่ ประชาชนต้องการส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการกฎหมายฉบับนี้ ต้องกำจัดกฎหมายฉบับนี้ออกไปจากสภาจริงๆ ประชาชนถึงจะหยุด สัญญาณที่ชัดเจนคือประชาชนไม่เชื่อคำพูดของนายกรัฐมนตรี และใครก็แล้วแต่จากพรรคเพื่อไทย
 
ทั้งนี้ผู้ชุมนุมและตัวแทนภาคสังคมต่างๆ ได้ปราศรัยประกาศจุดยืนค้านการนิรโทษกรรม โดยใช้บันไดหน้าห้างอัมรินทร์พลาซ่าเป็นเวทีปราศรัยชั่วคราว มีการตะโกนว่า "ออกไป ออกไป" "ต้านคอรัปชั่น" จากนั้นมีผู้นำตะโกนว่าประชาชนมีพ่อเพียงคนเดียว เราไม่ต้องการพ่อหน้าเหลี่ยม และมีผู้สนับสนุนร่วมกันตะโกนว่า "ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ"
 
โดยในเวลา 17.40 น. ผู้ชุมนุมได้ร่วมกันร้องเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด
ที่มา : ประชาไท
 
 
สีลมคึก!ชาวออฟฟิศเป่านกหวีดค้านนิรโทษ
หนุ่ม-สาวชาวออฟฟิศรวมตัวคัค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมรอบ 2 คึกคัก ชมรมนักธุรกิจแถลงการณ์ฉบับ4 ยืนยันไม่รับกฎหมายล้างผิดการทุจริตชาติ 
 
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มชมรมนักธุรกิจสีลมเพื่อประชาธิปไตยเพื่อเป่านกหวีดคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งที่ 2 เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ผ่านมาได้มีประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ทำงานอยู่ในบริษัทต่างๆ ได้เดินทางมารวมตัวกันและร่วมเป่านกหวีดแสดงสัญลักษณธการคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษจำนวนมาก
 
นายสมเกียรติ หอมละออ ประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ของชมรมฯ ระบุว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงจุดยืนว่ารัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง แต่มีกลุ่มคนที่ยังไม่พร้อมให้อภัยเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้ง พร้อมยินดีรับมติของวุฒิสภา โดยทางชมรมฯขอแถลงจุดยืนว่า
 
1.ให้นายกรัฐมนตรีแสดงความยอมรับว่า ประชาชนที่ออกมาแสดงออกเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯคนโกงชาตินั้น ไม่ใช่การ "ไม่อยากเห็นการให้อภัยกันในสังคม" เพราะประชาชนที่ต่อต้าน "อยากเห็นความปรองดอง และความสงบในบ้านเมือง" แต่ไม่ประสงค์ให้ไปล้างผิดการทุจริตชาติ หรือการทำผิดโทษอาญา ที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นบทเรียนให้เกิดความสงบในระยะยาว
 
2.ให้ ส.ส.ทุกคนที่ได้ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษฯคนโกงชาตินี้ ได้ออกมาขอโทษประชาชน แสดงสำนักรับผิด ที่มิได้ฟังเสียงสะท้อนของประชาชนผ่านผู้แทนราษฎรในสภาฯ และได้ผ่านร่าง พ .ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ที่มีเงื่อนไขคืนเงินทุจริตให้แก่อดีตผู้นำของท่าน และลงนามสัญญาประชาคมว่าจะกลับใจมายับยั้ง พ.ร.บ.นิรโทษฯฉบับนี้ เมื่อเรื่องกลับมาที่สภาฯ เพราะการที่เพียงมาบอกประชาชนว่า ท่านผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯนี้ มาทั้ง 3 วาระอย่างถูกต้องแล้วด้วยเจตนาอยากเห็นความปรองดอง แต่ถูกบิดเบือนเนื้อหาของผู้ที่ยังไม่พร้อมจะให้อภัยเช่นนี้ ยังเป็นท่าทีที่เป็นเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เมื่อได้ทำผิดแต่ต้องการให้สังคมให้อภัย โดยไม่ยอมรับความผิดใดๆ ก็ได้เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในสังคมตลอดมา และจะยุ่งขยายมากขึ้น
 
3.ชมรมฯมีจุดยืนส่งเสริมและปกป้องประชาธิปไตยที่ใสสะอาด จึงขอเชิญชวนนักธุรกิจ คนทำงาน ร่วมกันแสดงจุดยืนว่า "เราไม่ต้องการนำเงินภาษี ที่เราเสียไปจากความเหนื่อยยากของเรา ไปคืนเงินโกงของครอบครัวอดีตผู้นำ" เช่นนี้ ในวันมี่ 6 พ.ย.นี้ ที่หน้าอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ โดยร่วมชุมนุมตั้งแต่เวลา 11.30 น. และร่วมเป่านกหวีดพร้อมในเวลา 12.34 น. เป็นเวลา 1 นาที ก่อนที่ในวันที่ 7 พ.ย.เวลาเดียวกัน ให้ไปร่วมชุมนุมที่บริเวณ ถ.อโศก ข้างทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที เพื่อร่วมแสดงออกต่อต้าน พ.ร.บ.คนโกงชาติให้ถึงที่สุดร่วมกัน
 
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา มาให้กำลังใจและปราศรัยกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย โโยการชุมนุมได้ดำเนินไปถึงเวลา 14.00 น. ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัว
 
 
กลุ่ม 40 สว.โวยปธ.วุฒิเตรียมลักไก่เลื่อนถกร่างนิรโทษ
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2556 กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมนำโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายวันชัย สอนศิริ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช นางพรพันธ์ บุญยรัตพันธุ์ นายวิทวัส บุญยสถิต นายพิเชต สุนทรพิพิธ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านกรณีที่ประธานวุฒิสภาจะเลื่อนการประชุมร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.เป็นวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. 
 
นายวันชัย กล่าวว่า กลุ่มส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการประชุมดังกล่าว เพราะ 1.ประธานวุฒิได้แจ้งและแถลงเป็นที่รู้โดยทั่วกันว่าจะประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษในวันที่ 11 พ.ย. เนื่องจากมีส.ว.เดินทางไปดูงานต่างประเทศเป็นจำนวนมากและทุกคนเตรียมพร้อมที่จะประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 11 พ.ย.อยู่แล้ว 2.ไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาล และประธานวุฒิสภาที่มีเบื้องหลังและเจตนาแอบแฝงที่จะใช้วุฒิสภาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งการมีพฤติกรรมกลับไปกลับมาแบบลุกลี้ลุกลนทำให้วุฒิสภาขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของสาธารณชน 3.รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนต่อพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ประเด็นคือ 1.ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ใช้สิทธิยืนยันในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหลังจาก 180 วันที่วุฒิสภาได้ส่งคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร 
 
2.ยังมีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและพ.ร.บ.ปรองดองที่ค้างอยู่ในวาระการประชุม 5 - 6 ร่าง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลควรจะถอนร่างทั้งหมดออกจากสภา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมาย่ำยีหัวใจคนไทยอีกต่อไป ดังนั้นกลุ่มส.ว.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลประกาศเจตนาต่อสาธารณชนให้ชัดเจนว่าจะไม่นำกฎหมายในลักษณะหรือประเภทเดียวกันนี้มาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป
 
 
นัก กม.แนะรัฐศึกษามติคำพิพากษาศาลโลกอย่างรอบด้าน
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ จัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ "คำพิพากษาคดีตีความ-สังคมไทยควรรับมืออย่างไร" ซึ่งมีทั้งนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ศาลจะรับตีความหรือว่าไม่รับ แต่หากมีคำตัดสินใดออกมาในเรื่องเขตแดน 1 : 2 แสนนั้น โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ระบุว่า ตรงนี้มั่นใจได้ว่า แผนที่นั้นกัมพูชาทำปลอมขึ้นมา
 
ด้านนักกฎหมาย เห็นว่ารัฐบาลไทยยังไม่จำเป็นต้องออกมาทำอะไรตามคำพิพากษา หรือว่ารีบออกมาประกาศว่า จะทำตามคำสั่งของศาล รวมทั้งให้นำคำพิพากษามาศึกษามติอย่างรอบด้าน
 
ทั้งนี้ มีกรณีที่ประเทศอื่นๆ ที่ศาลโลกตัดสินข้อพิพาทมี 4 คดีที่ประเทศนั้นๆ นำคำพิพากษากลับมาตีความ และศึกษาข้อดีข้อเสียในคำพิพากษา และรัฐบาลต้องชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจ รวมถึงต้องมีการเชิญนักวิชาการ และภาคสังคมทั่วไปเข้ามาตัดสินร่วมกัน พร้อมเสนอให้รัฐบาลทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย