การแสดงออกทางการเมืองและการยกเลิกความผิดจากการแสดงออกในอาเซียนระยะเปลี่ยนผ่าน
ห้องประชุมชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีแปลอังกฤษ<->ไทยตลอดการประชุม
กำหนดการ
14.30-15.00 ลงทะเบียน
15.00-17.00 เสวนาสาธารณะ “การแสดงออกทางการเมืองและการยกเลิกความผิดจากการแสดงออกในอาเซียนระยะเปลี่ยนผ่าน”
* อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
* จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
* เจษฎ์ โทณวณิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
ดำเนินเสวนาโดย พิรงรอง รามสูต ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17.00-17.30 เปิดเวที ถาม-ตอบ
17.30-18.30 อาหารว่างและเครื่องดื่ม
18.30-19.30 ปาฐกถา “Implication of States' surveillance of communications on the exercise of human rights to privacy and to freedom of expression”
โดย Frank La Rue ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติด้านเสรีภาพการแสดงออก
19.30-20.00 เปิดเวที ถาม-ตอบ
หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากการพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ได้นำไปสู่การอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวในสังคมว่า การนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือเหมาะสมเพียงใด และการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจะสร้างผลกระทบทางสังคมอย่างไรบ้าง
ประเด็นดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น กระแสความต้องการความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้นของประชาชนในประเทศกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุม สภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่น สิทธิในการเลือกตั้งและอำนาจในการปกครองตัวเอง การต่อต้านการทุจริต ความไม่พอใจการดำเนินนโยบายที่ไม่โปร่งใส ฯลฯ นำมาสู่ขบวนการทางสังคมและการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ บนสื่อและบนท้องถนน ซึ่งในหลายครั้งตามมาด้วยการเผชิญหน้าระหว่างมวลชน การปราบปรามจับกุมโดยรัฐ และการออกกฎหมายควบคุมการแสดงออกที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในบางประเทศของอาเซียนก็มีความพยายามในการยกเลิกความผิดจากการแสดงออก ผ่อนปรนการควบคุมสื่อ และปล่อยนักโทษการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคม
ในโอกาสวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการไม่รับผิดของผู้กระทำผิด (International Day to End Impunity) ในวันที่ 23 พฤศจิกายน[1] และในโอกาสที่ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพการแสดงออก นาย Frank La Rue เยือนประเทศไทยเพื่อร่วมเวทีปรึกษาหารือระดับภูมิภาคเอเชียเพื่อจัดทำรายงานเรื่องการแสดงออกทางการเมืองและการแสดงออกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อีกทั้งเห็นความสำคัญของการหาความรู้ในประเด็นนโยบายของรัฐต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคม สถาบันเอเชียศึกษาและศูนย์ศึกษานโยบายสื่อจึงเห็นสมควรให้มีการเสวนาสาธารณะในเรื่องดังกล่าว โดยเชิญผู้มีความรู้ในสาขาต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
________________
[1] ตรงกับวันที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่มากวินดาเนา (Maguindanao massacre) ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 58 รายในบริเวณขบวนรถของผู้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในจำนวนนี้มีภรรยาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และนักข่าวอีก 32 ราย วุฒิสภาฟิลิปปินส์ประกาศรับรองให้วันดังกล่าวเป็นวันรณรงค์แห่งชาติเพื่อยุติการไม่รับผิดของผู้กระทำผิด (National Day to End Impunity)