11 พฤศจิกายน 2556
วุฒิสภามีมติคว่ำร่างนิรโทษกรรม
เมื่อเวลา22.40 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเป็นเอกฉันท์ 141เสียง ไม่รับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนพ.ศ....ไว้พิจารณา
การอภิปรายกรณีดังกล่าว ใช้เวลากว่า10ชั่วโมง โดยในการอภิปราย สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ
หลังมีมติไม่รับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว วุฒิสภาจะส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งอีกครั้ง โดยสภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.ได้อีกครั้ง หลังครบกำหนด180วันนับจากได้รับร่างคืนจากวุฒิสภา
หลังจากนั้น หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือ250เสียงจาก500เสียงให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างพ.ร.บ.ขึ้นทูลเกล้าภายใน20วัน
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลได้ประกาศแล้วว่าจะหากวุฒิสภามีมติไม่รับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส.ส.เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่นำร่างพ.ร.บ.มาพิจารณาอีก
13 ธันวาคม 2556
ตำรวจสลายชุมนุมแรงงานกัมพูชาประท้วงขึ้นค่าแรง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
เว็บไซต์ voanews.com (Voice of America) รายงานว่าเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2013 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชานำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนงานโรงงานเอสแอลการ์เม้นท์โปรเซสซิ่ง (SL Garment Processing (Cambodia) Ltd.) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสัญชาติสิงคโปร์ ที่ประท้วงเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรง โดยกลุ่มเอ็นจีโอระบุว่ามีผู้หญิงเสียชีวิตหนึ่งราย
Licadho องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของกัมพูชาระบุว่า มีผู้ถูกกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 5 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คนเป็นแม่ค้าขายข้าว ทั้งนี้ตำรวจยังใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและก๊าซน้ำตา กระสุนยางและกระสุนจริงในการสลายฝูงชนที่พยายามเดินขบวนประท้วงไปยังบ้านพักของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน โดยกลุ่มคนงานได้ขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจ และมีการจุดไฟเผารถตำรวจ 1 คัน
อนึ่งโรงงานเอสแอลการ์เม้นท์โปรเซสซิ่ง เป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังอย่าง Gap และ H&M
14 พฤศจิกายน 2556
เปิดคำพิพากษาคดี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์
สำนักข่าวประชาไท เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกา หมายเลข 6374/2556 ซึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาตรร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112
สิ่งที่น่าสนใจของคดีนี้คือการที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าการหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วถือเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นเดียวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์องค์ปัจจุบัน
จำเลยในคดีเป็นผู้จัดรายการวิทยุซึ่งกระจายเสียงผ่านคลื่นวิทยุชุมชนเล็กๆคลื่นหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ระหว่างการจัดรายการจำเลยกล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า "ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่าเราไปแล้วเนี้ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชนเราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไป แล้วต้องเป็นเหมือนกับรัชกาลที่ 4 เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว แต่บ้านนี้เมืองนี้อาจจะมีอยู่บ้างบางส่วนนะครับ" ซึ่งข้อความนี้เป็นข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา112
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความดังกล่าว "มีความหมายเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต เปรียบเทียบว่ายุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระมีการปกครองที่ไม่ดีทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา จึงเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิพากษาลงโทษจำคุก4ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาไว้สองปี
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยโดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า ตั้งแต่ต้นราชวงศ์ ประชาชนชาวไทยให้ความเคารพสักการะพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด ทั้งรัฐธรรมนูญก็มีบทบัญญัติถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ว่าทรงอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ กฎหมายอาญามาตรา112 มิได้ระบุว่าการกระทำความผิดจะต้องเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์ที่กำลังครองราชย์อยู่เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน หากตีความให้กฎหมายอาญามาตรา112คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่กำลังครองราชย์อยู่เท่านั้น จะเป็นการเปิดช่องให้มีการละเมิดหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก4ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือสองปีโดยให้รอลงอาญามีกำหนด2ปี
ดูคำพิพากษาที่เว็บไซด์ประชาไทตามลิงค์ด้านล่าง
15 พฤศจิกายน 2556
ฎีกายืนประหารชีวิต “รอสดี มะยามา” แบ่งแยกดินแดน-ปล้นปืน ปี 47
ที่ห้องพิจารณาคดี 805 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.1450/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายรอสดี มะยามา ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ที่ จ.นราธิวาส เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นกบฏ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร, สะสมกำลังพลหรืออาวุธ, ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต, ปล้นทรัพย์หรือรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 113, 114, 135/1-2, 209, 210, 212, 213, 340 และ 357
โดยโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกหลายคนเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนของราชอาณาจักรไทย จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.สตูล และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ออกจากการปกครองของรัฐบาลประเทศไทย เรียกว่า “รัฐปัตตานี หรือรัฐปัตตานีดารุลซาลาม” มีแผนการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ อย่างรุนแรง และต่อเนื่อง สะสมกำลังพล และอาวุธ ทำการโฆษณาชวนเชื่อยุยง และปลุกระดมราษฎรให้หลงเชื่อเกิดความรู้สึกเกลียดชังข้าราชการ และรัฐบาลไทย สร้างแนวคิดเข้าสู่กลุ่มเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมตามโรงเรียนปอเนาะ และโรงเรียนอื่นๆ ก่อเหตุรุนแรงหลายครั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของรัฐ และเอกชน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนเกิดความหวาดกลัว เหตุเกิดที่ทุกตำบล และอำเภอในปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เกี่ยวพันกัน
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2552 ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 113 (3), 114, 135/1 วรรคสอง, 135/2, 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง, 212(2) (3), 213 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งการกระทำของจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกดินแดน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 113 (3) ฐานเป็นกบฏ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ประหารชีวิต แต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 แล้วคงให้จำคุกตลอดชีวิต ต่อมา
จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.54 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตจำเลยฐานเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน และเป็นอั้งยี่ แต่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต จำเลยฎีกาสู้คดี
ศาลฎีกาตรวจสำนวน และประชุมกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานเป็นทหารตำแหน่งหัวหน้าส่วนปฏิบัติการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.51 เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้ส่งตัวจำเลยมาที่ค่ายอิงคยุทธฯ เพื่อให้พยานซักถามจำเลย โดยจำเลยรับว่า เป็นสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วยการชักชวนจาก นายมะซูกี เซ็ง และได้รับมอบหมายให้จำเลยร่วมกับกลุ่มสมาชิกไปปล้นอาวุธปืน ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 โดยจำเลยทำหน้าที่ตัดต้นไม้เพื่อขวางเส้นทางจราจร นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งรับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ ได้แจ้งข้อหา และทำการสอบสวนจำเลย 3 ครั้ง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอด ที่จำเลยนำสืบว่ามีการข่มขู่ และทำร้ายทำให้จำเลยต้องยอมรับสารภาพนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความตลอดจนคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยร่วมกันวางแผน และดำเนินการเพื่อแบ่งแยกดินแดน และยึดอำนาจปกครองดังเช่นที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษา ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ในวันนี้ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้อัยการโจทก์ฟังเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ ได้เบิกตัวนายรอสดี จำเลย ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลา มาฟังคำพิพากษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา
กสม.ลงพื้นที่ราชดำเนินเยี่ยมม็อบค้านนิรโทษฯ พบชุมนุมสงบไม่ถูกจ้าง
เมื่อเวลา 13.10 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ลงพื้นที่ตรวจการชุมนุมของกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดย นพ.นิรันดร์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ทาง กสม.ประชุมร่วมกับตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และมีข้อสรุปว่า ต้องลดช่องว่างระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมให้แคบลง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คนที่จะต้องตอบคำถามคือรัฐบาล ไม่ใช่ตำรวจ
ดังนั้น จึงทำให้เกิดกิจกรรมตรวจสภาพการชุมนุมขึ้นในวันนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ตำรวจจะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบว่า ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเป็นไปอย่างสงบและไม่ได้ถูกว่าจ้างมา ทั้งนี้ กสม.จะได้ลงพื้นที่ในกลุ่มชุมนุมของ กปท.และกองทัพประชาชนต่อไป