ในงานเสวนา "ทำไมต้องปฏิรูปสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสลากเพื่อสังคม?" วันที่ 18 พ.ย. 2556 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ จัดโดนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก
ดร.วิเชียร์ ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลมียอดจำหน่ายแต่ละงวด 72 ล้านฉบับ รายได้จากการขายสลาก 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนที่เป็นกำไรคิดเป็น 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เงินจำนวนนี้จัดสรรเป็นเงินรางวัล 60 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเข้ารัฐบาล 28 เปอร์เซ็นต์ ค่าบรหารจัดการและนำไปใช้การกุศล 12 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนนี้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ นำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ กลายเป็นว่าผู้ซื้อสลากด้วยเงิน 100 บาทได้ผลตอบแทนคืนไม่ถึง 5 บาท
ปัจจุบันภาคประชาชนสังคมมีส่วนร่วมน้อยมากในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสลาก คณะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งมีตัวแทนของภาคประชาชนคนเดียว คือ ตัวแทนจากสภาสังคมสงเคราะห์ เราจะต้องขับเคลื่อนเพื่อปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้ทันสมัย เพื่อให้สอดรับกับความคิดที่ว่า การพนันยิ่งมีมากสังคมยิ่งอ่อนแอ แต่จะให้การพนันหมดไปเลยคงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องจัดสมดุลให้พอดี
ตอนนี้เรากำลังจะเสนอ "ร่างพระราชบัญญัติกิจการสลากเพื่อสังคม" โดยมุ่งเอากำไรจากการขายสลาก 15 เปอร์เซ็นต์ไปจัดตั้งกองทุนสลากเพื่อสังคม 9 เปอร์เซ็นต์เป็นส่วนลดให้ผู้ค้าสลากรายย่อย และ 3 เปอร์เซ็นต์เป็นกองทุนสำหรับการรับซื้อคืน
กิตติพงษ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอกแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ค้าสลากรายย่อยในประเทศไทยส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่คนพิการก็เป็นคนยากไร้ มีข้อดีคือทำให้เกิดอาชีพ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหา เพราะผู้ค้าสลากรายย่อยต้องหาเงินลงทุนเอง สว่นใหญ่ต้องกู้นอกระบบ โดยที่ไม่มีโอกาสรู้เลยว่าแต่ละงวดจะได้รับโควต้าสลากหรือไม่ และยังต้องแบกรับความเสี่ยงจากการขายสลากไม่หมด ขณะที่สำนักงานสลากกินแบ่งไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเลยเพราะถ้าขายไม่หมดก็จะไม่รับซื้อคืน เวลามีการขายสลากเกินราคาก็จะไปจับที่ผู้ค้ารายย่อยทั้งๆ ที่จริงๆ มันเกินราคามาตั้งแต่ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วแล้ว
ปรัชญาของการจำหน่ายสลากต้องเปลี่ยนจากการหารายได้ของรัฐมาเป็นการหาเงินเพื่อพัฒนาสังคม เรารู้อยู่แล้วว่าหวยนั้นมีผลกระทบต่อสังคม ดังนั้น เงินกำไรจากการขายสลากต้องจัดสรรมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหรือเยียวยาผู้ติดการพนันเหล่านั้น
ธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชานปฏิรูปสลาก กล่าวว่า เท่าที่ทราบมาประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ใช้คำว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งดูแปลกๆ เพราะมีการกินกัน เมื่อกินเสร็จแล้วก็แบ่ง แต่พอมาศึกษาดูจริงๆ ก็ไม่พบว่ามีการแบ่งใคร มีแต่การกินเข้ารัฐทั้งหมด จึงเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น “สลากเพื่อสังคม”