รอบอาทิตย์ที่สาม พ.ย.56 : ศาลรัฐธรรมนูญชี้ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมดขัดระบอบประชาธิปไตย

รอบอาทิตย์ที่สาม พ.ย.56 : ศาลรัฐธรรมนูญชี้ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมดขัดระบอบประชาธิปไตย

เมื่อ 24 พ.ย. 2556
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยสรุป

องค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล ล้วนจัดตั้งขึ้น หรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา จึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรทั้งหลายเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญ 2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กรและทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่า นอกจากการใช้อำนาจตามบทกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว ยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย การอ้างหลักเสียงข้างมากมิได้คำนึงถึงเสียงข้างน้อย เพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจ ท่ามกลางความซับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน หรือกลุ่มบุคคล กับผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำไปสู่ความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติ หรือการบาดหมางแตกความสามัคคีอย่างรุนแรง การนั้นย่อมขัดต่อหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550
 
หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการบนพื้นฐานสำคัญที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ จะต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ส่วนหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึงการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน มิใช่การปกครองตามแนวความคิด ของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งและมิใช่การปกครองที่อ้างอิงมาจากฐานอำนาจระบบการเลือกตั้งเท่านั้น 
 
ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงมีอำนาจรับวินิจฉัยคำร้องนี้
 
ประเด็นที่ 1 กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่... พุทธศักราช... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่
 
(๑) ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามที่เลขาธิการ ส่งให้ศาลมีการใส่เลขหน้าเรียงตามลำดับด้วยลายมือตั้งแต่หนังสือ ถึงประธานรัฐสภา รายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เข้าชื่อเสนอญัตติ รายชื่อสมาชิกรัฐสภาผู้ร่วมเสนอจนถึงหน้าที่ 33 แต่ในหน้าถัดไปซึ่งเป็นบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญร่างที่แก้ไขไม่ปรากฏว่ามีการลงเลขหน้ากำกับไว้ และเมื่อตรวจสอบปรากฏว่าอักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึงหน้าที่ 33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการและเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขและบันทึก วิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอให้สภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการมิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ซึ่งมีข้อความที่แตกต่างจากร่างเดิมหลายประการ และมีการดำเนินการในลักษณะที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงว่าได้มีการจัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน  มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้เป็นไปโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291(1) วรรคหนึ่ง
 
(๒) ในการพิจารณาวาระที่ 1 และ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ได้ผลัดกันทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการตัดสิทธิผู้อภิปรายในวาระที่ 1 และตัดสิทธิผู้สงวนแปรญัตติจำนวน 57 คน โดยอ้างว่าความเห็นดังกล่าวขัดต่อหลักการทั้งที่ยังไม่ได้มีการฟังการอภิปราย ทั้งที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ไม่ใช่เสียงข้างมาก การรวบรัดการปิดอภิปราย ปิดประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงจึงเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ เพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรมอันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม
 
การนับเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่มีประชุมมีมติเป็นต้นไป การนับเวลาย้อนหลังจนทำให้เหลือเวลาในการขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับในการประชุม และไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับ 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ทั้งหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองด้วย 
 
(๓) คดีนี้ผู้ร้องมีประจักษ์พยานและมีการเบิกความเป็นหลักฐานสำคัญ คือ แผ่นวิดีทัศน์ที่บันทึกภาพเหตุการณ์ที่มีการลกระทำดังกล่าวถึง 3 ครั้ง เห็นว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางคนใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาแสดงตนแทนผู้อื่น าผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนออกเสียงในการลงคะแนนครั้งละหลายใบใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตรและกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง  จึงเป็นเรื่องที่แจ้งชัดว่ามีสมาชิกรัฐสภาหลายรายไม่ได้มาออกเสียงในที่ประชุมรัฐสภา และมอบให้สมาชิกออกเสียงแทน การดำเนินดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการละเมิดพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ขัดต่อข้อบังคับประชุมรัฐสภาและยังขัดต่อข้อบังคับความซื่อสัตย์สุจริต ที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ ตามมาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม มีผลให้การออกเสียงให้การประชุมรัฐสภาครั้งนั้นเป็นทุจริต ไม่เป็นเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย มิอาจถือว่าเป็นมติที่ชอบของกระบวนการรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ 

รัฐธรรมนูญ 2550 มีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบ โดยรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แก้ไขคุณสมบัติของ ส.ว. ไว้หลายประการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนฉบับปี 2540 คือ การบัญญัติให้ ส.ว.สรรหา เข้ามามีองค์ประกอบร่วมกับ ส.ว.เลือกตั้ง ทั้งนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.ได้เป็นอิสระจาก ส.ส. เช่นห้ามบุพการี คู่สมรส และบุตรของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็น ส.ว. และกำหนดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองไว้เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น รัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะ และศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกันทำลายสารสำคัญของการมี 2 สภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขา หลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้ กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
 
อาศัยเหตุดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การดำเนินการพิจารณาและล้มมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมายรัฐธธรมนูญ โดยกฎหมายมาตรา 122 มาตรา 125 วรรค 1 และ วรรค 2 มาตรา 126 วรรค 3 มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่ามีเนื้อความเป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 
 
 
 
แจ้งจับตุลาการศาลรธน. ฐานหมิ่นเบื้องสูง
 
22 พ.ย.56 ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายกฤษณ์ ขำทวี และ นายอธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป.เพื่อดำเนินคดีกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่มีผู้ร้องให้พิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้งที่นายกรัฐมนตรี ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และอยู่ระหว่างรอพระบรมราชวินิจฉัย

ที่มาข่าว แนวหน้า
 
 
มนุษย์เงินเดือนเฮ รัฐลดเก็บภาษี 5 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ - ปรับใหม่ 7 ขั้น มีผล 1 มค. 57
 
รัฐบาลสั่งลดภาษีบุคคลธรรมดา เหลือร้อยละ 5-50 จากอัตราเดิม พร้อมปรับช่วงรายได้เพิ่มเป็น 7 ขั้น หวังช่วยคนมีรายได้น้อย-มนุษย์เงินเดือน เผยเฉลี่ยฐานเงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษี เงินเดือน 30,000 บาท เดิมเสีย 12,000 บาท ลดเหลือ 6,000 บาท รายได้ 40,000 บาท เหลือ 16,500 บาท รมช.คลังระบุแม้ทำให้รัฐเสียรายได้ 2.7 หมื่นล้าน แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชน ให้มีผลชำระภาษีประจำปี 2556 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2557
 
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 56 ที่ผ่านมา นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.ลดอัตราภาษีรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (มาตรการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา) เพื่อให้การชำระภาษีประจำปี 2556 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2557 บุคคลธรรมดาลดลงเหลือร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิต่อปี จากเดิมร้อยละ 37 ของรายได้สุทธิต่อปี และสำหรับขั้น (ช่วงรายได้) รายได้ในการคำนวณรายได้จะเพิ่มเป็น 7 ขั้นจากเดิมมี 5 ขั้น ซึ่งการคำนวณภาษีใหม่นี้จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะขั้นในการคำนวณภาษีถี่ขึ้น ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยเสียชำระภาษีในอัตราลดลง โดยอัตราภาษีที่ลดลงในอัตราใหม่ จะทำให้อัตราการเสียภาษีลดลงอีกร้อยละ 5-50 จากอัตราภาษีเดิม 
 
อัตราภาษีใหม่ที่มีความละเอียดในแต่ละขั้นการชำระภาษี ส่งผลให้รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่สำหรับรัฐบาลถือว่าไม่มีปัญหา เพราะประโยชน์จะกลับคืนสู่ประชาชนผู้เสียภาษีของไทย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศŽ นางเบญจากล่าว
 
ที่มา ข่าวสด 
 
 
ราชนิกูลยื่นหนังสือนายก เรียกร้องจัดการคนหมิ่นสถาบัน
 
ม.ล.สุทธิฉันท์ วรวุฒิ ตัวแทนราชนิกูล เปิดเผยต่อนักข่าวที่รัฐสภาว่าในช่วงเช้าของวันนี้ ม.ล. สุทธิฉันท์ ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และ รมว.กลาโหม พร้อมรายชื่อราชนิกูล ผ่านทางนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ เพื่อขอให้มีแนวทางในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมามีการหมิ่นสถาบันในหลายช่องทาง แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดในการปกป้อง
 
โดยเฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอซีที ที่มีอำนาจดำเนินการโดยตรง จึงขอให้ดำเนินการจัดการปิด ตรวจสอบการกระทำที่หมิ่นสถาบัน ไม่ว่าสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ดาวเทียม รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ โดยขอให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทั้งที่สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลและนายกฯ ก็ได้กล่าวปฏิญาณตนขณะเข้ารับตำแหน่ง
 
“สิ่งที่ราชนิกูลต้องการเห็นความชัดเจนในการดำเนินการจัดการกับการหมิ่นสถาบัน ไม่ใช่นิ่งเฉย หากว่ารัฐบาลยังนิ่งเฉย เมื่อครบ 3 วัน ทางเราจะมีมาตรการเคลื่อนไหวต่อไป “ม.ล.สุทธิฉันท์ กล่าว
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
กสทช.เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโทรคมนาคม
 
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม ที่สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 กรุงเทพฯ
            
สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางเลือกจากการใช้บริการโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมแห่งแรกในประเทศอาเซียน โดยคู่กรณีได้แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียนสามารถเข้าถึงบริการไกล่เกลี่ยได้โดยง่าย และจะเป็นช่องทางให้สามารถสื่อสารกับสังคมทั่วไปได้อย่างสะดวกอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ยุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคม ที่ได้กำหนดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยที่มีหลักเกณฑ์วิธีการและกลไกจัดการปัญหาของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม   
 
ที่มาข่าว ประชาไท
 
 
 
เปิดคำประกาศสิทธิเด็ก 20 พฤศจิกายน 2556 จากภาคประชาสังคม
 
เนื่องในวันที่ 20 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นครบรอบวันสิทธิเด็กของทุกปี วันนี้ 20 พ.ย. 56 คณะทำงานด้านเด็ก ซึ่งประกอบด้วยสหทัยมูลนิธิมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อเด็กพิการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ  กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนาจัดทำคำประกาศเนื่องในโอกาสวันสิทธิเด็ก  20 พฤศจิกายน 2556 โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
ในอนาคตสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสัดส่วนของประชากรเด็กต่อผู้อายุอยู่ที่ 1 ต่อ 3 ซึ่งหมายความว่าเด็กรุ่นต่อไปจะต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากกว่าเด็กในอดีตอย่างไรก็ตามความกังวลต่อสถานการณ์ในอนาคตกลับไม่ได้อยู่ที่จำนวนประชากรเด็กที่ลดลงแต่กลับอยู่ที่ปัญหาเกี่ยวกับเด็กจำนวนมากซึ่งยังคงต้องการทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเช่น ปัญหาทางโภชนาการซึ่งมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้น  เด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอสภาพร่างกายจะแคระแกรน และการขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่อง  จะทำให้เด็กมีภาวะไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์  ไม่เฉลียวฉลาด หรืออาจมีความพิการซ้ำซ้อนเป็นต้น  นอกจากนั้นยังมีปัญหาสุขภาพเด็กอื่นๆ  ปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา  คุณภาพการศึกษาและการพัฒนาตนเองของเด็ก ปัญหาสภาพ แวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กเติบโตอย่างเหมาะสม เป็นต้น
 
ในปัจจุบันผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการประกอบอาชีพเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีรายได้น้อยซึ่งต้องแบกรับภาระทางการเงินมากเป็นพิเศษทำให้ขาดเวลาในการดูแลเอาใจใส่ลูกหลานของตนเองในบางกรณีผู้สูงอายุของครอบครัวกลายเป็นผู้รับความผิดชอบในการดูแลเด็กเล็กแทน 
 
สังคมไทยปัจจุบันยังคงมุ่งความสนใจในการลงทุนในเด็กวัยเรียนเงินจำนวนมากถูกใช้ไปกับการส่งเด็กเข้าโรงเรียนกวดวิชาและส่งเสริมทักษะพิเศษอื่นๆแต่กลับให้ความสำคัญต่อการดูแลและพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยไม่มากนัก  ทั้งๆที่เป็นรากฐานเริ่มต้นของชีวิต
 
แนวคิดเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถป้องกันการทอดทิ้งเด็กให้เป็นกำพร้าช่วยเหลือหลายครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือประสบปัญหาเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยการได้รับเงินสนับสนุนสามารถแบ่งเบาภาระทางการเงินบางส่วนของครอบครัวเพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่  เครือญาติ ได้เอาใจใส่ลูกหลานของตนเองมากขึ้นและเป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคมให้กับประชาชนทุกคนให้รับโอกาสการมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีอย่างเท่าเทียมเด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะได้รับโภชนาการที่ถูกสุขลักษณะ มีสุขภาพที่แข็งแรง ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเพื่อที่จะให้พวกเขาสามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้ดีขึ้นได้