โดยรวมแล้วการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเมืองใหญ่ที่รถติดเป็นตังเมอย่างกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ผู้เขียนแบกเป้คู่ใจลงสถานีรถไฟฟ้าก็ต้องพบกับความรำคาญใจ พลันที่เสียงปี้บของเครื่องตรวจโลหะดังขึ้น ก็รู้ชะตากรรมเลยว่าต้องเสียเวลาหยุดตรวจกระเป๋าอีกแล้ว
แน่นอนมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ดี ผู้เขียนเชื่อว่าผู้โดยสารทุกคนน่าจะยินดีที่จะให้ความร่วมมือ เพราะความปลอดภัยของระบบขนส่งก็คือความปลอดภัยของตัวผู้โดยสารเองด้วย
จากที่เคยมีโอกาสใช้รถไฟฟ้าในสามเมืองใหญ่ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรุงนวเดลี และกรุงมะนิลา ผู้เขียนพบว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยของรถไฟฟ้าที่กรุงนิวเดลีน่าจะเข้มข้นที่สุด รองลงมาก็เป็นที่กรุงมะนิลาและสุดท้ายคือกรุงเทพมหานคร
สถานีรถไฟฟ้าที่กรุงนิวเดลี มีการติดตั้งเครื่องสแกนกระเป๋าเหมือนที่ติดตั้งในสนามบินและมีเจ้าหน้าทีใช้เครื่องสแกนโลหะตรวจตามร่างกายด้วย นอกจากนี้สถานีConnaught Placeที่เป็นเหมือนชุมทางรถไฟฟ้าก็มีทหารตั้งป้อมปืนกลรักษาความปลอดภัยอยู่ภายในอาคารสถานีด้วย
สำหรับสถานีรถไฟฟ้ากรุงมะนิลา แม้จะไม่มีการติดตั้งเครื่องสแกนเช่นที่กรุงนิวเดลีแต่การตรวจค้นสัมภาระก็เป็นไปอย่างเข้มข้นชนิดที่เรียกได้ว่าหยิบออกมาดูแบบชิ้นต่อชิ้น
ในกรณีของกรุงนิวเดลีและกรุงมะนิลา หากมีผุู้ไม่หวังดีแอบนำสิ่งแปลกปลอมหรืออาวุธติดตัวลงไปก็มีความเป็นไปได้สูงที่เจ้าหน้าที่จะตรวจพบและหาทางระงับเหตุได้(แต่จะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ย้อนกลับมาที่กรุงเทพมหานคร สถานีรถไฟฟ้าMRTมีการตรวจกระเป๋า แต่ก็เป็นลักษณะของการเช็คแบบพอเป็นพิธีเสียมากกว่าเพราะเพียงแค่เปิดกระเป๋าแบบแง้มๆก็เข้าไปในตัวสถานีได้แล้ว เรียกว่าถ้ามีผู้ไม่หวังดีเอาของแปลกปลอมเข้าไปจริง ก็คงก่อเหตุได้ไม่ยาก
เนื่องจากการตรวจแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ทำให้ผู้โดยสารเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์และไม่น่าจะสามารถป้องกันการลักลอบนำสิ่งไม่พึงประสงค์ลงไปในระบบรถไฟฟ้าได้ ประกอบกับกรุงเทพก็ไม่ได้มีภัยคุกคามถึงขั้นจะต้องติดระบบรักษาความปลอดภัยเต็มรูปแบบเช่นสถานีรถไฟฟ้าในกรุงนิว เดลี ผู้เขียนจึงอยากเสนอให้ทางMRTทบทวนและยกเลิกการตรวจกระเป๋าเพื่อให้ผู้โดยสารมีความสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น