รอบอาทิตย์ที่สอง ธ.ค.56 : ออกหมายจับ 112 หนุ่มในคลิปปราศรัย ตร.เตือนห้ามแชร์ต่อ

รอบอาทิตย์ที่สอง ธ.ค.56 : ออกหมายจับ 112 หนุ่มในคลิปปราศรัย ตร.เตือนห้ามแชร์ต่อ

เมื่อ 15 ธ.ค. 2556
ออกหมายจับ 112 หนุ่มในคลิปปราศรัย ตร.เตือนห้ามแชร์ต่อ
 
13 ธ.ค.2556 เมื่อเวลา 18.55 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเผยแพร่หมายจับชายอายุ 22 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่า “ตามที่มีบุคคลหมิ่นสถาบันเบื้องสูงที่กำลังเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียนั้น ในวันนี้ 13 ธันวาคม 2556 ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับบุคคลดังกล่าวแล้วตามหมายจับที่ 2429/2556 ลง 13 ธ.ค.56 ในข้อหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ฯลฯ"
 
ทีมโฆษก สตช. ยังเตือนด้วยว่าขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน หากพบเห็นคลิปวีดีโอดังกล่าว อย่าได้เผยแพร่ แชร์หรือส่งต่อ เนื่องจากจะเป็นการกระทำความผิดเช่นเดียวกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บุคคลดังกล่าวถูกนำภาพใบหน้า ชื่อจริง ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ นำมาเผยแพร่พร้อมกล่าวหาว่าเป็นผู้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พร้อมกับมีการแสดงความเห็นในเชิงขู่ทำร้ายร่างกายจนถึงเอาชีวิต และจากการตรวจสอบพบคลิปดังกล่าวในเฟซบุ๊กซึ่งมียอดแชร์ต่อกว่า 80,000 ครั้ง (เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.) และแสดงความเห็นท้ายคลิปกว่า 13,000 ความเห็น ขณะนี้คลิปดังกล่าวยังเผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊ก
 
ที่มา: ประชาไท
 
 
ศาลยกฟ้อง ม. 112 นักธุรกิจเชียงใหม่ กรณีขัดแย้งซื้อขายที่ดิน
 
13 ธ.ค.56 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2553 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ฟ้องร้องนายอัศวิน (สงวนนามสกุล) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีจำเลยกล่าวแอบอ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการติดต่อทำธุรกิจ ในช่วงปี 2546
 
ศาลชั้นต้นจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาในเวลา 9.35 น. โดยพิพากษายกฟ้องจำเลย เนื่องจากมีข้อพิรุธน่าสงสัยในพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์หลายประการ ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลย
 
สำหรับนายอัศวิน อายุ 64 ปี เป็นนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิชาวไทยภูเขา นายอัศวินเล่าว่าคดีนี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางธุรกิจ จากกรณีการซื้อขายที่ดินเอราวัณรีสอร์ต อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในช่วงปี 2546 โดยมีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างทั้งสองฝ่ายในหลายคดี เขาถูกแจ้งข้อหาจากคู่กรณีทั้งข้อหาบุกรุก, ทำให้เสียทรัพย์, นำคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นต้น โดยในคดีอื่นๆ นั้น ศาลได้ทำการยกฟ้องไปหมดแล้ว เหลือแต่ข้อหามาตรา 112 และในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จำเลยได้รับการประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์เป็นที่ดิน จำนวน 1.5 ล้านบาท
 
คำฟ้องคดีนี้ระบุว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 3 กรรม ได้แก่ ในช่วงระหว่างปี 2543-2546 ได้พูดกล่าวข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความองค์รัชทายาท ต่อนางมยุรา สฤษชสมบัติ ที่บริเวณอ.หางดง จ.เชียงใหม่, ในช่วงเดือนกันยายนปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางกัลยา ตันมณีวัฒนา และช่วงเดือนตุลาคมปี 2546 ได้พูดกล่าวแอบอ้าง ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อนางอัญชลี นิลเดช ที่บริเวณอ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
 
อ่านสรุปคำพิพากษาต่อได้ที่ ประชาไท
 
 
เปิดร่างกฏหมายที่ตกไป หลังยุบสภาฯ
 
11 ธ.ค. 2556 หลังจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากจะส่งผลให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว ยังส่งผลให้ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก็มีอันต้องตกไปด้วย โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายสมชาติ ธรรมสิริ โฆษกสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า มีทั้งสิ้น 69 ฉบับ เมื่อนายกฯ ประกาศยุบสภาแล้ว ร่างกฎหมายที่อยู่ในระเบียบวาระจะถือว่าตกไปทั้งหมด รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291, มาตรา 68 และ มาตรา 237 ด้วย
 
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ร่าง ค้างอยู่ในวาระ 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา
 
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและมีความสำคัญ จะให้สิทธิคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยืนยันการพิจารณาร่างกฎหมายได้ แต่ในชั้นนี้ถือว่าตกไปทั้งหมด
 
ประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ที่ระบุว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือบรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป
 
ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
 
อ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ ที่ค้างอยู่ในขั้นตอนต่างๆของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ที่นี่
 
ที่มา: ประชาไท
 
 
เพื่อไทยยื่นDSI เอาผิด'สุเทพ' ม.112 ฐานเป็นกบฏ
 
พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อดีเอสไอเอาผิดนายสุเทพตามมาตรา 112 และ 113 ฐานเป็นกบฏและสร้างความเดือดร้อนให้กับราชอาณาจักร ขณะที่อธิบดีดีเอสไอยืนยันจะไม่เข้ารายงานตัวตามที่นายสุเทพได้ประกาศเอาไว้
 
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วยคณะทำงานฝ่ายกฏหมายเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่ได้กระทำการก้าวล่วงพระราชอำนาจ และได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 
 
โดยการสร้างเงื่อนไขใหม่ ปลุกระดมมวลชนให้ล้มล้างรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองด้วยการกระทำผิดกฏหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ รวมถึงได้กระทำผิดตามมาตรา 113 โดยการปลุกระดมมวลชนเดินสายตามท้องถนนทั่วกรุงเทพมหานคร สร้างความเดือดร้อนและทำให้การจราจรติดขัด มีการปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง 
 
อีกทั้งได้กระทำการให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงเอาไว้ ทั้งนี้การกระทำของนายกสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุมได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติอย่างรุนแรงจึงร้องให้ดีเอสไอได้ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด
 
 
ขณะที่นายธาริต เรียกร้องให้นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิบัติตามกฏหมายโดยการเดินทางไปยังศาลอาญา ตามที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องฐานก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป นอกจากนี้นายธาริตยืนยันจะไม่เดินทางไปรายงานตัวต่อนายสุเทพตามที่ได้ประกาศให้ข้าราชการเข้ารายงานตัว เนื่องจากคำประกาศดังกล่าวไม่มีกฏหมายรองรับและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
อย่างไรก็ตามกรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สิน และทำให้ทรัพย์สินสูญหายภายหลังจากการชุมนุมที่ศูนย์ราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษว่ามีจำนวนเท่าใด แต่สำนวนคดีต่างๆนั้นยืนยันว่าไม่ได้มีการสูญหาย 
 
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าทางตำรวจได้รับแจ้งคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของนายสุเทพกว่า 40 คดี ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการประชุมในวันที่ 17 ธันวาคมนี้เพื่อรวบรวมหลักฐานว่าจะนำให้คดีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษหรือไม่
 
ที่มา: VoiceTV
 
 
ศิษย์เก่า มธ. ยื่น 3 พันรายชื่อขับ"อั้ม เนโกะ"พ้น"นศ.ธรรมศาสตร์"
 
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษา มธ.นำโดยนายองค์อร ภูอากาศ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ.ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.ให้พิจารณาคัดชื่อนายศรันย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนะโกะ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปี 2 ออกจากการเป็นนักศึกษาของ มธ.
 
โดยระบุนายศรันย์มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งการแต่งกาย และใช้วาจาไม่สุภาพต่อคณาจารย์ ล่าสุดพยายามชักธงดำขึ้นยอดโดมที่ มธ.ศูนย์รังสิต เพื่อประท้วงอธิการบดี มธ.ซึ่งนายศรันย์เห็นว่าอธิการบดี มธ.เอนเอียงทางการเมือง ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น และผิด พ.ร.บ.ธงชาติ โดยมีศิษย์เก่า และปัจจุบันร่วมลงชื่อให้พิจารณาโทษนายศรันย์ 3,050 คน
 
 
นายสมคิดกล่าวว่า นายศรันย์ได้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายครั้ง ทั้งการปีนขึ้นไปบนรูปปั้นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสม และใช้วาจาไม่สุภาพกับอาจารย์ จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา เป็นประธาน และคณะกรรมการสอบสวนซึ่งเป็นตัวแทนนักศึกษา ได้เสนอลงโทษพักการเรียน 1 ปี แต่ผู้ปกครองและนายศรันย์ได้ขอให้ลดโทษเหลือพักการเรียน 1 ภาคเรียน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของนายปริญญา คาดว่าจะพิจารณาโทษใน 1-2 สัปดาห์นี้
 
ส่วนเรื่องพฤติกรรมการแสดงออกของนายศรันย์เกี่ยวกับการชักธงดำนั้น จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกเรื่อง ซึ่งการลงโทษต้องเป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัย หากโทษไม่ถึงคัดชื่อออก ก็ไม่สามารถทำได้
 
ที่มา: มติชน
 
 
ตั้งข้อหา 'ข่มขืนใจ' ส่งหมายเรียก 22 ชาวบ้าน เหตุปกป้องชุมชนจากเหมืองแร่
 
7 ธ.ค. 2556 - นักข่าวพลเมือง จ.เลย รายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 6 ธันวาคม 2556 นายสมัย ภักดิ์มี ได้รับจดหมายจดหมายลงทะเบียนที่ RG 4703 6746 9 TH จาก สภ.วังสะพุง จ.เลย
 
ภายในซองจดหมายเป็นกระดาษ A4 บนหัวกระดาษเป็นตราครุฑสีดำ และมีคำเตือนสีแดงกำกับอยู่ด้านขวามือว่า “คำเตือนไม่มาตามหมายเรียกเป็นเหตุให้ออกหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๖”
 
ด้านซ้ายเขียนว่า “หมายเรียกผู้ต้องหา” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานที่ออกหมายคือ สถานีตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย ออกหมายวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ผู้กล่าวหาคือ บ.ทุ่งคำ จำกัด และ อบต. เขาหลวง ผู้ต้องหาคือ นายสมัย ภักดิ์มี ด้วยเหตุ “ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายฯกระทำการปิดกั้นทางหลวงหรือนำสิ่งใดมาขวางฯร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ” โดยให้นายสมัย ภักดิ์มี ไปที่ สภ.วังสะพุง พบ พ.ต.อ.สมพงษ์ หงษ์ไพลิน ในวันที่ 6 เดือน ธันวาคม ๒๕๕๖ เวลา 09.00 น.
 
นายสมัย ภักดี ประธาน อบต.เขาหลวงซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ในฐานะผู้ถูกกล่าวหากล่าวว่า ตามหมายเรียกให้ไปหาเจ้าพนักงานวันนี้นั้น คงไปไม่ทัน เพราะเพิ่งได้หมายเรียกตอนบ่ายโมงวันนี้ และมีชาวบ้านอีก 21 คนที่ได้รับหมายเรียกเช่นกัน
 
“บางคนก็ไปทำงานในไร่นายังไงก็ไปไม่ได้เพราะเขาไม่รู้ ทางเราก็เลยปรึกษากันว่าจะขอเลื่อน ก็เลยโทรไปสอบถามพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเลื่อน ทางพนักงานฯ ก็ตกลงให้เลื่อนไปวันที่ 20 ธันวาคม นี้ โดยให้ชาวบ้านมาให้ปากคำที่วัดป่านาหนองบง”
 
ตามข้อกล่าวหาที่ว่า ข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายฯ นั้น นายสมัยกล่าวว่า ตนเองไม่ได้ไปข่มขืนน้ำใจใคร เพียงแต่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำกำแพงเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ (ซึ่งเป็นบริเวณสี่แยกที่ตัดกันเคยเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมาแล้วสามครั้งที่รถยนต์ของเหมืองชนมอเตอร์ไซด์ชาวบ้าน) การขนสารเคมีอันตรายเข้ามาและก็ขนสินแร่จากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาถลุงในพื้นที่ตรงนี้ ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ชาวบ้านขอ 5-6 ปีที่ผ่านมา และไม่เคยเห็นหน่วยงานรัฐใดเข้ามาสนใจแก้ไขปัญหา แต่พอบริษัททุ่งคำเข้าไปขอแจ้งความจับชาวบ้านก็ทำให้เลย อย่างนี้มันใช่ไม่ได้
 
“ส่วน อบต.มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรไม่สมควรที่จะทำแบบนี้ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งที่ภารกิจถ่ายโอนของ กพร. มาให้ อบต. ยกตัวอย่างบ่อสันเขื่อนไซยาไนด์แตกก็ไม่รับผิดชอบเลย แต่พอชาวบ้านลุกขึ้นป้องกันต้นเองก็เดือดร้อนเป็นปี่เป็นขลุ่ย มาฟ้องร้องชาวบ้านอย่างนี้ไม่ถูกต้อง”
 
“ผมอยากจะถามนายกว่า คุณมาจากประชาชนเลือกคุณมาไหม? หรือเหมืองทองเลือกคุณมา?”
 
นายสม้ยกล่าวว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับชุมชนเลย คือชาวบ้านไม่ได้ข่มขืนใจใคร ไม่ได้ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายใคร เราสร้างกำแพงขึ้นมาเป็นมติของ 6 หมู่บ้าน ไม่ใช่ว่าตนเป็นผู้นำหมู่บ้านแล้วจะบอกชาวบ้านให้สร้างกำแพง ปัญหาทุกอย่างถูกโยนเข้าไปในที่ประชุมของชุมชนและวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกัน
 
“การขู่ทำร้ายพนักงานของบริษัททุ่งคำนั้น ยืนยันว่า ไม่มี ไม่ใช่นิสัยของคนในชุมชน แต่ที่เราทำกำแพงก็เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับชุมชนมากกว่า ในเมื่อ อบต. เปิดหน้าชกชุมชน เราก็ต้องเดินต่อในสิ่งที่ถูกต้อง เราใช้สิทธิชุมชนของเราสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุมชนของเรา ผมมองว่านายก อบต.เขาหลวง ชาวบ้านเลือกมาเพื่อจะมาพัฒนา และแก้ไขปัญหาของชุมชนแต่คุณกลับมาฟ้องเขาอย่างนี้มันใช่ไม่ได้”
 
นางสาวบุษยา แจ่มฟ้า เจ้าหน้าศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมกล่าว ถึงข้อกล่าวหาที่ชาวบ้านได้รับว่า ที่ว่าร่วมกันข่มขืนใจนั้น ข่มขืนใจเรื่องอะไร? ถ้าเป็นเรื่องบุกรุกหรือขัดขวางทางหลวงนั้นก็มีคดีฟ้องร้องกันอยู่แล้ว
 
คดีแบบนี้มันเป็นคดีหาเรื่อง ทำให้ชาวบ้านยุ่งยากและวุ่นวายมากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงคือหน่วยงานรัฐร่วมกันกับเหมืองกล่าวหาชาวบ้าน แล้วแบบนี้ชาวบ้านจะไปพึ่งใคร? เหตุการเดิมๆซ้ำๆจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่หน่วยงานรัฐไม่เหลียวมองชาวบ้านผู้เดือดร้อน
 
ที่มา: ประชาไท
 
 
ญี่ปุ่นประท้วงรัฐบาลผ่านร่างกม.รักษาความลับของรัฐ
 
7 ธ.ค. 2556 ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ธ.ค.) รัฐสภาของญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐ (Bill on the Protection of State Secrets) ท่ามกลางการต่อต้านของประชาชน สื่อ และนักวิชาการ ซึ่งกลัวว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
กฎหมายฉบับนี้นำเสนอโดยรัฐบาลฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จากพรรคแอลดีพีซึ่งได้รับมติผ่านร่างจากสภาสูงไม่กี่วันหลังจากมีการผ่านร่างจากสภาล่างแล้ว
 
กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้รัฐมนตรีใช้อำนาจกำหนดได้ว่าข้อมูลใดถือเป็นข้อมูลลับของรัฐไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับด้านกลาโหม การทูต การต่อต้านการจารกรรมข้อมูล และการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอาเบะกล่าวว่ามาตรการนี้จำเป็นในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลรัฐรั่วไหลและป้องกันไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวกรองประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ  โดยกฎหมายฉบับนี้ยังระบุให้มีการจำคุกมากสุด 10 ปี สำหรับผู้ที่เปิดโปงข้อมูลลับของรัฐรวมถึงผู้ที่สามารถเข้าถึงความลับของรัฐด้วยวิธีการผิดกฎหมาย
 
แต่นักวิจารณ์มองว่าประเภทของข้อมูลที่รัฐสามารถกำหนดตีความครอบคลุมได้แทบทุกประเภท โดยอาจรวมถึงข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียแก่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและผู้เกื้อหนุนรัฐบาล ทำให้สามารถฉวยโอกาสปกปิดข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย นักวิจารณ์ได้ยกตัวอย่างกรณีการระงับข่าวสารเรื่องเหตุการณ์วินาศกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมาในปี 2554 และบอกอีกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีปฏิบัติการเบื้องหลังที่กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้มีการปกปิดข้อมูลมากขึ้น
 
อากิ วากาบายาชิ ผู้อำนวยการองค์กรว่าด้วยความโปร่งใสสากลประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ระบุชัดเจนว่าเรื่องใดที่เป็นความลับ ...กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้รัฐบาลระงับการเผยแพร่ข้อมูลจนเป็นการทำลายประชาธิปไตยในประเทศญี่ปุ่น" โดยก่อนหน้านี้อากิเคยเป็นผู้เปิดโปงเรื่องงบประมาณลับที่รัฐบาลนำไปใช้ในการเดินทาง
 
ในกลุ่มที่ต่อต้านกฎหมายนี้มีมากกว่า 250 คน มีทั้งดาราภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนชื่อดังจากสตูดิโอจิบลิอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ กับอิซาโอะ ทากาฮาตะ รวมถึงนักข่าว นักวิจัย ทนายความ และคนมีชื่อเสียงคนอื่นๆ ในญี่ปุ่น เรียกร้องให้มีการต่อต้านกฎหมายนี้โดยบอกว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นเสรี ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นกฎหมายอันตราย
 
มีผู้ชุมนุมราว 3,000 คน จากกลุ่มประชาสังคมพากันเดินขบวนต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยมีผู้ชุมนุมบางคนตัดต่อภาพล้อเลียนนายกฯ อาเบะ เข้ากับภาพของอดีตผู้นำนาซีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
 
การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ผ่านการวินิจฉัยจากตัวแทนอิสระใดๆ ซึ่งทางนายกฯ อาเบะกล่าวว่ารัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถ่วงดุลในขั้นตอนการใช้อำนาจกำหนดว่าข้อมูลใดถือเป็นความลับ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ในกฎหมายและฝ่ายนักวิจารณ์กฎหมายนี้เกรงว่าคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจะไม่กล้าทำอะไรที่ขัดต่อรัฐบาลเอง
 
สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่ากฎหมายคุ้มครองความลับของรัฐในญี่ปุ่นเปรียบเสมือนกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายปี 2544 (PATRIOT Act) ของสหรัฐฯ และรัฐบาลของบารัค โอบามา ก็ให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
 
โกลบอลโพสต์ระบุอีกว่าเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวนี้มีจุดที่เป็นการปิดกั้นประชาธิปไตยในแง่ของการห้ามไม่ให้มีการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน การระบุให้การ 'ยัดเยียด' แนวคิดทางการเมืองหรือหลักการต่อรัฐหรือต่อผู้อื่นเป็น 'การก่อการร้าย' และมีความขัดแย้งกับกฎหมายเสรีภาพสื่อปี 2542 ของญี่ปุ่นที่ระบุให้พลเมืองมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลได้
 
ที่มา: ประไชาไท
 
 
อินเดีย..กลับมาใช้กฎหมายห้ามรักร่วมเพศ
 
ศาลฎีกาของอินเดียตัดสินเมื่อวานนี้ ให้คงกฎหมายสมัยอาณานิคมที่ระบุว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศมีความผิด
 
คำตัดสินเมื่อวานนี้ระบุว่า คำตัดสินของศาลสูงเมื่อปี 2009 ที่จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ และศาลไม่มีอำนาจแก้กฎหมาย ต้องเป็นนักการเมืองเท่านั้น
 
คำตัดสินของศาลฎีกาสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กลุ่มรักร่วมเพศที่มารวมตัวหน้าศาล พวกเขาต่างกอดกัน บางส่วนถึงกับร้องไห้ด้วย พวกเขาระบุว่าจะต่อสู้เพื่อถอดกฎหมายนี้ต่อไป
 
กฎหมายที่ประกาศใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1860 ระบุว่า ผู้ที่ตั้งใจมีเพศสัมพันธ์อย่างผิดธรรมชาติกับผู้ชาย ผู้หญิง หรือสัตว์ อาจต้องโทษจำคุก 10 ปี
 
เมื่อปี 2009 ศาลสูงของอินเดียเคยตัดสินว่ากฎหมายนี้ขัดต่อหลักเสรีภาพพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญอินเดีย
 
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ไม่ค่อยถูกนำมาฟ้องร้องในศาลมากนัก แต่มักจะถูกใช้โดยตำรวจ ซึ่งต้องการขู่กรรโชกเอาเงินสินบนจากบุคคลรักร่วมเพศ
 
 
 
อุรุกวัยไฟเขียวปลูก-ค้ากัญชาถูก กม.เป็นประเทศแรกของโลก
  
มอนเตวิเดโอ 11 ธ.ค.- อุรุกวัยกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้ปลูก จำหน่าย และใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย เป็นการเคลื่อนไหวที่จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากประเทศที่กำลังถกเถียงกันในเรื่องนี้
 
ร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลอุรุกวัยผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนน 16 ต่อ 13 และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน อนุญาตให้ผู้อาศัยในอุรุกวัยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และลงทะเบียนกับรัฐบาลแล้วสามารถซื้อกัญชาจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตแล้วได้ไม่เกินเดือนละ 40 กรัม อนุญาตให้ชาวอุรุกวัยปลูกกัญชาภายในบ้านได้ปีละ 6 ต้น และอนุญาตให้ตั้งสมาคมผู้สูบกัญชา 15-45 คน ซึ่งจะปลูกกัญชาได้ปีละ 99 ต้น
 
วุฒิสมาชิกที่เห็นชอบมองว่าเป็นการทดลองที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมครั้งใหญ่ โดยมีจุดประสงค์เรื่องสาธารณสุขและปราบปรามการค้ายาเสพติด ทางการมีเวลา 120 วันในการตั้งคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานการปลูกกัญชา การกำหนดราคาซื้อขายและติดตามการใช้กัญชา ปัจจุบันอุรุกวัยซึ่งมีประชากร 3.3 ล้านคนอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ยังห้ามปลูกและค้าอยู่
 
ประธานาธิบดีโฆเซ มูฆีกา วัย 78 ปี กล่าวว่า รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายนี้ควบคุมและเก็บภาษีตลาดกัญชาที่มีอยู่แล้วแต่อยู่ในมือของแก๊งอาชญากรรม ทั้งนี้ แม้ว่าอุรุกวัยมีเหตุรุนแรงเกี่ยวกับยาเสพติดน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในละตินอเมริกา แต่ผู้ต้องขังราว 1 ใน 3 ล้วนพัวพันการค้ายาเสพติด เพราะอุรุกวัยกลายเป็นเส้นทางลำเลียงกัญชาจากปารากวัยและโคเคนจากโบลิเวีย ด้านผู้ไม่เห็นด้วยระบุว่า กฎหมายนี้ไม่เพียงจะทำให้คนอุรุกวัยเสพกัญชามากขึ้น จากปัจจุบันที่เสพเป็นประจำอยู่แล้วร้อยละ 8 แต่จะเปิดทางให้คนเสพยาเสพติดที่รุนแรงกว่ากัญชาด้วย