นักกิจกรรมไทยรวมตัวหน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความสมานฉันท์กับคนงานกัมพูชาที่ถูกปราบและเพื่อประท้วงต่อการใช้กำลังสลายการชุมนุมของคนงานกัมพูชา (ภาพโดย iLaw)
เรื่องโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
การชุมนุมเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจน้อยกว่า สามารถนำมาใช้ต่อสู้และต่อรองกับผู้มีอำนาจมากกว่าได้ เมื่อไม่มีอำนาจรัฐหรืออำนาจทุนอยู่ในมือ ปัจจัยที่ผู้มีอำนาจน้อยมีเหนือกว่าก็คือจำนวน ในกิจกรรมทางการเมือง การชุมนุมคือหนึ่งในไม่กี่วิธีที่พลเมืองสามารถใช้ส่งเสียงเรียกร้อง หรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่างๆ ไปยังผู้มีอำนาจรัฐได้
เสรีภาพในการชุมนุมมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับคนงาน เพราะคนงานเป็นกลุ่มที่มีเพียงกำลังแรงงานไม่มีปัจจัยการผลิต ในระดับปัจเจกคนงานจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองกับนายจ้างหรือนายทุนได้ เป็นเหตุให้คนงานมักถูกเอาเปรียบในประเด็นเกี่ยวกับการจ้างงาน การผนึกกำลังกันจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้อำนาจต่อรองสูงขึ้นได้
แม้นายจ้างจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าคนงานทุกอย่าง แต่สิ่งที่นายจ้างต้องพึ่งพาคนงานคือกำลังแรงงาน หากคนงานรวมตัวกันประท้วง ก็จะไม่มีแรงงานมาทำการผลิต นายจ้างก็ไม่อาจดำเนินธุรกิจได้ การชุมนุมหรือการนัดหยุดงานจึงเป็นวิธีการต่อสู้ที่คนงานมักจะใช้เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงาน
แม้กฎหมายของหลายประเทศจะรับรองสิทธิในการชุมนุมของคนงาน แต่ในทางปฏิบัติการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของคนงานกลับเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามและความเสี่ยง ไม่มีหลักประกันว่าการนัดชุมนุมจะทำให้คนงานบรรลุข้อเรียกร้อง และไม่มีหลักประกันใดรับรองว่าจะไม่เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือไม่ถูกกฎหมายอื่นตามมาเล่นงานภายหลัง ลองพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิการชุมนุมของคนงาน ในประเทศไทยและกัมพูชา
คนงานชุดชั้นในไทรอัมพ์ ถูกดำเนินคดีฐานก่อความวุ่นวาย
บรรยากาศการชุมนุมของคนงานไทร์อัมพ์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 (ที่มา ประชาไท)
ในประเทศไทย การชุมนุมได้รับการคุ้มครอง โดยมาตรา63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ขณะที่พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ก็ให้การรับรองสิทธิในการนัดหยุดงาน เมื่อเกิดข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้กลุ่มคนงานก็มีการจัดชุมนุมเรียกร้องค่าแรงหรือเรียกร้องให้นายจ้างปรับปรุงการจ้างงานหลายต่อหลายครั้ง ดูเหมือนว่าการชุมนุมจะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ลำบากนักในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ทั้งเสี่ยงที่จะโดนปราบปรามและเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีในภายหลัง
ในเดือนมิถุนายน ปี2552 บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้กับยี่ห้อ Triumph แบรนด์ชั้นนำจากเยอรมันประกาศเลิกจ้างคนงาน1,959 คน คนงานเห็นว่าค่าชดเชยการเลิกจ้างที่ได้รับยังไม่เป็นธรรม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงออกมาเคลื่อนไหว เริ่มจากการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่ไม่เป็นผล ต้นเดือนสิงหาคม 2552 กลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ปลายเดือนสิงหาคมเมื่อสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงชักชวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีคนงานจากบริษัทอื่นที่ประสบปัญหาถูกเลิกจ้างเหมือนกันมาร่วมชุมนุมด้วยกว่า 800 คน เมื่อรอตั้งแต่เช้าแล้วยังไม่มีคนออกมารับหนังสือ ประมาณเที่ยงจึงเคลื่อนขบวนไปชุมนุมต่อที่หน้ารัฐสภา
เมื่อผู้ชุมนุมไปถึงหน้ารัฐสภาประมาณบ่ายโมงและประสานขอให้รัฐบาลส่งตัวแทนมารับหนังสือแต่ก็ไม่มีผู้ใดออกมา ซ้ำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้เครื่องส่งคลื่นความถี่สูง (LRAD) ส่งเสรียงแหลมรบกวนการชุมนุมทำให้ผู้ชุมนุมบางคนมีอาการเจ็บปวดแก้วหู ต่อมาในช่วงเย็นแกนนำจึงสามารถยื่นหนังสือผ่านทางประธานวิปฯฝ่ายค้านได้ เมื่อยื่นหนังสือเรียบร้อยผู้ชุมนุมก็เดินทางกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรง อย่างไรก็ตามภายหลังจากเหตุการณ์นั้นมีผู้ชุมนุมสามคนถูกพล.ต.ท. วิชัย สังประไพ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล1 แจ้งความดำเนินคดีฐานชุมนุมมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216
การดำเนินคดีกับคนงานที่มาชุมนุมเรียกร้องการจ้างงานที่เป็นธรรมเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ให้คนงานไม่กล้าลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตัวเองต่อสู้กับการการกดขี่เพราะอาจกลัวถูกดำเนินคดี การดำเนินคดีกับคนงานไทร์อัมพ์ อาจส่งสัญญาณไปยังคนงานกลุ่มอื่นที่อาจจะมาชุมนุมในอนาคตให้ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น [อ่านรายละเอียดคดีการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ได้ที่
http://freedom.ilaw.or.th/case/376]
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกันแล้ว ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับคนงานที่หาญกล้าใช้เสรีภาพในการชุมนุมของไทยดูจะเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนงานในประเทศกัมพูชา เมื่อต้นปี 2557 นี้เอง
กัมพูชา สลายการชุมนุมคนงานถึงเสียชีวิต
หนึ่งในเหยื่อของการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 (ที่มา LICADHO-CAMBODIA)
มาตรา 37 ของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชารับรองเสรีภาพในการชุมนุมเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 31 ยังระบุด้วยว่ารัฐบาลกัมพูชาต้องให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศต่างๆ เช่นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย ขณะที่สิทธิในการนัดหยุดงานก็ได้รับการคุ้มครองตาม
กฎหมายแรงงานมาตรา319และ320
ดูเผินๆ การประกันเสรีภาพในการชุมนุมของรัฐธรรมนูญกัมพูชาดูจะดีกว่าของไทย แต่ในความเป็นจริง คนงานชาวกัมพูชาที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมต้องเผชิญกับการคุกคามที่โหดร้ายกว่าคนงานไทยในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะหลายครั้งการชุมนุมจบลงด้วยการปราบปรามที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต
จากการสัมภาษณ์คนงานของสำนักข่าว Voice of America, หลายคนสะท้อนว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ค่าจ้างที่ได้รับไม่เพียงพอการดำรงชีพ วันที่ 24 ธันวาคม 2556กระทรวงแรงงานกัมพูชาประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก80 ดอลลาร์เป็น95ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าที่ทางสหภาพแรงงานสิ่งทอเรียกร้องคือ 160 ดอลลาร์ สหภาพแรงงานสิ่งทอและกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงนัดหยุดงาน
การหยุดงานประท้วงดำเนินมาได้หนึ่งสัปดาห์ กระทรวงแรงงานประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้อีก 5 ดอลลาร์ เป็น 100 ดอลลาร์ แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธโดยสหภาพแรงงาน จนกระทั่งวันที่ 3 มกราคม 2557 ทางการกัมพูชาตัดสินใจสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนอาร์กา(AK47)ยิงใส่ผู้ประท้วงที่ปิดถนนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่คน (บางแหล่งข่าวแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย3คน) และอีก21คนได้รับบาดเจ็บขณะที่บางส่วนถูกควบคุมตัว
ทางการกัมพูชาชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยิงเพราะผู้ชุมนุมที่ปิดถนนทำการเผายางรถยนต์และขว้างปาสิ่งของรวมทั้งระเบิดเพลิงใส่เจ้าหน้าที่ ในขณะที่คนงานคนหนึ่งยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการก่อความรุนแรง แค่ต้องการปิดถนนเท่านั้น แต่ตำรวจกลับเปิดฉากยิง ซ้ำร้ายเมื่อผู้ได้รับบาดเจ็บเดินทางไปโรงพยาบาลในบริเวณนั้นตำรวจก็ข่มขู่โรงพยาบาลไม่ให้รักษา ซึ่งไม่ว่าความจริงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง การสลายการชุมนุมครั้งนี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิต
การปราบปรามคนงานที่ออกมาชุมนุมในกัมพูชาครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ไม้กระบองสลายการชุมนุมของคนงานโรงงานSabrina Cambodia Garment Manufacturingซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าป้อนแบรนด์ดังของอเมริกาอย่างไนกี จนเป็นเหตุให้คนงาน23คนได้รับบาดเจ็บและมีคนงานที่กำลังตั้งท้องสองคนแท้งลูก
เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่า คนงานไทยและกัมพูชาเผชิญกับปัญหาที่คล้ายกันสองประการนั่นคือความไม่เป็นธรรมในระบบการจ้างงานและปัญหาการถูกควบคุมเมื่อคนงานเลือกที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในการจ้างงานโดยใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องมือ แม้สภาพการจ้างงานและวิธีการควบคุมจะแตกต่างกันไป
ท้ายที่สุด ค่าแรงที่สูงกว่าและภัยคุกคามที่ดูจะเบาบางกว่า คงไม่ใช่สิ่งที่คนงานไทยควรจะดีใจ เพราะเวลาที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก คนงานไทยก็แบกความเสี่ยงไว้ไม่น้อยกว่าคนงานกัมพูชาแม้ว่าจะลักษณะความเสี่ยงจะต่างกัน ซึ่งนั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้หนึ่งในอดีตจำเลยในคดีการชุมนุมของคนงานไทร์อัมพ์ ออกมาร่วมกิจกรรมชุมนุมแสดงพลังที่หน้าสถานทูตกัมพูชาในกรุงเทพเพื่อประท้วงการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในกัมพูชา เพื่อประกาศว่าคนงานทั้งผองคือพี่น้องกัน
อ้างอิง