รอบอาทิตย์ที่สี่ เดือนมกราคม 57: รัฐบาลประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เริ่ม 22 ม.ค. ยาว 60 วัน

รอบอาทิตย์ที่สี่ เดือนมกราคม 57: รัฐบาลประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เริ่ม 22 ม.ค. ยาว 60 วัน

เมื่อ 26 ม.ค. 2557
20 มกราคม 2557
 
คปท.บุกปิดเซิฟเวอร์สำนักงานกฤษฎีกา
 
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. เวลา13.30 กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)ได้จัดชุดมวลชนเคลื่อนที่เร็วเดินทางด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งบริเวณสำนักงานได้มีการปิดประตูทางเข้า โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้แจ้งกับผู้ชุมนุมว่าสำนักงานปิดทำการและไม่มีเจ้าหน้าที่มาทำงาน แต่กลุ่มผูุ้ชุมนุมไม่เชื่อ จึงขอเข้าตรวจค้น
 
ทั้งนี้พบว่ามี เจ้าหน้าที่ทำงานในส่วนของการดูแลระบบเซิฟเวอร์อยู่จึงต่อรองให้มีการปิดระบบเพื่อไม่ให้มีการทำงาน โดยทางเจ้าหน้าที่ขอเวลาในการปิด 3 ชม.เนื่องจากระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายหน่วยงานซึ่งเป็นเรื่องของฐานข้อมูลทางกฏหมายเช่นศาลปกครอง ปปช. กกต. สำนักงานกฤษฎีกา และสำนักนายกรัฐมนตรีหากตัดไฟหรือปิดทันทีจะได้รับความเสียหายมาก
 
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอมและดำเนินการปิดระบบคอมพิวเตอร์ทันทีและได้เชิญเจ้าหน้าที่ออกจากตึกเพื่อไม่ให้มีการทำงาน
 
 
 
21 มกราคม 2557
 
นักเรียนฮือประท้วง ผอ.อยุธยาวิทยาลัย-เกณฑ์นักเรียนเดินหนุนเลือกตั้ง
 
รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 รายงานว่า เมื่อวานนี้ (20 ม.ค.)นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รวมตัวกันเป่านกหวีดเพื่อขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งนี้การรวมตัวเกิดจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(17 ม.ค.) ผู้บริหารเกณฑ์นักเรียนไปศาลากลางห่างจากโรงเรียน 1 กม. ไปสนับสนุนการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองมีความเป็นห่วงว่าเนื่องจากมีการแบ่งพวกแบ่งฝ่ายแบ่งสีจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการบังคับกะเกณฑ์ลูกหลานไปแสดงออกทางการเมือง โดยที่มีการเป่านกหวีดประท้วง 20 นาทีและมีตัวแทนนักเรียนเข้าไปพูดคุยหารือกับอาจารย์ด้านในอาคารเรียนด้วยก่อนที่จะสลายการชุมนุม (ชมคลิป)
 
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายเฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้เกณฑ์นักเรียนทั้งโรงเรียนเดินรณรงค์ไปตามถนนและศาลากลางเก่าเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง 2 ก.พ.ทั้งนี้นักเรียนจำนวนมากและผู้ปกครองไม่ได้เต็มใจไปรณรงค์นอกจากนี้ยังมีการแชร์ภาพของนักเรียนที่อยู่ในการณรงค์เมื่อวันศุกร์ และถือป้ายว่า"บังคับกูมา" ด้วย
 
ที่มา: ประชาไท 
 
 
21 มกราคม 2557
 
รัฐบาลประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เริ่ม 22 ม.ค. ยาว 60 วัน
 
เมื่อวันที่21 ม.ค. เวลา 18.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศซึ่งกำกับดูแลศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) แถลงหลังการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. และ ศอ.รส. ว่า ทางศอ.รส. เห็นว่าผู้ชุมนุมได้กระทำการละเมิดกฎหมายมาตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดสถานที่ราชการ ธนาคาร และมีการข่มขู่คุกคามไม่ให้ข้าราชการทำงาน อีกทั้งยังกระทำที่ทำให้เสมือนหนึ่งว่าข้าราชการเป็นพวกเดียวกับตน รวมถึงมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงรัฐบาลจึงตัดสินใจใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2557 เป็นเวลา 60 วันบังคับใช้ในพื้นที่ที่มีการประกาศพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอยู่ในขณะนี้คือ กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี และ จ.ปทุมธานี เฉพาะอ.ลาดหลุมแก้ว โดยมีเป้าหมายสอบผู้กระทำผิดที่ร่วมการชุมนุมเพื่อให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไป
 
นอกจากนี้ เนื่องจากการชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. และพวกได้มีการกระทำที่เกินเลยและมีการก่อเหตุโดยผู้ที่ไม่ประสงค์ดีทำให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลยึดหลักสากลโดยไม่ใช้กำลังและอาวุธในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเรื่องนี้ต่อคณะทูตต่างประเทศในวันที่22 ม.ค.นี้ ส่วนสถานที่และเวลานั้น จะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
 
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวว่าจากนี้ไปจะมีการตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มีตนเป็นผู้อำนวยการศรส. โดยมีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ขณะที่นายสุรพงษ์ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งนี้ผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้สิทธิ์การชุมนุมอย่างสงบ สันติ และอหิงสาแต่ใช้ความหยาบช้าดูถูกผู้นำ ไม่เคารพสิทธิผู้อื่นตนจะใช้หลักสากลและการเจรจาไม่สลายการชุมนุมในเวลากลางคืนไม่ใช้อาวุธปืนเอชเคหรืออาก้า และไม่คิดทำลายล้างแต่เราจะดูตามหลักสากลว่าสถานการณ์ใดควรใช้อุปกรณ์ใดนอกจากนี้ผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีหมายจับก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้วโดยกรณีของนายสุเทพนั้น มีหมายจับข้อหากบฏซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเจอก็สามารถจับกุมได้
 
 
 
22 มกราคม 2557
 
สวธ.ชงแก้กฎกระทรวงปัญหา พ.ร.บ.ภาพยนตร์
 
เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) เปิดเผยว่า สวธ.กำลังจัดทำแผนปรับปรุง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เนื่องจากได้พบปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของสวธ.ยังมีบทบาทและอำนาจที่ไม่ชัดเจน ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาร้านเกมเกิดขึ้นหลายเรื่องที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ประกอบกับมอบหมายให้มีการศึกษาและดูข้อบกพร่องของกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อดำเนินการปรับปรุงเพื่ออุดช่องโหว่ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ทั้งนี้ การแก้กฎหมายดังกล่าวอาจจะล่าช้า ดังนั้นเบื้องต้นจะมีการขอแก้ไขและเพิ่มข้อบังคับในกฎกระทรวงแทนเพื่อให้ทันต่อปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนเรื่องร้านเกมที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเปิดให้เด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปีก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น ได้กำชับกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.)ให้ช่วยดูแลร้านเกมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
 
นายชายกล่าวต่อว่า ที่สำคัญเสนอให้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้แก่เยาวชนเพื่อรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากกว่าการเล่นเกม และในปี 2558 ก็จะมีการส่งเสริมให้มีร้านเกมสีขาวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเนื่องจากยังพบว่าร้านเกมบางแห่งเปิดเกินเวลาและกลายเป็นแหล่งมั่วสุม ที่สำคัญต้องหารือเพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาเรื่องร้านเกมไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายส่วนประเด็นปัญหาที่พบว่าสวจ.หลายแห่งขาดแคลนนักกฎหมายและขาดความรู้ทางด้านกฎหมายเรื่องการตรวจร้านเกมจนมีปัญหาฟ้องร้องและเป็นคดีความเพิ่มมากขึ้นนั้น ทราบว่าทางกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)กำลังเร่งแก้ปัญหาโดยขอบรรจุนิติกรเข้าไปช่วยดูแลเรื่องข้อกฎหมายตนมองว่าอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการคือการปรับบทบาทของ สวจ.ในการออกตรวจร้านเกมใหม่เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่าขาดแคลนเจ้าหน้าที่และยังขาดความรู้ทางข้อกฎหมาย
 
"ที่สำคัญเจ้าหน้าที่สวจ.หลายจังหวัดไม่กล้าดำเนินคดีกับร้านเกมบางร้านเนื่องจากมีผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหนุนอยู่ ดังนั้น การออกตรวจร้านเกมเจ้าหน้าที่สวจ.ต้องทำหน้าที่เก็บหลักฐานให้ชัดเจนและออกตรวจแบบรัดกุมรวมถึงเพิ่มมาตรการการตรวจแบบเข้มงวด ส่วนเรื่องความรู้ข้อกฎหมายนั้นระหว่างรอบรรจุนิติกร สวจ.ไหนมีปัญหาให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของ สวธ.หรือว่า วธ.ซึ่งที่ผ่านมา สวธ.ได้พยายามจัดพิมพ์คู่มือและให้ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยแก้ปัญหาและเสนอทางออกของเรื่องนั้นๆ" อธิบดี สวธ. กล่าว
 
 
 
23 มกราคม 2557
 
′สภาทนายความ′ แจง 3 ข้อกฎหมายเลือกตั้ง
 
เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความแถลงชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า 1.การเลือกตั้งถือว่าเป็นหน้าที่ซึ่งประชาชนยกเว้นแต่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่จะต้องแจ้งเหตุต่อ ผอ.การเลือกตั้ง 2.กรณีที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ไปใช้สิทธิและไม่ได้แจ้งเหตุจะเสียสิทธิตามกฎหมายเช่นการจะลงสมัครรับเลือกตั้ง3.ถ้าไปเลือกตั้งแล้วใช้สิทธิไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือโหวตโนนั้นเมื่อนับคะแนนของผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งได้น้อยกว่าจำนวนบัตรโหวตโน จะทำให้ต้องมีการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นอีกซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่
 
นายเดชอุดม กล่าวอีกว่าดังนั้นการที่ไปเลือกตั้งและหากจะใช้สิทธิไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งคือกาโหวตโนอย่างถล่มทลายแล้วย่อมเป็นการแสดงการประท้วงการเลือกตั้งอย่างหนึ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องนำมาพิจารณาในกรณีที่จะออกประกาศให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าจะสามารถดำเนินการให้โปร่งใสรวดเร็ว และเที่ยงธรรม ได้ตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
 
 
 
24 มกราคม 2557
 
ตำรวจซักซ้อมเลือกตั้งทั่วประเทศ เตรียมแผนรับมือภาคใต้ เน้นเจรจา
 
เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.อารีย์ อ่อนชิตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.)เป็นประธานการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตำรวจทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมดูแลหน่วยจัดการเลือกตั้งเพื่อกำชับเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง
 
พ.ต.อ.สุรพล สรสกุลชัย เลขานุการฝ่ายแผนศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้การสนับสนุนกำลังพล อุปกรณ์ สถานที่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ร้องขอในการดูแลการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 มกราคมนี้โดยจะใช้กำลังพล 6,000-7,000 คนทั่วประเทศโดยประเมินว่า พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 8 และ 9 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นพื้นที่ความมั่นคงสูงเนื่องจากไม่สามารถเปิดรับสมัคร ส.ส.ได้ ซึ่งหากมีเหตุรุนแรงตำรวจได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยจะเน้นการเจรจาเป็นหลักส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการชุมนุมในหลายจุดได้มีการวางมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยแล้วเช่นกันโดยหากมีการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ก็จะใช้การเจรจาต่อรองเช่นกัน
 
 
 
24 ม.ค.2557
 
ประชาคมบ้านเล้า ไม่รับ-ไม่เห็นด้วย-ไม่เอาเหมือง
 
24 ม.ค.2557 เวลาประมาณ 8.00 น.ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านบ้านเล้า ม.3 ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย มีการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน เรื่องการขอซ่อมบำรุงถนนที่ใช้ในการเกษตร โดย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
ชาวบ้านระบุว่าการทำประชาคมในครั้งนี้มีนัยยะสำคัญว่าบริษัทจะใช้ถนนภายในหมู่บ้านในการขนส่งสารเคมีที่ใช้ในการแต่งแร่และขนส่งแร่ของบริษัทออกมาขายเนื่องจากถนนที่เหมืองใช้อยู่ ในปัจจุบันถูกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดออกระเบียบชุมชนห้ามไม่ให้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน15 ตันขนส่งสารเคมีอันตรายและแร่วิ่งผ่าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านทั้งหมดที่เข้าร่วมประชาคมลงมติว่า"ไม่รับ ไม่เห็นด้วยและไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ”หลังจากนั้นได้พากันเดินไปขับไล่รถของบริษัทที่กำลังดำเนินงานออกไปจากหมู่บ้าน
 
ทั้งนี้ การสร้างกำแพงกั้นทางเข้า-ออกเหมืองของชารวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นเหตุให้เหมืองต้องหยุดกิจการ และยื่นฟ้องชาวบ้านร่วม 22 คน ใน 4 คดีแบ่งเป็นคดีแพ่ง 2 คดี รวมเงินต้น120 ล้านบาท และต้องจ่ายเพิ่มอีกวันละ 10 ล้านบาทจนกว่าจะยอมรื้อกำแพง และถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์สินอีก 2 คดี มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ที่มา: ประชาไท