รอบอาทิตย์ที่สอง ก.พ.57 : สัปดาห์หลังเลือกตั้ง

รอบอาทิตย์ที่สอง ก.พ.57 : สัปดาห์หลังเลือกตั้ง

เมื่อ 9 ก.พ. 2557
 
ประกาศผลการใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 ก.พ.
 
คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. สรุปตัวเลขภาพรวมผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 รวม 68 จังหวัด ไม่นับรวม 9 จังหวัดภาคใต้ ที่ไม่สามารถเปิดลงคะแนนได้ ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศมีจำนวน 43,024,042 คน มีผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 20,129,976 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.79
จำนวนบัตรดี 14,368,962 บัตร คิดเป็นร้อยละ 71.38
 
จำนวนบัตรเสีย 2,425,673 บัตร คิดเป็นร้อยละ 12.05
จำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3,335,334 บัตร คิดเป็นร้อยละ 16.57
 
จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1.จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 827,808 คน คิดเป็นร้อยละ 75.05
2.จังหวัดลำพูน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 241,209 คน คิดเป็นร้อยละ 73.39
3.จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 104,119 คิดเป็นร้อยละ 65.21
 
ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครรวม 33เขต 6,671 หน่วยเลือกตั้ง สามารถเปิดลงคะแนนได้ 6,155 หน่วย ประกาศงดลงคะแนน 516 หน่วย โดยมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 4,369,120 คน และมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 733,196 คน คิดเป็นร้อยละ 16.78 โดยมีบัตรดี จำนวน 498,847 บัตร คิดเป็นร้อยละ 68.04 บัตรเสีย 58,254 บัตร คิดเป็นร้อยละ 7.95 และจำนวนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 176,094 บัตร คิดเป็นร้อยละ 24.02
 
ที่มาข่าว TCIJ 
 
 
ปชป.ยื่นศาลยุบเพื่อไทย ฟ้องเลือกตั้ง2ก.พ.โมฆะ ล่า2หมื่นชื่อถอด”ปู-ขี้ข้า”
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ครั้งแรก หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง โดยในที่ประชุมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กำชับภารกิจหลายประการ แม้ว่าพรรคจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ก็ตาม โดยประเด็นที่มีการดำเนินการในขณะนี้ คือ มีการยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้วันเดียวกันทั่วประเทศ จนไปถึง ไม่สามารถประกาศเลือกตั้งใน 28 เขต ที่ไม่สามรรถเลือกตั้งได้ รวมถึงการให้ข่าวของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับคะแนนเสียง ทั้งที่หลายเขตยังไม่สามารถเลือกตั้งได้ อาจกระทบต่อการตัดสินใจของประชาชน จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หรือไม่
       
นายชวนนท์ กล่าวด้วยว่า เวลา 15.00 น. ฝ่ายกฎหมายของพรรค จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2 ประการ คือ ขัดรธน.มาตรา 68 เพื่อให้ได้อำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่รับฟังคำเตือนของกกต.ว่าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรมได้ และขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย เพราะใช้อำนาจฝ่ายบริหารให้เกิดความได้เปรียบผู้สมัครรายอื่น เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดความได้เปรียบ ควบคุมคนอื่นในการแสดงออกทางการเมือง เพราะมีผู้บริหารพรรคเพื่อไทย ร่วมเป็นกรรมการในศรส. ด้วย
       
นอกจากนี้ พรรคจะยื่นถอดถอน นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครม.ทั้งหมด ที่ประพฤติผิดในการจัดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นต่อป.ป.ช.ต่อไป
 
 
 
ม็อบชาวนาบุก กระทรวงพาณิชย์ทวงเงินจำนำข้าว
 
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 6 ก.พ.2557 กลุ่มชาวนาจาก จ.เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี เดินทางมาชุมนุมปิดด้านหน้ากระทรวงพาณิชย์เพื่อเรียกร้องเงินค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลติดค้างมาประมาณ 4 เดือน โดยมีตัวแทนชาวนาสลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีโครงการรับจำนำข้าวที่ล้มเหลว จนทำให้ชาวนาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวโดยมีเจ้าหน้าตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ดูแลรักษาความปลอดภัย
 
ด้านนางดวงสมร คงครุฑ กล่าวว่า กลุ่มชาวนา จาก ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเงินค่ารับจำนำข้าวจากรัฐบาลซึ่งติดค้างมากว่า 4 เดือนแล้ว ทำให้ได้รับเดือดร้อนเพราะติดหนี้ค่าเช่าที่นาค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน เป็นจำนวนเงิน กว่า 100,000 บาท ทำเจ้าของที่นาที่เช่าอยู่จะยึดที่นาคืนและไม่มีเงินหมุนเวียนในการปลูกข้าวในฤดูการใหม่อีกด้วย ก็จึงขอฝากไปว่าให้เร่งรัดในการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ติดค้างอยู่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด
 
ที่มาข่าว Nation Channel
 
 
มติกกต.จัดเลือกตั้งส.ว. 30 มี.ค. 57
 
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตามที่สมาชิกวุฒิภา(ส.ว.) ชุดเดิมจะครบวาระในวันที่ 2 มี.ค.นั้น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน โดยขณะนี้กกต.ได้มีมติให้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค.นี้ และกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 23 มี.ค.
 
กำหนดเปิดการรับสมัครระหว่างวันที่ 4 - 8 มี.ค. ซึ่งกระบวนการอยู่ระหว่างที่สำนักบริหารงานเลือกตั้งยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)เพื่อให้กกต.เห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกกต.ได้ในวันอังคารที่ 11 ก.พ.นี้
 
ที่มาข่าว กรุงเทพธุรกิจ
 
 
ศาล รธน.ชี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ขัด รธน. ม.68
 
ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ และคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้วินิจฉัยว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สุมทรปราการ ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าตามคำร้องอ้างว่า นายกฯ และ ครม. ได้กระทำการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานฯ อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น กรณีตามคำร้องยังไม่มีมูลที่จะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติสั่งจำหน่ายคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอให้วินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102(6) เนื่องจากกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดออกจากราชการทหาร เนื่องจากเห็นว่ามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. ทำให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(1) แล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อไป
 
และที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องที่นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยื่นขอให้สั่งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยุติการชุมนุม ยุติบุกยึดสถานที่ราชการ เพราะเข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศไทย ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยศาลเห็นว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ มีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ส่วนการกระทำของ กปปส. และ คปท. จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย
 
ที่มาข่าว สำนักข่าวไทย
 
 
โครงการกระเช้าไฟฟ้า สุเทพ-ปุยส่อเค้าสะดุดชาวบ้านเตรียมล่ารายชื่อคัดค้าน
 
กลุ่มประชาชนชาวเชียงใหม่คัดค้านโครงการกระเช้าไฟฟ้า ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านโครงการกระเช้าไฟฟ้าสุเทพ-ปุย
 
โดยเนื้อความของจดหมายระบุถึงเหตุผลการคัดค้านครั้งนี้ว่า หนึ่ง การสร้างเป็นการบุกธรรมชาติ เพราะเป็นป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ต่างจากประเทศอื่นที่ถูกนำมาอย่าง เช่น ฮ่องกง เกาะลังกาวี สวิตเซอร์แลนด์หรือริโอเดอจาเนโร ที่สร้างได้เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาหิน
 
สอง ควรพัฒนาผืนป่าบริเวณนั้นในเชิงอนุรักษ์ สาม กระเช้าจะทำลายทัศนีย์ภาพป่าธรรมชาติตลอดเส้นทาง 10 กม. สี่ ไม่เชื่อว่ากระเช้าไฟฟ้าจะเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวชื่นชมกับความงามทางธรรมชาติแท้ๆ มากกว่า เสนอให้ดำเนินการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 
 
นายอนุชาติ ธนัญชัย ชาวบ้านตำบลสุเทพ กล่าวว่า โครงการกระเช้าไฟฟ้าถูกคัดค้านมาสองครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม และหวังว่าจะเป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนให้ไม่ต้องหยิบแผนนี้ขึ้นมาอีก เพราะโครงการนี้จะทำลายป่าในเขตอุทยาน เราต้องรักษาป่าผืนนี้เอาไว้ให้ได้
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม
 
 
อีสานจัดเวทีวิพากษ์ รายงานอีไอเอ/ อีเอชไอเอ เสนอแก้ไขทั้งระบบ
 
ที่ห้องประชุมอินทนิล ชั้น 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนการติดตามกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน จากเครือข่ายนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของรัฐ และเอกชน ในภาคอีสานเข้าร่วม
 
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สำหรับกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลในโครงการขนาดใหญ่ จะต้องมีการจัดทำรายงานอีไอเอ หรืออีเอชไอเอ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก่อนจะพิจารณาอนุมัติโครงการ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมานักการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลมักจะอนุมัติโครงการก่อนแล้วค่อยทำรายงานฯ เพื่อเป็นตรายางให้กับโครงการ ดังกรณีเขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีกลุ่มนักวิชาการที่อาศัยสถาบันการศึกษาและบริษัทที่ปรึกษาที่ผูกขาดธุรกิจรับจ้างทำรายงานฯ จากเจ้าของโครงการ โดยอ้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างความชอบธรรม ทำรายงานที่เป็นเท็จ และเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการ
 
"เสนอว่าต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณารายงานฯ ทั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระที่ปลอดจากอิทธิพลของนักการเมืองและนายทุน นอกจากนั้นความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม และสิทธิชุมชนของชาวบ้านจะต้องถูกยอมรับอย่างเทียบเท่ากับความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของนักวิชาการที่รับจ้างทำรายงานฯ โดยเจ้าของโครงการจะต้องจัดเงินทุนให้ชาวบ้านและนักวิชาการอิสระที่ชาวบ้านเลือกทำรายงาน แล้วนำรายงานเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการพิจาณาของหน่วยงาน องค์กรอิสระทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน" ดร.ไชยณรงค์ กล่าว
 
ที่มาข่าว ประชาธรรม
 
 
ทบ.ฮึ่ม ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ โพสต์พาดพิงสถาบัน อาจเข้าข่ายผิด ม.112
 
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ช่วงที่ผ่านมานายสมศักดิ์โพสต์บางข้อความที่อาจมีเนื้อหาไม่ค่อยเหมาะสมต่อสังคมไทย โดยเฉพาะบางข้อความอาจมีโอกาสเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งทางกองทัพบกจะได้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าข้อความใดเข้าข่ายเป็นการหมิ่นสถาบัน หรือจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันบ้าง เนื่องจากกองทัพบกเป็นส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องสถาบันและดำรงพระเกียรติยศ ดังนั้น การกระทำใดเป็นการใส่ความด้วยความเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือเชื่อมั่นต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทางกองทัพบกจำเป็นต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาดำเนินการ ควบคู่กับการใช้มาตราการทางสังคมเพื่อกดดัน และปฏิเสธพฤติกรรมการกระทำที่ไม่ถูกต้อง   
 
 พ.อ.วินธัย ระบุว่า กองทัพบกอยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันดูแลเฝ้าระวัง อย่าให้ผู้ใดมาจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันอันเป็นที่รักของพวกเราได้
 
ที่มาข่าว ข่าวสด