รอบอาทิตย์ที่สาม ก.พ. 57 : ศาลไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ห้ามสลายการชุมนุม

รอบอาทิตย์ที่สาม ก.พ. 57 : ศาลไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ห้ามสลายการชุมนุม

เมื่อ 24 ก.พ. 2557
ศาลไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ห้ามสลายการชุมนุม เนื่องจากชุมนุมด้วยความสงบ
 
19 ก.พ. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ 275/2557 ที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม , ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะรองผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม. และในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ในบางอำเภอ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. และออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 และ 11 เมื่อวันที่ 23 ม.ค. โดยมิชอบและยังไม่มีเหตุจำเป็น โดยการออกประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องกีดกั้น ใช้สิทธิของโจทก์ในการชุมนุมรวมทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มีการประกาศยุบสภาแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จึงได้เป็นเพียงรักษาการณ์ประกอบกับเมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งซึ่งจำเลยเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยย่อมได้รับประโยชน์ทับซ้อน จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม
       
ขณะที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าการชุมนุมของโจทก์กับพวกได้ยืดเยื้อเป็นเวลานานมีการปิดศูนย์ราชการและเดินขบวนปิดเส้นทางในกทม.รวม 14 เส้นทาง รวมทั้งมีการตัดไฟฟ้าและประปา จึงส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนและยังมีการจัดการรักษาความปลอดภัยแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมายบ้านเมือง และก่อนการประกาศได้เกิดเหตุรุนแรงที่ศูนย์เยาวชนไทยญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมารวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ขณะที่ในการชุมนุมมีการใช้ประทัดยักษ์และระเบิดปิงปอง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แม้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากบุคคลใด แต่ก็ได้มีการปลุกระดม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจัดทำให้เกิดการจลาจลระหว่างการชุมนุม และตำรวจกับผู้ชุมนุม จึงไม่ได้เป็นไปโดยสงบ ดังนั้นฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด จึงต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อวันที่ 21 ม.ค.
       
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะการออกข้อกำหนดบางส่วนได้กระทบต่อสิทธิของโจทก์ที่ได้มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และ3 อ้างว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแพ่งนั้นเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2553 ไว้ว่าการใช้อำนาจออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินมิได้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ดังนั้นศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และ 3 ขอให้ยกฟ้องโดยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ออกประกาศและข้อกำหนด โดยเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเท่านั้น เห็นว่า เมื่อนายกได้ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้วก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบขึ้นมาโดยให้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนาจการและเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นรองผอ.ศรส. ดังนั้นหากการออกประกาศและข้อกำหนดเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 2 และ 3 ย่อมจะไม่พ้นความรับผิดชอบด้วย
       
ขณะที่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานนั้น ฝ่ายโจทก์ได้มีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช. เบิกความสอดคล้องกันทำนองว่า การชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมสืบเนื่องจาก 3 ข้อ 1.ฝ่ายรัฐบาลได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เห็นว่าจำเลยที่ 1 น่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับคดีทางการเงินด้วย ซึ่งจำเลยที่1 ก็เคยเป็นผู้ที่ถูกอายัดบัญชีทรัพย์สิน 982 ล้านบาท จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4.6 หมื่นล้าน 2.การเสนอแก้กฎหมายเกี่ยวกับที่มาของสว.ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ และ3.การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หลังจากนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 แล้ว ยังได้มีการพยายามที่จะกู้เงินจำนวน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อไปแก้ไขปัญหาโครงการจำนำข้าว ซึ่งกรณีทุจริตโครงการจำนำข้าว ป.ป.ช.ได้มีการรวบรวมหลักฐานและแจ้งข้อกล่าวหา นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ชอบ ก่อให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 157 ขณะที่การชุมนุมของโจทก์และประชาชน เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ผู้สมัครสส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องว่าการชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขากปปส.กับพวกตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2556 เป็นการล้มล้างการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ซึ่งได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญและไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 68 ขณะที่ยังได้ความจากนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า ช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้มีเหตุเกิดความรุนแรงที่บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ฝ่ายบริหารได้เพิกเฉยและไม่ได้มีการติดตามหาผู้กระทำผิด โดยโฆษกศรส.ได้ออกมาแถลงว่าน่าจะเป็นการก่อเหตุของมือที่ 3 หรือฝ่ายตรงข้าม โดยการออกประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นไม่ได้เป็นเพื่อการควบคุมและแก้ปัญหาสถานการณ์ แต่ใช้เป็นเครื่องมือกีดกันเสรีภาพการชุมนุมของโจทก์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
       
ขณะที่การออกประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นแม้ว่าฝ่ายบริหารจะมีอำนาจดำเนินการได้แต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการไปด้วยความเป็นธรรม เสมอภาครวมทั้งการดำเนินการใดๆของฝ่ายบริหารจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักดังกล่าวมีความสำคัญศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพยานหลักฐานปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าการชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธแล้ว โจทก์และผู้ชุมนุมก็ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประกาศและข้อกำหนดที่ออกมาเช่นการห้ามเข้าอาคาร สถานที่ การใช้ยานพาหนะและเส้นทางจราจร รวมทั้งการอพยพจากพื้นที่การชุมนุม ย่อมเป็นการละเมิดและกระทบต่อสิทธิของโจทก์และผู้ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้นประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และผู้ชุมนุม
       
โดยเมื่อโจทก์และประชาชนได้ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้กำลังหรืออาวุธสลายการชุมนุมได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในขณะนี้ว่า มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเข้ามาในกทม. เพื่อเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ศาลจึงเห็นควรมีคำพิพากษาเพื่อคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
       
พิพากษาว่า ห้ามจำเลยทั้งสามนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมาใช้บังคับ เพื่อจะออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้ข้อบังคับตามประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชนนับแต่วันที่ 21 ม.ค.2557
       
รวมทั้งไม่ให้จำเลยทั้งสามกระทำการดังต่อไปนี้ รวม 9 ข้อ 1. ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังและหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.63 วรรคหนึ่ง 2.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามมีคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุบโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนของโจทก์และประชาชน 3.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวางของโจทก์และประชาชน 4. ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการ ให้การซื้อขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการชุมนุมของโจทก์และประชาชน 5.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการ ห้ามกระทำการอย่างใดๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติในทุกเขตพื้นที่ที่โจทก์และประชาชนใช้ในการชุมนุม
       
6.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามประกาศกำหนดพื้นที่ที่ห้ามมีการชุมนุมของโจทก์และประชาชนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 7.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะของโจทก์และประชาชนในการชุมนุม 8.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งห้ามโจทก์และประชาชนใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ และ 9.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งห้ามให้อพยพโจทก์และประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุม และห้ามมิให้ออกคำสั่งห้ามโจทก์และประชาชนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม
       
อย่างไรก็ดีในองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 5 คน มีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย 2 คน มีความเห็นแย้ง โดยเห็นว่า ควรจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับที่อาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 เนื่องจาก เห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการออกมาเพื่อมุ่งใช้บังคับบุคคลบางกลุ่ม คือโจทก์และผู้ชุมนุม ซึ่งในการชุมนุมศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมที่ออกมาคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นการลิดรอนสิทธิของโจทก์และผู้ชุมนุมตามกฎหมาย
 
 
 
 
‘บัณฑิต อานียา’ รอดคุกคดี 112 ศาลฏีกาพิพากษาแก้ รอลงอาญา
 
17 ก.พ.2557 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้อง นายสมอลล์ บัณฑิต อานียา ในความผิดมาตรา 112 โดยศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาจำคุก 4 ปี รอลงอาญา 3 ปี และรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี  
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้มาสังเกตการณ์คดีนายบัณฑิตราว 30 คนเต็มห้องพิจารณาคดี และก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาศาลฏีกา บัณฑิตได้ร้องขอต่อศาลว่า อยากให้มีการพิจารณาคดีใหม่เนื่องจากเขาไม่มีโอกาสได้เบิกความชี้แจงว่าข้อความของเขาไม่ผิดกฎหมายอย่างไร เนื่องจากพยานปากต่างๆ ต่างยืนยันว่าเขาเป็นบ้า หรือมิเช่นนั้นขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปอีก 3 เดือนเพื่อให้เขามีเวลาหาเงินผ่าตัดแผลจากการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ยังมีปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาชี้แจงว่าในคำเบิกความของเขาได้ให้การปฏิเสธแล้วซึ่งหมายรวมถึงการปฏิเสธอาการจิตเภทด้วย ส่วนการเลื่อนอ่านคำพิพากษนั้นศาลเคยอนุญาตให้เลื่อนไปแล้ว และการจะเลื่อนอีกต้องมีเหตุซึ่งชอบด้วยกฎหมาย เช่น จำเลยป่วยหนักคนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้เท่านั้น
 
ทั้งนี้ บัณฑิตเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา มีความผิด 2 กระทง เหตุเกิดเมื่อปี 2546 จากกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.(ขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหานายบัณฑิตว่าพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยเอกสารดังกล่าวมี 2 เรื่อง ได้แก่ สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง) และ วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
 
บัณฑิตถูกคุมขังรวม 98 วันในระหว่างพิจารณาคดีก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท วันที่ 23 มี.ค. 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยอายุมากและป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงให้รอลงอาญา 3 ปีโดยให้โอกาสบำบัดแล้วรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค.2550 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าจำเลยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ในชั้นนี้จำเลยได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท
 
สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกานั้น ระบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความมิได้ขัดแย้งคัดค้านในชั้นฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ เป็นการกระทำผิด 2 กรรมต่างกันจริงตามฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดในขณะยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังบังคับตนเองได้บ้างหรือไม่ เห็นว่า พยานจำเลยที่เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ได้ตรวจและประเมินอาการจำเลยเบิกความยืนยันว่าจำเลยมีอาการป่วยเป็นโรคจิตเภท มีอาการหวาดระแวง การใช้เหตุผลไม่เหมือนคนปกติทั่วไป ความผิดปกติดังกล่าวทางการแพทย์เรียกว่าบีไซต์ (Bizare) [ออกเสียงตามศาลอ่าน-ประชาไท] จะมีอาการตลอดเวลา แต่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ในบางช่วงเวลา การตรวจอาการจำเลยพบว่าเข้าข่าย โรคจิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 การที่จำเลยพูดจาทำนองลบหลู่สถาบันในที่สาธารณะและในการให้ปากคำพนักงานสอบสวนโดยที่จำเลยไม่รู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่สามารถแยกแยะได้ว่าการกระทำของตนเองเป็นการกระทำที่ผิดหรือไม่ ตามประวัติจำเลยเริ่มป่วยเมื่ออายุ 34 ปีเป็นโรคเดียวกับปัจจุบัน บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ใกล้ชิดจำเลยมองโดยผิวเผินจะไม่ทราบว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท เพราะเป็นความผิดปกติทางจิตใจและสมอง ต้องอาศัยการตรวจสอบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น คำเบิกความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดในระหว่างที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท เข้าข่ายมาตรา 65 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดโดยรู้ผิดชอบและบังคับตนเองได้ดี ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฏีกา ฏีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
 
ส่วนที่จำเลยฏีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าเมื่อขณะกระทำผิดจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท สมควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว ไม่เคยกระทำความผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฏีกา ฏีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นเช่นเดียวกัน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
ที่มา : ประชาไท
       
 
 
ฟิลิปปินส์บังคับใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ต่อ หลังศาลฎีกาให้โทษหมิ่นประมาทออนไลน์ชอบด้วย รธน.
 
 
หลังระงับใช้ร่วม 2 ปี ล่าสุด พ.ร.บ.ป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ของฟิลิปปินส์ มีผลบังคับใช้ต่อแล้ว หลังศาลฎีการะบุให้บทบัญญัติส่วนใหญ่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
 
20 ก.พ. 2557 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.พ.) ศาลฎีกาของฟิลิปปินส์ ตัดสินว่า บทบัญญัติส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ.ป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ของฟิลิปปินส์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
พ.ร.บ.ป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์คอมพิวเตอร์ มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเผยแพร่ภาพโป๊เด็ก การขโมยอัตลักษณ์ สแปม ไซเบอร์เซ็กส์และการหมิ่นประมาทออนไลน์ ต่อมา ศาลฎีกาได้ออกคำสั่งระงับการใช้กฎหมายดังกล่าวชั่วคราวเป็นเวลา 120 วัน หลังจากมีการยื่นคำร้อง 15 ฉบับ ถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายดังกล่าว
 
บทบัญญัติที่ศาลฎีกาฟิลิปปินส์ตัดสินว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้แก่
-ความผิดหมิ่นประมาทออนไลน์ โดยศาลระบุเพิ่มเติมว่าจะมีโทษเฉพาะผู้โพสต์เนื้อหาต้นฉบับเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ที่ได้รับเนื้อหาดังกล่าว หรือผู้ที่กดถูกใจ กดแชร์ หรือแสดงความเห็นต่อเนื้อหานั้น
สำหรับโทษจำคุกอยู่ที่ 6 - 12 ปี ขณะที่กฎหมายอาญา โทษอยู่ที่ 6 เดือน-6 ปี
 
บทบัญญัติที่ศาลฎีกาฟิลิปปินส์ตัดสินว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้แก่
-มาตราที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในเชิงพาณิชย์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งระบุว่า การส่งต่อการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งพยายามที่จะโฆษณา ขาย หรือเสนอขายสินค้าและบริการจะทำไม่ได้ เว้นแต่เงื่อนไขบางอย่างเช่น - ได้รับความยินยอมจากผู้รับก่อน 
-มาตราที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้ทันที
-มาตราที่อนุญาตให้กระทรวงยุติธรรมปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาดิจิทัลซึ่งเข้าข่ายเป็นหลักฐานในการกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้
-การลงโทษผู้ที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการกระทำความผิดฐานโป๊เด็ก การสื่อสารในเชิงพาณิชย์ที่ไม่พึงประสงค์ (สแปม) และการหมิ่นประมาทออนไลน์
 
จีโรนีโม แอล. ไซ หัวหน้าสำนักงานอาชญากรรมไซเบอร์ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ โดยตัดบทบัญญัติที่ศาลฎีกาตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ตนเองจะเสนอร่างฉบับปรับปรุงที่ดีกว่าเดิมต่อสภาด้วย
 
โรนัลด์ อกุสโต หัวหน้าแผนกอาชญากรรมไซเบอร์ สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ แสดงความยินดีกับคำตัดสินนี้ โดยเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยในการดำเนินงานของพวกเขาและจะสามารถส่งเสริมการป้องกันทางกฎหมายของรัฐต่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์
 
ขณะนาโต เรเยส นักกิจกรรมจากกลุ่มบายันซึ่งมีแนวคิดเอียงซ้าย ยินดีกับคำตัดสินที่ยกเลิกเรื่องการเอาเนื้อหาลงและการเก็บข้อมูลจราจรโดยไม่ต้องมีหมาย แต่ก็แสดงความกังวลถึงประเด็นการหมิ่นประมาทออนไลน์ โดยมองว่าเป็นการก้าวถอยหลังก้าวใหญ่ของเสรีภาพในการแสดงออก
 
ด้านสหภาพสื่อมวลชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน โดยระบุว่านี่เป็นการก้าวไปข้างหน้าครึ่งนิ้ว แต่ถอยหลังกลับไปเป็นศตวรรษ พร้อมบอกว่าการขยายกฎหมายหมิ่นประมาทลงไปในไซเบอร์สเปซของศาลฎีกา จะทำให้เสรีภาพซึ่งเคยไม่มีขอบเขต เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของความกลัว ทั้งนี้ ระบุด้วยว่าหวังเพียงว่า ศาลฎีกาจะไม่มืดบอดอีกหากมีการอุทธรณ์คำตัดสินนี้
 
ที่มา : ประชาไท
 
 
 
กกต.มีมติจัดเลือกตั้งทดแทนใน 5 จังหวัด 2 มี.ค.นี้
 
2 มีนาคมนี้ กกต.กำหนดให้จัดการเลือกตั้งทดแทนในจังหวัดที่มีปัญหา เริ่มใน 5 จังหวัดที่พร้อม และจะออกประกาศให้รับสมัคร ส.ส.ทางไปรษณีย์ได้
 
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงหลังการประชุมว่า ได้พิจารณาข้อเสนอที่สัมมนาร่วมกับรัฐบาล ฝ่ายการเมือง ฝ่ายการเมือง และนักวิชาการ กรณีการรับสมัคร ส.ส. 28 เขต ภาคใต้ ที่ไม่มีผู้สมัคร ในสัปดาห์หน้า กกต.จะออกประกาศให้รับสมัคร ส.ส.ทางไปรษณีย์ได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง กกต.จะหาโรงพิมพ์เพิ่มเติม กรณีไม่มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะใช้วิธีตั้งกรรมการประจำหน่วยสำรอง ทั้งที่มีภูมิลำเนาและไม่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้ง แต่ กกต.ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีบัตรเลือกตั้งสำรอง เพราะจะเกิดปัญหาพิมพ์บัตรเกินและอาจถูกมองว่าไม่สุจริต
 
นอกจากนี้ กกต.ยังระบุว่า การเสนอให้ประกาศรายชื่อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยคำนวณเฉพาะส่วนที่มีการเลือกตั้งไปแล้วนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย
 
ส่วนการเลือกตั้งใน 28 เขตภาคใต้ ที่ไม่มีผู้สมัคร และการเลือกตั้งล่วงหน้า 26 มกราคม ที่มีปัญหา กกต.มีมติให้จัดการเลือกตั้งทดแทน วันที่ 2 มีนาคม ใน 5 จังหวัดที่มีความพร้อม โดยเป็นการเลือกตั้งแบบเขต ทดแทนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ จ.เพชรบุรี จำนวน 74 หน่วยเลือกตั้ง และระยอง 21 หน่วยเลือกตั้ง ส่วนอีก 3 จังหวัด เป็นการเลือกตั้งทดแทนเลือกตั้งล่วงหน้า ที่ จ.เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ส่วนที่เหลือ และอีก 28 เขตในภาคใต้ กกต.จะจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
 
 
 
 
สปสช.จับมือ สคบ.พัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
 
19 ก.พ.2557 ณ โรงแรมริชมอนท์ จ.นนทบุรี มีพิธีลงนามความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยนายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสคบ. และนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ซึ่งวัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกเครือข่าย
 
เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า นอกจากการดำเนินการสร้างและพัฒนาหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนแล้ว สปสช. มีหน้าที่ตามมาตรา 26 (8) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ เพื่อให้ประชาชนรับรู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิ และได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย สปสช.ได้จัดกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์แบบครบวงจร เพื่อการคุ้มครองสิทธิ์ ครอบคลุมทุกจังหวัด ได้แก่ โทรศัพท์สายด่วนสปสช. 1330,เวบไซต์สปสช. (www.nhso.go.th), สปสช.สาขาเขต13 เขต, สปสช.สาขาจังหวัด76 จังหวัด, หน่วยรับเรื่องอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน, ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล, ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และประสานเชื่อมต่อข้อมูลเรื่องร้องเรียน
 
“ดังนั้น เพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมและทั่วถึง สปสช. จึงลงนามความร่วมมือกับสคบ. เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการ และได้รับความปลอดภัยในการใช้สินค้าหรือบริการ” เลขาธิการสปสช. และว่า ที่ผ่านมาสปสช. ได้รับการประเมินจากโครงการพัฒนารูปแบบกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคในอาเซียน คณะกรรมการอาเซียนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (ASEAN Committee on Consumer Protection : ACCP) ว่า กระบวนการการรับเรื่องร้องเรียนของสปสช.ดีในระดับต้นๆเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังได้รับรางวัลองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๕๖ ของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) อีกด้วย
 
ด้านนายอำพล กล่าวว่า สำหรับการลงนามในครั้งนี้ สคบ.และสปสช. จะมีความร่วมมือที่สำคัญ คือ สนับสนุนให้ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาล เป็นศูนย์แจ้งเตือนสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพร่วมกับเทศบาลและอบต. พัฒนาศักยภาพสายด่วนร่วมกัน เชื่อมโยงฐานข้อมูล งานวิชาการ ประสานเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ระหว่างกัน รวมถึงการจัดประกวดผลงานดีเด่นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนางานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเครือข่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป
 
ที่มา : ประชาไท