สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมออกแถลงการณ์ กรณีม็อบต่อต้านรัฐบาล ที่นำโดยพระพุทธะอิสระ นำมวลชนมาปิดล้อมสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เมื่อวันที่ 24 มภาพันธ์ ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่พอใจการเสนอข่าวของวอยซ์ทีวี
โดย 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอเรียกร้องและทำความเข้าใจไปยังมวลชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายใน 3 ประเด็นคือ 1. ขอให้งดเว้นการกระทำการดังกล่าว ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคุกคาม กดดันการทำงานของสื่อมวลชน แม้ว่าสื่อมวลชนนั้นๆ จะนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าคลาดเคลื่อนและไม่เป็นธรรม ซึ่งก็สามารถใช้ช่องทางในการทักท้วง ชี้แจง ทำความเข้าใจ และเรียกร้องความเป็นธรรม หรือใช้ขั้นตอนการดำเนินทางกฎหมายได้
ข้อเรียกร้องที่ 2 จากกรณีที่เกิดขึ้นกับวอยซ์ทีวี ขอเรียกร้องและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ให้พึงตระหนักในบทบาทหน้าที่และหลักการในการดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิ์ของกันและกันอย่างชอบธรรม และข้อเรียกร้องที่ 3 คือ องค์กรวิชาชีพสื่อเอง ก็ขอเรียกร้องให้องค์กรสื่อทุกแขนง ทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม สมดุล "ใช้เสรีภาพ บนความรับผิดชอบ" ไม่ใช้การกล่าวหา ประณาม สร้างความเกลียดชัง แตกแยก หรือแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียด จากความขัดแย้งทางการเมือง และขอให้สื่อทุกแขนง พยายามหาช่องทางการทำหน้าที่สื่อ เพื่อผ่อนคลายความขัดแย้ง ความรุนแรง ความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ เพื่อนำสังคมไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้โดยเร็ว
ยกฟ้อง! “หมอตุลย์” ฟ้องหมิ่น “วิชาญ มีนชัยนันท์” อภิปรายพาดพิงในสภา
ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2429/2553 ที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีกล่าวหาพาดพิงกลุ่มเสื้อหลากสีได้รับเงินเพื่อมาชุมนุมและล่ารายชื่อถอดถอน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ถึงการเข้ากระชับพื้นที่การชุมนุมเมื่อปี 2553
คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2553 ระบุว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2553 จำเลยได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ โดยกล่าวพาดพิงใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่ 3 ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต ตามตำแหน่งหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง
นายวิชาญกล่าวภายหลังว่า คดีนี้ตนได้อภิปรายในสภาเมื่อปี 2553 ว่า นพ.ตุลย์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีขณะนั้นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอะไรจากรัฐบาล เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้นำเช็คจำนวน 1 แสนบาทไปมอบให้กับนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกดที่เสียชีวิต แล้วให้ช่วยลงชื่อในการถอดถอนนายจตุพร พรหมพันธุ์ นายการุณ โหสกุล และนายวิเชียร ขาวขำ ออกจากตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งการอภิปรายดังกล่าวไม่ได้เป็นการใส่ร้าย หรือพาดพิงให้ได้รับความเสียหาย แต่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อเชื่อมโยงกับการอภิปรายไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในสภา ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่ คงจะพิจารณาว่าเป็นการฟ้องโดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ และขอปรึกษาทนายความอีกครั้ง
ทั่วโลกร่วมประท้วงเรียกร้องปล่อยตัวนักข่าวอัลจาซีราที่ถูกจับในอียิปต์
สำนักข่าวอัลจาซีราประกาศให้มีการรณรงค์ทั่วโลกเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อและให้มีการปล่อยตัวนักข่าวอัลจาซีราซึ่งถูกทางการอียิปต์กวาดจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 29ธ.ค. 2556
ผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมตัวได้แก่ ปีเตอร์ เกรสเต, โมฮัมเหม็ด ฟาห์มี และบาเฮอร์ โมฮัมเหม็ด ทั้งสามถูกทางการอียิปต์กล่าวหาว่าเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นเท็จ รวมถึงตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ส่วนนักข่าวอีกรายหนึ่งคืออับดุลลาห์ อัลชามี ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 14ส.ค. 2556และประท้วงอดอาหารมาเป็นเวลา 30วันแล้ว
ในหน้าข่าวประกาศเชิญชวนรณรงค์ อัลจาซีราระบุว่านักข่าวของพวกเขาแค่ทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว พวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อเปิดโปงความอยุติธรรมและการใช้อำนาจในทางที่ผิด
"นักข่าวเป็นหูเป็นตาของพวกเรา เป็นสิ่งที่สะท้อนเสียงของพวกเราด้วย การทำร้ายนักข่าวจึงถือเป็นการทำร้ายทุกคนที่ให้คุณค่าในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการรับรู้ความจริง" อัลจาซีราระบุ
อัลจาซีราระบุอีกว่านอกจากนักข่าวของพวกเขาแล้วยังมีนักข่าวต่างประเทศรายอื่นๆ อีกที่ถูกจับด้วยเหตุผลเดียวกัน พวกเขาถูกขังในสภาพที่ย่ำแย่ มีการปฏิเสธการรักษาพยาบาล
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้วันพฤหัสบดีที่ 27ก.พ. ถูกกำหนดเป็นวันรณรงค์ทั่วโลกเพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อและให้มีการปล่อยตัวนักข่าว โดยการประท้วงอย่างสงบ การเผยแพร่รูปของบุคคลที่ถูกจับ เพื่อส่งสัญญาณให้กับทางการอียิปต์และทั่วโลกว่า "ถ้าหากคุณปิดปากสื่อ คุณก็ปิดปากพวกเราทั้งหมด"
อัลจาซีรามีแผนการให้ประชาชนใน 30เมืองทั่วโลก เช่นในกรุงซิดนีย์, เบอร์ลิน, ลอนดอน, โดฮา, มะนิลา, อิสลามาบัด, มอนทรีออล ฯลฯ ออกมาแสดงพลังร่วมกัน รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ ในเมืองดังกล่าว
เรื่องเสรีภาพสื่อในอียิปต์กลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกังวล หลังจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารใช้ไม้แข็งต่อผู้สื่อข่าวจนทำให้อียิปต์ถูกจัดเป็นอันดับ 3ของประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าว โดยองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ประจำปี 2556
มอสเตฟา เซาอัก รักษาการผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักข่าวอัลจาซีรา กล่าวในวันรณรงค์ว่า พวกเขารู้สึกประทับใจต่อการแสดงพลังของทุกคนทั่วโลก ที่ช่วยกดดัน สนับสนุน และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวในอียิปต์ยังคงเป็นกระแสข่าวต่อไป
ที่มา : ประชาไท