รอบอาทิตย์ที่สอง เดือนมีนาคม: ศรส.ชง ครม.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอังคารนี้ ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงคุมยันสิ้นเมษาฯ

รอบอาทิตย์ที่สอง เดือนมีนาคม: ศรส.ชง ครม.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอังคารนี้ ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงคุมยันสิ้นเมษาฯ

เมื่อ 14 มี.ค. 2557

1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอ็นจีโอรณรงค์สังคมเลิกใช้คำว่า"ปัญญาอ่อน" ชี้ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม น.ส.โรสซาลีน่า  อเล็กซานเดอร์ แมคเคย์ ประธาน มูลนิธิเดอะเรนโบว์รูม  เปิดเผยว่า มูลนิธิเดอะเรนโบว์ฯ ร่วมมือกับ หน่วยงานต่างๆทั้งมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติและชมรมเมืองไทยเข้าใจออทิสติกจะจัดงานฉลองวันดาวน์ซินโดรมโลก วันที่ 21 มีนาคมนี้ ด้วยการเริ่มรณรงค์ให้สังคมไทยเลิกใช้คำว่า “ ปัญญาอ่อน ” (ป.ญ.อ.) ซึ่งเป็นคำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และในสังคมเรามักใช้คำเหล่านี้ในลักษณะของการตำหนิว่ากล่าวบุคคลอื่นในทางที่ไม่ดี ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้สังคมมีความรู้ความเข้าใจในศักยภาพที่แท้จริงของบุคคล และไม่ไปจำกัดความสามารถด้วยการวินิจฉัยทางการแพทย์ซึ่งมักจะใช้คำพูดหรือระบุว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้มีความแตกต่างกับเด็กทั่วไป ทั้งที่ความจริงแล้วเขาก็เหมือนกันเด็กทั่วไปแต่อาจมีข้อจำกัดทางพัฒนาการที่ต้องใช้เวลามากกว่าเด็กอื่นๆ แต่หากได้รับความช่วยเหลือทางด้านพัฒนาการอย่างทันท่วงที เด็กเหล่านี้ก็สามารถมีพัฒนาการที่ใกล้เคียงกับเด็กวัยเดียวกัน
 
"ทางมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ฯ ต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานในสังคมที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สื่อสารมวลชน โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ พยาบาล ซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยอาการต่างๆ ทางการแพทย์ เปลี่ยนคำวินิจฉัยหรือคำพูด จากคำว่า โรค ภาวะบกพร่องทางร่างกายต่าง ๆ และคำว่า ปัญญาอ่อน รวมถึงในเอกสารทางการแพทย์ และเอกสารทางวิชาการก็ควรหลีกเลี่ยงคำเหล่านี้ ไปใช้คำอื่นที่สื่อความหมายในเชิงบวก เพื่อให้พ่อ แม่ที่มีลูกที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีความเข้าใจในเชิงบวกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่พอฟังคำวินิจฉัยของแพทย์ แล้วตกใจ จิตตก ทั้งที่ยังไม่ทราบว่า ภาวะดาวน์ซินโดรม หรือออทิสติกเป็นอย่างไร เป็นการสร้างข้อจำกัดทางศักยภาพของเด็ก เมื่อเศร้า จิตตก พ่อแม่มักจะละเลยการดูแลเด็กเหล่านี้เพื่อให้มีพัฒนาการที่ดีในช่วงแรก ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญ ทั้งที่ความจริงแล้วเด็กเหล่านี้สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่นเดียวกับเด็กทั่วไปอาจจะไม่เก่งคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ แต่เด็กหลายคนมีศักยภาพทางดนตรี กีฬา ศิลปะ" ประธานมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ฯ กล่าว  
 
 
 
10 มีนาคม พ.ศ. 2555
 
ปธ.ศาลปค.สูงสุด ผุดไอเดียจัดตั้ง"ตำรวจศาล" (court marshal) คุ้มครององค์กรตุลาการ
 
วันที่ 10 มีนาคม ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด  กล่าวในการแถลงผลการดำเนินงานครบรอบ 13 ปี และประกาศเปิดทำการแผนกคดีบริหารงานบุคคลในศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น ว่า  ตั้งแต่เปิดทำการศาลมาจนถึงวันที่31 ธ.ค. 2556 มีคดีรับเข้าสู่การพิจารณาทั้งหมดจำนวน 94,920 คดี พิจารณาแล้วเสร็จจำนวน 74,000 คดี คิดเป็น 77.96% ของจำนวนคดีรับเข้าทั้งหมด 
 
ส่วนประเภทเรื่องที่ฟ้องต่อศาลปกครอง พบว่า 23% เป็นคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล วินัยฯ รองลงมาเป็นคดีเกี่ยวกับอาคาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดเป็น 17.71 % และคดีเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ละเมิด คิดเป็น 17.64%   
 
ในปี พ.ศ. 2556 ถือเป็นปีที่มีคดีฟ้องรับสู่ศาลปกครองมากที่สุด  13,019 คดี  แต่จากการเร่งรัดการพิจารณาคดีที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทำให้พิพากษาคดีแล้วเสร็จจำนวน 9,447 คดี และมีคดีคงค้างอยู่จำนวน 20,920 คดี เป็นคดีที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 2 ปี7,080 คดี คิดเป็น 74.94% ขณะที่ช่วงปี 2551 – 2555 มีคดีที่รับเข้าสู่ศาลเฉลี่ยปีละ 8,000 คดีเท่านั้น  
 
นับตั้งแต่ศาลปกครองเปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2557 สำนักบังคับคดีปกครองได้รับคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดที่ต้องเข้าสู่การบังคับคดี 7,368  คดี โดยสามารถดำเนินการบังคับคดีแล้วเสร็จ 5,688 คดี  คิดเป็น 77.20%  ซึ่งขณะนี้เหลือคดีที่รอการบังคับอีกเพียง 1,680 คดี   ปี 2546  ศาลปกครองได้ปรับปรุงระบบการบังคับคดีอย่างเต็มที่  โดยจัดตั้งหน่วยบังคับคดี ในสำนักงานศาลปกครองภูมิภาคเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 56  เพื่อให้การบังคับคดีเป็นไปอย่างเต็มระบบด้วย   
 
ภายหลังการแถลงผลงานดังกล่าว  นายหัสวุฒิ  ยังกล่าวถึงกรณีสถานการณ์ที่มีผู้คุกคามข่มขู่ตุลาการว่า  ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นต่อองค์กรตุลาการเป็นจำนวนมาก  จากผลของการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรศาล ไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาปกป้อง 
 
"ผมเห็นว่าควรจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาคุ้มครององค์กรตุลาการนั่นก็คือตำรวจศาลหรือคอร์ทมาแชล (court marshal) แบบเช่นในต่างประเทศ โดยอำนาจหน้าที่ขึ้นตรงกับองค์กรศาล เพื่อให้เกิดการทำหน้าที่ของตุลาการศาลอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เหตุการณ์ที่ศาลยุติธรรมถูกระเบิด หรือการติดตามไปยังบ้านของตุลาการศาล ในต่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น โดยศาลจะต้องเป็นผู้แต่งตั้งตำรวจศาลขึ้นเอง" 
 
นายหัสวุฒิ กล่าวแล้วว่า  อยากให้ตุลาการทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ มาร่วมพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ถึงการจัดตั้งตำรวจศาลขึ้นมาว่ามีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง จะต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนจากฝ่ายบริหารเช่นในต่างประเทศ  ซึ่งบุคลากรที่มาดูแลตุลาการจะต้องมีความเชี่ยวชาญและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี  ไม่ใช่การจัดจ้างเอกชนมาดูแลศาล  จะได้มีโอกาสเข้าพบประธานศาลฎีกาในช่วงกลางเดือนมี.ค.จะพูดถึงแนวคิดดังกล่าวคงยังบอกไม่ได้ว่าการจัดตั้งจะเกิดขึ้นได้ภายในกี่ปี แต่ตนอยากให้มีการจัดตั้งหน่วยที่คอยปกป้ององค์กรตุลาการ
 
นายหัสวุฒิ  ยังกล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองว่า  ตนเห็นว่าบ้านเมืองจะเกิดความเรียบร้อยได้ โดยทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อเป็นเสาหลักของบ้านเมือง
 
 
 
11 มีนาคม พ.ศ. 2557 
 
ยก 5 เหตุผล กสม.จี้เลิกคำสั่งเนรเทศ "สาธิต เซกัล"
 
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่การชุมนุม กปปส. สวนลุมพินี นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. แถลงถึงความคืบหน้ากรณีที่ยื่นเรื่องต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ดำเนินการกับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส.จากกรณีลงนามในคำสั่งเนรเทศนายสาธิต  เซกัล นายกสมาคมนักธุรกิจไทย-อินเดีย ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการละเมิดคำสั่งศาลแพ่ง ซึ่งหลังจากที่ตนได้ยื่นคำร้องศาลได้รับคำร้อง และมีการนัดไต่สวน 25 มี.ค.นี้ โดยจะมีการเรียกโจทย์และจำเลยมาไต่สวนพร้อมกัน แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)ได้มีข้อสรุปและมีหนังสือไปถึง ร.ต.อ.เฉลิม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. นายจารุพงศ์เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และนายสาธิต โดยหนังสือดังกล่าวระบุ 5 ประเด็นคือ
 
1.นายสาธิต มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยมาแล้วประมาณ 50 ปี และมีชื่ออยู่ในเอกสาร ทร.14 ส่งผลให้นายสาธิตสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องขอเอกสารอนุมัติ (วีซ่า) 2.การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในมาตรา 11 ในการเพิกถอนมีเป้าหมายเหมือนเนรเทศนั้น ต้องคำนึงถึงการแทรกแซงสิทธิในการอยู่ร่วมเป็นครอบครัวตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองด้วย 3.การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารต้องระมัดระวังและต้องอยู่บนพื้นฐานสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ โดยในกรณีของนายสาธิตซึ่งมีหมายจับในข้อหากบฏอยู่ ดังนั้นนายสาธิตจึงต้องอยู่ในประเทศจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งหากมีการสั่งเนรเทศก็เท่ากับว่า เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาออกนอกประเทศโดยไม่ต้องการรับโทษ 4.การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจคนเข้าเมือง เป็นการพิจารณาที่ขัดหลักธรรมมาภิบาล และ 5.ศาลแพ่งได้ให้การคุ้มครอง นายสาธิต ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถใช้ข้อบังคับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ ดังนั้นการเนรเทศจึงไม่สามารถเนินการได้เช่นกัน
 
“ขอให้ ร.ต.อ.เฉลิมและผบ.ตร. ได้มีการทบทวนเรื่องนี้ และทบทวนยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะถือเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายซ้ำ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการดำเนินคดีอาญา อีกทั้งยังกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและอินเดีย ซึ่งอาจมีการมองว่ารัฐบาลใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงกระบวนการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามในส่วนของ กปปส.นั้น เราจะพยายามดำเนินการให้รัฐบาลพ้นสภาพโดยเร็วที่สุด”นายถาวร กล่าว.
 
 
 
ครม.ไฟเขียวต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินภาคใต้อีก 3 เดือน 
 
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.วันนี้ ยังไม่ได้มีการพิจารณาประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ กทม. ซึ่งทาง ศรส.จะมีการหารือกันภายในวันสองวันนี้ จากนั้นก็จะเสนอมายัง สมช. ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะประกาศยกเลิกถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจากสถานการณ์และข้อจำกัดของศาลแพ่ง รวมถึงข้อเรียกร้องจาก 7 องค์กรภาคประชาชน ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าหากจะยกเลิก และจะใช้กฎหมายใดมาใช้ทดแทน ซึ่งคาดว่าจะปรับลดมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน
 
พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากเหตุการณ์ใน กทม. มีการยกระดับขึ้นก็สามารถกลับมาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ใหม่ แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดของศาลแพ่ง จึงคิดว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ใช้เครื่องมือในการดูแลสถานการณ์ อย่างไรก็ตามที่ประชุมครม. วันนี้ยังไม่ได้มีการหยิบยกมาพิจารณาแต่อย่างใด มีแต่เพียงการหารือการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.- 19 มิ.ย.นี้ เท่านั้น.
 
 
 
12 มีนาคม 2557
 
ศรส. จัด จนท. แสนนายคุมเลือกตั้ง ส.ว.
 
เมือเวลา 12.00 น. ที่ บช.ปส. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีการสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แถลงผลประชุม ศรส.ว่า แถลงศรส.ได้รับแจ้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า ได้กำหนดมาตรการดูแลรักาาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอภัยการเลือกตั้ง ส.ว.ล่วงหน้าในวันที่ 23 มี.ค. และเลิอกตั้งทั่วไปในวันที่ 30 มี.ค. โดยจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้งขึ้นในทุกระดับ
 
จัดชุดรักษาความปลอดภัยสถานที่เลือกตั้ง สถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง และสถานที่เก็บบัตรเลือกตั้ง รวมทั้งสนุนสนุนการเลือกตั้งตามที่ กกต. จะได้ร้องขอ โดยเตรียมกำลังเจ้าน้ามี่กว่าหนึ่งแสนนาย เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ว.ในปลายเดือนนี้เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย
 
 
 
วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557 
 
สนง.ศาลยุติธรรมส่งหนังสือถึงผบ.ตร. ให้ดำเนินคดีมือโพสต์ข้อมูลส่วนตัวผู้พิพากษาคดีเพิกถอนพรก.ฉุกเฉิน
 
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม  นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีผู้ใช้นามแฝง “กูต้องได้ 10 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ” นำข้อมูลส่วนตัวและรูปถ่ายองค์คณะผู้พิพากษาศาลแพ่ง  ในคดีที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. ฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯและพวก เป็นจำเลยในคดีขอให้ศาลเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์นั้น ทางสำนักงานศาลยุติธรรมเห็นว่า ผู้ที่กระทำการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อชี้นำและชักชวนให้มีการใช้กำลังประทุษร้ายต่อองค์คณะของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีและเกิดความปั่นป่วนหรือหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอันเป็นการไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องต่อกฎหมาย จึงได้ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมาขอให้ดำเนินการระงับยับยั้งไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความและข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชน รวมทั้งขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ใช้นามแฝงคนดังกล่าวด้วย  ทั้งนี้จนถึงขณะนี้พบว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเพียงรายเดียว 
 
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1394707324&grpid=&catid... ">มติชนออนไลน์
 
 
14 มีนาคม 2557 
 
ศรส.ชง ครม.เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอังคารนี้ ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงคุมยันสิ้นเมษาฯ
 
วันนี้ (14 มี.ค. 57) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเลขานุการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กล่าวถึงการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่าจากการประเมินสถานการณ์ของ ศรส.ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าเห็นสมควรให้ยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อกลับมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงตามเดิม โดยได้มีการนำเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 18 มี.ค.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ตามกรอบที่มีการวางเอาไว้ การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงจะครอบคลุมตามพื้นที่เดิมที่เคยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้ ได้แก่ กทม., จ.นนทบุรี, อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
      
พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ส่วนระยะเวลาจากที่มีการประมาณการณ์ไว้จะประกาศใช้ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 57 เนื่องจากต้องการให้ครอบคลุมการจัดการเลือกตั้ง ส.ว.และ ส.ส.ในเขตที่ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติตามที่เสนอจะมีผลให้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องรอถึงวันที่ 22 มี.ค. 57 ขณะที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงเองจะมีผลบังคับใช้ทันทีเช่นกัน
       
มีรายงานว่า หากที่ประชุม ครม.เห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันอังคารที่จะถึงนี้ จะถือว่าเป็นการยกเลิกประกาศก่อนครบกำหนดที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 มี.ค. 57 ซึ่งสาเหตุก็มาจากคำสั่งศาลแพ่งที่กำหนดข้อห้ามไว้ถึง 9 ข้อ ทำให้ ศรส.และรัฐบาลไม่สามารถใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งมีแรงกดดันจากภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่ทำให้ต่างชาติขาดความความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย