"เรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นสิทธิมนุษยชนที่ยกเว้นไม่ได้ เป็นสิทธิที่สมบูรณ์ รัฐไม่อาจอ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือสถานการณ์ใดๆ เพื่อให้มีสิทธิอุ้มหายได้" ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท กล่าวในงานเสวนา "10 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหายโดยถูกบังคับ" วันที่ 12 มีนาคม 2557
ผศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ อุ้มหาย มีแต่ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309 ซึ่งใช้กับบุคคลทั่วไป ไม่ได้ใช้เฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท และเป็นความผิดที่ยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายไม่แจ้งความตำรวจจะดำนเนินคดีไม่ได้

ดังนั้น เมื่อประเทศไทยจะให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหาย จึงเสนอว่า
1. น่าจะมีการกำหนดความผิดพิเศษใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตอนนี้คุยกันอยู่สองแนว คือ หนึ่ง การไปแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ส่วนทีเกี่ยวกับความผิดของเจ้าหน้าที่ สอง ออกเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนตัว คิดว่าควรออกเป็นพระราชบัญญัติเฉพาะ เพราะจะมีเรื่องอื่นๆ เกี่ยวข้อง เช่น การเปิดเผยสถานที่คุมขัง การเยียวยาผู้เสียหายด้วย
ประเทศไทยเรามีกฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินหลายฉบับมาก เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง เราต้องทำให้กฎหมายทั้งสามฉบับนี้เข้ามาอยู่ภายใต้พันธะกรณี จะอ้างสถานการณ์สงครามเพื่ออุ้มหายบุคคลไม่ได้
2. หากรัฐบังคับให้บุคคลสูญหายแบบเป็นระบบหรือกว้างขวางย่อมเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crime against humanity) ด้วย เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีอายุความ
3. กำหนดความรับผิดของผู้บังคับบัญชา ที่รู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะไปกระทำการหรือได้กระทำการบังคับให้สูญหาย และไม่ดำเนินการป้องกันหรือลงโทษใต้ผู้บังคับบัญชา
4. กำหนดให้ความผิดฐานอุ้มหายเป็นความผิดสากล ไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใดในโลก ศาลไทยก็สามารถดำเนินคดีเอาผิดได้ เพื่อทำให้ทั่วโลกไม่มีที่หลบภัยสำหรับคนที่ทำความผิดฐานอุ้มหาย
5. ห้ามไม่ให้มีการคุมขังในที่ลับ safe house ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะคุมขังคนโดยไม่เปิดเผยจะไม่สามารถมีได้อีกต่อไป ทำข้อมูลคนที่ถูกควบคุมตัวอย่างเป็นระบบให้ญาติเข้าถึงได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิเสธต้องมีกระบวนการให้ศาลสั่งให้เปิดเผยข้อมูล
6. แก้กฎหมายให้ญาติพี่น้องเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจทำการแทนคนที่ถูกอุ้มหายได้ เช่น การดำเนินคดี การได้รับรู้ข้อเท็จจริง เพราะกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ศาลอุทธรณ์เห็นว่าญาติไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีแทน เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่าทนายสมชายตาย หรือถูกทำให้บาดเจ็บจนไม่สามรถดำเนินคดีเองได้