ความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งขั้วทางการเมือง ความเกลียดชังในสังคม ที่ปะทุขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งล้วนอ้างเหตุตั้งต้นว่าคือการ "คอร์รัปชั่น" ของนักการเมือง
ในยุคปี 2556-2557 เมื่อผู้นำทิศทางการเมืองบนท้องถนนคือ "กปปส." ข้อเรียกร้อง คือ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" "สภาประชาชน" และ "แต่งตั้งนายกฯคนกลาง" เพื่อต้องการเอาอำนาจทางการเมืองมาปฏิรูปแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นและปัญหาต่างๆ ให้หมดก่อนจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นพ้องและร่วมสนับสนุนข้อเสนอนี้
iLaw ใช้เวลา 2-3 เดือนศึกษาแนวคิดการปฏิรูปประเด็น "คอร์รัปชั่น" เพื่อมองให้ลึกลงไปสักหน่อยว่าข้อเรียกร้องของประชาชนที่นำโดย กปปส. นั้น มีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน เพียงใด
เมื่อสำรวจ วิธีเอาผิดนักการเมืองโกง (ตามกฏหมาย) พบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก ในหมวด 11 และ หมวด 12 ได้กำหนดให้มีองค์กรต่างๆ สำหรับปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เช่น คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ ถอดถอนจนถึงดำเนินคดีอาญา
เมื่อศึกษารัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ละเอียดลงไปก็จะเห็นระบบการเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริตในปัจจุบัน ดังภาพ
ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันระบบที่ใช้กันอยู่ยังเอาผิดใครจริงจังไม่ได้มากนัก แต่เมื่อมองภาพใหญ่ ก็จะเห็นชัดมากขึ้นว่ากระบวนการอุปสรรคไปติดอยู่ตรงไหน จะเห็นว่า ป.ป.ช. และวุฒิสภา เป็นสององค์กรที่มีบทบาทสำคัญมากจริงๆ กับประเด็นปัญหาการคอร์รัปชั่น
ขณะที่เรียกร้องการ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" เพราะ "นักการเมืองโกง" กปปส.มีข้อเสนอในการปฏิรูปแพลมออกมาให้เห็นแค่สองข้อ คือ แก้กฎหมายให้ความผิดฐานคอรัปชั่น ไม่มีอายุความ และ แก้กฎหมายให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องร้องฐานคอรัปชั่นได้ หลังจากไป แอบดูข้อเสนอปฏิรูปกฎหมายคอรัปชั่น ตามแนวทาง กปปส. ให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย ก็พบช่องโหว่อยู่มากมาย ซึ่งในบางมุมอาจสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหาก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้งสองข้อก็ยังมีคุณค่าแก่การพิจารณารายละเอียดกันแบบยาวๆ
iLaw บุกไปคุยกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน TDRI นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานวิจัยเปิดเผยข้อมูลความไม่โปร่งใสของรัฐบาลชุดต่างๆ มามากมาย ดร.สมเกียรติมีชุดข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่เคยทำงานศึกษาไว้แล้วมากมาย เช่น Integrity Pact แก้กฎหมายข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ ซึ่งกปปส.ไม่เคยพูดถึง
นอกจากนี้ ดร.สมเกียรติยังยืนยันเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเชื่อว่า วิธีแก้จุดอ่อนประชาธิปไตยในระบบเลือกตั้งไม่ใช่ไปเลิกให้มันเป็นประชาธิปไตย แต่จะแก้ได้ ต้องเป็นประชาธิปไตยในเวอร์ชั่นที่มันบวกขึ้น ไม่ใช่ลดลง เพราะฉะนั้นต้อง
มีเลือกตั้งบวกกับตรวจสอบไม่ใช่ไม่เอาเลือกตั้ง
กลไกรัฐสภาที่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถตรวจสอบได้ ถ้าทำกลไกตรวจสอบปกติให้ดี
จะช่วยให้เราต้องใช้องค์กรอิสระน้อยลง และไม่ต้อง
ออกมาขับไล่รัฐบาลบนท้องถนน

หลังจากนั้น iLaw เลยลองไปเจาะประเด็นกับหน่วยงานภาคประชาชนที่มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชั่นโดยตรง คือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น คุยกับ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ซึ่งมีข้อเสนอขององค์กรชัดเจน 23 ข้อ เช่น แก้ไขกฎหมายให้คอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมร้ายแรงโทษสูงไม่มีรอลงอาญา แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทในคดีเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ให้ประเทศไทยลงนามเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชั่น OECD ห้ามบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ แก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ปรับปรุงกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ตั้งกองทุนป้องกันการทุจริต ฯลฯ ซึ่งไปไกลกว่าข้อเสนอของ กปปส.มาก
ขณะที่ ดร.มานะ รู้ดีว่าข้อเสนอทั้งหลายต้องใช้เวลา
ในการทำ อาจจะต้องใช้สัก 20-30 ปี ทำให้พวกเขา
ไม่ได้ประกาศตัวเข้าร่วมกับกปปส.โดยตรง ไม่ได้ฝัน
ว่าจะต้องปฏิรูปตามข้อเสนอทุกอย่างให้สำเร็จก่อน
ค่อยจัดการเลือกตั้ง และไม่ได้สนใจว่าใครจะมาเป็น
รัฐบาล
อีกประเด็นหนึ่งที่ดูเหมือนผู้ชุมนุม กปปส. ต้องการเรียกร้องมาก คือ "ปฏิรูปตำรวจ" ซึ่งเป็นองค์กรที่มีข้อครหาเรื่องคอร์รัปชั่นสูงมาก
สุดท้าย iLaw จึงคุยกับผู้ใช้เน็ตทุกคน โดยออกแบบสำรวจมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวการคอร์รัปชั่นในชีวิตประจำวันแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการซื้อของหนีภาษี หรือการเบิกค่าเดินทางเกินจริง และเส้นแบ่งที่แต่ละคนจะยอมรับได้กับการกระทำของนักการเมือง มีผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจกับเรา 367 คน ได้ผลการสำรวจออกมาสนุกๆ ชวนให้ขบคิดอะไรกันได้มากขึ้น เช่น พบว่า
ถ้านักการเมืองเบิกค่าใช้จ่ายเเกินจริง คน 58% คิดว่าควรถูกถอดออกจากตำแหน่ง ขณะที่คน 23% เคยทำเช่นเดียวกัน
ถ้านักการเมืองเบิกค่าเดินทางเกินจริง คน 54% คิดว่าควรถูกถอดออกจากตำแหน่ง ขณะที่คน 22% เคยทำเช่นเดียวกัน
ถ้านักการเมืองซื้อของหนีภาษี คน 32% คิดว่าควรถูกถอดออกจากตำแหน่ง ขณะที่คน 51% เคยทำเช่นเดียวกัน
ถ้านักการเมืองแอบเล่นเฟซบุ๊ค เช็คหุ้นในเวลางาน คน 19% คิดว่าควรถูกถอดออกจากตำแหน่ง ขณะที่คน 73% เคยทำเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่ายังมีประเด็นการคอร์รัปชั่นอีกหลายประเด็นที่ iLaw ยังศึกษาไปไม่ถึง มีอีกหลายสถาบันที่สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสกันมาก เช่น สถาบันศาล สถาบันทหาร และสถาบันกษัตริย์ฯ แน่นอนว่ายังมีประเด็นการคอร์รัปชั่นเล็กๆ น้อยๆ ในวงการราชการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ วัน ที่ยังเป็นการบ้านอีกมากให้ iLaw ค่อยศึกษาต่อไป
เท่าที่ศึกษามาก็พอจะช่วยให้เห็นภาพลางของคำตอบที่ตั้งไว้ตอนแรกอยู่บ้าง คือ ข้อเสนอของ กปปส.ยังมองเรื่อง "ปัญหาคอร์รัปชั่น" ได้เพียงมิติเดียวคือการโกงของรัฐบาลบางชุดที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น จึงทำให้ไม่มีข้อเสนอรูปธรรมที่ชัดเจนดูจะเป็นทางออกของปัญหาได้ ความละเอียดของข้อเสนอยังห่างไกลมากจากความรู้ที่มีอยู่แล้วในสังคมปัจจุบัน และแนวทางการจะปฏิรูปปัญหาคอร์รัปชั่นให้สำเร็จด้วยสภาประชาชนภายใน 1-2 ปี นั้นยังไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปได้เลย แม้แต่คนที่เข้าร่วมกับกปปส.เองด้วยก็ตาม